นายจ้างหวั่นค่าแรง450 ย้ายหนีปท.เพื่อนบ้าน

"ศิริกัญญา" เผยต้นเดือนหน้าตั้งรัฐบาลเรียบร้อยจะลุยเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่สภาองค์การนายจ้างฯ หวั่นขึ้นค่าแรง 450 บาท/วัน กระชากแรงทำธุรกิจช็อก แห่หนีย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน ซ้ำรอยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โรงงานอาหารแช่เยือกแข็งจ่อย้ายไปเวียดนาม  ฟิลิปปินส์

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล  กล่าวถึงนโยบายค่าแรง 450 บาทต่อวัน   ภายใน 100 วันแรกของพรรคก้าวไกลสามารถทำได้หรือไม่ว่า การขึ้นค่าแรงต้องใช้กลไกทางฝ่ายของบริหาร ดังนั้นจะเริ่มต้นเดือนหน้านับหนึ่งได้เมื่อจัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยและมีคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว แต่ทั้งนี้จำเป็นจะต้องมีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อหารือในประเด็นต่างๆ เช่นเดียวกัน การที่พรรคก้าวไกลยึดถือนโยบายของพรรคเป็นหลัก  อาจจะเป็นการไม่ให้เกียรติกับพรรคร่วมรัฐบาล

ขณะที่นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า สภาฯ ต้องการให้รัฐบาลใหม่ได้พิจารณาอย่างเป็นขั้นตอนและรอบคอบ ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะหากขึ้นแบบกระชากไปสู่ระดับ 450 บาท/วันทันที   จะเกิดภาพที่ซ้ำรอยในอดีตของสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทั่วประเทศปี 2556 นั่นคือการย้ายฐานการผลิตในไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านครั้งใหญ่ และการลงทุนใหม่ที่เน้นการใช้แรงงานจะไม่เกิดขึ้น

 “สมัยที่ขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน เราเห็นการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ทั้งสิ่งทอ รองเท้า โรงงานปลากระป๋อง และชิ้นส่วนบางประเภท  ย้ายฐานไปเพื่อนบ้านหมด โดยเฉพาะเวียดนาม เพราะอย่าลืมว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างการผลิต ห้องแถวที่เคยรับจ้างเย็บเสื้อกีฬาแบรนด์ดังๆ   หายไปหมด รอบนี้เราก็จะเกิดซ้ำรอยอีกเช่นกัน เพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมบ้านเราส่วนใหญ่ยังคงเน้นใช้แรงงาน เรายังไม่ได้ก้าวข้ามไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทคแต่อย่างใด” นายธนิตกล่าว

การปรับขึ้นค่าแรงที่สูงในช่วงที่ผ่านมา มีผลทำให้ปัจจุบันการส่งออกของไทยที่เคยเป็นผู้นำในภูมิภาค รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดต่ำลงจนทำให้เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทน ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยพึ่งพิงการส่งออกสูง นี่คือเหตุผลว่าทำไมการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยในระยะ 10 ปีจึงลดต่ำลง  อย่างไรก็ตาม การเพิ่มค่าแรงสภาฯ ไม่ได้คัดค้าน หากแต่ต้องทำแบบมีขั้นตอน และต้องไม่มองข้ามในเรื่องของผลิตภาพแรงงานด้วย

 “เราต้องไม่ลืมอีกข้อที่สำคัญ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องของค่าแรงแรกเข้า   ดูแลคนเปราะบาง ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่คนไทยได้รับเกิน เมื่อค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม จะทำให้แรงงานเดิมที่ได้รับ 450 บาท/วันอยู่แล้วนายจ้างก็ต้องปรับขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมไทย 90% เป็นขนาดกลางและย่อม (SMEs) เขารับไม่ไหวหรอกเพราะค่าแรงจะขึ้นเป็นทอดๆ ไปสุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนกลับไปยังราคาสินค้าเพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ประชาชนเดือดร้อน แรงงานก็เช่นกัน แต่เศรษฐกิจจะแย่กว่าเพราะต้นทุนที่เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในการส่งออกยิ่งลดลง ขณะที่เวียดนามมีแต้มต่อในเรื่องของสิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ มากกว่าไทย” นายธนิตกล่าว

ขณะที่นายสมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ASIAN   หรือบริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารแช่เยือกแข็งและอาหารสัตว์น้ำ ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท และผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า และประธานกรรมการบริหารบริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์  อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน (Shelf stable food) ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท และผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า ใช้โอกาสร่วมงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2023 เผยว่า เตรียมพร้อมลงทุนในประเทศเวียดนาม หรือฟิลิปปินส์ เพื่อขยายโรงงานเพิ่มกำลังผลิต หรืออาจถึงขั้นเตรียมย้ายฐาน หากรัฐบาลใหม่นำนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวันมาใช้จริง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ก้าวไกล' ชูร่างกฎหมายจัดระเบียบกลาโหม ปฏิรูปกองทัพ คืนอำนาจให้รมต.

ร.ท. ธนเดช เพ็งสุข สส.กทม.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงแนวคิดการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม และกฎหมายศาลทหาร