330ส.ส. ผ่านฉลุย ครบ95%กกต.ประกาศทันที/‘พิธา’เสียงแข็งได้โหวตนายกฯ

ฉลุย! 330 ว่าที่ ส.ส. "กกต." แย้มไม่มีเรื่องร้องเรียน รอ สนง.ชงอีก 50 คน ครบ 95% ประกาศรับรองทันที "สภา" เตรียมสถานที่รับรายงานตัว ส.ส.ใหม่ชุดที่ 26 แล้ว "เรืองไกร" บุกยื่นหลักฐานเพิ่มสอบหุ้นสื่อพิธา ขู่ฟันซ้ำมาตรา 82 อีกรอบหลัง กกต.รับรอง ส.ส. "หน.ก้าวไกล" ลั่นพร้อมสู้ทุกข้อกล่าวหา ไม่ห่วงโหวตเลือกนายกฯ ยกเคส "ธนาธร" เทียบ ระบุยื่นบัญชีทรัพย์สินภายใน 18 มิ.ย.นี้ "บิ๊กตู่" ย้ำไม่ยุ่งปมหุ้นไอทีวี บอก "ทักษิณ" กลับบ้านยึดตาม กม. "วิษณุ" แจงคนถูกศาล รธน.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.-แคนดิเดตนายกฯ สภาโหวตไม่ได้ ชี้ใครทูลเกล้าฯถวายชื่อมีปัญหาต้องรับผิดชอบ

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 13 มิ.ย. มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง (กกต.)​ มีมติรับทราบรายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่มีเรื่องร้องเรียน  และเชื่อได้ว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ที่ กกต.สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้จำนวน 330 เขตเลือกตั้ง ตามที่สำนักงาน กกต.เสนอ

ทั้งนี้ กกต.เห็นว่าตามพระราชบัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.)  ​ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 มาตรา 127 กำหนดให้ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด จึงให้สำนักงานไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เหลือให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด และเสนอให้ กกต. พิจารณาในคราวเดียว ทำให้ในวันนี้ยังไม่มีการประกาศรับรองผล ส.ส.รายใด  และคาดว่าสำนักงานจะมีการเสนอเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในการประชุมสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีทั้งหมด 400 คน ก็คือ 380 คน เมื่อวันนี้  กกต.รับทราบผลการตรวจสอบ ส.ส.กลุ่มที่ไม่มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 330 คนแล้ว ก็จะเหลือ ส.ส.ในส่วนที่สำนักงานจะต้องดำเนินการให้ครบร้อยละ 95 อีกเพียง 50 คนเท่านั้น แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ กกต.จะประกาศรับรอง ส.ส.แบบแบ่งเขตครบทั้ง 400 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบทั้ง 100 คน เนื่องจากรายงานผลการตรวจสอบของผู้ตรวจการเลือกตั้งที่กฎหมายกำหนดให้ กกต.ต้องรับฟัง และความเห็นของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ส่วนใหญ่เสนอว่าเรื่องร้องเรียนผู้ได้รับเลือกตั้ง จังหวัดไม่อาจดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้เสร็จก่อนกรอบเวลา 60 วันที่กฎหมายกำหนด อีกทั้ง กกต.ต้องการดำเนินการเรื่องการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนนายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี จะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี ในวันที่ 28 มิ.ย.นี้

นอกจากนี้ สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กกต. ได้เผยแพร่ข้อกฎหมายกรณีที่รู้ว่าขาดคุณสมบัติแต่ยังสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลอย่างไร ทั้งนี้ ผู้ที่รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ และผู้รู้อยู่แล้วว่าตนมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดถึง 20 ปี ตามมาตรา 151 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2566

สภาพร้อมรับ ส.ส.ชุดที่ 26

ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เตรียมห้องสัมมนาชั้นบี 1 เป็นสถานที่เพื่อรับรายงานตัว ส.ส. โดยเจ้าหน้าที่ได้เตรียมโต๊ะเก้าอี้ไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ ส.ส.ใหม่ พร้อมติดตั้งฉากแบ็กดรอปแสดงความยินดีกับ ส.ส. ชุดที่ 26 นอกจากนี้ ยังจัดโซนรับรอง ส.ส.ที่รอการรายงานตัวในห้องสัมมนา โซนถ่ายภาพเพื่อทำบัตรประจำตัว ส.ส. และพื้นที่สำหรับให้ผู้ติดตามหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับ ส.ส.พักคอยบริเวณโถงด้านหน้าห้องสัมมนาด้วย รวมถึงทางเดินของโถงชั้นบี 1 ยังมีจัดนิทรรศการแสดงผลงานของคณะกรรมาธิการต่างๆ  ของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ด้วย ขณะที่บริเวณด้านหน้าทางเข้าห้องสัมมนาได้ติดตั้งโทรทัศน์ ซึ่งเป็นจอแสดงผลความคืบหน้าของการรับรายงานตัวของ ส.ส.

ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ออกประกาศเรื่อง การรับรายงานตัว ส.ส. เพื่อแจ้งถึงรายละเอียดของการเตรียมพร้อมก่อนการเข้ารายงานตัว และได้เพิ่มช่องทางกรอกเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ฟอร์มเพื่อเตรียมพร้อมล่วงหน้าได้ ทั้งนี้ กำหนดให้ต้องลงนามรับรองเอกสารต่อหน้าเจ้าหน้าที่

สำหรับเอกสารที่ใช้ประกอบการรายงานตัว ประกอบด้วย 1.หนังสือรับรองการได้รับเลือกตั้ง 2.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 3.สำเนาทะเบียนบ้าน 4.สำเนาใบสำคัญการสมรส 5.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรส 6.สำเนาหลักฐานวุฒิการศึกษา 7.รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตา ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 3 รูป และขนาด 2 นิ้ว จำนวน 6 รูป

วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เดินทางมาที่ กกต. เข้ายื่นหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณากรณี กกต.ตั้งคณะกรรมการไต่สวนเอาผิดนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ฐานรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พระราชบัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.)​ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นสื่อ โดยเป็นคำชี้แจงของนายพิธาที่โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวต่อกรณีดังกล่าว และรายงานการโอนหุ้นไอทีวีของนายพิธาไปยังนายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ น้องชายของนายพิธา เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2566 สำเนาหมายเหตุประกอบงบการเงินของบริษัทไอทีวี เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2566

นายเรืองไกรกล่าวว่า เห็นว่าการตั้งคณะกรรมการไต่สวนตามมาตรา 151 ของ กกต. ควรจะมีการพิจารณาหลักฐานเหล่านี้ ทั้งการชี้แจงของนายพิธาผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรม  หรือการที่นายพิธาจำไม่ได้ว่าโอนหุ้นเมื่อไหร่ ซึ่งตนพบว่ามีการโอนหุ้นในวันที่ 25 พ.ค.2566 จึงนำหลักฐานมายื่นต่อ กกต. และหมายเหตุประกอบงบการเงินไตรมาส 1 ฉบับวันที่ 31 มี.ค. ซึ่งมีการระบุชัดว่า วันที่ 24 ก.พ.2566 มีการทำธุรกิจสื่อ โดยมีการระบุว่าจะรับรู้รายได้ไตรมาส 2 ซึ่งธุรกิจสื่อตรงนี้เป็นงานบริการ ต้องมีการส่งมอบก่อนจึงจะรับรู้รายได้ ทำให้มีการระบุว่าจะรับรู้รายได้ในไตรมาส 2

เรืองไกรขู่ฟัน ม.82 พิธาอีก

 “ที่กำลังถกเถียงกันในขณะนี้เกี่ยวกับรายงานการประชุมไม่ตรงกับคลิปวิดีโออัดไว้ และมีการเผยแพร่ออกมา ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เพราะต่อให้บันทึกไม่ตรง หรือไม่มีการถาม หรือมีการถามมากกว่านี้ ก็ไม่ได้ทำให้ข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงไป หรือข้อเท็จจริงที่นำมาร้องเปลี่ยนไป เพราะกฎหมายกำหนดว่า ผู้จะลงสมัคร ส.ส.ต้องไม่ถือหุ้นสื่อ ผมก็มีหลักฐานเป็นใบ บมจ.6 ที่ปรากฏชื่อนายพิธาถือหุ้น และยังพบว่ามีการเปลี่ยนที่อยู่ถึง 3 ครั้ง ในฐานะที่ท่านเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น จะอ้างว่าไม่ทราบรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นที่จะส่งให้กับผู้ถือหุ้นทุกครั้ง ก็เป็นเรื่องของท่าน หรือจะแก้ว่าถือในนามใครก็เป็นสิทธิของนายพิธา” นายเรืองไกรกล่าว

นายเรืองไกรยังระบุว่า กฎหมายกำหนดถึงหุ้นที่มีลักษณะต้องห้าม ตรงนี้ไม่ต้องเรียนกฎหมายก็อ่านแปลความหมายออก กฎหมายเขียนว่าห้ามไม่ให้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด สิ่งที่จะนำมาตอบประเด็นนี้คือเมื่อดูวัตถุประสงค์ของบริษัทไม่พบว่ามีการเป็นคู่สัญญากับรัฐ แต่ระบุวัตถุประสงค์ทำกิจการสื่ออยู่ประมาณ 4-5 ข้อ ซึ่งหลังถูกบอกเลิกสัญญากับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) วัตถุประสงค์ในการทำสื่อของบริษัทยังคงมีอยู่ โดยดูได้ในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2559-2561 มีการระบุเรื่องการมองหาเป้าหมายในการจะเป็นผู้ประกอบกิจการเทเลคอมมีเดียและเทคโนโลยีอยู่แล้ว จนมาถึงรายงานตามงบการเงินไตรมาส 1 วันที่ 24 ก.พ. ระบุชัดว่าบริษัทมีการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับสื่อ

 “ที่บอกว่าผมไปสมคบทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วมาร้องในวันที่ 10 พ.ค.2566 อยากถามว่าวันนั้นยังไม่มีใครรู้เลยว่าพรรคก้าวไกลจะได้คะแนนกลับมาขนาดนี้ และถ้าไปดูในรายงานตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา คนถือหุ้นต้องเห็น มันระบุชัดว่าเขามีแผนที่จะทำสื่ออยู่ตลอด และตอนนั้นก็ไม่มีใครรู้ว่านายพิธาถือหุ้นอยู่ ทำไมแล้วนายพิธาถือหุ้นไอทีตั้งแต่ปี 2559 แต่หลังเลือกตั้งปี 2562 ทำไมไม่แจ้งการถือหุ้นนี้ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)​ ทันที ทำไมถึงต้องมาแจ้งในภายหลัง เพราะต้องการไม่ให้มีการตรวจสอบใช่หรือไม่ วันนี้การยื่นบัญชีของ ส.ส.ที่พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2566 ผมก็อยากขอเรียกร้องในฐานะที่ท่านพูดเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ก็ขอให้มีการนำข้อมูลขึ้นเว็บไซต์เลย มีเงินฝากเท่าไหร่ เงินลงทุนเท่าไหร่ การค้ำประกันหนี้ส่วนต่างมีจำนวนเท่าใด ทรัพย์ที่อ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกมีอะไรบ้าง และนอกจากหุ้นไอทีวี ยังมีหุ้นตัวอื่นด้วย และได้มีการยื่นต่อ ป.ป.ช.หรือไม่ ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะมีแค่หุ้น น่าจะมีทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย”นายเรืองไกรกล่าว

ถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อบริษัทมีแผนทำสื่อมาตั้งแต่ปี 2559 ทำไมเพิ่งมาทำธุรกิจสื่อใน 24 ก.พ. 2566 ซึ่งกำลังจะมีการจัดให้มีการเลือกตั้ง นายเรืองไกรกล่าวว่า ตนไม่สงสัยเพราะเขามีแผนมาตั้งแต่ปี 2560 แล้วและต้องไปถามไอทีวี ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีการยุบสภา และยังไม่รู้ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง แลนด์สไลด์ มีใครคิดจะสกัดหรือ ส่วนที่มองว่ามีขบวนการให้ลงสื่อ 2-3 ครั้ง เพื่อให้ไอทีวีถูกฟื้นเป็นสื่อหวังเล่นงานนายพิธากับพรรคก้าวไกล ก็ขอให้เอาข้อมูลตรงนี้ไปชี้แจงต่อ กกต.  มาชี้แจงตรงนี้ไม่มีประโยชน์อะไร

ซักว่า มีคนมองว่ามีขบวนการปลุกผีไอทีวีเพื่อมาเล่นงานนายพิธา นายเรืองไกรกล่าวว่า ตนหน้าตาเหมือนพ่อมดหมอผีอย่างนั้นหรือ ยืนยันว่าทำคนเดียว และทำในห้องนอนด้วย และคิดว่าเมื่อมีหน้าที่ร้อง อะไรที่เป็นประโยชน์ตนก็มาร้อง เอามาส่ง แต่ตนจะไม่ไปชี้นำสังคมก่อนที่เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะพิจารณาตัดสิน ไม่เช่นนั้นเราจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบไว้ทำไม และที่กล่าวหาว่าตนรับไม้ต่อมาจากนักการเมือง ก็ให้ไปหาไม้ท่อนนั้นให้เจอกันแล้วค่อยมากล่าวหา

"หลัง กกต.ประกาศรับรองให้นายพิธาเป็น ส.ส.แล้ว วันรุ่งขึ้นจะมายื่น กกต. ให้ดำเนินการกับนายพิธาตามมาตรา 82" นายเรืองไกรกล่าว

'ทิม' ลั่นพร้อมสู้ทุกข้อหา

ที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นายพิธา พร้อมคณะพรรคก้าวไกล เดินทางมาหารือกับนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยและคณะ ถึงทิศทางการบริหารเศรษฐกิจแบบมหภาค ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง นายพิธาแถลงผลการหารือโดยสรุปว่า ได้พูดคุยลงลึกถึงสถานการณ์ของเอสเอ็มอี โดยเฉพาะสถานการณ์ภายในช่วงวิกฤตโควิด-19 และการชี้แจงนโยบายสำคัญที่จะมีส่วนช่วยเอสเอ็มอี ทั้งหวยใบเสร็จหรือการผ่านกฎหมายต่างๆ เพื่อที่จะตั้งสภาเอสเอ็ม แม้ว่าขณะนี้จะเป็นเพียงสมาพันธ์ แต่ต่อไปเราอยากจะทำให้เป็นสภาเพื่อให้เป็นระดับเดียวกับสภาอุตสาหกรรม  สภาหอการค้า

จากนั้นผู้สื่อข่าวถามถึงคลิปการประชุมผู้ถือหุ้นสื่อไอทีวีและกระบวนการขัดขาเพื่อไม่ให้นายพิธาขึ้นสู่นายกรัฐมนตรี ในขณะนี้มีข้อมูลหรือยังว่าใครอยู่เบื้องหลัง นายพิธากล่าวว่า ตอนนี้คณะทำงานกฎหมายของพรรคก้าวไกลได้ข้อมูลมาเพิ่มเรื่อยๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องจากกระบวนการเหล่านี้ที่คอยส่งข้อมูลเข้ามา จากที่เคยให้สัมภาษณ์ไปแล้ว เราคำนึงถึงฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้น 

ถามถึงกรณีที่ กกต.มีการหยิบมาตรา 151 มาวินิจฉัย นายพิธากล่าวว่า ได้คิดฉากทัศน์ไว้แล้ว เพราะเคยเกิดขึ้นกับนายธนาธร จึง​รุ่งเรือง​กิจ​ มาก่อน ใช้วิธีเข้าชื่อ ส.ส. ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา ศาลอาญา พอที่จะเดาออกว่าจะมีการปิดฉากทัศน์เกิดขึ้นได้ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมา มีข้อมูลส่งมาที่พรรคเรื่อยๆ ว่ามีความไม่ชอบมาพากล แต่ก็มีการตรวจสอบ ขณะเดียวกันอย่างที่บอกหลักฐานพร้อมเพื่อเข้าสู่กระบวนการ แต่ทุกวันนี้ทาง กกต.ก็ยังไม่ได้ติดต่ออะไรมา 

ซักว่า กรณีนายธนาธร ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก่อนการแจ้งข้อหาตามมาตรา 151 แต่ของนายพิธา ได้มีการตั้งกระบวนการสอบก่อนที่จะส่งศาลวินิจฉัย ทำให้มองว่าศาลอาจสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่จะมีการโหวตนายกฯ นายพิธากล่าวว่า  ตรงนี้ไม่ได้เป็นประเด็นอะไร ในการโหวตนายกฯ วันนี้ตนได้เห็นข่าวของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ข้อเท็จจริงน่าจะคลาดเคลื่อน จำได้ว่าตอนที่นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายชัย ชิดชอบ เป็นประธานสภาฯ แต่ตอนที่โหวตเลือกนายกฯ นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ ถึงแม้จะหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ยังสามารถถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ได้ ไม่ได้เป็นไปตามที่นายวิษณุพูด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับมาตรา 151 ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเข้าสู่กระบวนการโหวตเลือกตนเป็นนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย 

เมื่อถามว่า คลิปการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีกับบันทึกการประชุมที่ไม่ตรงกันอาจจะมีน้ำหนักไม่มากพอที่จะมาใช้ตามกฎหมาย หรือลบล้างข้อกล่าวหาการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธาได้หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ตนต่อสู้ในทุกรายละเอียด ทุกกระบวนความ เวลามีเรื่องเกี่ยวกับหุ้นสื่อขึ้นมา สื่อมวลชนสามารถเทียบฎีกาย้อนหลังได้ 

พอถามว่า งบการเงินที่มีการยื่นให้กับกรมพัฒนาเศรษฐกิจเป็นรายได้ที่มาจากสื่อ จะทำให้นายพิธาเพลี่ยงพล้ำหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ไม่ แต่ขอรับไปตรวจสอบดูตามกฎหมาย ขอให้เป็นเรื่องของคณะทำงานด้านกฎหมาย 

เมื่อถามว่า ในที่ประชุมกรรมาธิการของวุฒิสภา มีการพูดถึงมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ หากมีการรับรอง ส.ส.แล้ว จะมีการเปิดช่องให้ ส.ส.หรือ ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกแต่ละสภา เพื่อส่งให้ประธานของสภานั้นๆ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของนายพิธาได้ นายพิธากล่าวว่า เป็นสิ่งที่เราคิดไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้น ที่คิดไว้อยู่ว่าจะเป็นการสกัดกั้นไม่ให้ตนเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่ว่าจะสกัดกั้นอย่างไร ก็ไม่ทำให้การเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหมดไป 

ซักว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหลังจากการพ้นตำแหน่ง ส.ส. นายพิธากล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารและข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียด เพื่อให้รอบคอบที่สุด ก่อนที่จะยื่นให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ ภายในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ตามระเบียบของ ป.ป.ช. 

บิ๊กตู่ลั่นไม่ยุ่งปมหุ้นไอทีวี

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงคดีหุ้นไอทีวี ได้มีการพูดคุยกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) หรือไม่ว่า  เรื่องนี้ไม่ได้คุย ซึ่งเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอยู่แล้ว อย่าลืมว่าที่ยืนอยู่นี้เป็นอำนาจบริหาร ส่วนอำนาจนิติบัญญัติ ตุลาการ เป็นคนละอำนาจ

"ใครถึงตรงไหนก็ทำตรงนั้นไปแล้วกัน ผมคิดว่าอย่างนั้นดีกว่า ถ้าไปก้าวล่วงซึ่งกันและกันก็จะยุ่งไปหมด เพราะวันนี้ก็ยุ่งพออยู่แล้ว ต้องให้เขาทำงานไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ถามถึงกรณี ผบ.ตร.เข้าพบเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ได้คุยถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศจะกลับไทยก่อนวันเกิดหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ได้มีการพูดคุย ตนจะไปคุยเรื่องอะไรล่ะ ตนควรจะไปยุ่งกับเขาไหมล่ะ เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมดำเนินการอย่างไรหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นอำนาจใคร ซึ่งไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เป็นเรื่องของกฎหมาย เมื่อถามว่าในส่วนของนายกฯ ในฐานะที่คุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อนายทักษิณประกาศจะกลับไทยมารับโทษ ได้มีการประสานมาทางตำรวจหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ประสานได้อย่างไรล่ะ ผมถามว่าประสานอย่างไร แล้วผมจะไปรับปากได้ยังไง"

ผู้สื่อข่าวอธิบายว่า ไม่ได้หมายความว่าตามไปรับปาก แต่ในฐานะนักโทษหนีคดีที่ประกาศจะขอกลับประเทศมารับโทษ ได้มีการประสานมาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ต้องประกาศอะไรทั้งสิ้น ถ้ากลับมาก็ดำเนินคดีก็จบ อยู่ในขั้นตอนของกฎหมายเขามีอยู่แล้ว ตนไม่ไปเกี่ยวข้องอะไรทั้งสิ้น และตนก็ไม่ใช่ศัตรูของใครทั้งสิ้น มันมีประเด็นทางกฎหมายก็ไปแก้กันทางกฎหมาย คือไม่ใช่นายกฯจะทำได้ทุกอย่าง จะบอกให้นะ ก็ต้องทำทุกอย่างด้วยความระมัดระวัง อำนาจของใครก็ของใคร เป็นอำนาจของใครก็ว่ากันไป ไม่งั้นจะเกิดความขัดแย้งอยู่แบบนี้ละ ใช่ไหม ถ้าเราเอาความขัดแย้งวันนี้มามากๆ เข้า ประเทศชาติจะเดินไม่ได้ อย่าลืมว่าเราอยู่ในสายตาของโลกเขาด้วย ประเทศไทยนี้ปัญหาจะเกิดทางด้านเศรษฐกิจ ด้านการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลจะต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ทั้งเรื่องการรักษาวินัยการเงินการคลัง ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีขณะนี้

 “ทำอะไรก็ต้องคิดไปให้ไกล อย่าคิดใกล้ๆ คิดใกล้ก็ไม่พ้นสักที มันก็ติดหล่มอยู่ตรงนี้ ปัญหาก็เกิดอย่างนี้ ต้องมองว่าเราจะอยู่กันอย่างไรในระยะยาว ผมไม่ได้ขัดแย้งกับใคร ยินดีด้วยซ้ำถ้าจะมีรัฐบาลใหม่ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดมันก็ดีใช่ไหมล่ะ เพราะต่างประเทศรอดูตรงนี้อยู่” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า นายกฯ คิดว่าถึงเวลาที่ต้องสลายขั้วชินวัตรกับขั้วอื่นๆ หรือไม่ นายกฯ เดินออกจากโพเดียมพร้อมกล่าวว่า ไม่มีขั้วอะไรทั้งนั้น เราไปสร้างขั้วกันเอง

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการประชุม ครม.ว่า วันนี้ก็บอกในครม.ว่าต้องอดทน การทำงานปัญหาต่างๆ ต้องมีเข้ามาตลอดเวลา โดยเฉพาะการบริหาร รัฐบาลยังมีหน้าที่ในการใช้อำนาจบริหารให้ถูกต้องในการแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน วันนี้ที่ประชุมมีการหารือหลายเรื่อง ทั้งพลังงาน ประปา จึงจะต้องหามาตรการเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนมากเกินไป ซึ่งทุกคนทราบดีว่าเรายังมีปัญหาเรื่องพลังงานอยู่ ฉะนั้นต้องมีการเตรียมมาตรการรองรับ สุดแท้แต่ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเราเป็นรัฐบาลรักษาการ

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีนายเรืองไกรไปยื่นตรวจสอบหุ้นไอทีวีว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ไม่ได้เป็นเรื่องของมติพรรคแต่อย่างใด ถามว่าการที่นายเรืองไกรเป็นสมาชิกพรรค พปชร. จะทำให้ถูกโยงว่าพรรคอยู่เบื้องหลังหรือไม่ พล.อ.ประวิตรปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยว เพราะพรรคไม่ได้มีการออกมาเป็นมติ เมื่อถามย้ำว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เกี่ยว

เช่นเดียวกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีนายนิกม์ แสงศิรินาวิน อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม พรรค ภท. ยกมือขอโทษที่ทำให้ ภท.เสื่อมเสียชื่อเสียง จากประเด็นเรื่องรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีว่า ยังไม่ได้เจอกัน แต่เขาทำในฐานะประชาชน ไม่ได้ทำในฐานะ ภท. พรรคไม่ทำเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว 

"ยืนยันว่า ภท.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้เลยทั้งสิ้น มีคนพยายามไปเขียนข่าวโยงอะไร ไม่เกี่ยว ผมยิ่งไม่เกี่ยว อย่าลืมว่าคนที่ออกมาแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลตั้งแต่คืนวันที่ 14 พ.ค. คือผม และสัปดาห์ที่แล้วผู้สื่อข่าวถาม ผมยังให้กำลังใจในการตั้งรัฐบาล" นายอนุทินระบุ

เตือนทูลเกล้าฯ ถวายชื่อคนมีปัญหา

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหากนักการเมืองใดถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแล้วได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดจะสามารถนำรายชื่อดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้หรือไม่ว่า ปกติการจะแต่งตั้งตำแหน่งใดก็ตามเป็นพระราชอำนาจ กรณีแต่งตั้งข้าราชการประจำ ผู้พิพากษา อัยการ อธิบดี หรือการขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้มีข้อตกลงกับสำนักพระราชวังมา 2-3 ปีแล้ว ให้ตรวจเข้มงวดกวดขัน ถ้ามีก็ให้กราบบังคมทูลขึ้นไปว่ามีเหตุอย่างนี้อยู่ ส่วนจะโปรดเกล้าฯ อย่างไรก็แล้วแต่ คำตอบนี้เป็นคำตอบเดียวกัน

ถามว่า การทูลเกล้าฯ ถวายชื่อนายกฯ ก็ใช้หลักการนี้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ใช่ครับ” เมื่อถามว่ากระบวนการที่กล่าวมาเป็นกฎหมายหรือเป็นจารีตประเพณี นายวิษณุตอบว่า เรื่องโปรดเกล้าฯ เป็นพระราชอำนาจ  เราก็ไม่ต้องไปสงสัยอะไรแล้ว แต่เราต้องกราบบังคมทูลขึ้นไปว่าเกิดอะไรขึ้น และผู้ที่รับผิดชอบหากมีอะไรเกิดขึ้นคือผู้รับสนองพระบรมราชโองการ กรณีเสนอชื่อนายกฯ ก็คือประธานรัฐสภา ไม่เช่นนั้นจะรับสนองทำไม การรับสนองคือการรับผิดชอบแทน เพราะสิ่งที่ทูลเกล้าฯ ถวายไปต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ตรวจสอบเรียบร้อยแล้วก็ต้องรับผิดชอบอย่างนั้น

ซักว่า หากแคนดิเดตนายกฯ คนใดถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่กรณีที่มีการร้องว่ามีลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส. และแคนดิเดตนายกฯ จะนำรายชื่อนั้นไปโหวตนายกฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า “ไม่ได้”

ถามย้ำว่า แม้คดีจะยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่มีคำตัดสินออกมา จะไปโหวตได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวย้ำว่า ไม่ได้ เพราะเมื่อถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้วก็เข้าไปทำหน้าที่ไม่ได้ แล้วไปตั้งทำไม และชื่อนั้นไม่เสนอเข้ามา แต่ปกติศาลจะไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เร็วเกินไป ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

เมื่อถามว่า การจะไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าบุคคลใดมีลักษณะต้องห้าม จะใช้กฎหมายใด นายวิษณุกล่าวว่า ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งผู้ที่ร้องได้คือ ส.ส.จำนวน 1 ใน 10 ของสภา หรือ 50 คน ซึ่ง ส.ส. โดยจะยื่นได้หลังมีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนเรียบร้อยแล้วถึงจะทำหน้าที่ได้ ส่วน ส.ว. จำนวน 1 ใน 10 หรือ 25 คน เพราะ ส.ว.สามารถลงชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ส. ส.ว. รวมถึงรัฐมนตรีได้ โดยยื่นผ่านประธานรัฐสภา เมื่อมีการเลือกกันแล้ว และอีกช่องทางหนึ่งคือ กกต.เป็นผู้ยื่น

เมื่อถามว่า การที่ กกต.จะฟ้องใครด้วยความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 151 จะฟ้องช่องทางใด  นายวิษณุกล่าวว่า ตามมาตราดังกล่าวต้องไปช่องทางศาลอาญา และไม่มีขั้นตอนการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่มาตรา 151 เป็นที่มาของทุกเรื่อง ถูกต้องแล้วที่ไม่รับเรื่องอื่น เพราะเมื่อ 151 ออกมาแล้วคุมหมดทุกอย่าง แต่กระบวนการนี้ใช้เวลานาน เพราะใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายชุมสาย ศรียาภัย รองเลขาธิการพรรค พท. พร้อมผู้สมัคร ส.ส.พรรค พท. ประกอบด้วย นายกฤษ สีฟ้า ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 พังงา, นายพนธกร ใคร่ครวญ ผู้สมัครส.ส.ชลบุรี เขต 10 และนายพรรณธนู วรรณกางซ้าย ผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 7 ร่วมแถลงข่าวกรณีพบการทุจริตการเลือกตั้งที่ผ่านมา

นายชุมสายกล่าวว่า ผู้สมัครที่อยู่ในเขตที่มีปัญหาเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง ประกอบด้วย จ.พังงา เขต 2, ชลบุรี เขต 10, บุรีรัมย์ เขต 7 ได้ตรวจสอบพบเห็นการกระทำความผิด มีพยานหลักฐาน และพยานบุคคล ซึ่งทั้ง 3 คนได้ร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งไปยัง กกต.แล้วทั้งจังหวัดและส่วนกลาง แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ไม่ได้สั่งให้นับคะแนนใหม่หรือเลือกตั้งใหม่ จึงมายื่นหนังสือถึงพรรคว่าแนวทางที่จะดำเนินการต่อจะเป็นไปในทิศทางใด

"กกต.ควรเร่งรัดในการเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศไว้ หรือแขวนไว้ในเขตที่มีปัญหา มั่นใจว่าจะไปถึงขั้นที่ กกต.จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ อยากให้ กกต.ไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เร่งรัดดำเนินคดีกับคนที่ทำผิด ทั้งนี้ เขตที่มีปัญหาส่งเรื่องมาที่พรรคแล้ว 19 เขต เชื่อว่าหาก กกต.ตรวจสอบตรงไปตรงมา พรรค พท.จะได้ ส.ส.เพิ่ม 10 ที่นั่ง" รองเลขาธิการพรรค พท.ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลขา กกต.โยนบาปรัฐธรรมนูญ! บอกการคัดเลือก สว.แก้ไขไม่ได้

'เลขา กกต.' มองคงแก้อะไรไม่ได้ แม้ถูกทักท้วง รูปแบบ’คัดเลือก สว. เหตุ รธน.กำหนดไว้ ชี้ไทม์ไลน์ ไม่เหมือน เลือกตั้ง สส. ยันมีมาตรการป้องกันการฮั้วทุกพื้นที่

หน้าที่และอำนาจของ สว. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยแพร่สาระน่ารู้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา 20 กลุ่มอาชีพร่วมใจ ขับเคลื่อนประเทศไทย ไปพร้อมกัน