สภารอ ป.ป.ช.ส่งสำนวนคดีฟัน "สุวิจักขณ์" โกงซื้อนาฬิกา 15 ล้าน แฉอดีตเลขาธิการสภาฯ โดน ส.ส. ร้องจัดซื้ออีกเพียบ "สรรพสามิต" พักงาน-เชือดวินัยร้ายแรง "ผอ.ปราบปราม" ต่อสายเคลียร์ปล่อยรถน้ำมันเถื่อน ลุยขอข้อมูลตำรวจทางหลวงล่าตัว "ยุทธ"
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย อดีตเลขาธิการสภาฯ และพวกทุจริตโครงการการจัดซื้อนาฬิกาติดโดยรอบอาคารรัฐสภา มูลค่า 15,422,845 บาท ว่าขณะนี้ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ รอให้ ป.ป.ช.ส่งสำนวนการพิจารณามาให้กับทางสำนักงาน เพื่อตรวจสอบและรับทราบ หากเป็นการดำเนินคดีอาญา ป.ป.ช.จะส่งให้สำนักงานอัยการดำเนินการตามกฎหมาย แต่หากมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวินัยข้าราชการรัฐสภา ทางสำนักงานจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าราชการรัฐสภาและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับตำแหน่งสุดท้ายของนายสุวิจักขณ์ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ถูกย้ายไปประจำที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ป.ป.ช.จะต้องส่งสำนวนการวินิจฉัยไปทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย
ด้าน ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาฯ ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของนายสุวิจักขณ์ที่ต้องดำเนินการแก้ต่างกับ ป.ป.ช. ขณะเดียวกันยังไม่ทราบว่าจะมีข้าราชการของรัฐสภาคนใดที่จะต้องเข้าไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับอัยการอีกหรือไม่ หาก ป.ป.ช.ส่งฟ้อง เพราะในคำร้องที่ ป.ป.ช.ไต่สวนระบุว่ามีนายสุวิจักขณ์และพวก ส่วนเรื่องร้องเรียนอื่นๆ ของนายสุวิจักขณ์นั้น เท่าที่ทราบมีอยู่หลายเรื่องที่ ส.ส.ในขณะนั้น ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนตัวจึงไม่ทราบรายละเอียด
วันเดียวกัน นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยความคืบหน้ากรณีมีข่าวผู้บริหารระดับสูงของกรม ขอเคลียร์กับกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เพื่อไม่ให้ดำเนินคดีรถขนน้ำมันดีเซลเถื่อนที่จับได้ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าเรื่องดังกล่าวมีมูล โดยที่มีการกล่าวอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมสรรพสามิต โทร.มาเจรจาเพื่อไม่ให้ดำเนินคดี ซึ่งจากการสืบสวนข้อเท็จจริงคือ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบป้องกันและปราบปราม กรมสรรพสามิต (ระดับชำนาญการพิเศษ) เป็นผู้ที่ติดต่อไป โดยมีการสั่งพักราชการ ตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย.2566 และเตรียมดำเนินการเอาผิดทางวินัยร้ายแรงต่อไป
นอกจากนี้ ได้ทำหนังสือไปถึงตำรวจทางหลวงเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อมาขยายผลเอาผิดกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกรณีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ระบุว่าได้รับหลักฐานเป็นบันทึกเสียงสนทนาเรื่องน้ำมันเถื่อนคดีนี้ที่เชื่อมโยงไปถึงข้าราชการระดับสูงในกรมสรรพสามิตคนหนึ่ง ชื่อเล่นว่า "ยุทธ" ถ้ามีหลักฐานเอาผิดได้ กรมจะดำเนินการทั้งหมด โดยอธิบดีได้สั่งการชัดเจน ไม่มีละเว้น และให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด
นายเกรียงไกรกล่าวว่า แนวทางดำเนินการกับเรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรม คือการสั่งพักงาน และดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการ ขณะที่หากพบว่ามีหลักฐานพยานชัดเจนว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ระดับรองอธิบดีสรรพสามิต ต้องมีการเสนอไปที่กระทรวงการคลัง เพื่อเอาผิดตามระเบียบราชการต่อไป สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำมันดีเซล 15,000 ลิตร จากการตรวจสอบพบว่าเป็นรถที่มีการบรรทุกน้ำมันเถื่อนจริง ในส่วนของกรมได้ดำเนินการจับ เรียกเทียบปรับกับผู้ต้องหาตามที่ปรากฏในข่าวเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่สโมสรตำรวจ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง เปิดเผยว่า ตำรวจร่วมกับกรมศุลกากรและกรมประมง จับกุมดำเนินคดีผู้ต้องหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตการขายปันส่วนปลาแช่แข็งที่ตรวจยึดจากเรือทำประมงผิด ซึ่งมีพฤติการณ์ชักธง 2 สัญชาติ นำเอาปลาเบญจพรรณ ซึ่งเป็นน้ำลึกคุณภาพดี จำนวน 7 ตู้คอนเทนเนอร์ รวม 147 ตัน มาลงยังด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ จำนวน 6 ตู้ และด่านศุลกากรพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ 1 ตู้ รวมมูลค่าประมาณ 300-400 ล้านบาท แต่ไม่สามารถแสดงเอกสารใบอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำจากกรมประมงได้
ทั้งนี้ พบว่าไม่มีการขายปันส่วนจริง เพราะมีการนำรายชื่อบุคคลจำนวน 96 รายชื่อมาสวม และจำหน่ายปลาให้กับบุคคลคนเดียว และเงินบางส่วนไม่เข้ารัฐ จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่ามีเจ้าหน้าที่ศุลกากรและพลเรือนที่เกี่ยวข้อง 7 ราย รวมถึงผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ และหัวหน้าฝ่ายของกลางที่ทำหน้าที่หัวหน้าการขายปันส่วนสัตว์น้ำ โดยแจ้งข้อกล่าวหากระทำความผิดตามมาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, มาตรา 147 เป็นเจ้าพนักงาน เบียดบังทรัพย์โดยทุจริต และมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้อื่นให้กระทำความผิดฯ และได้ส่งสำนวนฟ้องแล้วทั้งหมด
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้ง 7 รายแล้ว จึงได้นำข้อมูลดังกล่าวเสนอไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาบทลงโทษเพิ่มเติมตามขั้นตอนต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม