นายกฯป้อง‘ดอน’ ถ้าไม่คุยเมียนมา ไทยจะเดือดร้อน

"บิ๊กตู่" ป้อง "ดอน" ยันเมียนมามีปัญหากระทบไทยมากที่สุด เพราะชายแดนติดกัน 3 พันกิโลเมตร ทางทะเลอีกต่างหาก ค้าชายแดนหลายหมื่นล้านต่อปี รวมทั้งก๊าซและน้ำมัน ถ้าไม่คุยเราจะเดือดร้อนมากกว่าคนอื่น

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมประชุมอย่างไม่เป็นทางการเพื่อหารือเกี่ยวกับแผนสันติภาพเมียนมา แต่ปรากฏว่ามีหลายประเทศไม่เข้าร่วม โดย พล.อ.ประยุทธ์ถามกลับว่า ใครไม่มาบ้างนะ ก่อนกล่าวอีกว่า ถ้าเขาไม่มาก็คือไม่มา เรื่องนี้เป็นการแก้ปัญหาของอาเซียน เราก็จำเป็นจะต้องพูดคุย ซึ่งที่ผ่านมาพวกเราทุกคนก็มองในแง่นั้นแง่นี้ มองซ้ายมองขวากันอย่างเดียว เราต้องอยู่ในจุดที่เหมาะสม ที่ผ่านมาเราก็ดำเนินการตามนโยบายของเรา คือการปฏิบัติตามมติของอาเซียนอย่างครบถ้วนตามเรื่องภายในของเมียนมา อย่างไรก็ตามปกติของอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวกันอยู่แล้ว เรามีมติเป็นเอกฉันท์ในทุกๆ ครั้ง มีหลายอย่างที่เข้ามาสู่อาเซียน ทั้งนี้เราก็ต้องทำอาเซียนของเราให้ปลอดภัย

"เพราะฉะนั้นเรื่องของเมียนมานั้น ถ้าเรามองด้านเดียวก็โอเคเป็นเรื่องภายในของบ้านเขา แต่ถ้ามองอีกด้านเราจะเดือดร้อนมากกว่าคนอื่นหรือไม่ เพราะไทยมีชายแดนติดกับเมียนมามากกว่า 3,000 กิโลเมตรในทางบก และยังมีในทางเรืออีกต่างหาก มีการค้าชายแดนหลายหมื่นล้านต่อปี ก๊าซและน้ำมันบางส่วนก็ได้มาจากแหล่งในเมียนมา เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องพูดคุย เรื่องนี้เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาไม่ได้เข้าข้างใคร เป็นการแก้ปัญหาของอาเซียนด้วยกัน ทุกอย่างประชาชนจะต้องไม่เดือดร้อน เพราะอย่างไรเราก็หนีจากกันไม่ได้อยู่แล้วเพราะประเทศเราติดกัน เราต้องคำนึงถึงว่าประเทศไทยเราจะได้จะเสียอะไรบ้าง แล้วถ้าเป็นอยู่อย่างนี้ประชาชนก็จะเดือดร้อน แรงงานต่างชาติก็จะมีปัญหาทั้งหมด มันจำเป็นต้องคุยกัน เป็นเวทีที่พบปะพูดคุยเฉยๆ ไม่ได้ไปเข้าข้างใคร ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาในวันข้างหน้าเท่านั้นเอง เรื่องอื่นก็เป็นกิจการภายในของเมียนมาเขาก็ว่ากันไป"

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเป็นรัฐบาลรักษาการไม่ควรจะไปทำข้อตกลงอะไรในเรื่องเหล่านี้ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า "ผมจะไปตกลงอะไรกับเขาล่ะ ไม่มีอะไรจะต้องตกลงกันทั้งสิ้น เป็นการพูดคุยพบปะหารือ เพื่อหาทางออกว่าจะทำอย่างไรในฐานะที่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ถ้าจะให้รัฐบาลใหม่มาแก้ก็ได้ เข้ามาสิ"

ด้านนายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ต้องรอให้รัฐบาลใหม่ที่กำลังจัดตั้งได้ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ เนื่องจาก 1.สถานะของรัฐบาลในปัจจุบันเป็นรัฐบาลรักษาการ

2.จัดการประชุมกะทันหันเกินไป ออกหนังสือเชิญประเทศสมาชิกก่อนการจัดประชุมเพียง 5 วันเท่านั้น และหากจำเป็นต้องจัดประชุมไม่เป็นทางการ ต้องมีเหตุการณ์ที่จะกระทบจนเกิดความเสียหายรุนแรงต่อประเทศไทย เช่น มีการรุกล้ำเข้ามาในราชอาณาจักร เกิดสงคราม เกิดปัญหาด้านความมั่นคงที่รุนแรง และกระทบต่ออธิปไตย  เป็นต้น

 โดยพรรคเพื่อไทยมองว่า นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลใหม่จะให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นหลัก เพราะอาเซียนถือเป็นเวทีสำคัญในการแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาค กลุ่มอาเซียนเป็นที่ติดตามของชาวโลก  จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง จีดีพีอาเซียนอยู่ที่ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

พร้อมคาดว่าในปีนี้จีดีพีอาเซียนจะเติบโต 5% (จากการคาดการณ์ของธนาคารพัฒนาเอเชีย) มีประชากรประมาณ 700 ล้านคน การค้าการลงทุนจะเลี้ยวมาอาเซียน ดังนั้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Unity) จึงมีความสำคัญสูงสุด ซึ่งเราจะผลักดันให้ประเทศไทยและอาเซียน ยืนอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญและเหมาะสมในเวทีโลก

 นายปานปรีย์กล่าวอีกว่า เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างอาเซียน - เมียนมา มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่มีความคืบหน้า ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 3 อีก จึงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ โดยในความรู้สึกส่วนตัว ตนมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ การประชุมข้ามประเทศต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมงานนานพอสมควร และต้องมีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า ผู้นำระดับสูงของแต่ละประเทศจะตอบรับเข้าร่วมประชุม

ซึ่งการทำงานในลักษณะดังกล่าว โดยหลักควรหารือและขอความเห็นจากอินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานอาเซียนก่อน แต่พบว่าอินโดนีเซียปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม รวมถึงสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ต่างปฏิเสธที่จะเข้าร่วม เพราะการประชุมจัดขึ้นอย่างกะทันหันแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ทั้งที่ในเวลานี้เราต้องการความเข้มแข็งของอาเซียน เพราะถือเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญของโลก 

 “การจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างอาเซียน-เมียนมา ยังไม่จำเป็นต้องทำในตอนนี้ ข่าวเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ผู้นำหลายประเทศไม่มา อาจทำให้ชาวโลกมองว่าอาเซียนเห็นไม่ตรงกัน และอาจถูกมองเลยเถิดไปได้ว่า อาเซียนมีความเห็นที่แตกแยกในประเด็นของเมียนมา ไม่ตรงกับกับฉันทามติที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ได้” นายปานปรีย์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถึงศาล รธน. แล้ว! 40 สว. ยื่นถอด 'เศรษฐา-พิชิต' พ้นตำแหน่ง

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ร่วมกันเข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลตีปี๊บ! ช่วยลูกหนี้นอกระบบแล้ว 1.4 แสนราย รวมพันล้านบาท

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลและนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้อย่างครบวงจรทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ