ก้าวไกลเสียงหาย กกต.จ่อรับรอง500ส.ส. พท.เปิดศึกชิง‘ปธ.สภา’

กกต.เตรียมประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ สรุป "ก้าวไกล" ส.ส.หดเหลือ 151 คน "พท." 141 คน "ภท." ขยับเป็น 71 คน "พปชร." 40 คน "รทสช." 36 คน "ปชป." ได้ 25 คน ยอดใช้สิทธิ 75.71% บัตรเสีย 3.82% "ก.ก." เอาจริงเก้าอี้ "ปธ.สภาฯ" แจง 3 วาระสำคัญดันกม.ก้าวหน้า-แก้ รธน.-สร้างรัฐสภาโปร่งใส ย้ำต้องการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพื่อตำแหน่ง "โรม" ลั่นควรเป็นของพรรคอันดับ 1 "เพื่อไทย" ดาหน้าซัดอย่ากินรวบ อัด "ปิยบุตร" โพสต์กดดันปิดช่องไม่ให้พูดคุย "อดิศร" ขู่ดึงดันไร้ พท. ตั้งรัฐบาลไม่ได้ "ชลน่าน" เดือดซัดหนัก "ศิธา"

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 24 พ.ค. มีรายงานว่า   กกต.ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ครบทั้ง 400 เขตแล้ว และเตรียมที่จะประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยพบว่าจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52,195,920 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 39,514,973 คน คิดเป็นร้อยละ 75.71 

โดยการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีบัตรดี 37,190,071 บัตร คิดร้อยละ 94.12, บัตรเสีย 1,457,899 บัตร คิดเป็นร้อยละ 3.69 และบัตรไม่ประสงค์เลือกผู้ใด 866,885 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.19 ผลการนับคะแนน พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. 112 คน, พรรคก้าวไกลได้ ส.ส. 112 คน, พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส. 68 คน, พรรคพลังประชารัฐ  ได้ ส.ส. 39 คน, พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ ส.ส. 23 คน, พรรคประชาธิปัตย์ ได้ส.ส. 22 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ส.ส. 9 คน, พรรคประชาชาติ ได้ ส.ส. 7 คน, พรรคไทยสร้างไทย ได้ ส.ส. 5 คน,  พรรคเพื่อไทรวมพลัง ได้ ส.ส. 2 คน และพรรคชาติพัฒนากล้า ได้ ส.ส. 1 คน  

ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 39,514,964 มีบัตรดี 37,522,746 บัตร คิดเป็นร้อยละ 94.96, บัตรเสีย 1,509,836 บัตร คิดเป็นร้อยละ 3.82, บัตรไม่ประสงค์เลือกผู้ใด 482,303 บัตร คิดเป็นร้อยละ 1.22 โดยผลการคิดคำนวณ คะแนนค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คนคือ 375,227.34 คะแนน ทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนมาจาก 17 พรรคการเมือง   

ประกอบด้วย 1.พรรคก้าวไกล ได้คะแนน 14,438,851 คะแนน ได้ ส.ส. 39 คน 2.พรรคเพื่อไทย ได้คะแนน 10,962,522 คะแนน ได้ ส.ส. 29 คน 3.พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้คะแนน 4,766,408 คะแนน ได้ ส.ส. 13 คน 4. พรรคภูมิใจไทย ได้คะแนน 1,138,202 คะแนน ได้ ส.ส. 3 คน 5.พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 925,349 คะแนน ได้ส.ส. 3 คน 6.พรรคประชาชาติ ได้คะแนน 602,645 คะแนน ได้ ส.ส. 2 คน 7.พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนน 537,625 คะแนน ได้ ส.ส. 1 คน 8.พรรคเสรีรวมไทย ได้คะแนน 351,376 คะแนน ได้ ส.ส. 1 คน 9.พรรคไทยสร้างไทย ได้คะแนน 340,178 คะแนน ได้ส.ส. 1 คน 10.พรรคประชาธิปไตยใหม่  ได้คะแนน 273,428 คะแนน ได้ ส.ส. 1 คน 11.พรรคใหม่ ได้คะแนน 249,731 คะแนน ได้ ส.ส. 1 คน 12.พรรคชาติพัฒนากล้า ได้คะแนน 212,676 คะแนน ได้ ส.ส. 1 คน 13.พรรคท้องที่ไทย ได้คะแนน 201,411 คะแนน ได้ ส.ส. 1 คน 14.พรรคชาติไทยพัฒนา ได้คะแนน 192,497 คะแนน ได้ ส.ส. 1 คน 15.พรรคเป็นธรรม ได้คะแนน 184,817 คะแนน ได้ ส.ส. 1 คน 16.พรรคพลังสังคมใหม่ ได้คะแนน 177,379 คะแนนได้ ส.ส. 1 คน 17.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ได้คะแนน 175,182 คะแนน ได้ ส.ส. 1 คน 

ทั้งนี้ ในส่วนของ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ก่อนหน้านี้ในระบบ ECT REPORT แสดงจำนวนว่าพรรคก้าวไกลได้ 113 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทยได้ 67 ที่นั่งนั้น เนื่องจากการลงข้อมูลในส่วนของผลการเลือกตั้งเขตเลือกตั้งที่ 3 จ.ปราจีนบุรียังไม่สมบูรณ์ โดยจากรายงานประกาศ กกต.ประจำเขตเลือกตั้งที่ 3 จ.ปราจีนบุรี เรื่องผลการนับคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (ส.ส. 6/1) นั้น พบว่า นายสฤษดิ์ บุตรเนียร  จากพรรคภูมิใจไทยเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง  ทำให้จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลคือ 112 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทย 68 ที่นั่ง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเพียงผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเท่านั้น ยังไม่ใช่การพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งของ กกต. 

กกต.เคาะ ก.ก.เหลือ 151

อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมจำนวน ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อแล้ว พรรคก้าวไกล ได้ ส.ส.รวม 151 คน,  พรรคเพื่อไทย 141 คน, พรรคภูมิใจไทย 71 คน, พรรคพลังประชารัฐ 40 คน,  พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 25 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 10 คน, พรรคประชาชาติ 9 คน,  พรรคไทยสร้างไทย 6 คน, พรรคชาติพัฒนากล้า 2 คน, พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 คน, พรรคเสรีรวมไทย  พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคใหม่ พรรคท้องที่ไทย พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ได้ ส.ส.พรรคละ 1 คน 

ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) มีรายงานว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี  นัดประชุมทีมงานพรรคก้าวไกลในช่วงบ่ายวันที่ 24 พ.ค. ซึ่งคาดว่าจะเป็นประเด็นที่โซเชียลกำลังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ตามที่พรรคหาเสียงเอาไว้ อาจทำไม่ได้ตามที่หาเสียง หลังจากเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา นายพิธาพร้อมด้วย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ นำทีมเศรษฐกิจเข้าพบประธานสภาอุตสาหกรรม เพื่อหารือแนวทางดำเนินการนโยบายทางเศรษฐกิจ จากนั้นนายพิธาให้สัมภาษณ์ถึงการขึ้นค่าแรง 450 บาท ที่ไม่สามารถทำได้ทันที

ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถามถึงการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นดังกล่าวจาก น.ส.ศิริกัญญา แต่ไม่มีผู้รับสายปลายทางใดๆ รวมทั้งในการพูดคุยกับทีมงานพรรคครั้งนี้ก็ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ด้วย

ขณะที่เพจของพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ประเด็น 3 วาระที่พรรคก้าวไกลต้องการผลักดันในฐานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ระบุว่า พรรคก้าวไกลเดินทางบนเส้นทางการเมืองไม่ใช่เพื่อตำแหน่งหรืออำนาจ แต่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง มี 3 วาระที่สำคัญมากของพรรคก้าวไกลที่เราจำเป็นต้องใช้สถานะประธานสภาผู้แทนราษฎรในการผลักดัน

วาระแรก เพื่อผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า โดยระบุเหตุผลตอนหนึ่งว่า ตลอด 4 ปีของสภาผู้แทนราษฎรภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีกฎหมายถูกเสนอเข้าสู่สภามากกว่า 478 ฉบับ แต่มีกฎหมายที่ผ่านสภาไปเพียงแค่ 78 ฉบับเท่านั้น เกือบทั้งหมดเป็นกฎหมายของ ครม. มีกฎหมายของ ส.ส.ซีกรัฐบาลผ่านเพียง 4 ฉบับเท่านั้น และไม่มีกฎหมายของภาคประชาชนที่ผ่านสภาเลย

สำหรับกฎหมายส่วนใหญ่จาก 400 ฉบับที่ตกไป ไม่ใช่เพราะผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ แต่กลับตกไปด้วยสาเหตุอื่น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่รอบรรจุระเบียบวาระแต่ไม่ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา 180 ฉบับ กฎหมายที่ถูกประธานสภาฯ วินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายการเงิน และนายกรัฐมนตรีปัดตกไม่นำเสนอเข้าสู่สภา 85 ฉบับ

"ในสัญญาประชาคมที่พรรคก้าวไกลให้ไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้   มีกฎหมายอย่างน้อย 45 ฉบับของพรรคก้าวไกลที่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร  เป็นกฎหมายการเมือง 11 ฉบับ, กฎหมายสิทธิเสรีภาพ 8 ฉบับ, กฎหมายปฏิรูปที่ดิน 8 ฉบับ, กฎหมายปฏิรูประบบบริหารราชการ 8 ฉบับ, กฎหมายบริการสาธารณะ 4 ฉบับ, กฎหมายเศรษฐกิจ 4 ฉบับ, กฎหมายสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ, กฎหมายแรงงาน 2 ฉบับ กระบวนการนิติบัญญัติที่ก้าวหน้าจำเป็นอย่างยิ่งในการทำให้กฎหมายเหล่านี้ได้รับการพิจารณาอย่างมีประสิทธิภาพ"

วาระที่สอง เพื่อผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเดินหน้าอย่างราบรื่น โดยระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นวาระสำคัญ และถูกระบุไว้ใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล การทำภารกิจนี้ให้ลุล่วง จะต้องผ่านการประชุมสภาหลายครั้ง และจะมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในเนื้อหาที่มีความแหลมคม จำเป็นอย่างยิ่งที่ประธานสภาฯ ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ในการอำนวยการประชุมให้เดินหน้าไปอย่างราบรื่น เป็นที่ยอมรับของสมาชิกสภาทุกฝ่าย และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

ก้าวไกลแจงยึด 'ปธ.สภาฯ'

วาระที่สาม ก้าวไกลจะผลักดันหลักการรัฐสภาโปร่งใสและประชาชนมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย รัฐสภาโปร่งใส หรือ Open Parliament จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ อยู่ที่ประธานรัฐสภา  พรรคก้าวไกลประกาศเจตจำนงแน่วแน่ว่าจะทำให้รัฐสภาไทยโปร่งใสมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในการมีส่วนร่วมและตรวจสอบกระบวนการนิติบัญญัติ โดยเริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุด

"พรรคก้าวไกลต้องการให้ผู้แทนราษฎรของเราดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่ใช่เพื่อตำแหน่ง แต่เราต้องการอำนาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงรัฐสภาไทยให้สามารถออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์  สามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้จริง และเป็นรัฐสภาที่เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง" เพจพรรคก้าวไกลระบุตอนท้าย

นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความเตือนพรรคก้าวไกลอย่าเสียตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันขาดว่า อันที่จริงก็เหมือนกับที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า ในเรื่องของตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลอยากรักษาประเพณีที่เคยทำกันมา ซึ่งในอดีตหากไม่นับรวมเมื่อปี 2562 จะพบว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 1 จะขอตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพื่อผลักดันกฎหมายต่างๆ

"พรรคก้าวไกลยืนยันว่าตำแหน่งดังกล่าวทางพรรคก้าวไกลต้องขอเอาไว้เอง  เบื้องต้นพรรคได้ประกาศมาหลายครั้ง และยืนยันในเรื่องนี้มาโดยตลอด" นายรังสิมันต์กล่าว

ถามว่า ได้พูดคุยกับพรรคเพื่อไทยในประเด็นนี้หรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ต้องถามนายชัยธวัช เพราะเป็นผู้ดูแลการเจรจาในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งจะตอบคำถามได้ดีที่สุด

ซักว่านายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานสภาฯ หรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ในรายละเอียดทางพรรคยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าใครเหมาะจะเป็นแคนดิเดตในตำแหน่งประธานสภาฯ    ซึ่งคิดว่าพรรคยังมีเวลาคุยว่าจะมีใครที่มีความเหมาะสม

โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าวถึงเสียงส.ว.ที่จะยกมือโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ ว่า เท่าที่ตนทราบเห็นว่ามีอีกหลายคนที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงมติไปในทิศทางไหน เข้าใจว่าคงจะรอดูก่อน ซึ่งยังมีเวลาที่จะเจรจาพูดคุย เพื่อจะนำไปสู่การปลดล็อกมาตรา 272 ซึ่ง มาตรา 272 อนุญาตให้ ส.ว.สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งตนมองว่ามาตราดังกล่าวอยู่ในบทเฉพาะกาล เป็นกฎหมายชั่วคราว ที่ปีหน้าก็หมดแล้ว ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องรอให้หมดตามรัฐธรรมนูญ ทำไมถึงไม่ช่วยกันปิดสวิตช์ ม.272 เสียตั้งแต่ตอนนี้

"ต้องไปดูจริงๆ ว่าเงื่อนไขเป็นเพราะมาตรา 112 หรือไม่ หากยังมีการตั้งคำถามไปเรื่อยๆ เกี่ยวกับมาตรา 112 ก็ต้องกลับไปดูว่าจริงๆ แล้วอาจจะไม่เกี่ยวกับมาตรา 112 แต่อาจเป็นการที่จะไม่โหวตให้พรรคก้าวไกลไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ของ ส.ว." โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าว

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการจัดสัมมนาว่าที่ ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรค พท.กว่า 500 คน มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค,  นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค รวมทั้ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. เข้าร่วมงาน

พท.โวยอย่าคิดกินรวบ

น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์ก่อนงามสัมมนาว่า วันนี้จะต้องมีการพูดคุยประชุมกันเพื่อจะรู้ว่าสเต็ปต่อไปเราต้องทำอะไรบ้าง โดยหัวหน้าพรรคและทีมงานได้ไปร่วมเซ็น MOU ซึ่งจะได้มาเล่าเหตุการณ์ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล เพื่อให้ทุกคนได้รับทราบ เพราะการสื่อสารภายในพรรคเป็นสิ่งสำคัญ และตนอยากจะมาสื่อสารด้วยตนเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.แพทองธาร ได้พาน้องธิธาร บุตรสาวคนโตวัย 2 ขวบ เข้ามาที่ทำการพรรคเพื่อไทย เรียกเสียงฮือฮาและรอยยิ้มจากบรรดาแฟนคลับที่มารอรับ นอกจากนี้พบว่าวันนี้ น.ส.แพทองธารได้ลองชิมเมนูใหม่คือมัทฉะลาเต้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมนูยอดนิยม

ส่วนนายเศรษฐานั้น ช่วงที่เดินทางมาที่ทำการพรรคได้ถือกระเป๋าหนังมาด้วย ผู้สื่อข่าวได้ถามว่าทำไมวันนี้หิ้วกระเป๋ามาแปลกๆ นายเศรษฐาชี้แจงว่า  กระเป๋าไม่แปลก กระเป๋านี้อยู่กับตนมา 35 ปี ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน ดังนั้นมันคือกระเป๋าทำงานที่ตนจะเอามาทำงานที่นี่เหมือนเดิม

 ด้าน นพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายปิยบุตรโพสต์เฟซบุ๊กส่งสัญญาณว่าตำแหน่งประธานสภาฯ ควรเป็นของพรรคก้าวไกลว่า คิดว่าเป็นการการแสดงความคิดเห็นของคนที่เรียกได้ว่าเป็นคนทั่วไป ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงตำแหน่งต่างๆ แต่ลักษณะที่ออกมาในมุมที่เรามองขณะนี้ในบรรยากาศการจะทำงานร่วมกันทั้งในการเจรจาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายแรกคือการเลือกนายกรัฐมนตรี เสมือนมีการกดดันและปิดช่องไม่ให้มีการพูดคุยกัน ซึ่งดูแล้วไม่ใช่แง่บวกเท่าไหร่ ทั้งนี้ ตำแหน่งประธานสภาฯ อยู่ที่การตกลงและพูดคุยกันด้วยความเหมาะสม โดยในแต่ละสมัยก็ไม่เหมือนกัน

นายอดิศร เพียงเกษ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องประธานสภาฯ ว่า ด้วยความเคารพ นายปิยบุตรถือเป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล จะกินรวบทุกตำแหน่ง โดยเข้าใจว่าตัวเองเป็นเสียงข้างมาก ความเป็นจริง 152 เสียง ยังไม่เกินครึ่ง ถ้าอยากได้ทุกตำแหน่ง ต้องทำให้ได้แบบพรรคไทยรักไทย 377 เสียง ที่จะชี้เป็นชี้ตายเอาตำแหน่งไหนก็ได้

"พรรคเพื่อไทยยินดีสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ แต่ไม่ใช่ว่าได้ฝ่ายบริหารแล้วจะไม่ให้พรรคอื่นไปดำรงตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งต้องดูความเหมาะสมแต่ละช่วงเวลา เช่นสมัยที่ผ่านมานายชวน หลีกภัย ได้เสียงไม่มาก ก็ยังได้ตำแหน่งประธานสภาฯ และในอดีตนายอุทัย พิมพ์ใจชน มีเพียง 3 เสียง ก็ได้เป็นประธานสภาฯ ต้องดูบุคลากรของทั้งสองพรรค ซึ่งผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะมีความเหมาะสมในตำแหน่งประธานสภาฯ มากกว่า" นายอดิศรกล่าว

ว่าที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ฝ่ายบริหารเราได้คนหนุ่มแล้ว แต่ประธานสภาฯ พรรคก้าวไกลก็ไม่ควรกินรวบ เล่นสลากกินแบ่งกันหรือเปล่า ถ้าพรรคก้าวไกลยังดื้อดัน สมมุติว่าพรรคเพื่อไทยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลก็เดินไปไม่ได้อยู่ดี ตนไม่อยากให้เกิดภาพนี้ขึ้น

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย (พท.) ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่องว่า การยืนยันไม่ตั้งรัฐบาลแข่งพรรคอันดับหนึ่ง ยืนยันแล้ว ยืนยันอยู่  ยืนยันต่อ กับเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นคนละประเด็น ไม่ควรเหมารวมว่าเมื่อยอมให้พรรคอันดับหนึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้วพรรคร่วมอื่นๆ  ต้องก้มหน้ายอมรับในทุกเงื่อนไข ทุกพรรคต้องเกรงใจและเคารพเสียงของประชาชนที่เลือกมา

'ชลน่าน' ซัดหนัก 'ศิธา'

ต่อมา นพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี น.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึงกรณีที่ นพ.ชลน่านให้สัมภาษณ์ผ่านรายการมีเรื่องคุยว่าเสียมารยาทในการถามคำถามบนเวทีเซ็นเอ็มโอยูว่า ไม่ได้โกรธแค้นอะไร ในวันที่เราแถลงข่าวพยายามไม่ตอบโต้อะไร เพียงแต่มองว่า น.ต.ศิธาควรมานั่งอยู่ตรงนี้ ไม่ควรไปถามคำถามตรงนั้น สิ่งที่ตนต้องตำหนิเพราะน.ต.ศิธาคือผู้ที่อยู่ในวงที่ร่วมร่างเอ็มโอยูด้วยกัน และอยู่ในคณะทำงานพรรค  ทสท. และเขามีส่วนในการเสนอแก้ไขและปรับปรุงตัวร่างเอ็มโอยูเยอะมาก ฉะนั้นอะไรที่พูดในวงปรึกษาหารือก็ควรจะพูดว่าคุณเป็นคนใน ถ้าเป็นสื่อมวลชนถามตนก็ยินดีและพร้อมที่จะตอบ แต่ลักษณะการถามเช่นนี้จากคนในก็ยากที่จะประเมินวัตถุประสงค์

 “ผมขอเพียงว่าให้เรามีมารยาทต่อกัน แต่หากเขาเป็นคนภายนอก แม้จะอยู่ในพรรคไทยสร้างไทยที่ไม่ได้อยู่ในวงร่างเอ็มโอยูด้วยกัน ผมจะไม่ตำหนิเขาเลย เพราะเขามีสิทธิ์ที่จะถาม แต่นี่คุณเป็นคนร่างและพิจารณาเอ็มโอยูด้วยกัน แล้วการที่คุณไปถามเช่นนั้นคืออะไร ซึ่งคำถามนี้ก็ไม่ได้เป็นคำถามเชิงบวก เรากำลังมุ่งจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เอ็มโอยูที่เราเขียนก็ชัดเจน” นพ.ชลน่านกล่าว

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นพ.ชลน่านถึงเรื่อง น.ต.ศิธาอีกครั้งว่ายังรู้สึกเดือดอยู่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “ผมเดือด ผมมีอารมณ์ ถ้าชกได้ผมชกไปแล้ว”

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่สบายใจถ้าพรรคแกนนำไม่จัดการเรื่องนี้ คุณต้องจัดการพรรคร่วมของคุณให้อยู่ในร่องในรอย ถ้าเห็นเขาสำคัญแล้วเห็นตนไม่สำคัญ ก็คงต้องย้อนถามกัน นี่คือสิ่งที่ตนพยายามจะสื่อสาร เพราะเป้าหมายหลักของเราคือการจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ควรมาเป็นประเด็น ถ้าเขาสำนึกได้เขาขอโทษก็จบ และมันเป็นหน้าที่ของพรรคก้าวไกลที่ต้องมาเคลียร์เรื่องนี้

 “ถ้ายังปล่อยให้เรื่องราวเป็นประเด็นแบบนี้ เอ็มโอยูที่เราเขียนว่าทุกพรรคต้องมีความจริงใจต่อกัน ต้องให้เกียรติกัน เขียนไว้แล้วเพิ่งลงนาม แต่เพียงชั่วข้ามคืนมันก็ไม่เกิดขึ้นแล้ว มันยากหรือไม่ล่ะกับการทำงาน” นพ.ชลน่านกล่าว

ถามว่า จะเป็นปมร้อนให้พรรค พท. ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็ฝากพรรคแกนนำ อย่าให้เรื่องอะไรเล็กๆ น้อยๆ มาบั่นทอนการทำงานร่วมกันของเรา แต่ถ้าเห็น 6 เสียงมากกว่า 141 เสียง ตนก็ยอม ส่วนแนวทางก็แค่อยากให้พูดคุยกันกับ น.ต.ศิธา ว่าขอเถอะ กำลังจับมือจัดตั้งรัฐบาล อะไรที่ช่วยกันได้ก็ควรช่วยกันทำ  จะไปสร้างฉากสร้างซีนอะไรก็ไปทำทีหลัง ให้เรื่องนี้จบก่อน ตนว่าพูดแค่นี้มันน่าจะจบ

ช่วงค่ำ น.ต.ศิธาโพสต์เฟซบุ๊กว่า เรายินดียกมือสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลได้จับมือกันตั้งรัฐบาล ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล หากต้องการเสียงของไทยสร้างไทยเข้าร่วมรัฐบาล แต่ติดขัดที่ตัวผม ผมยินดีลาออกจากพรรคให้ทันที ยืนยันว่าเราไม่ใช่เงื่อนไขที่จะทำให้ประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต. ตั้งเป้าประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ.68 ร้อยละ 65-70

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.  เปิดเผยถึงแผนเตรียมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น อบจ. ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 ธ.ค.นี้    โดยยืนยันที่จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในวันเสาร์