ดัชนีเชื่อมั่นดีขึ้น ท่องเที่ยวฟื้นตัว หวั่นปมการเมือง

หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค พ.ค.66 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากระดับ 55.0 เป็น 55.7 สูงสุดในรอบ 39 เดือน สะท้อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยวและการหาเสียงเลือกตั้ง หนุนเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ ขณะที่ราคาน้ำมันเริ่มผ่อนคลาย ผู้บริโภคยังกังวลความไม่แน่นอนทางการเมืองและค่าครองชีพที่ยังอยู่ระดับสูง

 เมื่อวันพฤหัสบดี นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ   มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2566 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ตลอดจนบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ  ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ

โดยการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ที่ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 55.0 เป็น 55.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤต COVID-19 อัตราเงินเฟ้อสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐที่ไม่มั่นคงเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น จากระดับ 39.5 เป็น 40.5 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมาเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 62.5 มาอยู่ที่ระดับ 63.1 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ  ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 50.2, 52.8 และ 64.2 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนเมษายน ที่อยู่ในระดับ 49.4, 52.0 และ 63.6 ตามลำดับ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100)

"แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ  โอกาสในการหางานทำและรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจโลกและสถาบันการเงินของโลก ตลอดจนยังคงกังวลในสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและทั่วโลกที่ยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง" นายธนวรรธน์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง