โหวตเลือกนายกฯ3ครั้ง สภาฯวางกรอบถ้าไม่ได้คุยใหม่ พรรคร่วมจี้ก.ก.โชว์ตัวเลขส.ว.

สภาเตรียมสถานที่จัดพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาฯ 7 ก.ค. เวลา 09.30 น. "พิเชษฐ์" วางกรอบโหวตเลือกนายกฯ 3 ครั้ง 13 ก.ค.ไม่ได้เลือกต่อ 19-20 ก.ค. ชี้ 3 วันเพียงพอ ถ้าไม่ได้ต้องคุยกันใหม่ "วันนอร์" ย้ำเสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำได้ บอกคุย "พรเพชร" รอบแรกไม่ผ่านขยับครั้งสองไป 19 ก.ค. "เอกนัฏ" ยันไม่เสนอชื่อ "พีระพันธุ์" ชิงนายกฯ ลั่น "รทสช." ไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย "พรรคร่วมตั้งรัฐบาล" จี้ "ก.ก." โชว์ตัวเลข "ส.ว." โหวตหนุนพิธา "ชวน" สอน "ปดิพัทธ์" อย่าทำตัวเป็นประธานสภาฯ

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 6 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ  รมว.กลาโหม กล่าวถึงการนำรายชื่อประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายว่า ทำแล้วจ้ะทำแล้ว รอก่อนนะ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขั้วเดิมเสนอชิงนายกฯ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธตอบคำถามโดยบอก "nothing" (ไม่มีอะไร)

ต่อมาเวลา 10.05 น. พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในพิธีมอบเงินรางวัลและแสดงความยินดีแก่นักกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 และการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 12 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา  ซึ่งหลังเสร็จสิ้นพิธี พล.อ.ประยุทธ์ถามสื่อมวลชนว่ามีอะไรไหมจ๊ะ การเมืองไม่มีคำตอบ พร้อมกล่าวว่า “nothing nothing”  ก่อนจะเดินออกจากโพเดียมและยิ้ม โดยผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะเสนอชื่อนายกฯ แข่งหรือไม่  ซึ่งนายกฯ ปฏิเสธตอบคำถามดังกล่าวและเดินขึ้นห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้าทันที

ขณะที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ว่าที่รองประธานสภาฯ คนที่ 2 จากพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการมุมการเมือง   ทางไทยพีบีเอส ถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ได้วางวันเลือกนายกฯ ไว้ 13 ก.ค. ถ้าไม่ได้ก็จะให้เลือกรอบที่ 2 วันที่ 19 ก.ค. และรอบที่ 3 วันที่ 20 ก.ค. คาดว่า 3 วันนี้ก็น่าจะเพียงพอได้นายกฯ แล้ว   ถ้าไม่ได้ก็จะคุยกันใหม่ โดยจะเปิดโอกาสให้ 3 ครั้งก่อน เพราะการเรียกประชุมบ่อยๆ และใช้สมาชิก 750 คน ก็ค่อนข้างลำบาก เวลา 3 วันก็เยอะแล้ว และอยากให้ได้ภายใน 3 วันนี้

ถามว่า หาก 3 ครั้งแรกแล้วยังไม่ได้ นายกฯ จะมีการพูดคุยกันใหม่หรือพลิกให้พรรคเพื่อไทยมานำในการจัดตั้งรัฐบาลเลย นายพิเชษฐ์ระบุว่า แล้วแต่ที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุม 8 พรรคที่ต้องทำตาม MOU ที่จะต้องจับมือกันไป ซึ่งต้องพูดคุยกันเป็นการภายใน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

"ยอมรับว่ายังไม่ทราบจำนวน ส.ว.ที่แน่ชัดว่าจะสนับสนุนโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เท่าที่พูดคุยกับ ส.ว.มีเจตนาที่ดีที่ต้องการให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ประเทศชาติจะได้เดินหน้าได้" นายพิเชษฐ์กล่าว

จากนั้นเวลา 15.00 น. ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้หารือกับว่าที่รองประธานสภาฯ ทั้ง 2 คน พร้อมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อประชุมเสร็จสิ้นนายพิเชษฐ์รีบเดินออกจากห้องโดยไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังเป็นคนเปิดประเด็นเลือกนายกฯ 3 รอบก็เพียงพอแล้ว

ส่วนนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่รองประธานสภาฯ คนที่ 1 จากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เดินออกมาทีหลัง ก็เลี่ยงให้สัมภาษณ์สื่อเช่นเดียวกัน โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ไม่ได้มาประชุมอะไรกันมาก เพียงแค่มาซักซ้อมทำความเข้าใจกับพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ

"เรื่องการประชุมโหวตนายกรัฐมนตรี จะหารืออย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 10 ก.ค.นี้" นายปดิพัทธ์กล่าว

นายวันมูหะมัดนอร์ให้สัมภาษณ์ถึงการโหวตนายกฯ ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าจะเลือกกี่ครั้ง หากครั้งแรกได้ก็ถือว่าจบ แต่ถ้าไม่ครบ 376 เสียง ก็จะเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาปรึกษากันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพราะขณะนี้ประชาชนรอรัฐบาลใหม่ จึงต้องทำให้เกิดความสมดุลและเหมาะสม

สภาจัดสถานที่เตรียมพร้อม

ถามว่า นายพิเชษฐ์ระบุหากโหวตครั้งแรกไม่ผ่าน จะนัดครั้งต่อไปเป็นวันที่ 19 ก.ค. เป็นไปได้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า หากวันที่ 13 ก.ค.ไม่จบ วันที่ 19 ก.ค.ก็เป็นเวลาที่เหมาะสม และเลขาธิการสภาฯ มีเวลาทำหนังสือแจ้งสมาชิกเชิญประชุมได้ แต่ยังต้องดูหน้างานอีกครั้ง และโดยปกติสภาก็ประชุมทุกวันพุธและพฤหัสฯ อยู่แล้ว ดังนั้นวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งตรงกับวันพุธ จึงเหมาะสมดี และได้ปรึกษานายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาแล้วก็เห็นด้วย

"ส่วนต่อไปจะเป็นเมื่อไหร่ ก็ดูหน้างาน การที่จะต้องเว้นไว้ 7 วันนั้น ในข้อบังคับไม่ได้กำหนด ที่เว้นไว้ว่า 7 วันเพราะเราต้องการให้สมาชิกได้มาประชุมโดยพร้อมกัน เพราะสภาประชุมทุกวันพุธ พฤหัสฯ  วุฒิสภาประชุมทุกวันจันทร์ อังคาร และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ไม่ได้ประชุม ดังนั้นวันพุธน่าจะเป็นวันที่ทุกฝ่ายพร้อมที่สุด" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

ถามว่า ส.ว.อยากให้เว้นระยะเวลาการประชุมรัฐสภาไว้ 14 วัน ข้อห่วงใยนี้ทาง ส.ว.ส่งสัญญาณมาบ้างหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ก็ไม่มีปัญหา ขึ้นอยู่กับหน้างาน และความเหมาะสม ส่วนตัวอยากให้เกิดความเรียบร้อย และความพร้อมให้มากที่สุด เพราะวันพุธ 19 ก.ค.เหมาะสม เพราะเป็นวันประชุมสภา น่าจะเกิดความพร้อมเพรียงที่สุด

 “ผมอยากให้เกิดความเรียบร้อยมากที่สุด และมีความพร้อมมากที่สุด เพราะเป็นวาระสำคัญในการเลือกผู้นำประเทศ จึงต้องทำให้มีความพร้อมและโปร่งใสมากที่สุด” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

ซักว่า จะให้โหวตชื่อนายพิธากี่ครั้ง ว่าที่ประธานสภาฯ กล่าวว่า ไม่สามารถจะบอกได้ เพราะไม่แน่ อาจจะผ่านในวันที่ 13 ก.ค.เลยก็ได้ หรืออาจจะผ่านในวันที่ 19 ก.ค.ก็ได้ ซึ่งการเสนอชื่อผู้เป็นนายกฯ  ให้โหวตในครั้งต่อไป ยังสามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้อีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 16.33 น. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้แจ้งมายังสื่อมวลชนผ่านไลน์ว่า ตามที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่หนึ่ง) ได้มีมติเลือกนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นายปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สองนั้น ทั้งนี้ ขอเชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าวพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 7 ก.ค. 66 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 604 ชั้น 6 (โซน N) อาคารรัฐสภา

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงการประชุมพรรค รทสช.ในวันที่ 11 ก.ค.ว่า จะมีการประชุมในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ต้องประชุมกันทุกวันอังคารของสัปดาห์ เพื่อทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรค โดยเฉพาะ ส.ส.ว่าจะมีวาระอะไรบ้าง หรือแนวทางการลงมติว่าจะไปในทิศทางใด

ถามว่า รทสช.จะเสนอรายชื่อชิงนายกฯ หรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า รอให้มีการพูดคุยในวันที่ 11 ก.ค.ก่อน ขอดูภาพรวมตอนนี้ก่อน ในวันดังกล่าวน่าจะมีข้อสรุปเพื่อให้เป็นในทิศทางที่เข้าใจตรงกันทั้งหมด เมื่อถามว่าหากมีการเสนอชิงนายกฯ จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แคนดิเดตนายกฯ พรรค รทสช.หรือไม่  นายอนุชากล่าวว่า ต้องรอการประชุม เพราะจะมีการพูดคุยแง่มุมต่างๆ หลังจากประชุมเสร็จทางโฆษกพรรคจะแถลงให้ทราบ

ซักถึงการตั้งวิปรัฐบาลเดิมไว้เพื่อประสานงานกัน นายอนุชากล่าวว่า เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน จะต้องมีผู้ทำหน้าที่วิปเพื่อจะได้ประสานงานกับฝ่ายบริหารกับทางรัฐบาลโดยตรง ส่วนฝ่ายค้านมีไว้ประสานงานเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ

ถามย้ำว่า ทางซีกรัฐบาลเดิมจะมีการตั้งมาไว้ประสานงานกันใช่หรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า เป็นการพูดคุยกันเบื้องต้น และนำเสนอแนวคิด แต่ยังไม่ได้มีการประสานกันในรายละเอียด ต้องดูหลังการประชุมพรรคในวันที่ 11 ก.ค.ก่อนว่าเป็นอย่างไร

"เรื่องดังกล่าวเป็นแนวคิดที่แม้จะต่างพรรคกัน แต่มีแนวคิดเดียวกัน ซึ่งจะพูดคุยกันว่าแนวทางการลงมติ หรืออะไรต่างๆ จะเป็นในแนวทางใด ซึ่งอาจจะมีเพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อประสานงานกัน เป็นเรื่องปกติของทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล" นายอนุชากล่าว

รทสช.ไม่ตั้ง รบ.เสียงข้างน้อย

ส่วนนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรค รทสช. โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงถึงจุดยืนทางการเมืองของพรรค ตอนหนึ่งว่า ขอยืนยันการที่ รทสช. ส่งคุณวิทยาสู้กับก้าวไกลในการโหวตรองปธ.สภา เป็นการสู้เพื่อแสดงจุดยืน ไม่นำมาสู่การตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยอย่างแน่นอน การโหวตประธานสภาและนายกรัฐมนตรีมีกลไกที่แตกต่างกันครับ

"ส่วนการโหวตนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีกระแสข่าวว่า รทสช.จะส่งคุณพีระพันธุ์แข่งกับคุณพิธานั้น ไม่เป็นความจริงครับ ผมเองอยากเห็นคุณพีระพันธุ์เป็นนายกฯ และเชื่อว่าท่านจะเป็นนายกฯ ที่ดี เพราะท่านเป็นนักการเมืองนํ้าดี สุจริต เที่ยงธรรม แต่ต้องยอมรับว่าพรรคเรามีเพียง 36 เสียง ไม่พอที่จะไปเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และคุณพีระพันธุ์กับผมก็ไม่เคยมีความคิด และไม่สนับสนุนการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาอย่างเด็ดขาด ถึงจะตั้งไปก็อยู่ไม่ได้ครับ" นายเอกนัฏระบุ

เลขาธิการพรรค รทสช.ระบุด้วยว่า  การแสดงจุดยืนว่าเราไม่รับนายกฯ หรือรัฐบาลที่จะแก้หรือยกเลิก ม.112 สามารถทำได้ด้วยวิธีไม่โหวต โหวตไม่รับ หรืองดออกเสียงครับ ไม่ต้องส่งแข่งก็สู้ได้ (ต่างจากรองประธานสภาฯ) การไม่ส่ง ไม่โหวต หรืองดออกเสียง ด้วยกลไกการโหวตที่ไม่เหมือนกัน จึงมีผลไม่เหมือนกัน

"มีคนพยายามกุข่าวลือ สร้างข่าว เพื่อให้การต่อสู้ของเรานั้นสูญเสียความชอบธรรม เข้าใจผิดคิดว่าเป็นขบวนการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ผมขอปฏิเสธชัดๆ ไปเลยว่า เราไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย  หากจะต้องเป็นฝ่ายค้านก็เป็นครับ" เลขาธิการพรรค รทสช.ระบุ

 ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค ก.ก. กล่าวถึงกรณีพรรค รทสช.แสดงจุดยืนไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยว่า ก็ดีแล้วครับ

ถามถึงความคืบหน้าเสียงของ ส.ว.  นายพิจารณ์กล่าวว่า ยังคงเดินหน้าพูดคุยกับ ส.ว.อยู่ตลอดเวลา ซึ่งมั่นใจ ส.ว.จะเคารพเสียงของประชาชนจากการเลือกตั้ง

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค พท. และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ส.ว.ชัดเจนจะไม่โหวตนายพิธาเป็นนายกฯ ว่า ไม่แน่ใจว่าชัดเจนขนาดไหน แต่นายพิธาก็บอกว่าน่าจะรวบรวมได้ 376 เสียง ก็เป็นกำลังใจให้ และมั่นใจว่าพรรค พท.เราไม่แตกแถว

ถามว่า หากพรรค ก.ก.ยังไม่ได้รับเสียงที่เพียงพอจาก ส.ว. มีโอกาสที่พรรคก.ก.จะยอมสละตัวเองออกจากพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลเดินหน้าต่อได้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่มีการคุยเรื่องที่ ก.ก.จะสละตัวเองออก เราตัวติดกัน เรามาจากฝ่ายประชาธิปไตยและ 8 พรรคก็เซ็นเอ็มโอยูเรียบร้อยแล้ว ส่วนประเด็นที่บอกว่าเราจะแยกจากกัน ตนไม่เคยได้ยิน

ซักว่า หากการโหวตครั้งแรกไม่ผ่าน ก็ต้องมีครั้งที่ 2 มองว่าต้องมีครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า อย่าเพิ่งไปไกลขนาดนั้นเลย ไปทีละสเต็ปดีกว่า  อย่างที่บอกว่าเรามาจากฝ่ายประชาธิปไตย และเราเองก็คุยกันรู้เรื่อง  การโหวตประธานสภาฯ ก็ผ่านไปได้ด้วยดี การโหวตเลือกนายกฯ ก็หวังว่าจะจบได้ด้วยดี

ส่วนความเคลื่อนไหวของ 7 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลนั้น มีรายงานว่า ขณะนี้ทั้ง 7 พรรคกำลังรอความชัดเจนจากพรรค ก.ก.ถึงการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากทางสภาได้นัดวันโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรกวันที่ 13 ก.ค.แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ทางพรรค ก.ก.ที่เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งยังไม่มีการประสานนัดหมายหารือกันแต่อย่างใด

"ที่ผ่านมาทั้ง 7 พรรคต่างอยากทราบความคืบหน้าการรวบรวมเสียง ส.ว.เพื่อสนับสนุนนายพิธา แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากพรรค ก.ก." แหล่งข่าวระบุ

วันเดียวกัน นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตประธานสภาฯ กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกฯ ว่า การโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ผ่านมาก็เป็นตัวอย่างที่ดีว่าสามารถประหยัดเวลาได้ หากมีสร้อยต่อท้ายครั้ง 2 ครั้งก็ไม่รู้สึกแต่ถ้า 750 ครั้งก็มีปัญหาทั้งนั้น ส่วนการโหวตนายกรัฐมนตรีสามารถโหวตได้กี่ครั้งนั้น ไม่ได้มีกฎหมายห้าม แต่ขอให้ถามนายวันมูหะมัดนอร์ประธานรัฐสภาจะดีกว่า

ถามว่า เชื่อว่านายวันมูหะมัดนอร์จะสามารถทำงานได้กับรองประธานทั้ง 2 คน ที่มาจากพรรค ก.ก.กับพรรค พท.ได้ดีหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า นายพิเชษฐ์รองประธานสภาฯ คนที่ 2 บอกจะทำตามพระบรมราโชวาท และตามที่ประธานมอบหมาย แต่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานคนที่ 1 แถลงเหมือนเป็นประธานเอง เพราะที่จริงแล้วรองประธานมีหน้าที่คือรับมอบหมายจากประธานสภาฯ ว่าให้ทำอะไร และถ้าจะทำอะไรใหม่พิเศษออกมา ก็ต้องขออนุมัติจากประธาน ซึ่งถือประธานเป็นหลัก ส่วนรองประธานจะปฏิบัติภารกิจตามที่ประธานมอบหมาย

"งานสภาถือว่าหนักมาก เพราะนอกจากงานภายในการประชุมแล้ว ยังมีงานปีกย่อยอีก แต่ขณะนี้เรามีประธานมุสลิม รองประธานคนที่ 1 เป็นคริสต์ รองประธานคนที่ 2 เป็นพุทธ ถือว่า 3 ศาสนาเลย ผมจึงบอกกับเลขาธิการสภาฯ ว่าต้องรักษามาตรฐานศาสนาไว้อย่างเดิม" อดีตประธานสภาฯ กล่าว

นายชวนยังให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และหัวหน้าพรรค พปชร. ในการทำหน้าที่ ส.ส. หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขณะเข้าร่วมประชุมสภานัดแรกแล้วก้มหน้าในห้องประชุมคล้ายนั่งหลับ โดยบอกว่า มองเห็นว่าท่านนั่งอยู่ตลอดไม่ได้ไปไหนเลย ส่วนท่านจะก้มหน้าหรือเงยหน้า หรือจะทำอะไร ก็ถือเป็นเรื่องเล็กน้อย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯอิ๊งค์ขายฝันประชานิยมปี 2568 แจกเงินหมื่น-ผ่อนบ้าน 4 พัน-ล้วงเงินหวยส่งเด็กเรียนนอก

'นายกฯอิ๊งค์' ร่ายยาวผลงานรัฐบาล 90 วัน เปิดอนาคตปี 68 ครอบคลุมทุกมิติ มาแน่ปีหน้าเงินหมื่นเฟส 2-3 จัดบ้านเพื่อคนไทยผ่อน 4 พันไม่ต้องดาวน์ ผุดไอเดียดึงงบกองสลากส่งเด็กไทยเรียนเมืองนอก คืนชีพ 1 อำเภอ 1 ทุน

เปิดสภาวันแรกเดือด!ฝ่ายค้านซัดจงใจหนีตอบกระทู้ทั้ง ครม.

สส.เพื่อไทยเดือด ปชน. ตั้งกระทู้ปลาหมอคางดำ หลอกด่านายกฯ เบี้ยวตอบกระทู้ตั้งแต่วันแรกของการประชุมสภาฯ ด้าน 'ปธ.วิปค้าน' ข้องใจเจตนาแถลงผลงานตรงวันเปิดประชุมสภา ฉุนจงใจเบี้ยวตอบกระทู้ทั้ง ครม.