ผวารุนแรง!ม็อบบีบส.ว.โหวต‘พิธา’

"บิ๊กตู่" ห่วงไม่อยากเห็นม็อบลงถนนเพราะความขัดแย้งการจัดตั้งรัฐบาล ความรุนแรงไม่ควรเกิดขึ้นแล้ว แนะค่อยๆ เจรจา ด้านอดีต ส.ส.ร. 40 เตือนสติก้าวไกล คิดการใหญ่ต้องใจกว้าง ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ปรับไม่มีทางตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ขณะที่ "เรืองไกร" ยื่น  กกต.ตรวจสอบ 8 พรรคร่วมกันเซ็น MOU ตั้งรัฐบาล เข้าข่ายผิด กม.เป็นเหตุให้ยุบพรรค

 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวกดดัน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้งแบบเดิม สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทำมาตลอด 7-8 ปี จะกลับไปเป็นแบบเดิม ซึ่งประเด็นนี้ พล.อ.ประยุทธ์แสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้มาก ไม่อยากให้เกิดการชุมนุมหรือเดินลงถนนกันอีก ความรุนแรงไม่ควรเกิดขึ้นแล้ว และควรเลิกได้แล้ว จึงหวังว่าวิธีการพูดคุยและเจรจาจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ด้านนายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)   2540 เปิดเผยว่า แม้ 8 พรรคการเมืองที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจะทำข้อตกลงร่วม หรือเอ็มโอยู 23 ข้อ และแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้เป็นนายกฯ หรือรัฐบาลจะจัดตั้งได้สำเร็จ เพราะการหาเสียงสนับสนุนจากส.ว.และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลรักษาการมาโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ เพิ่มเติมจาก 313 เสียง ให้ได้ 376 เสียง เป็นโจทย์ยากที่จะทำให้สำเร็จ เท่าที่ติดตามข่าววงในและที่ปรากฏในสื่อ พบว่ามีความระหองระแหง ไม่สบายใจเกิดขึ้นกับแกนนำพรรคร่วมในระหว่างการเจรจาเอ็มโอยู

 เขากล่าวว่า สิ่งที่ผิดปกติในการเจรจาคือ พรรคก้าวไกลถือว่าตัวเองเป็นพรรคแกนนำเพราะได้เสียง ส.ส.มากกว่า จึงขอเป็นผู้กำหนดทิศทางข้อตกลงร่วม ดังที่ปรากฏออกมา 23 ข้อ ซึ่งจะพัฒนาเป็นนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป นอกจากนี้ยังมีท่าทีจะขอคุมกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงการคลัง รวมทั้งจะนั่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งจะเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ในความจริงพรรคก้าวไกลมีเสียงมากกว่าพรรคเพื่อไทยแค่ 11 เสียง ในการเจรจา หากพรรคก้าวไกลให้เกียรติ ให้ความสำคัญกับพรรคเพื่อไทย ทั้งการเขียนเอ็มโอยู    

 การแบ่งกระทรวงและตำแหน่งประธานสภาฯ บนพื้นฐานของการต่อรองด้วยความเสมอหน้ากับพรรคก้าวไกล คำนึงความเหมาะสมและความกลมกลืนของสองพรรคเป็นหลัก ซึ่งควรเจรจาต่อรองไปพร้อมๆ กัน ทั้งเอ็มโอยู นโยบายและการแบ่งตำแหน่งต่างๆ โดยพรรคก้าวไกลไม่คิดว่าตัวเองเป็นพรรคเสียงข้างมากที่จะคอยกำกับหรือควบคุมการกำหนดต่างๆ ก็จะทำให้การเดินหน้าเพื่อเสริมส่งให้นายพิธาเป็นนายกฯ ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ยาก

ก้าวไกลต้องใจกว้าง

 “พรรคก้าวไกลกำลังคิดการใหญ่  คือนายพิธาได้เป็นนายกฯ พรรคก้าวไกลจะต้องใจกว้าง ไม่ทำให้เกิดการหมางใจกับพรรคเพื่อไทย และรวมถึงพรรคเล็กพรรคน้อยที่มาร่วมเป็นพันธมิตร เรื่องเล็กน้อยต้องรู้จักตัดทิ้งไปบ้าง ธำรงการเจรจาต่อรองทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์เอาไว้ โดยพรรคก้าวไกลจะต้องไม่เห็นแก่ตัว หรือเอาแต่ได้มากเกินไปจนลืมหัวอกเพื่อนที่ร่วมขบวนการต่อสู้มาด้วยกันสมัยเป็นฝ่ายค้าน"

นายบุญเลิศกล่าวว่า ความเป็นมิตรไมตรีต่อกันเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องแสดงออกมาให้เห็น นโยบายที่พรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรเช่นไทยสร้างไทยเคยหาเสียงไว้ ควรนำมาผสมผสานและได้รับการตอบสนองจัดทำเป็นนโยบาย เช่น เงินดิจิทัล 10,000 บาท,  บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทั่วไทย,  เงินบำนาญประชาชนคนละ 3,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น

 นายบุญเลิศกล่าวว่า ลำพังโดยพรรคก้าวไกลพรรคเดียว คงเป็นไปได้ยากยิ่งที่จะหาเสียง ส.ว. 63 เสียงมาโหวตเลือกนายพิธาเพื่อให้ได้ 376 รวมทั้งเสียง ส.ส.ขั้วรัฐบาลรักษาการ ได้แก่ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเป็นพรรค 2 ลุง ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่ชาติไทยพัฒนา ก็ยากที่จะมาโหวตสนับสนุนด้วยความเต็มใจ เพื่อลดการอาศัยเสียงของ ส.ว. เพราะพรรคก้าวไกลแสดงท่าทีปิดประตูตายไม่ต้อนรับพรรคเหล่านี้ ดังกรณีปฏิเสธและออกแถลงการณ์ขออภัยพรรคชาติพัฒนากล้าที่มี 2 เสียง อ้างว่ามวลชนสีส้มไม่เห็นด้วย ทั้งๆ ที่พรรคชาติพัฒนากล้าไม่ได้ต้องการจะเข้าร่วมรัฐบาล เรื่องนี้ถือเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงของพรรคก้าวไกล

 สำหรับ ส.ว.ที่จะโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ นั้น นายบุญเลิศกล่าวว่า แม้ขณะนี้จะมีผู้แสดงตนเกือบ 20 คน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ หากจะได้ ส.ว.มาเพิ่ม พรรคก้าวไกลต้องปรับท่าทีอย่างมาก ถ้าทำอย่างที่เป็นอยู่คงไม่มีทางสำเร็จ ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้พรรคเพื่อไทยมีความสบายใจ เพราะได้รับเกียรติและได้รับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีอย่างเหมาะสม เพื่อผลักดันนโยบาย อยากจะช่วยประสานงานติดต่อ ส.ว.ให้โหวตสนับสนุนนายพิธา ยกเว้นเสียแต่ว่าพรรคก้าวไกลไม่ง้อพรรคเพื่อไทย ก็เป็นอีกเรื่่องหนึ่ง

ร้อง MOU 8 พรรค

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ   อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต. เพื่อให้ตรวจสอบ 8 พรรคที่ร่วมกันลงนามเอ็มโอยูตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2566 เข้าข่ายผิดมาตรา 28 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ โดยนายเรืองไกรกล่าวว่า  วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการเซ็นเอ็มโอยูของ 8 พรรค ซึ่ง กกต.ก็ควรจะทราบว่าการเซ็นเอ็มโอยูที่ผ่านมามีหัวหน้าพรรคทั้ง 8 พรรคเซ็นลงนาม ซึ่งตนได้เห็นเช่นนั้น ก็นึกไปถึงว่ารัฐธรรมนูญเขาได้ระบุ ให้ ส.ส.ต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติมอบหมาย ซึ่งการที่ไปลงนามตามมาตรา 28 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ได้ห้ามพรรคการเมืองไม่ให้กระทำการที่จะให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิก เพราะสิ่งที่ไปลงนามก็เท่ากับเป็นการไปยอมรับเงื่อนไขในการทำกิจกรรมทางการเมืองจากอีก 7 พรรคเข้ามา ซึ่งเรื่องนี้มันจะเข้าข่ายหรือไม่ ก็อยากให้ กกต.ตรวจสอบว่าเข้าข่ายมาตรา 28 หรือไม่ เพราะ 7 พรรคที่มาเซ็นลงนามกับพรรคก้าวไกลไม่สามารถจะเป็นสมาชิกพรรคได้ โดยการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งหัวหน้าพรรคการเมือง 7 พรรคเป็นไม่ได้แน่นอน คนคนหนึ่งจะเป็นสมาชิกพรรคซ้อนกัน 2 พรรคไม่ได้ นั่นเท่ากับเป็นการยอมให้ 7 พรรคตกลงเงื่อนไข ซึ่งที่ผ่านมาเราดูธรรมเนียมปฏิบัติ การตั้งรัฐบาลส่วนใหญ่ก็แค่จับไม้จับมือและแถลงข่าว ไม่มีการเซ็นเอกสารอะไร ฉะนั้นตนจึงย้อนไปนึกถึงลงนามเอ็มโอยูสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายนพดล ปัทมะ นั่นมันจะมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่

นายเรืองไกรกล่าวว่า หลักฐานอย่างนี้ไม่ใช่ดูแค่รัฐธรรมนูญอย่างเดียว  ซึ่งตนก็ได้ไปดูข้อบังคับของพรรคก้าวไกลเรื่องที่ว่าหัวหน้าพรรคจะไปเซ็นเอ็มโอยูกับใครได้หรือไม่ ซึ่งก็ไม่มีปรากฏ  แต่พอมาดู พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่คนที่เป็นหัวหน้าพรรคเป็นตัวแทนพรรค ก็เท่ากับได้รับอาณัติมาจากสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรค  เรื่องนี้ต่างหากที่เป็นประเด็นที่จะนำไปสู่การเข้าข่ายการถูกยุบพรรคได้หรือไม่  อย่างไรก็ตาม กรณีการถือครองหุ้นสื่อนั้นเป็นลักษณะต้องห้ามเฉพาะตัว แต่กรณีนี้เป็นลักษณะต้องห้ามการกระทำของพรรคการเมือง ซึ่งเขาห้าม ก็ต้องแล้วแต่ดุลยพินิจของ กกต.ว่าจะเห็นเหมือนที่เราเห็นหรือไม่

ยุบทั้ง 8 พรรค

เมื่อถามว่า การยื่นเรื่องร้องเรียนในครั้งนี้จะนำไปสู่การพิจารณายุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะพรรคก้าวไกล แต่ยุบทั้ง 8 พรรค เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับเงื่อนไข ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคซึ่งกันและกันเข้ามาครอบงำ โดยเอกสารที่เซ็นทั้ง 8 รายชื่อลงนามโดยหัวหน้าพรรคทั้งหมด เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องการขาดคุณสมบัติเฉพาะตัว แต่เป็นเรื่องพรรคการเมืองฝ่าฝืนมาตรา 28 หรือไม่ แล้วจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 92 (3) ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งตนมีข้อเท็จจริงและกฎหมายอ้างอิงให้มาตรวจสอบ ส่วนรายละเอียดในข้อตกลง เอ็มโอยูบางประเด็นที่บางพรรคการเมืองไม่ได้ปฏิบัติตาม จะร้องแค่พรรคก้าวไกลอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทั้ง 8 พรรคร่วมกระทำ

นายเรืองไกรยังกล่าวถึงความคืบหน้าการยื่น กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติส.ส.ของนายพิธาที่ถือหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวีฯ ว่า วันนี้ได้เข้ายื่นเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อของนายพิธา เพื่อให้ กกต.นำไปประกอบการพิจารณา ประกอบด้วย ตารางชื่อของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ และนายพิธา  ถือหุ้นบริษัท ไอทีวีฯ ปี 2549-2566 รวมทั้งสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น บมจ.ไอทีวี ปี 2549-2566 (บางส่วน) สำเนาวัตถุประสงค์ของ บมจ.ไอทีวี ตารางรายได้รวมของ บมจ.ไอทีวี ปี 2564-2565 สำเนารายได้รวมของปี 2564-2565 (ขาดปี 2555) และสำเนาพระราชบัญญัติบริษัทจำกัด (มหาชน)​ บางส่วน เนื่องจากตนเองเป็นแค่ผู้ร้อง ไม่มีอำนาจไปตรวจสอบกิจการได้ อีกทั้งมองว่าเรื่องนี้ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน ดังนั้นเมื่อเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะขอให้ศาลใช้ระบบไต่สวนเพื่อเรียกพยานหลักฐานเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาวินิจฉัยด้วย

นอกจากนี้ นายเรืองไกรยังได้เข้าให้ถ้อยคำต่อ กกต. ที่เคยยื่นคำร้องให้ตรวจสอบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย กรณีขึ้นรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นรูปโลโก้พร้อมเบอร์พรรคเพื่อไทย เข้าข่ายจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนหรือเข้าข่ายหลอกลวงให้หลงผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ธนกร' ดีดปาก 'ปิยบุตร' เลิกเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม

'ธนกร' สวน 'ปิยบุตร' หยุดเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม ยัน สส.ฟังเสียงประชาชน ปัดมีใบสั่งจากชนชั้นนำ ย้ำชัด กองทัพเป็นความมั่นคงของชาติทุกมิติ ชี้หากทำผิดก็อยู่ยาก ป้องกันรัฐประหารไม่ได้