14+1หักก้าวไกล พท.ล็อกเก้าอี้‘ปธ.สภา’/พิธาซัดส.ว.ดึงสถาบันชนปชช.

สภาปรับยอด ส.ส.รายงานตัวเหลือ 499 คน ตัดสิทธิ์ "ณธีภัสร์" เด็กก้าวไกลเมาแล้วขับออก "พิธา" คึกนำ 149 ส.ส.บุกสภาแสดงตัว ขู่ "ส.ว." อย่าขืนมติ ปชช. ใช้ ม.112 เป็นข้ออ้างขวางนั่งนายกฯ เตือนเท่ากับดึงสถาบันชนกับประชาชน ฟุ้งมีเสียง ส.ว.หนุนเพียงพอ มั่นใจตั้งรัฐบาลฉลุย "พท." หักคอ "ก.ก." ยึดสูตร 14+1 ครองเก้าอี้ "ประธานสภาฯ" เชื่อทำให้สภาเดินหน้าราบรื่น "บิ๊กตู่" ลาครึ่งวันร่วมประชุม "รทสช." บอก "โนสเปก" คนนั่งประมุขนิติบัญญัติ "เอกนัฏ​" ชัดไม่โหวตคนก้าวไกล "ลุงป้อม" ปัดข่าวดีลลับอังกฤษ บอกไม่เจอ "ทักษิณ" มา 18 ปี "อสส." แจงตั้งคณะทำงานพิจารณาคำร้องสอบ "พิธา-ก้าวไกล" หาเสียงแก้ 112 แล้ว

ที่รัฐสภา วันที่ 27 มิ.ย. นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร   กล่าวถึงหมายกำหนดการรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินมายังรัฐสภา ในเวลา 17.00 น. วันที่ 3 ก.ค.2566 ซึ่งในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ  จะแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสมาชิกรัฐสภาด้วย ขณะที่การเตรียมซักซ้อม ทางสำนักเลขาธิการฯ ได้ซักซ้อมต่อเนื่อง เพราะเป็นงานพิธีที่สำคัญ ทั้งนี้ ในวันที่ 3 ก.ค. ทางสำนักงานจะให้ข้าราชการที่ไม่เกี่ยวข้องทำงานที่บ้าน  และขอความร่วมมือสื่อมวลชนที่ไม่เกี่ยวข้องงดเข้าพื้นที่รัฐสภา

"สำหรับการประชุมสภานัดแรกเพื่อเลือกประธานสภาฯ จากการประสานไปยังทุกพรรคการเมือง เว้น 2 พรรค จะมีการนัดประชุมวันที่ 4 ก.ค. เวลา 09.30 น. โดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะ ส.ส.อาวุโส ที่จะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมชั่วคราว เข้าซักซ้อมการประชุมแล้ว" นางพรพิศกล่าว

ถามถึงการปรับยอดจำนวน ส.ส.ที่ต้องเข้ารายงานตัวต่อสภา จากเดิมที่ กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง 500 คน เหลือ 499 คน เนื่องจากตัดชื่อ น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เลขาธิการสภาฯ  กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ทำหนังสือถามที่ศาลอาญา มีนบุรี เนื่องจาก น.ส.ณธีภัสร์มีคดีเมาแล้วขับ โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ทางสภาได้รับหนังสือจากศาลอาญา มีนบุรี ว่าคดีดังกล่าวถึงที่สุด จึงถือว่า น.ส.ณธีภัสร์สิ้นสุดสมาชิกภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 ดังนั้นเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ จำนวน ส.ส.ต้องลดลง

 “สำนักงานได้แจ้งไปยังพรรคก้าวไกลและ น.ส.ณธีภัสร์แล้ว เป็นการประสานภายใน ส่วนการเลื่อนลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อถัดไปขึ้นมาแทนนั้น   ทางสำนักงานจะดำเนินการหลังจากที่มีประธานสภาฯ คนใหม่แล้ว เบื้องต้นเวลาจะไม่ยาวนาน คือภายใน 7 วัน แต่การออกประกาศจากสภา ต้องรอลงราชกิจจานุเบกษา” เลขาธิการสภาฯ ระบุ

ขณะที่ช่วงเช้า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกฯ นำ 149 ส.ส.พรรค ก.ก. เดินทางมาที่รัฐสภา เพื่อเข้ารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาฯ โดยใช้การเดินทางมาเป็นคณะ ด้วยรถโดยสารไม่ประจำทาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.พรรค ก.ก. ที่เดินทางมาครั้งนี้ ต่างสวมเสื้อยืดสีขาว ระบุข้อความ “เราคือผู้แทนราษฎร เรามาจากประชาชน” โดยมีแฟนคลับนายพิธาและพรรค ก.ก.มาคอยติดตามให้กำลังใจ

นายพิธากล่าวถึงกรณีการตัดชื่อ น.ส.ณธีภัสร์ออกจาก ส.ส. 1 ราย ทำให้ส.ส.พรรค ก.ก.เหลือ 150 รายว่า

ตัวเลข ส.ส.ไม่สำคัญเท่ากับการตั้งใจเข้ามาเป็น ส.ส. ให้สมกับที่ได้รับเลือกมา โดยพรรคมีกฎหมายก้าวหน้าที่สำคัญเพื่อประชาชน เช่น กฎหมายเพื่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ, กฎหมายเพื่อกลุ่มผู้ใช้แรงงาน, กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ เป็นต้น และมีอีกหลายเรื่องที่จะพยายามทำในสภาชุดที่แล้ว แต่ถูกปัดตกไป

ถามถึงเหตุผลที่ใช้วันที่ 27 มิ.ย.มารายงานตัว นายพิธากล่าวว่า มีหลายเหตุผล อย่างแรกคือตนติดโควิดจึงมาก่อนหน้านี้ไม่ได้ และวันที่ 27 มิ.ย.มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ชาติไทย

ขู่ ส.ว.อย่าใช้ 112 เป็นข้ออ้าง

ซักถึงความกังวลเรื่อง ส.ว.หลายคนออกมาแสดงจุดยืนไม่โหวตให้เป็นนายกฯ นายพิธากล่าวว่า ไม่กังวล และเท่าที่คุยหลายคนมีหลักและดุลยพินิจในการโหวตเลือกตามบรรทัดฐานที่ ส.ว.ที่ทำไว้ปี 2562 หากสภาล่าง ฝ่ายใดรวมกันได้ 251 เสียง ก็ไม่ต้องการฝืนมติของสภาล่าง เพราะเป็นมติที่มาจากประชาชน ดังนั้นจึงเชื่อว่าภาพรวม 250 ส.ว. จะเป็นไปตามหลักการ และขอให้ส.ว.ยึดหลักการดังกล่าวให้มั่น มากกว่ามองเรื่องตัวบุคคลว่าจะโหวตให้ตนหรือไม่

"เสียง ส.ว.ที่สนับสนุนมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พรรคมีความตั้งใจทลายกำแพงของ 2 สภา แน่นอนว่า ส.ว.ทุกคนไม่มีโอกาสได้พูดกับสื่อมวลชน มี ส.ว.ไม่กี่คน ไม่ว่าจะฝั่งเห็นด้วยโหวตตนเป็นนายกฯ หรือฝั่งที่อยู่ตรงข้าม มี ส.ว.อีกจำนวนมากที่ไม่ได้คุยกับสื่อมวลชน ดังนั้นต้องรอเวลา" นายพิธากล่าว

ถามย้ำถึงจำนวนเสียง ส.ว.ที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ นายพิธากล่าวว่า “เพียงพอที่จะทำให้ผมเป็นนายกฯ”

ซักกรณี ส.ว.ยังคาใจกับการแก้ไขมาตรา 112 พรรค ก.ก.จะถอดสลักดังกล่าวเพื่อบรรลุเป้าหมายของการได้ตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า การแก้ไขมาตราดังกล่าวเป็นสิ่งที่พรรคได้พูดก่อนการเลือกตั้งที่ชัดเจนว่าจะเป็นทางออกให้กับสังคมไทย เพราะช่วงที่ผ่านมามีการใช้มาตราดังกล่าวเป็นเครื่องมือทางการเมืองรังแกคนเห็นต่าง จึงไม่เป็นผลดีกับสถาบันใดเลย อย่างไรก็ดี ตนเชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะไม่เป็นเหตุให้เส้นทางการจัดตั้งรัฐบาลสะดุด

 “มีข้อมูลมีหลายฝ่ายที่ยังเข้าใจผิด  เพราะการแก้ไขคือการแก้ไข ไม่ใช่การยกเลิก เท่าที่ได้คุยกับวุฒิสภา ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้นว่าการรักษา ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่าน” นายพิธากล่าว

ย้ำอีกว่า หากเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ทำให้ไปไม่ถึงนายกฯ วางแผนไว้อย่างไร นายพิธากล่าวว่า หากมีเป็นเรื่องน่ากังวลใจ เพราะถือเป็นการนำเสียงของประชาชนปะทะกับสถาบันโดยตรง ไม่เหมาะสมและอันตราย ดังนั้นอย่านำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างอีกเลย ทั้งนี้มีหลายเรื่องที่เห็นตรงกันจำนวนมากที่ต้องบริหารจัดการ

พอถามถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นพิจารณาคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 พรรคกังวลหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ไม่กังวลใจ เพราะเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญกับอัยการสูงสุด การแก้ไขกฎหมายฉบับหนึ่งไม่เท่ากับการล้มล้างการปกครอง ตามที่กล่าวหาและคิดว่าข้อกล่าวหานี้เกินจริงไปมาก ยืนยันว่ามีความตั้งใจที่จะรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างหนักแน่น

เมื่อถามว่า เมื่อพิจารณาไทม์ไลน์ของศาล รธน. จะคาบเกี่ยวกับวันโหวตนายกฯ จะเป็นเหตุผลที่ ส.ว.ยกมาอ้างเพื่อไม่โหวตสนับสนุนหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เชื่อว่าไม่เป็นไปอย่างที่เป็นข่าวว่าจะนำเรื่องมาตรา 112 เป็นข้ออ้างที่จะไม่ทำมติของสภาล่าง จึงไม่เป็นประเด็นอะไร

"เรื่องข้อสรุปตำแหน่งประธานสภาฯ  ขอให้รอในวันที่ 28 มิ.ย. ที่จะประชุมร่วมกับพรรคเพื่อไทย และจะแถลงเรื่องดังกล่าว" หัวหน้าพรรค ก.ก.ระบุ

จากนั้นช่วงบ่าย นายพิธาพร้อมคณะพรรค ก.ก.เดินทางไปพบและหารือกับเครือข่ายภาคประมง ที่หอประชุมใหญ่ตลาดทะเลไทย ต.ท่าจีน อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขที่เครือข่ายภาคการประมงนำเสนอ

พท.หักคอชู 14+1 นั่งปธ.สภา

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เวลา 13.00 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรค พท. พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย, นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ประชุมคณะกรรมการบริหารและ ส.ส.ของพรรค เพื่อหารือการเลือกบุคคลขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพื่อนำผลการหารือไปเจรจากับพรรค ก.ก. ซึ่งมีนัดหารือในวันที่ 28 มิ.ย. ที่พรรคเพื่อไทย และเมื่อได้ข้อสรุป จะนำเอาผลการหารือแจ้งต่อที่ประชุม 8 พรรคร่วม ก่อนที่จะเปิดประชุมสภาสัปดาห์หน้า ใช้เวลา 2 ชม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้ พรรค พท.ให้สื่อมวลชนเก็บภาพเท่านั้น จากนั้นได้เชิญออกจากห้องประชุม เพื่อที่จะเป็นการประชุมภายในของพรรค มีรายงานว่าในการประชุมครั้งนี้่ นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคได้เข้าร่วมประชุมด้วย หลังมีกระแสข่าวจะถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานสภาฯ

ภายหลังการประชุม นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะเจรจาได้นำเสนอหลักการ 14+1 ต่อคณะกรรมการบริหาร โดยสรุปคือคณะกรรมการเจรจาจะไปหารือกับพรรค ก.ก.ถึงตำแหน่งประธานสภาฯ ร่วมกับตำแหน่งรัฐมนตรี ที่ผ่านมาเรายืนยันสูตร 14+1 คือพรรคก้าวไกลได้ 14+1 คือนายกฯ ส่วนเพื่อไทยได้ +1 คือประธานสภาฯ

"กก.บริหารพรรคเห็นควรยืนสูตร 14+1 เหมือนเดิม ให้คณะเจรจาของพรรคไปเจรจาตามหลักการเดิมที่เคยเสนอตอนแรก ในส่วนของการประชุม ส.ส.พรรคนั้น ข้อเสนอของสมาชิกยังคงประสงค์และยืนยันว่าขอให้เจรจาตามหลักการเดิม คือ 14+1 โดยพรรคเพื่อไทยควรได้ตำแหน่งประธานสภาฯ" นพ.ชลน่านกล่าว 

ส่วนนายชูศักดิ์กล่าวว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ กรรมการบริหารพรรคเห็นว่าเป็นตำแหน่งสำคัญ ควบคุมกำกับดูแลการทำงานของสภา ต้องวางตัวเป็นกลาง ตอบสนองทุกพรรค มีความรู้ ความสามารถ มีวุฒิภาวะ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งกรรมการบริหารพรรคทราบว่าคณะเจรจาได้เสนอสูตร 14+1 เพราะเห็นว่ามีความเป็นธรรม ให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยพรรค ก.ก.ได้ตำแหน่งนายกฯ พรรค พท.ควรได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ประชุมเห็นควรยืนยันสูตรดังกล่าวเพื่อนำเสนอในการประชุมระหว่าง 2 พรรค วันที่ 28 มิ.ย.นี้

"คณะเจรจาต้องยืนในหลักการนี้ นี่ไม่ใช่การแก่งแย่งตำแหน่ง แต่เราเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรค ก.ก.เป็นแกนนำ และมีนายพิธาเป็นนายกฯ ให้สำเร็จ พรรคเชื่อว่าการมีประธานสภาฯ ของพรรคเพื่อไทยจะทำให้สภาเดินหน้าราบรื่น เรียบร้อย ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพ" นายชูศักดิ์กล่าว    

นายภูมิธรรมกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวคุยกันแล้วก็ยังไม่ได้คำตอบอย่างเป็นทางการ มีแต่ในโซเชียล วันที่ กกต.ประกาศผล ก็ควรจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจา อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมวันนี้ไม่ถือว่าเป็นมติของพรรค แต่เป็นความเห็นพ้องของสมาชิกให้ผู้เจรจานำเจตจำนงนี้ไปคุยกับพรรคก้าวไกลเพื่อให้ได้ข้อสรุป

ช่วงเย็นหลังการขึ้นแห่ขอบคุณชาวสมุทรสาครของพรรคก้าวไกล นายพิธา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี กก.บริหารพรรค พท.แถลงยืนยันจุดยืนในสูตร 14+1 ขอตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน เนื่องจากการแถลงข่าวเกิดขึ้นอยู่ระหว่างการลงพื้นที่ขอบคุณประชาชนที่จังหวัดสมุทรสาคร ทั้งนี้ ขอฟังรายละเอียดก่อนดีกว่า เพราะยังไม่เห็นในรายละเอียด จึงยังไม่อยากให้ความเห็นเรื่องนี้ ก่อนจะเดินทางออกจากเวที

รทสช.ชัดไม่โหวตก้าวไกล

ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีสีหน้าเรียบเฉยและไม่ตอบคำถามสื่อมวลชน หลังมีกระแสข่าวลือดีลลับจัดตั้งรัฐบาล และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อาจได้เป็นนายกฯ

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ลาราชการครึ่งวันบ่าย เพื่อเข้าร่วมประชุมพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โดยออกจากทำเนียบรัฐบาล และเข้าบ้านพักเตรียมความพร้อมก่อนเข้าที่ทำการพรรค รทสช. เพื่อประชุม ส.ส.ของพรรคทั้ง 36 คน

ที่พรรค รทสช. เวลา 13.00 น. กรรมการบริหารพรรค รทสช.ได้เริ่มประชุมตามวาระต่างๆ กระทั่งเวลา 16.13 น. พล.อ.ประยุทธ์เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมาถึงที่ทำการพรรค โดยพล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมประชุมถึงแนวทางการโหวตเลือกประธานสภาฯ ว่า การประชุมพรรควันนี้ยังจะไม่มีการพูดถึงตรงนั้น แต่วันนี้จะมาดูว่าพรรคจะดำเนินการอย่างไรในฐานะ ส.ส.ที่ได้รับการลือกตั้งและได้รับการรับรอง ซึ่งต้องฟังนโยบายที่มีหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคในเรื่องของการทำงานของพรรค และการเดินหน้าของพรรคต่อไปในอนาคต ซึ่งจะต้องหารือกันอีกครั้ง

ถามว่า แนวทางการเลือกประธานสภาฯ มีสเปกอะไรหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่มีแนวทาง ไม่มีสเปก โนสเปก เมื่อถามว่าจะให้แนวทางการทำงาน ส.ส.ใหม่ในสภาอย่างไรบ้าง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยัง เมื่อถามว่าส.ส.พรรคก้าวไกลเสนอเปลี่ยนวันชาติ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่น่าจะได้ ผิดกฎหมายหรือเปล่าไม่รู้ ก็ไปดูกันสิ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอด 2 วันที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีการสวมเครื่องรางของขลังและแหวนเหมือนเช่นที่ผ่านมา มีเพียงสวมนาฬิกา ริสต์แบนด์ และสายสิญจน์ที่ข้อมือเท่านั้น

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมประชุม 36 ส.ส.ทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนเริ่มประชุมตอนหนึ่งว่า การมาร่วมกันในวันนี้ เพื่อเป็นการสืบสานและรักษาในสิ่งที่เราตั้งไว้ ว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง ที่ถูกที่ควรในอนาคตต่อไป จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงของบรรดา ส.ส.ทั้งหมด เรากันเองทั้งนั้น พวกเราก็รู้ว่าอะไรคือปัญหา อะไรที่ต้องดำเนินการต่อไป วันนี้มาเพื่อพบปะและรับฟังแนวทางที่ได้ทำงานกันไปเป็นอย่างไร และแนวทางการทำงานในฐานะการทำหน้าที่ ส.ส.

"วันนี้มีทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ บางท่านก็มา บางท่านก็ยังไม่มา  ส่งใจถึงทุกคนก็แล้วกัน อย่าเสียใจอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องเสียใจ เราถือว่าได้คะแนนเสียงมาจากประชาชนที่รักเรามากพอสมควร ถึงแม้ว่าจะยังไม่สำเร็จ ซึ่งเราก็พอทราบดีอยู่แล้วว่าเกิดเพราะอะไร ซึ่งพรรคของเราก็ต้องมีการรีแบรนดิ้ง ซึ่งของเราก็มีแต่คนสูงวัยทั้งนั้น แต่ก็จะต้องเดินต่อไปในการทำงาน และย้ำว่าเราต้องไม่ขัดแย้งอะไรกันทั้งสิ้น" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมวันนี้จะมีการเสนอตั้งทีมโฆษกพรรค รทสช. เนื่องจากตั้งแต่ตั้งพรรคมายังไม่มีการตั้งทีมโฆษก

นายเอกนัฏ​ พร้อม​พันธุ์​ เลขาธิการ​พรรค​ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวหลังการประชุม กก.บริหารพรรคว่า พรรคมีมติตั้งนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์  ส.ส.ราชบุรี เขต 4 เป็นโฆษกพรรค ในส่วนการโหวตประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี พรรคชัดเจนไม่สนับสนุนรัฐบาลที่มีวาระแก้ไขมาตรา 112 มันชัดเจนอยู่แล้ว
ถามว่า มีความชัดเจนใช่หรือไม่ว่าจะไม่โหวตให้กับรายชื่อที่พรรคก้าวไกลเสนอ นายเอกนัฏกล่าวว่า ในส่วนประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลเราคงไม่โหวตให้

'บิ๊กป้อม' ปัดดีลลับอังกฤษ
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางมาร่วมประชุม ครม. หลังเพิ่งเดินทางกลับจากอังกฤษ โดยมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แต่ไม่ตอบคำถามใดกับผู้สื่อข่าว

ต่อมาหลังเสร็จสิ้นประชุม ครม. พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีกระแสข่าวเดินทางไปอังกฤษเพื่อดีลจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ว่า ไม่ได้ไป ไปดูแลเรื่องร่างกายตัวเอง ไม่ได้ไปพบใคร จะให้ไปพบกับใคร

ถามว่า มีกระแสข่าวไปพบกับนายทักษิณ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ผมจะไปพบได้ไง ไม่ได้เจอกัน 18 ปีแล้ว" เมื่อถามยํ้าว่า มีการพูดคุยกันหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวยํ้าว่า “ไม่มี ไม่เคยพูดกัน” 

ซักว่า หากมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ จะมีความพร้อมหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่พูดถึงขั้นนั้น รอไปก่อน เมื่อถามว่าการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคในบ่ายวันที่ 27 มิ.ย. จะมีการกำชับเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่าเป็นเรื่องทั่วไปของ ส.ส.ใหม่ที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ เป็นการพูดคุยให้รู้ข้อบังคับของสภา 

เมื่อถามว่า จะมีการคุยเรื่องโหวตเลือกประธานสภาฯ หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ ยังไม่มีการพูดกัน ค่อยว่ากันในพรรค รอดูมติพรรคเป็นอย่างไร เมื่อถามอีกว่าจะปล่อยฟรีโหวตหรือให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ต้องประชุมพรรคก่อน ยังไม่รู้เลย 

ถามถึงกระแสข่าวจะมีการเสนอชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. เป็นประธานสภาฯ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี เมื่อถามว่า ระหว่าง พล.อ.ประวิตรกับแคนดิเดตนายกฯ จากพรรค พท. จะให้ใครเป็นนายกฯ ในกรณีที่ต้องผ่าทางตันทางการเมือง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ไปถามพรรค พท.

พอถามว่า พล.อ.ประวิตรมีคุณสมบัติมากพอที่จะเป็นนายกฯ ที่จะปลดล็อก 3 เงื่อนไขทางการเมือง คือป้องกันรัฐประหาร ดึงเสียง ส.ว. และรับประกันการกลับมาของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตรไม่ได้คําถาม ก่อนขึ้นรถออกจากทำเนียบรัฐบาล

เวลา 14.00 น. พล.อ.ประวิตร ประชุมกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ของพรรคที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกับ ส.ส.ใหม่ ถึงรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติตนและการทำงานในสภา ก่อนที่จะรัฐพิธีเปิดประชุมสภาวันที่ 3 ก.ค.นี้ 

พล.อ.ประวิตรได้กล่าวต้อนรับ ส.ส.ใหม่ พร้อมกับกำชับเรื่องการทำหน้าที่ส.ส.ในสภา โดยเฉพาะเรื่องของการลงมติเลือกประธานสภาฯ รวมไปถึงนายกฯ ขอให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้ง 40 คน อย่าแตกแยก เพราะการโหวตตำแหน่งประธานสภาฯ จะมีผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้พูดถึงหลักการในภาพรวม ไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคลที่จะถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภาฯ แต่อย่างใด นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตรยังเน้นย้ำให้ ส.ส.ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ให้เข้าร่วมประชุมสภา อย่าขาด อย่าลา หากไม่จำเป็น ถ้าจะขาดหรือลาประชุม ขอให้แจ้งพรรครับทราบ ขณะเดียวกันยังได้มีการนัดหมายให้ ส.ส.ใหม่ เข้าร่วมการปฐมนิเทศ ในวันอาทิตย์ที่ 2 ก.ค. เวลา 13.30 น. ที่ที่ทำการพรรคพปชร.

อสส.ตั้งทีมสอบปมพิธาแล้ว

วันเดียวกัน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (รองโฆษก อสส.) กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุด มีคำสั่งรับหรือไม่รับดำเนินการตามที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพุทธะอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการต่อเนื่องในการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ว่านายธีรยุทธได้เดินทางมายื่นคำร้องดังกล่าวผ่านสำนักงานอัยการสูงสุดจริง ซึ่งทางอัยการสูงสุดก็ได้พิจารณาคำร้อง เเละมีการตั้งคณะทำงานขึ้นพิจารณา

ทั้งนี้ คณะทำงานประกอบด้วยรองอัยการสูงสุด นายอุทัย อาทิเวช ผู้ตรวจการอัยการ อธิบดีอัยการฝ่ายการสอบสวน และอัยการฝ่ายการสอบสวนเป็นเลขาฯ คณะทำงาน ได้เชิญผู้ร้องมาให้ค่อยคำประกอบคำร้องเพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ และประสานหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมในเรื่องที่มีการร้องเรียน ไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง มากกว่า 2 หน่วยงาน เพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบตามคำร้อง เพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งหน่วยงานที่ทางอัยการสูงสุดประสานไปยังไม่ส่งเอกสารข้อมูลกลับมาประกอบการพิจารณา

อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีการร้องขอให้เลิกการทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561มาตรา 7 (3) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์เเละวิธีการ บัญญัติไว้ว่า 1.ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าว มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ 2.หากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอหรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ผู้ร้องจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

"จะเห็นได้ว่ากรณีดังกล่าวมีข่าวว่าทางผู้ร้องไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเเล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามบทบัญญัติที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนทางอัยการสูงสุดพอได้รับคำร้องมาก็ดำเนินการควบคู่ไปด้วย เพียงเเต่เราต้องรอข้อมูลประกอบคำร้อง ไม่ใช่รับคำร้องอะไรมาก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญเลย อัยการเราต้องพิจารณาคำร้องและข้อเท็จจริง ตรวจสอบเอกสารและเรื่องให้ถูกต้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งกรณีเช่นนี้ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญก็มีหนังสือขอทราบข้อมูลมาเป็นปกติอยู่แล้ว" รองโฆษก อสส.ระบุ

ที่รัฐสภา นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ยื่นหนังสือต่อนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะ กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เรื่องขอให้ ส.ว. ร่วมกันลงชื่อร้องเรียนนายพิธากรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี ซึ่งอาจขัด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ส.ส. มาตรา 42 (3) และกรณีโอนหุ้นให้กับบุคคลอื่นหลังวันเลือกตั้ง อาจเข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)

 นายนพรุจกล่าวว่า เพื่อไม่ให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งไม่บังควรที่มีการนำรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่ยังมีปัญหา นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อโปรดเกล้าฯ ตนจึงอยากให้ ส.ว.รวบรวมชื่อเพื่อตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น ไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ทันเวลาก่อนโหวตเลือกนายกฯ

ด้านนายเสรีกล่าวว่า ข้อมูลที่นายนพรุจยื่นมาเรื่องการถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา สอดคล้องกับข้อมูลที่ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ดำเนินการตรวจสอบอยู่ จะนำข้อมูลไปรวมกันเพื่อพิจารณาศึกษาต่อไป และในวันที่ 28มิ.ย. เวลา 10.00 น. กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จะไปพบนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ขอทราบความคืบหน้าเรื่องกระบวนการการทำงานของกกต. ภายหลังการรับรอง ส.ส. และความคืบหน้าการตรวจสอบนายพิธาที่ถูกตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 กรณีรู้ตัวขัดคุณสมบัติ แต่ยังลงสมัครเลือกตั้ง โดยจะนำหลักฐานการถือครองหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธาและข้อมูลการถือครองที่ดิน 14 ไร่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของนายพิธาไปยื่นต่อ กกต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง