มานะพงษ์ขึ้นศาล เปิดแผนผังอัลลัวร์ มัดแก๊งทุน มิน ลัต

"มานะพงษ์" ขึ้นศาลเบิกความนัดเเรก เปิดเเผนผัง "อัลลัวร์กรุ๊ป"   มัดเครือข่าย "ทุน มิน ลัต" ชี้ "ดีน ยัง" ลูกเขย "ส.ว.อุปกิต" ทำหน้าที่โอนหลักประกันการซื้อไฟฟ้ารับประโยชน์เป็นเงินเดือนจากเงินยาเสพติด มีการฝากเงินผ่านตู้ฝากเงินสดอัตโนมัติโอนเข้าบัญชี  บ.อัลลัวร์ฯ กว่า 500 บัญชี ลักษณะผิดปกติ

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก คดีที่ ย 1249/2565 อัยการสำนักงานคดียาเสพติด 9 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทุน มิน ลัต นักธุรกิจชาวเมียนมา, นายดีน ยัง จุลธุระ,  น.ส.น้ำหอม เนตรตระกูล, นางปิยะดา คำต๊ะ และบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี)  รวม 5 ราย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ,  พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

โดยการสืบพยานศาลได้กำหนดนัดทั้งวัน ขณะที่บรรยากาศในการสืบพยานช่วงเช้า พนักงานอัยการเดินทางมาพร้อมกับพยานและจัดเตรียมภาพแผนผังประกอบการสืบพยานเกี่ยวเครือข่ายกลุ่มนายทุน มิน ลัต และกลุ่มย่อยที่เชื่อมโยง

ส่วนนายทุน มิน ลัต จำเลยที่ 1, 2, 3, 4 ซึ่งไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นพิจารณาศาลได้เบิกตัวมาจากเรือนจำ ในชุดนักโทษสีน้ำตาล เพื่อร่วมการสืบพยาน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีญาติชาวต่างชาติและคนใกล้ชิดกว่า 20 คนมาให้กำลัง

ขณะที่จำเลยทั้งหมดมีทนายความพร้อมต่อสู้คดี ซึ่งศาลได้จัดล่ามแปลภาษาในการสืบพยานให้จำเลยซึ่งเป็นชาวต่างชาติได้ฟังโดยเข้าใจด้วย ขณะเดียวกันทางฝ่ายจำเลยเองก็จัดเตรียมล่ามส่วนตัวไว้ด้วย

โดยพนักงานอัยการโจทก์แถลงต่อศาล ขอส่งบัญชีพยานบุคคลและพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นความผิดองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเพิ่มเติม เนื่องจากตนเองเพิ่งได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะทำงานชุดใหม่ในสำนวนคดีนี้แทนชุดเก่า ซึ่งทนายความฝ่ายจำเลยคัดค้าน  แต่ศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้นำพยานที่มีส่วนรู้เห็นมาเบิกความให้สิ้นกระแสความ จึงอนุญาตให้ส่งบัญชีพยานบุคคลและพยานเอกสารเพิ่มเติมได้

โดยพยานปากแรกที่อัยการนำสืบคือ พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สว.สส.สน.พญาไท อายุ 34 ปี ซึ่งเบิกความสรุปว่า ตนเองเป็นผู้สืบสวนจับกุมจำเลยคดีนี้ และเคยเป็นตำรวจฝ่ายสืบสวน กก.2 บก.สส.บช.น. ได้จับกุมผู้ค้ายาเสพติดมาแล้ว 30-40 คดี เชื่อว่าผู้ผลิตยาเสพติดอยู่นอกราชอาณาจักร บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ หรือชายแดนประเทศไทย ลาว และเมียนมา คดีนี้เริ่มมาจากการจับกุมกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดจำนวน 6 กลุ่ม และมีแผนประทุษกรรมคล้ายกับคดีการจับกุมนายพิทวัส แสงโสภา กับพวกรวม 6 คน ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต พฤติการณ์คือ เอาเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติดในประเทศไทย เพื่อซื้อน้ำมันกลับไปขายยังประเทศเมียนมา ส่วนคดีนี้พบว่ามีการเอาเงินไปชำระค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.แม่สาย เพื่อนำไฟฟ้าส่งออกไปที่ประเทศเมียนมา

จากนั้น พ.ต.ท.มานะพงษ์ได้เบิกความ ประกอบแผนผังขนาดใหญ่ ที่อัยการจัดเตรียมมาให้ว่า คดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีข้อมูลเชื่อมโยงกับ 3 บริษัทคือ บริษัท เมียนมา อัลลัวร์ กรุ๊ป จดทะเบียนที่ประเทศพม่า, บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป จดทะเบียนในประเทศไทย, บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จดทะเบียนในประเทศไทย โดยนายทุน มิน ลัต จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการบริษัท เมียนมา อัลลัวร์ กรุ๊ป, นายดีน ยัง จำเลยที่ 2 เป็นลูกเขยของนายอุปกิต ปาจรียางกูร ทำหน้าที่โอนหลักประกันการซื้อไฟฟ้าทั้ง 3 บริษัท กับบริษัทการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  อ.แม่สาย จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป รับผลประโยชน์เป็นเงินเดือนจากเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติด ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) มีหน้าที่นำสลิปไปตรวจสอบการชำระค่าไฟฟ้า

 พ.ต.ท.มานะพงษ์เบิกความอีกว่า   การจับกุมยาเสพติดคดีนี้ ได้ยึดโทรศัพท์ตรวจสอบ พบว่ามีข้อมูลการฝากเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติด ผ่านตู้ฝากเงินสดอัตโนมัติ หรือ CDM ที่กลุ่มนักค้ายาเสพติดจะเรียกว่า “หย่อนตู้” เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าต้นทางการฝากเงินมาจากใคร ภายหลังการจับกุมและสืบสวนขยายผลไปยังบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) พบบัญชีการโอนเงินกว่า 500 บัญชี ลักษณะผิดปกติ จึงประสาน ป.ป.ส. เพื่อตรวจสอบว่าบัญชีที่โอนมาเป็นเงินจากยาเสพติดหรือไม่ จากฐานข้อมูลของ ป.ป.ส.ตรวจสอบพบว่าเกี่ยวข้องกับผู้ค้ายาเสพติดขนาดเล็กและขนาดกลาง

"ดังนั้นการทำคดีนี้ตำรวจไม่ได้ทำงานเพียงหน่วยงานเดียว แต่ได้ประสานข้อมูลไปยังกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบการเสียภาษี ประสานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อตรวจสอบการจดทะเบียน สำนักงานประกันสังคม พบว่าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ประกอบธุรกิจโดยไม่มีลูกจ้าง และประสานกรมศุลกากร ตรวจสอบการนำเงินออกผ่านแดน ที่ปกติการค้าระหว่างประเทศ จะชำระผ่านระบบธนาคาร แต่มีการอ้างสถานการณ์โควิด-19 แล้วชำระเงินผ่านบริษัทรับแลกเปลี่ยนเงินตราแทน ประสานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกองบัญชีการตำรวจปราบปรามยาเสพติด" พ.ต.ท.มานะพงษ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง