25ปีกกต.หวังโลกยอมรับ สมชัยให้คะแนน7เต็ม10

กกต.จัดงานครบรอบ 25 ปี  ตัดสโลแกน “โปร่งใส” ออก อ้าง “สุจริต-เที่ยงธรรม” ครอบคลุมแล้ว โวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเต็มไปด้วยพลังและเติบโตไม่หยุดยั้ง    ฝันการทำงานเป็นที่ยอมรับสากล “สมชัย” ให้คะแนน 7 เต็มสิบ เหตุยังอ่อนด้อยด้านการสื่อสารกับชาวบ้าน

เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ​จัดงานสถาปนาครบรอบ 25 ปี ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2541 โดยช่วงเช้านายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.  พร้อมด้วย กกต.และเจ้าหน้าที่ บวงสรวงองค์พระพรหมบริเวณศาลพระพรหม  ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ก่อนถวายภัตตาหารเพลและถวายเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระภิกษุสงฆ์จากวัดอาวุธวิกสิตาราม

ในโอกาสนี้ สำนักงาน กกต.ยังได้เปิดตัวตราสัญลักษณ์ 25 ปี กกต. เส้นทางการจัดการเลือกตั้งสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนมาประกอบ โดยเป็นตัวหนังสือสีเงิน สื่อถึงการเฉลิมฉลองการก่อตั้งครบรอบปีที่ 25 ตัวเลข 25 สื่อถึงการดำเนินงานตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ดวงไฟขาวสื่อถึงพลังประชาธิปไตยและเครือข่าย และพื้นสีเขียวสื่อถึงหีบเลือกตั้งและคูหาเลือกตั้ง

ต่อมา นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ได้แถลงผลงาน 25 ปีว่า ถ้าเทียบอายุของคน ก็เทียบเท่าอยู่ในช่วงวัยรุ่นที่เต็มไปด้วยพลัง และจะเติบโตไปอย่างไม่หยุดยั้ง  เปรียบเสมือนสำนักงาน กกต.ในปัจจุบันที่ไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ เป็นที่ยอมรับระดับสากล ในกระบวนการเลือกตั้งอย่างมืออาชีพในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยความมุ่งมั่น ทำให้ทุกการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะระดับท้องถิ่นและประเทศ มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ เช่น การเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร มีผู้มาใช้สิทธิ 60%, การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง มีผู้มาใช้สิทธิ 62%, การเลือกตั้งเทศบาล 2,472 แห่ง มีผู้มาใช้สิทธิ 66%, การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,300 แห่ง มีผู้มาใช้สิทธิ 74% รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 พ.ค. มีผู้มาใช้สิทธิมากถึง 75.71% จำนวนบัตรเสียลดลง รวมถึงเรื่องร้องคัดค้านมีเพียง 280 เรื่อง ซึ่งน้อยที่สุดเท่าที่จัดการเลือกตั้งมา

เมื่อถามถึงกรณีที่สำนักงาน กกต.เปลี่ยนสโลแกนจากสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม เป็นสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ทำไมจึงตัดคำว่าโปร่งใสออกไป นายแสวงกล่าวว่า สุจริตและเที่ยงธรรม 2 คำนี้ก็รวมคำว่าโปร่งใสไว้อยู่แล้ว  และไม่ได้แตกต่างอะไรกับตัวตนขององค์กรไม่ว่าจะเขียนอย่างไร แต่สิ่งที่เราได้แสดงออกไปนั้น สมควรหรือมีเกียรติในตำแหน่งที่เราทำ

“ขอขยายความในเรื่องความโปร่งใส เนื่องจากสามารถดูได้ 2 อย่าง ส่วนแรก คือเห็นได้ด้วยตา โดยประชาชนสามารถไปร่วมสังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้งและบันทึกภาพได้ตลอดเวลา ส่วนที่สองคือ เรามีระบบที่สามารถตรวจสอบได้ว่ากระบวนการที่เราทำนั้น เมื่อประชาชนมีข้อสงสัย ก็สามารถตรวจสอบได้ หรือหากมีข้อสงสัยอื่นใด ก็ขอให้ทางสำนักงานตรวจสอบได้เช่นกัน ซึ่งหากเราเดินหน้าแบบนี้ จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม” นายแสวงกล่าว

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ซึ่งมาร่วมแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 25 ปี กกต. กล่าวว่า มีการพูดคุยกันปกติ ซึ่งได้ขอโทษที่วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง กกต.ท่านก็เข้าใจและขอบคุณ เพราะหลายเรื่องทักท้วงก็เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงการทำงานของ กกต.ได้ ซึ่งเข้าใจว่า กกต.ถูกกดดัน ส่วนตัวให้กำลังใจตลอดเวลา

เมื่อถามว่า เทียบการทำงานของ กกต.ยุคนายสมชัยกับปัจจุบัน นายสมชัย กล่าวว่า สมัยยุคตนเองหนักกว่าเยอะ สำนักงานก็ไม่มี ต้องออกไปเร่ร่อนตามที่ต่างๆ ศูนย์ราชการฯ ถูกยึดเป็นเดือน สำนักงานในต่างจังหวัด 11 จังหวัดก็ถูกยึด ส่วนราชการไม่ให้ความร่วมมือในการทำงาน เป็นยุคที่ถูกคุกคามต่างๆ ไปไหน ไปเหนือ ไปใต้ก็โดน ก็ถูกคุกคาม ซึ่งไม่ใช่การคุกคามธรรมดา แต่คุกคามถึงชีวิต 

ถามว่า ให้คะแนน กกต.ชุดนี้เท่าไหร่ นายสมชัยกล่าวว่า ให้ 7 เต็ม 10 ถ้าแบ่งเป็นหมวด หมวดการสื่อสารกับประชาชนยังให้ตก เพราะไม่ค่อยคุย ไม่ค่อยสื่อสารกับประชาชน แต่การทำงานโดยรวมทั้งหมดนั้น 7-8 คะแนนก็ให้ได้ เพราะทำงานประสบความสำเร็จ ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาไม่น้อยเกินไป

รศ.ดร.พรอัมรินทร์  พรหมเกิด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวถึงเรื่องที่ กกต.ทำหนังสือถึงพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กรณีใช้สัญลักษณ์ค้อนไขว้กับเคียวในการเปิดตัวปาร์ตี้ลิสต์ว่า เป็นเรื่องหยุมหยิม จุกจิก สะท้อนถึงทัศนคติที่คับแคบของ กกต. และมองว่า กกต.มีความคิดเรื่องประชาธิปไตยน้อยเกินไป ประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่มีเรื่องการตรวจสอบจุกจิกเช่นนี้ ปล่อยให้กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยพัฒนาไปได้

“สัญลักษณ์ค้อนเคียวแสดงความหมายถึงชนชั้นกรรมาชีพ คือชนชั้นที่ใช้แรงงาน ประกอบด้วยกรรมการและชาวนา ต้องสามัคคีกันและรวมพลังสร้างสังคมใหม่ ถือเป็นแนวคิดที่กระจายไปทั่วโลก สำหรับโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเสรี แนวคิดเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ จะเปิดให้พรรคการเมืองได้เปิดกว้าง เสนอความคิดเห็นของตัวเอง แล้วให้ประชาชนเป็นคนเลือกและตัดสินใจว่านโยบายเหมาะหรือไม่” รศ.ดร.พรอัมรินทร์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้งแปลกประหลาด 1ก.พ.เลือกส.อบจ. 76 จังหวัด เลือกนายกอบจ. 47 จังหวัด

กกต. เผยจัดเลือกตั้ง 1 ก.พ.68 เลือก ส.อบจ. 76 จังหวัด เลือก นายก อบจ. 47 จังหวัด เหตุลาออกก่อนและจัดเลือกตั้งไปแล้ว 29 จังหวัด ยอมรับการเลือกตั้งครั้งนี้แปลกประหลาด ชี้การออกไปใช้สิทธิของประชาชน คือความชอบธรรมของผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง