จ่อรับรอง500ส.ส. ก้าวไกลเฮอีก!ตีตก4คำร้อง/อานนท์เริ่มปลุกม็อบ

กกต.เริ่มพิจารณารับรองส.ส. 13 มิ.ย. คาดประกาศครบ 500 คนสิ้นเดือนนี้ก่อนสอยทีหลัง "ด้อมส้ม" ได้เฮ! นายทะเบียนพรรคตีตก 4 คำร้องยุบก้าวไกล "เรืองไกร" จี้ กกต.ทำตามอำนาจหน้าที่ หนุน ส.ส.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 ส่งศาล รธน.ตีความประกบ ย้ำไม่รอดแน่ "สดศรี" ฟันธง "พิธา" รู้อยู่แก่ใจไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เข้าข่าย ม.151 โทษแรงถึงติดคุก "โรม" โวยโดนเตะตัดขาสกัดนั่งนายกฯ "เสรี" ย้อนกลับสะดุดขาตัวเองแล้วไปโทษคนอื่น   "อานนท์" ปั่นกระแสม็อบลงถนนแน่ "ธนกร" เตือนอย่าปลุกมวลชน ย้ำทุกคนต้องอยู่ใต้ กม.

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันอังคารที่ 13 มิ.ย.นี้ สำนักงาน กกต.จะเสนอเรื่องการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ที่ประชุม กกต.ได้เริ่มพิจารณา โดยจะเสนอในส่วนของผู้ได้รับเลือกตั้งที่ไม่มีเรื่องร้องเรียนให้พิจารณาก่อน ซึ่งมีอยู่ราวร้อยละ 70 ของผู้ได้รับเลือกตั้งทั้งหมด จากนั้นจะทยอยพิจารณาในส่วนของผู้ได้รับเลือกตั้งที่มีเรื่องร้องเรียน ซึ่งมีอยู่ราว 20-30 คน จนแล้วเสร็จจึงจะออกประกาศเรื่องรับรองผลการเลือกตั้งในคราวเดียว

ทั้งนี้ ตามแผนการทำงานของ กกต. ต้องการที่จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนที่นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี กกต. จะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งครบทั้ง 500 คน  เนื่องจากตามรายงานผลการตรวจสอบการเลือกตั้งของทางผู้ตรวจการเลือกตั้ง และของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ที่สำนักงาน กกต.ได้มีหนังสือให้แจ้งมาก่อนหน้านี้เกือบทั้งหมดเสนอว่า เรื่องร้องเรียนผู้ได้รับเลือกตั้ง จังหวัดไม่อาจดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้เสร็จก่อนกรอบเวลา 60 วันที่กฎหมายกำหนด กกต.จึงจะประกาศผลการเลือกตั้งทั้งหมดไปก่อน แล้วค่อยมาสอยในภายหลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีความเห็นสั่งยุติเรื่องกรณีมีการยื่นร้องขอให้ กกต.พิจารณาเสนอเรื่องความพร้อมเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ตามมาตรา 92 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 เนื่องจากเห็นว่าไม่มีมูล โดยทั้ง 4 คำร้องประกอบด้วย 1.กรณีกล่าวหานายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรค ก.ก. และกรรมการบริหารพรรคในขณะนั้น ปราศรัยหาเสียงที่ จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่  5 มี.ค.66 กล่าวร้ายโครงการพระราชดำริ พาดพิงสถาบัน เข้าข่ายฝ่าฝืนข้อ 17 ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.2561 2.กรณีร้องว่าพรรค ก.ก.มีนโยบายที่จะยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยอ้างการให้สัมภาษณ์ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ซึ่งมีเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลมีเดีย  

3.กรณีนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรค ก.ก. มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ถึงจุดยืนของตนเองและจุดยืนของพรรค ก.ก. เรื่องมาตรา 112 และ 4.กรณีกล่าวหาว่าพรรค ก.ก.ยินยอมให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และน.ส.พรรณิการ์ วานิช เป็นผู้นำในการหาเสียงเลือกตั้ง และเป็นตัวแทนในการดีเบตกับพรรคการเมืองอื่นแทนพรรค ก.ก. เป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรคขาดอิสระ โดยสำนักงานได้มีการแจ้งผู้ร้องทราบแล้ว

ทั้งนี้ การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นให้ยุติเรื่อง เป็นการใช้อำนาจตามข้อ 7 ของระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2564 ที่กำหนดว่า ในกรณีนายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพร้อมความเห็นว่า ไม่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ให้ยกคำร้องหรือยุติเรื่องแล้วแต่กรณี และแจ้งให้ผู้ร้องทราบและรายงานให้ กกต.ทราบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มีการรายงานข้อมูลว่าจากจำนวนเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงต้นปี 66 มีคำร้องยุบพรรคการเมืองรวม 83 เรื่องร้องเรียน และมี 61 เรื่องที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าไม่มีมูลจึงให้ยุติเรื่อง เหลือ 19 เรื่องร้องเรียนที่ดำเนินการอยู่ และการดำเนินการจนถึงขณะนี้พบว่าเหลือคำร้องที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคอยู่ในการพิจารณาของสำนักงาน 5-6 คำร้อง

'เสรี' ชี้ 'พิธา' สะดุดขาตัวเอง

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย อดีตที่ปรึกษาคณะ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ กกต.ยก 4 คำร้องยุบพรรคก้าวไกลว่า ถือเป็นสัญญาณดีสำหรับพรรคก้าวไกลที่กำลังจะตั้งรัฐบาล เพราะหากทุกเรื่องที่ร้องพรรคก้าวไกล แล้ว กกต.รับไว้หมด ไม่ว่ามีประเด็นหรือไม่ ก็จะถูกมองว่าเป็นการกลั่นแกล้ง หรืออยากจะล้มพรรคก้าวไกล ซึ่งถือว่าไม่ดี ดังนั้นการปลดสิ่งที่รก คือเรื่องที่ร้องแล้วไม่มีมูล ไม่มีประเด็น กกต.ก็ต้องไม่รับ เพื่อความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถตั้งรัฐบาลได้อย่างที่ต้องการไปเลย เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง

สำหรับกรณีที่ กกต.ไม่รับคำร้อง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลถือหุ้น ITV แต่รับเรื่องไว้พิจารณาตามมาตรา 151 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังฝืนนั้น อดีตที่ปรึกษา กรธ. กล่าวว่า ประเด็นนี้มีทั้งบวกและลบ เพราะในกรณีที่บอกว่าขาดคุณสมบัติเลย อันนั้นไม่เอาเจตนา ไม่เอาเรื่องความประมาท หากถือหุ้นสื่อจริงก็จะขาดคุณสมบัติเลย แต่ถ้ายึดตาม ม.151 จากระบุว่าผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตัวเองขาดคุณสมบัติแล้วยังไปสมัครรับเลือกตั้งนั้น แม้ว่าจะโทษแรง แต่ภาวะการพิสูจน์มีมากกว่า ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า เพราะสุดท้ายต้องส่งไปศาลอาญา และเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะนำหลักฐานมาพิสูจน์ ทั้งนี้ เท่าที่ดูโอกาสมี 50 ต่อ 50 เพราะมีปรากฏตามสื่อยังไม่สามารถยืนยันเรื่องอะไรได้เลยว่าตกลงนายพิธาถือหุ้นในฐานะอะไร ในฐานะผู้จัดการมรดกหรือไม่ หากต้นทางยังถืออยู่ ปลายทางหมายถึง ITV ยังเป็นสื่อหรือไม่

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ กกต.ยก 3 คำร้องของนายพิธาเรื่องหุ้นไอทีวี แต่รับพิจารณา ม.151 ว่า กมธ.จะมีการประชุมในวันที่ 20 มิ.ย. เพื่อพิจารณาศึกษา เพราะ กกต.ต้องพูดให้ชัดๆ เพราะตอนนี้ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ซึ่งตรา 151 ไม่ได้ผิดกฎหมายเรื่องเดียว แต่ผิดกับกฎหมายหลายเรื่อง ดังนั้น กกต.ต้องพูดให้ชัดว่าหลังจากนี้ถ้าไปพบว่ามีการกระทำความผิด มีขั้นตอนอะไรที่จะต้องทำเพื่อให้ประชาชนไม่สับสน แล้วตีความกันไปเอง

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลระบุว่ามติ กกต.เป็นการเตะตัดขานายพิธาไม่ให้เป็นนายกฯ นายเสรีกล่าวว่า โทษจะร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงก็ต้องดูที่กฎหมาย ไม่ได้เป็นการตัดขา เขาเรียกว่าสะดุดขาตัวเอง เพราะคุณทำเองทั้งนั้น แล้วจะไปว่าใครเขาตัดขา ทำเองเออเอง สะดุดเอง ล้มเอง แล้วโทษคนอื่นเขา แสดงว่าทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่ทำไมนายพิธาดันเก็บไว้  ตอนนี้ตนไปเจอคำพิพากษาของศาลฎีกาที่เคยตัดสินเรื่องเหล่านี้มาก่อน ที่ตัดสินว่าเมื่อเจ้าของมรดกเสียชีวิต ให้กรรมสิทธิ์ในหุ้น ในทรัพย์มรดกตกเป็นของทายาทโดยอัตโนมัติทันทีตามกฎหมาย ไม่ใช่แค่เป็นผู้จัดการมรดกอย่างเดียว ดังนั้นการที่นายพิธาบอกว่าเป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่ใช่

ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ตั้งข้อสังเกตว่า กรณี กกต.มีมติ 6 ต่อ 0 ตีตกคำร้องกรณีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา เนื่องจาก กกต.ไปตั้งเรื่องให้สอบทางอาญาตาม ม.151 ฐานรู้ว่าไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. ซึ่งอาจทำให้เข้าใจได้ว่า กกต.เห็นว่าการถือหุ้นสื่อตามคำร้องเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตาม  พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 42 (3) ประกอบรัฐธรรมนูญ ม.98 (3) ดังนั้น ในคำร้องยังมีประเด็นอื่นที่เป็นผลมาจากการถือหุ้นสื่อรวมอยู่ด้วย ซึ่ง กกต.ควรดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป เช่น สมาชิกภาพ ส.ส. เมื่อต้นปี 62 สิ้นสุดลงหรือไม่ ทำไม กกต. ไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ม.82 และตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ม.14 วรรคสอง ประกอบรัฐธรรมนูญ ม.89 วรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่

'เรืองไกร' ย้ำ 'พิธา' ไม่รอด

นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า มาตราดังกล่าวยังให้ ส.ส.สามารถเข้าชื่อกันยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้เช่นกัน เพราะ รธน.ม.82 บัญญัติว่า ส.ส.มีสิทธิ์เข้าชื่อกันหนึ่งในสิบเพื่อเสนอต่อประธานสภาฯ เพื่อร้องว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภาฯ สิ้นสุดลง เพราะมีคุณสมบัติต้องห้ามหรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ แต่การยื่นคำร้องดังกล่าว ต้องให้ กกต.รับรองการเป็น ส.ส.และ ส.ส.เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการก่อน จากนั้นก็สามารถเข้าชื่อกันได้ทันที แต่การส่งคำร้องไปศาล ต้องรอให้มีการเลือกและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ ก่อน ซึ่งก็ต้องส่งคำร้องไปยังศาลให้วินิจฉัยโดยเร็ว ถ้าดึงไว้ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

เขาบอกว่า ไม่ใช่แค่คุณสมบัติของส.ส.หรือ ส.ว. แต่เป็นเรื่องคุณสมบัติคนจะมาเป็นนายกฯ มันต้องสง่างาม โปร่งใส มีความซื่อสัตย์ เพราะเป็นตำแหน่งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ซึ่งหากเขาถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ถามว่าอย่าง ส.ว.เขาจะสังฆกรรมกับคุณด้วยหรือไม่ แม้ 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลจะยืนยันเสนอชื่อนายพิธา มาให้โหวตเป็นนายกฯ เพราะ ส.ว.เขามีประสบการณ์ มีความชำนาญเรื่องการตรวจสอบบุคคลต่างๆ ทาง ส.ว.ต้องอภิปรายเรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วนเรื่อง 376 เสียงมันยากอยู่แล้ว เพราะคุณไปด่าเขามาตลอด 4 ปี 

"ผมว่าไม่รอด หากดูจากคำวินิจฉัยในอดีตที่ผ่านมา แต่ก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา แต่ส่วนตัวผมมั่นใจ เพราะอย่างศาลก็เคยวินิจฉัยมาแล้วว่าแม้แต่หุ้นเดียวก็ถือไม่ได้ และคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.นครนายก ไปดูคำตัดสินดีๆ ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องจำนวนหุ้นเลย" นายเรืองไกร กล่าวถึงคดีหุ้นสื่อไอทีวี นายพิธามีโอกาสจะรอดหรือไม่

นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. ให้สัมภาษณ์กรณีที่ กกต.มีมติรับพิจารณา นายพิธาว่า ตาม ม.151 ของกฎหมายเลือกตั้ง มีความชัดเจนระดับหนึ่ง ซึ่งระบุว่าในกรณีที่ผู้ใดรู้ว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อ เรื่องนี้ปรากฏว่านายพิธาก็ยอมรับว่ามีหุ้นของไอทีวี แต่ได้มาโดยมรดก และยอมรับว่ายังไม่ได้สละมรดก แสดงว่าคุณพิธารู้แล้วว่ามีหุ้น ซึ่ง ม.151 ระบุเลยว่ารู้อยู่แล้วในที่นี้หมายถึงรู้อยู่แก่ใจว่าตัวเองมีหุ้นสื่อจริง จะปฏิเสธว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้

"ท่านก็รู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ จะไปพูดถึงว่าไอทีวีเลิกกิจการแล้วมันไม่ใช่ เพราะการเลิกกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจะต้องมีการจดทะเบียนเลิกการประกอบกิจการนั้นๆ ที่ให้ไว้กับสำนักงานทะเบียนของกระทรวงพาณิชย์ และไอทีวียังมีการประชุมผู้ถือหุ้นอีก แสดงว่า ยังมีกิจการสื่อมวลชนคือทีวีอยู่ แต่การที่ไม่ได้จดทะเบียนเลิกการประกอบกิจการโทรทัศน์ ก็เป็นการผูกมัดไอทีวีว่าบริษัทแห่งนี้ยังทำกิจการอยู่เหมือนเดิม แม้ข้อเท็จจริงจะไม่มีแล้วก็ตาม การที่ไม่มีกิจการนี้จะต้องไปจดทะเบียนเลิก และแจ้งต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ว่าไม่มีการทำสื่อแล้ว" นางสดศรีกล่าว

นางสดศรีกล่าวต่อว่า นอกจากนั้นนายพิธา ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ยังทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองคือพรรคก้าวไกลเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออีก ซึ่งกฎหมายระบุว่าเฉพาะบัญชีรายชื่อ ผู้ที่จะเสนอคือกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เท่านั้น ส่วนผู้สมัครแบบแบ่งเขต เป็นหน้าที่ของกรรมการในพรรคซึ่งแบ่งออกเป็นสองชุด คือชุดที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ เลือกคนเข้ามาแล้วส่งให้กับกรรมการชุดที่จะอนุมัติว่าควรจะส่งคนนั้นลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ และหากผู้สมัครที่ส่งไปนั้นขาดคุณสมบัติ กรรมการที่คัดมาต้องรับผิดชอบ ส่วนหัวหน้าพรรคมีหน้าที่เพียงเซ็นชื่อเท่านั้น ทำหน้าที่คล้ายๆ นายไปรษณีย์ เพื่อส่งรายชื่อไปที่ กกต. เพราะฉะนั้นมาตรา 151 จึงระบุเฉพาะเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

"มาตรานี้เข้าหมดทุกอย่าง โทษแรงมาก มีบทลงโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 20 ปี สำคัญที่สุดคือโทษจำคุก และโทษปรับ กฎหมายไม่ได้ระบุให้ศาลรอการลงโทษได้ ศาลจะใช้ดุลพินิจให้รอการลงโทษไม่ได้ "

นางสดศรีกล่าวด้วยว่า ถือว่าคุณพิธาเป็นคนเก่งคนหนึ่งของประเทศไทย แต่ชะตาชีวิตของแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับชะตากรรม ซึ่งเราไม่สามารถจะลิขิตอะไรได้ เบื้องบนเท่านั้นที่จะเป็นผู้ลิขิต เบื้องบนในที่นี่คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้าแล้วแต่ความเชื่อถือของแต่ละศาลนาจะเป็นคนขีดชีวิตมนุษย์ว่าให้เดินทางไหน

'โรม-3 นิ้ว' ลั่น ปชช.ไม่ยอมแน่

นายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวตอบโต้ความเห็นของนางสดศรีว่า เป็นกรณีที่พยายามเตะตัดขาและฉายหนังซ้ำเหมือนกรณีพรรคอนาคตใหม่ การทำแบบนี้ในสถานการณ์เช่นนี้ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับพรรคอนาคตใหม่ บริบททางการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว ยืนยันได้เลยว่าสถานการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ยิ่งเตะตัดขายิ่งกลั่นแกล้ง ประชาชนก็จะยิ่งสนับสนุนเรามากขึ้น ในการต่อสู้คดีต่างๆ เราพร้อม และมีการเตรียมการไว้ เรามั่นใจว่าเรื่องนี้จะไม่มีทางเป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งของพรรคก้าวไกลอย่างแน่นอน กรณีการดำเนินคดีตาม ม.151 ก็ต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้นขั้นตอนดังกล่าวไม่สามารถมาขัดขวางไม่ให้นายพิธาขึ้นเป็นนากยกฯ ได้             

นายสุทิน คลังแสง ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี กกต.ตั้งเรื่องไต่สวนนายพิธา เป็นการเตะตัดขาการตั้งรัฐบาลหรือไม่ว่า แล้วแต่ใครจะมอง แต่ส่วนตัวคิดว่าการจะได้ซึ่งนายกฯ นั้น ทุกคนอยากได้นายกฯ ที่ไม่มีข้อตำหนิ จึงต้องมีการตรวจสอบให้ถึงที่สุด การคัดกรองคงทำกันเต็มที่เพื่อให้ได้นายกฯ ที่ไม่มีข้อกังขา ก็ต้องไปดูที่ข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย ถ้าไม่มีความผิดไม่มีประเด็นแล้วไปกล่าวหา ก็มองได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งหรือเตะตัดขา แต่ถ้าหากมีประเด็นฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็ควรพิสูจน์ให้ได้ข้อยุติ ตนยังมองในแง่บวก ซึ่งสุดท้ายอยู่ที่องค์กรที่จะชี้ออกมาอย่างไร เชื่อว่าทั้งนายพิธาและพรรคก้าวไกลยังไม่จนมุม

ขณะที่ นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และแกนนำม็อบ 3 นิ้ว ผู้ต้องหาคดี 112 โพสต์ข้อความต่อเนื่องบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า ที่ผมบอกว่าคนจะลงถนนถ้าชนชั้นนำไทยทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมาย อันนี้ไม่ได้ขู่ ไม่ได้นัด และไม่ได้นำด้วย มันจะเป็นไปเองโดยธรรมชาติ มันจะเกิดแกนนำโดยธรรมชาติ และมีความชอบธรรมสูง  หลายคนห่วงกังวล ผมก็ห่วง แต่โดยธรรมชาติของการแสดงออกทางการเมืองนั้น "เลี่ยงยาก" เพราะทางเลือกของการต่อสู้มันมีไม่มาก เลือกตั้งชนะแล้วแต่โดนล้มนี่จะอธิบายกับชาวบ้านชาวช่องยังไง

"ถ้าไม่อยากเดินไปที่จุดที่ไม่รู้จะจบยังไง ปล่อยให้คะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนทำงาน ยอมรับความพ่ายแพ้ แก้ไขจุดบกพร่อง แล้วมาให้ประชาชนลงมติอีกใน 4 ปีข้างหน้า วันนี้ ให้ประชาธิปไตยทำงานเถอะครับ ที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยมีมากกว่าที่ลงคะแนนเสียงตอนเลือกตั้ง น้องๆ มัธยม เขาก็พร้อมจะเคลื่อนไหวสอดรับกับประชาชน มัธยมเขารู้เรื่องการเมือง และตื่นตัวมากๆ" นายอานนท์ระบุ

นายสุทินกล่าวถึงกรณีนายอานนท์ ระบุคนจะลงถนนว่า การไปให้กำลังใจ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน มีกฎหมายระเบียบเกี่ยวข้องอยู่ ถ้าไปตามกฎหมายไม่น่าจะมีอะไร เชื่อว่าทุกฝ่าย ประสงค์ให้การเลือกตั้งทำให้ประเทศเดินต่อไปได้ ไม่ใช่เลือกตั้งแล้วประเทศหยุดชะงัก ถ้าทุกคนตระหนักตรงนี้ไม่มีอะไรน่าห่วง

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มผู้สนับสนุนนายพิธา รวมถึงคนในพรรคก้าวไกลเคลื่อนไหวกดดันไปยัง กกต.ว่า อยากให้ทุกฝ่ายรอติดตามการทำงานของ กกต.ที่อาจต้องใช้เวลาไต่สวนตรวจสอบ แต่มั่นใจว่า กกต.ยึดถือปฏิบัติตามหลักกฎหมาย ตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ใช้อำนาจหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม มั่นใจว่าไม่มีการเล่นเกมการเมืองหรือกระบวนการเตะตัดขาอย่างที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์   หากผลวินิจฉัยของ กกต.และศาลออกมาเป็นที่สุดอย่างไร ทุกคนก็ต้องเคารพกฎหมาย เพราะไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้ ที่สำคัญหาก กกต.ไม่ดำเนินการเมื่อพบความผิด ก็ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ต้องถูกฟ้องร้องเอาผิดด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันทุกคน

 “อย่าเอากฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย เพราะไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้ การปลุกระดมมวลชนออกมาบนท้องถนนเพื่อกดดันการตรวจสอบนั้น จะยิ่งทำให้สถานการณ์เพิ่มความขัดแย้งในบ้านเมืองมากขึ้นไปอีก" นายธนกรกล่าว. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต. คิกออฟ 'เลือก สว.' ทำ MOU เผยแพร่ประชาสัมพันธ์

กกต. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเลือก ส.ว. พร้อมคิกออฟภายใต้แนวคิด '20 กลุ่มอาชีพร่วมใจ ขับเคลื่อนประเทศไทยไปพร้อมกัน'

โยนรบ.ปลดล็อกม.112 กมธ.นิรโทษฯชง3ข้อเสนอทะลุฟ้า/ก.ก.ย้ำสิทธิประกันตัว

"กลุ่มทะลุฟ้า" บุกทำเนียบฯ-รัฐสภา ร้องรัฐบาลตรวจสาเหตุ  "บุ้ง" เสียชีวิตให้โปร่งใส จี้คืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง