โหนคลิปฟอก‘พิธา’ ก.ก.ยันไร้ตัดต่อชี้ชัดITVไม่ได้เป็นสื่อ‘นิกม์’ท้าเปิดเทปบริษัท

สงครามคลิป! ตัวตึงก้าวไกลพาเหรดโหนคลิป-ข่าว 3 มิติบอกไม่มีตัดต่อ ชี้ชัดไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อ พร้อมงัดสารพัด กม.ขู่ "อินทัช-ไอทีวี" เรื่องรับรองรายงานการประชุมไม่ตรงปก “คิมห์” แจ้ง ตลท.พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริง “นิกม์” ยันที่ประชุมย้ำไอทีวียังเป็นสื่อ ท้าเอาเทปบริษัทมาเปิด ยันคนละหน้าตากับคลิปข่าว 3 มิติ “สมชัย” ชง “พิธา” รับรองคลิปก่อนส่งให้ กกต.สอบเพราะถือเป็นหลักฐานเด็ด “เรืองไกร” เปิดหลักฐานโอนหุ้น บอกสาระสำคัญต้องดูวัตถุประสงค์-หมายเหตุงบการเงิน ไม่ใช่คำถามท้ายประชุมที่ปลิวว่อนโซเชียล

เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2566 ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น โดยเมื่อช่วงค่ำวันที่ 11 มิ.ย. ในรายการข่าว 3 มิติ ได้รายงานข่าวพร้อมเปิดคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ซึ่งไม่ตรงกับคลิปวิดีโอที่บันทึกการประชุมเมื่อวันที่ 26 เม.ย.66 ทั้งนี้ในคลิปวิดีโอ นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท ในฐานะประธานที่ประชุมได้ตอบคำถามต่อที่ประชุมของนายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้นถึงสถานะของไอทีวี ในคำถามที่ว่ามีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ โดยในคลิปนายคิมห์ระบุว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ”

ขณะที่ในเอกสารบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 ไอทีวีในวันดังกล่าวให้คำตอบว่า ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ

ทั้งนี้ เรื่องนี้ดังกล่าวกลายเป็นไวรัลในสังคมออนไลน์ต่างพากันแชร์และวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

ต่อมาในเวลา 08.57 น. นายคิมห์ ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTOUCH มีหนังสือถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งกรณีที่เป็นข่าวของ บมจ.ไอทีวี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท มีเนื้อหาระบุว่า "ตามที่มีข่าวที่เกี่ยวข้องกับไอทีวี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท อินทัชฯ ถือหุ้นอยู่ 52.92% ปรากฏตามสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผู้ถือหุ้นของไอทีวี บริษัทได้รับทราบข้อมูล และได้ให้คณะกรรมการและฝ่ายจัดการของไอทีวีตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้นและหากมีประเด็นใดๆ ที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ไอทีวีจะดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อให้มีความโปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง"

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งว่า หลังจาก บ.อินทัชฯ ส่งหนังสือแจ้งดังกล่าว ส่งผลให้ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องปรับลดลงทั้งหมด โดยราคาหุ้นอินทัชปิดที่ 72.75 บาท ลดลง 2 บาท หรือ 2.68% มูลค่าซื้อขาย 389.73 ล้านบาท บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นอินทัช ปิดที่ 46.25 บาท ลดลง 0.75 บาท หรือ 1.70% มูลค่าซื้อขาย 1,189.16 ล้านบาท และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ปิดที่ 218.00 บาท ลดลง 1 บาท หรือ 0.46% มูลค่าซื้อขาย 736.75 ล้านบาท

นายไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กำลังเข้าไปตรวจสอบมูลเรื่องดังกล่าวว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนนั้นมีกฎหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ควบคุมดูแลอยู่แล้ว หากมีความคืบหน้าหรือพบสิ่งที่มีความผิดปกติอย่างไรจะแจ้งให้ทราบต่อไปแน่นอน

กกต.พร้อมเรียกคลิป

ขณะที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า เรื่องนี้มีคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนของ กกต.รับผิดชอบอยู่แล้ว เนื่องจากได้มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนตามมาตรา 151 ซึ่งคณะกรรมการคงเรียกข้อมูลดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ไม่รู้เรื่อง อะไรจะตรงหรือไม่ตรงอะไร ไม่รู้เรื่อง เพิ่งได้ยินจากสื่อ และเรื่องของไอทีวีรัฐบาลไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไร

ส่วนนายนิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ในรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ตอนหนึ่งถึงความชัดเจนการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีในวันที่ 26 เม.ย. ซึ่งนายนิกม์นั่งประชุมออนไลน์ว่า บริษัทยังดำเนินการตามวัตถุประสงค์บริษัทมีประโยคนี้ และเมื่อพิธีกรถามว่า เชื่อว่าไอทีวีมีหลักฐานฉบับเต็มที่เก็บเอาไว้หรือไม่ นายนิกม์บอกว่า “มีแน่นอน เชื่อว่าอย่างนั้น”

พิธีกรถามอีกว่า คลิปข่าวสามมิติเป็นคนละเรื่องเลยใช่หรือไม่ นายนิกม์กล่าวว่า คลิปนั้นจากหน้าจอก็คนละแบบ เพราะของตนเองล็อกอินด้วยมือถือ เมื่อซักต่อว่า แสดงว่าบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ที่ออกมานั้นถูกต้องใช่หรือไม่ นายนิกม์กล่าวว่า ตัวบันทึกยังไม่เห็นฉบับเต็ม จริงๆ ควรไปคัดตัวจริงจากบริษัทออกมาอ่านจะชัดกว่า และเมื่อย้อนถามว่าตกลงที่นายคิมห์ตอบว่าปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์บริษัทอยู่ได้ยินอย่างนั้นใช่หรือไม่ นายนิกส์ยืนยันว่า "ได้ยินครับ"   

พิธีกรถามย้ำว่า แสดงว่าแตกต่างจากคลิปเสียงที่ระบุว่าตอนนี้บริษัทยังไม่ดำเนินการใดๆ ต้องรอผลทางคดีความก่อน นายนิกม์กล่าวว่า คลิปที่ออกมาก็คนละหน้าตากับของตน เวลาที่ตนอัดก็ชัดเจนกับเวลาเดียวกับที่เขาประชุม 

เมื่อถามว่า รายงานบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ถือเป็นเท็จหรือไม่ นายนิกม์กล่าวว่า ใบที่เป็นกระดาษเห็นจากที่เป็นข่าวตัวนั้น ตัวที่ลงรายชื่อนายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ถามต่อว่า นายภาณุวัฒน์ได้ถามบริษัทไอทีวียังเป็นสื่ออยู่หรือไม่ นายนิกม์ระบุว่า เป็นคำถามที่พิมพ์เข้าไป เมื่อถามย้ำว่า แล้วคำตอบเป็นอย่างไร นายนิกม์ตอบว่า ก็ดำเนินการอยู่ตามที่เขียน

 “ผมว่าเอาเทปของบริษัทมาเปิดดีกว่า เพราะมีว่ามีผลทางคดี หากพูดไม่ตรงกับเขา ผมเชื่อเทปบริษัทเป็นอะไรที่ยืนยันได้มากที่สุด” นายนิกม์กล่าว

ก.ก.อ้างปกป้องเสียงประชาชน

ส่วนที่พรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคแถลงเรื่องดังกล่าว โดยอ้างอิงถึงคลิปของข่าวสามมิติ โดยตั้งข้อสงสัยว่า มีการวางแผนให้นายภานุวัฒน์ ผู้ถือหุ้นไอทีวีที่ได้รับการโอนหุ้นมาจากนายนิกม์ ชงคำถามในที่ประชุมเพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ ซึ่งนายคิมห์กลับให้คำตอบอีกทาง แต่ภายหลังในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นกลับระบุอีกอย่าง ซึ่งความขัดแย้งกันของสองส่วนนี้ และพฤติการณ์นี้อาจเข้าข่ายการทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเท็จหรือไม่ และเป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นการกระทำเพื่อสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลตามฉันทานุมัติของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง และพยายามฟื้นคืนชีพไอทีวีขึ้นมาหรือไม่

 “พรรคก้าวไกลขอยืนยันกับพี่น้องประชาชนว่า เราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องรักษาเสียงของประชาชน ผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศในระบอบประชาธิปไตยให้ได้" นายชัยธวัชย้ำ

นายชัยธวัชกล่าวด้วยว่า แม้จะมีความพยายามจากบุคคลบางกลุ่มที่ต้องการจะใช้ประเด็นหุ้นไอทีวีเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พรรคยังเชื่อมั่นว่าอำนาจของประชาชนจะได้รับชัยชนะในที่สุด และ กกต.จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม ตามเจตจำนงที่ไม่ต้องการให้นักการเมืองครอบงำสื่อมวลชนของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับบรรทัดฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาที่ผ่านมา

เมื่อถามว่า หลักฐานคลิปวิดีโอไม่ได้หักล้างว่านายพิธาได้ถือหุ้นไว้จริงหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า มีส่วนสำคัญ หากฟังดีๆ จะมีเนื้อหาบางส่วนที่มีนัยสำคัญ ว่าตกลงไอทีวียังดำเนินกิจการสื่อมวลชนอยู่หรือไม่ และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับกระบวนการปลุกผีไอทีวีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายราย

เมื่อถามว่า ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกระบวนการนี้ นายชัยธวัชกล่าวว่า ยังเร็วไปที่จะกล่าวหาคนใดคนหนึ่ง แต่เชื่อว่าประชาชนสามารถคาดเดาได้จากพฤติกรรมดังกล่าว  แต่ยังไม่ทราบว่ามีพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ส่วนจะดำเนินคดีกับใครและเมื่อไหร่นั้นกำลังพิจารณาอยู่

นายชัยธวัชยังกล่าวถึงกรณี กกต.อาจดำเนินคดีกับนายพิธาตามความผิดมาตรา 151 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าพรรคมั่นใจว่าข้อกล่าวหานี้ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอ  เช่นเดียวกับที่อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งไม่ฟ้องนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคคอนาคตใหม่ ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 พ.ย.65 ในคดีการหุ้นวีลัค

พาเหรดขู่ผิดกฎหมาย

ต่อมานายชัยธวัชให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า คลิปที่ออกมาพรรคไม่มี แต่ได้รับคำยืนยันจากสื่อที่นำมาเปิดเผยแล้วว่าคลิปไม่มีการตัดต่อ แต่ให้ดีที่สุดไอทีวีที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คืออินทัช ควรรีบเปิดคลิปเต็มของการประชุมผู้ถือหุ้นนี้ เพื่อให้สังคมหายสงสัยเร็วที่สุด และขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในไอทีวี รวมทั้งนายจิตชาย มุสิกบุตร กรรมการผู้สอบทานและแก้ไขรายงานการประชุม ต้องตอบคำถามต่อสังคมให้ชัดเจน เพราะนายจิตชายยังเป็นผู้บริหารสายงานกฎหมายและเลขานุการของบริษัทอินทัชด้วย

“นายพิธาได้เคยตั้งคำถามไว้ว่า นี่คือความพยายามฟื้นคืนชีพไอทีวีให้กลับมาเป็นสื่อมวลชน เพื่อสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลตามฉันทานุมัติของประชาชนผ่านการเลือกตั้งใช่หรือไม่ ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้อาจเข้าข่ายกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัคร ส.ส.ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 143 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย” นายชัยธวัชระบุ

นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรค ก.ก.กล่าวยืนยันว่า คลิปคงไม่มีการตัดต่อเพราะเชื่อมั่นใน น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย และหากตัดต่อทางช่อง 3 หรือ น.ส.ฐปณีย์ก็ไม่ได้อะไร การรายงานข่าวต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้รวมถึงผู้บริหารของไอทีวีก็ต้องออกมาชี้แจง เพราะการปลอมแปลงบันทึกการประชุมมีความผิดทางพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน รวมถึงขบวนการทางการเมืองที่มีความรุนแรงด้านข้อกฎหมาย

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. โพสต์เฟซบุ๊กในทำนองเดียวกันพร้อมระบุว่า ไอทีวีควรต้องเร่งชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ให้สังคมทราบโดยกระจ่าง จะเงียบเนียนไม่ได้ เพราะการกระทำในลักษณะนี้อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดในมาตรา 216 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งมีโทษจำคุกถึง 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากมีการทำเอกสารปลอม ต้องให้ความยุติธรรมกับนายพิธา และอย่างที่บอกว่าหน้าที่ของเราคือเป็นพรรคเบอร์สอง เราเป็นกำลังใจให้

นายราเมศ รัตนะเชวง รักษาการโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวเรื่องนี้ว่า ถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของ กกต.ที่จะต้องไต่สวนพิจารณาให้เกิดความกระจ่างชัดว่าเป็นอย่างไร และเชื่อว่าในทุกกรณีก็จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อผลการวินิจฉัยออกมาเป็นเช่นไรแล้ว การดำเนินคดีอาญาก็มีกระบวนการต่อไป ไม่อยากให้มีการชี้นำไปก่อน เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.โพสต์เฟซบุ๊กว่า ได้ดูคลิปเต็มแล้ว มีการตัดออกเพียงเสี้ยววินาทีในช่วงต่อของคำถามคำตอบสำคัญ ทำให้ภาพกระตุก ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเรียกว่าเดดแอร์ คือไม่มีการพูด เลยเฉือนทิ้งออกไป ทำให้ภาพกระตุก ซึ่งคลิปนี้จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่ต้องส่งให้ กกต. พร้อมการรับรองจากบุคคลที่ส่ง  และทำให้การวินิจฉัยของ กกต.ในเรื่องนี้น่าจะมีทิศทางไปในทางที่ดีขึ้นมาก

“เจ้าของคลิปต้องนำส่ง กกต. โดย กกต.จะปิดชื่อท่านเป็นความลับ ไม่มีผลเสียใดๆ แต่ท่านต้องพร้อมเปิดตัวกับ กกต. แต่หากไม่สะดวกให้นายพิธาส่งพร้อมรับรองก็น่าจะได้ ส่วนกรณีหากมีการจดรายงานการประชุมเป็นเท็จหากเป็นจริง ผู้ถือหุ้น นายพิธา และพรรคก้าวไกลสามารถเป็นผู้เสียหายฟ้องดำเนินคดีได้”

‘เรืองไกร’ เปิดหลักฐานโอนหุ้น

ด้านนายเรืองไกรได้เปิดหลักฐานการโอนหุ้นไอทีวีจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า นายพิธาโอนหุ้น 42,000 หุ้นให้นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ น้องชาย ในวันที่ 25 พ.ค.2566 รวมถึงเปิดงบการเงินฉบับย่อของบริษัทไอทีวีและบริษัทย่อย ที่ระบุว่า 24 ก.พ.2566 มีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้อง และวันที่ 28 เม.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทโดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา

นายเรืองไกรกล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้เพื่อเตือนความจำนายพิธาและพรรคก้าวไกล ที่ตอบว่าจำไม่ได้ว่าโอนหุ้นเมื่อไหร่ ส่วนเอกสารงบการเงินฉบับย่อที่นำมาเปิดเผยเป็นการบ่งชี้ว่าบริษัทมีการดำเนินธุรกิจสื่อ ซึ่งเอกสารสำคัญที่ควรดูคือหมายเหตุประกอบงบการเงิน ไม่ใช่คำถามท้ายรายงานการประชุมที่มีการนำออกมาเผยแพร่กันในขณะนี้ โดยหมายเหตุข้อ 10 ซึ่งออก ณ วันที่ 31 มี.ค.2566 ระบุว่า 24 ก.พ.2566 เขาทำธุรกิจสื่อแล้ว ไม่ได้กลับมาทำสถานีไอทีวีแล้ว

 “รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) กำหนดเพียงห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ซึ่งกรณีนี้เข้าลักษณะของสื่อมวลชนใดๆ และการที่ กกต.ตีตก 3 คำร้องถือหุ้นสื่อก็ไม่เป็นไร เพราะเมื่อ กกต.ประกาศรับรองนายพิธา มีสถานะเป็น ส.ส.แล้ว ผมก็จะยื่นร้องใหม่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ซึ่งยิ่งจะเป็นผลดี เพราะเรื่องจะไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความแน่นอนกว่าการไปศาลฎีกา” นายเรืองไกรระบุ

นายเรืองไกรยังระบุถึงการเผยแพร่คลิปรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นว่า ไม่ใช่สาระสำคัญของประเด็นที่ร้อง เพราะพยานหลักฐานที่ควรไปดู คือ 1.นายพิธาถือหุ้นตามทะเบียนผู้ถือหุ้นหรือไม่ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นตามรายงานการประชุม 2.ทำธุรกิจสื่อมวลชนใดๆ ก็ไปดูวัตถุประสงค์การจดทะเบียนบริษัท และดูจากหมายเหตุงบการเงิน ส่วนการประชุมผู้ถือหุ้นถามตอบแล้วจดถูกผิดบ้าง ก็เป็นเรื่องผู้ถือหุ้นกับบริษัท ซึ่งเมื่อมีการจดผิดผู้ถือหุ้นรายนี้ก็ต้องไปแจ้งแก้ไข ไม่ใช่ไปกล่าวหาว่ามีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ก็เหมือนการประชุมกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ที่หลังการประชุมก็ให้สมาชิกมาตรวจดูว่าจดรายงานการประชุมถูกต้องหรือไม่ ถ้าจดผิดก็ให้ไปแก้ไขก็เท่านั้นเอง

เมื่อถามว่า ข้อมูลที่นำมาเปิดเผยเหมือนต้องการชี้ว่าไอทีวีไม่ได้ดำเนินกิจการแล้ว นายเรืองไกรกล่าวว่า ไม่เกี่ยว การจะทำสื่อหรือไม่ต้องดูที่รายได้ วัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัท เหมือนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีของนายธนาธร และนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ซึ่งศาลก็ไม่ได้ดูที่รายงานผู้ถือหุ้นที่ถามตอบกัน

‘นพรุจ’ ยันหุ้นเดียวก็ผิด!

นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบการถือครองหุ้นสื่อของนายพิธาเข้าข่ายมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ ซึ่งเป็นการมายื่นใหม่หลังจาก กกต.ปัดตกคำร้อง ซึ่งเป็นการยื่นหลังการเลือกตั้ง และเป็นประเด็นที่นายพิธาโอนหุ้นให้บุคคลอื่นหลังการเลือกตั้ง ทั้งนี้หาก กกต.ไม่ดำเนินการหรือดำเนินการล่าช้า จะไปยื่นพร้อมข้อมูลหลักฐานต่อ ส.ส.เพื่อให้เข้าชื่อ 1 ใน 10 คน โดยยื่นผ่านประธานรัฐสภา ซึ่งประธานรัฐสภาไม่มีสิทธิ์ยับยั้ง ต้องส่งตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย

 “แม้แต่หุ้นเดียวหรือปิดกิจการเหมือนวีลัค มีเดีย ของนายธนาธร แม้แต่ปิดกิจการไปแล้วก็ต้องได้รับโทษ อย่างกรณีนายสุรโชค ทิวากร ผู้สมัครพรรคไทยภักดี ที่ถือหุ้นบริษัท อสมท เพียง 1 หุ้น หุ้นละ 5 บาท ซึ่งไม่มีโอกาสครอบงำสื่อเลย แต่ตามกฎหมายเมื่อเข้ามาสมัครแล้ว คุณรู้อยู่แล้วแต่จงใจสมัครก็ต้องได้รับโทษ”

ส่วนนายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น ยื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อขอให้สอบข้อเท็จจริงกรณีคำร้องของนายเรืองไกรที่ยื่นร้องเรียนหุ้นสื่อไอทีวีว่า อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 143 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย บุคคลดังกล่าวอาจมีความผิด ต้องโทษจำคุกในที่สุด จึงอยากให้ กกต.ตรวจสอบคำร้องของนายเรืองไกรว่าเข้าข่ายกระทำการผิดกฎหมายหรือไม่

นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "ในฐานะที่เคยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล การโอนหุ้นที่นายพิธาโอนให้นายภาคิน ถ้าโอนในฐานะผู้จัดการมรดกต้องระบุไว้ในหลักฐานการโอน แต่ตามหลักฐานที่นายเรืองไกรนำมาเปิดเผยระบุเพียงว่า นายพิธาผู้โอน/ฝาก นายภาคินผู้รับโอน/ฝาก เท่านั้น เมื่อหลักฐานเป็นเช่นนี้จึงต้องฟังว่า หุ้นดังกล่าวเป็นของนายพิธา ไม่ใช่ทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง แต่แม้จะฟังว่าหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง นายพิธาในฐานะทายาทของผู้ตายก็มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกหุ้นดังกล่าวส่วนหนึ่งที่ตกมาเป็นของนายพิธาตั้งแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599"

วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย  เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึงภาพรวมการยื่นแสดงรายการบัญชีรายชื่อทรัพย์สินและหนี้สินของ ส.ส.กรณีพ้นจากตำแหน่ง ว่ามีการยื่นทรัพย์สินมายัง ป.ป.ช.แล้ว 384 ราย หรือกว่า 70% แล้ว ที่ยังไม่ได้ยื่นอีกกว่า 100 บัญชี ซึ่งมีหลายรายที่ขอขยายเวลาการยื่น 30 วัน โดยจะครบในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ซึ่งนายพิธาก็ยังไม่ได้ยื่น และมีหนังสือขอขยายเวลาส่งมาที่ ป.ป.ช.

“การตรวจสอบโดยปกติ ป.ป.ช.ไม่ได้เพ่งเล็งแต่อย่างใด หลักการตรวจสอบคือ ทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการเดียวกัน มีบรรทัดฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามหลักการ”นายนิวัติไชยกล่าวตอบถึงการตรวจสอบกรณีนายพิธา. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง