นายกฯ นั่งหัวโต๊ะถกสภากลาโหม ถกแผนปฏิรูปกองทัพ ชี้ไทยคือไทย ยึดของประเทศอื่นไม่ได้ ปัดตอบปมแต่งตั้งโยกย้ายนายพล ด้าน “รองโฆษกกลาโหม” กางแผนถึงปี 70 ละเอียดยิบ “บิ๊กตู่” สั่งเหล่าทัพแจงสิ่งที่ทำกันอยู่ แตกตื่น! เครื่องปั่นไฟระเบิดก่อนประชุม พบแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ
ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม เวลา 14.00 น. มีการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 5/2566 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน แต่ปรากฏว่าก่อนการประชุมเกิดเหตุระทึก โดยเวลา 10.00 น. เกิดไฟดับ เจ้าหน้าที่ทหารจึงพยายามซ่อม กระทั่งช่วงเที่ยงเครื่องปั่นไฟระเบิดถึง 2 ครั้ง ห่างกันเพียงไม่กี่นาที มีเศษแบตเตอรี่กระเด็นใส่หน้าทหารได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยที่บริเวณหัวตา ท่ามกลางความแตกตื่นของสื่อมวลชนและกำลังพลในกระทรวงกลาโหม อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จากสำนักงานโยธาธิการสำนักงานสนับสนุน สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบสาเหตุมาจากแบตเตอรี่บวมเพราะเสื่อมสภาพ จึงได้สั่งปิดพื้นที่และซ่อมบำรุง
จากนั้น เวลา 16.11 น. ที่ศาลาว่าการกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานการประชุมสภากลาโหม เปิดเผยว่า จากการประชุมไม่ได้มีการสั่งให้ดูแลอะไรเป็นพิเศษ เพราะเขามีหน้าที่ตามกฎหมายอยู่แล้ว ทั้งทหารและตำรวจในการดูแลตามหน้าที่ ไม่ต้องกำชับอะไร ทุกอย่างพัฒนาไปตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ในวงการประชุมสภาสภากลาโหมไม่ได้มีการพูดถึงสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เพียงแต่ได้มีการหารือกันในเรื่องการป้องกันประเทศและแผนพัฒนากองทัพ รวมถึงสถานการณ์ในภูมิภาค ผลงานของทุกเหล่าทัพ แผนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สอดคล้อง เพราะในอนาคตจะต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อป้องกันประเทศและเรื่องการฝึกร่วม
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า สำหรับการปฏิรูปกองทัพ เรามีแผนอยู่แล้ว ซึ่งการที่จะปรับจะต้องดูบริบทของประเทศไทยด้วย เพราะประเทศไทยไม่เหมือนชาติอื่น จะไปยึดแบบประเทศไหนมาใช้ก็อาจจะไม่เหมาะสม เราจะใช้วิธีการผสมผสาน เพราะแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ในส่วนของเราก็ต้องเป็นเรา ภายใต้ทรัพยากรที่เรามีอยู่
เมื่อถามว่า ในการประชุมสภากลาโหมในวันเดียวกันนี้ ได้มีการพูดคุยถึงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลประจำปีหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ยังไม่ถึงเวลามั้ง”
ด้าน พ.อ.จิตนาถ ปุณโณทก รองโฆษกกระทรวงกลาโหม (กห.) แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพสร้างการรับรู้และความเข้าใจอันดีให้กับประชาชนในทุกภาคส่วน ให้ทราบถึงภารกิจ หน้าที่ความรับผิดชอบและการดำเนินการที่สำคัญของกระทรวงกลาโหม ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมกำลังการใช้กำลัง เพื่อสร้างความพร้อมให้กองทัพสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปรับปรุงโครงสร้างให้มีขนาดกะทัดรัด คล่องตัว ทันสมัย เช่น การยุติแผนการเสริมสร้างกองพลทหารราบที่ 7 และกองพลทหารม้าที่ 3 ของกองทัพบก การปรับลดกำลังทหารพรานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,656 อัตรา ประหยัดได้ 600 ล้านบาท การปรับลดนายทหารชั้นยศสูงเพื่อลดงบประมาณด้านกำลังพล โดยในห้วงปี 2570 ให้เหลือ 50% ตามแผนที่กำหนด รวมถึงการปิดการบรรจุกำลังพลและลดกำลังพลในปี 2560-2564 ไปแล้วกว่า 8,000 นาย สามารถประหยัดงบประมาณได้ จานวน 1,500 ล้านบาท และเมื่อถึงปี 2570 จะสามารถปรับลดกำลังลงได้ประมาณ 12,000 นาย และประหยัดงบกำลังพลลงได้ 2,900 ล้านบาทเศษ
“สำหรับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการนั้น จำนวนที่ตรวจเลือกในแต่ละปีจะสอดคล้องกับโครงสร้างการจัดและภารกิจของกองทัพ โดยปัจจุบันมีความต้องการพลทหารปีละประมาณ 90,000 นาย และกำลังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้สมัครใจเข้าเป็นทหาร ประมาณ 35,000 นาย ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาไปสู่การใช้ระบบการสมัครใจเข้าเป็นทหารได้ในอนาคต” รองโฆษก กห.กล่าว
พ.อ.จิตนาถกล่าวอีกว่า นอกจากนั้น มีการนำกำลังพลสำรองเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ทหารเป็นการชั่วคราวตามสัญญาจ้างระยะ 4 ปี และการเตรียมการบรรจุข้าราชการพลเรือนกลาโหมในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ และการเตรียมการด้านกำลังพลสำรอง เพื่อรองรับสถานการณ์ยามวิกฤตและยามสงคราม
พ.อ.จิตนาถกล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหม ระยะที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ ใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาศักยภาพกองทัพและเสริมสร้างหน่วยให้มีความสมบูรณ์พร้อมรบ ในห้วงระยะ 5 ปี เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติ โดยแผนพัฒนาขีดความสามารถฯ แบ่งกลุ่มการพัฒนาออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มดำรงสภาพความพร้อมรบ เพื่อให้กองทัพมีความพร้อมในระดับความต้องการต่ำสุด และให้สิ่งอุปกรณ์ของกองทัพสามารถใช้งานตามมาตรฐานของสิ่งอุปกรณ์นั้น รวมทั้งการจัดหาให้ครบตามอัตราการจัดยุทโธปกรณ์และการจัดหาทดแทน 2.กลุ่มขยายขีดความสามารถ เพื่อเพิ่มเติมขีดความสามารถของสิ่งอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 3.กลุ่มเสริมสร้างความทันสมัย โดยเพื่อให้มีสิ่งอุปกรณ์ที่ทันสมัยสอดคล้องกับความก้าวหน้าทาง เทคโนโลยีและรูปแบบภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป
ผู้สื่อรายงานว่า ในที่ประชุมได้เน้นย้ำแผนการปฏิรูปกองทัพว่ามีการทำอย่างต่อเนื่องตามกรอบงบประมาณที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการดำรงขีดความสามารถระดับต่ำที่ต้องมี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ได้ย้ำว่า นี่คือแผนของเราที่ทำอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวว่าใครจะมาหรือไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ อิ๊งค์ปลื้ม 'ต้มยำกุ้ง' ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมโลก
นายกฯ ปลื้ม 'ต้มยำกุ้ง' ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรม ชี้เป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ไทย สร้างความมั่นคงด้านอาหาร พร้อมชวนชิม
จงรักภักดีจนชีวิตหาไม่
"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์
'ดร.เสรี' กรีดเหวอะ! ใครมีลูกสาวเก่งพอที่จะเป็นนายกฯ ต้องบอกลูกให้มีผัว 9 คนอยู่ใน 9 ภาค
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสารโพสต์เฟซบุ๊กว่า ใครมีลูกสาวที่เก่งพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ต้องบอกลูกนะคะ
‘บุญทรง’พ้นคุก คุมตัวที่บ้าน3ปี ชื่นชมลูกผู้ชาย
"บุญทรง" ได้พักโทษ พ้นคุก ใส่กำไลอีเอ็มกลับบ้านที่เชียงใหม่
รุมดีดปาก‘เชิดชัย’ขู่ยุบสภา
"ภูมิธรรม" โบ้ย "หมอเชิดชัย" ให้ไปยุบสภาเอง ยันอำนาจอยู่ที่นายกฯ
เมินเปิดเวทีถกMOU รอทีบีซีช่วยคนไทย
“ภูมิธรรม” ปัดทิ้งข้อเสนอ พปชร.เปิดเวทีสาธารณะถก MOU 44