‘ธาริต’ปลุกเสื้อแดงชนศาล!

กรุงเทพฯ ๐ "ธาริต" เล่นใหญ่ แถลงเบื้องหลังทำคดี 99 ศพ ก่อนศาลจะมีคำพิพากษาฎีกาอีก 10 ก.ค. อ้างมีทหารนายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารปี 57 เรียกไปเจรจาไม่ให้ดำเนินคดี 99 ศพ พร้อมขู่ถ้าไม่ทำตามอั๊วจะปฏิวัติ ถูกย้ายเป็นคนแรก ดักคอศาลฎีกา ถ้า "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ไม่ผิด เท่ากับเป็นการฟอกขาว โยนบาปให้ 99 ศพเป็นผู้สมควรตาย ลั่นไม่ยอมติดคุกคนเดียว เหลืออายุความอีก 7 ปี ยุรัฐบาลใหม่รื้อคดี

     เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์​ คอนเวนชั่น​ กทม. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมครอบครัว 99 ศพ จากเหตุการณ์ชุมนุม พ.ค.2553 แถลงเบื้องหลังทำคดี ก่อนศาลจะมีคำพิพากษาฎีกาอีก 2 วันข้างหน้า หลังนายธาริตขอเลื่อนฟังคำพิพากษามาแล้ว 10 ครั้งว่า ประเด็นที่ 1 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมของ นปช. เมื่อช่วงเม.ย.-พ.ค.2553 ศูนย์ ศอฉ. โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ออกคำสั่งให้ทหารใช้อาวุธสงคราม (เอ็ม 16) เข้าสลายการชุมนุม ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งฆ่าและทำร้ายประชาชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และเสียชีวิต 99 ราย จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ดีเอสไอซึ่งมีตนเป็นอธิบดีในขณะนั้น จำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาความยุติธรรม ด้วยการดำเนินคดีต่อผู้สั่งฆ่าผู้เข้าชุมนุม  ในข้อหาตามมาตรา ป.อาญา มาตรา 288-289

     จากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ในนามอธิบดีดีเอสไอในขณะนั้น ส่งผลให้ผู้ต้องหาในคดีคือนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ยื่นฟ้องพนักงานสอบสวนในคดี ตามมาตรา 157 มาตรา 200 โดยกล่าวหาว่า พนักงานสอบสวนกลั่นแกล้งพวกตนให้ถูกดำเนินคดี เพื่อรักษาความยุติธรรม ทั้งต่อพนักงานสอบสวน รวมถึงผู้เสียชีวิต 99 ราย และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ตนเห็นว่าหากเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแล้วถูกฟ้องกลับ และถูกดำเนินคดีตาม ป.อาญา มาตรา 157 มาตรา 200 อาจก่อให้เกิดลัทธิเอาอย่างด้วย ซึ่งการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย มาตรา 157 มาตรา 200 ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นแบบอย่างที่กระทำความผิดแล้วไม่ต้องรับผิด เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐกลัวที่อาจจะต้องได้รับโทษอาญาเสียเอง

     ตนจึงยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.อาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยยื่นคำร้องผ่านศาลฎีกา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลอาญาและศาลฎีกาจะวินิจฉัยเสียเองไม่ได้

     นายธาริตกล่าวอีกว่า ในประเด็นที่ 2 ตามที่มีข่าวเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาว่าตนได้เลื่อนการฟังคำพิพากษาศาลฎีกาหลายๆ ครั้ง โดยอาจเป็นการหลบเลี่ยงอย่างน่าสงสัยนั้น ขอชี้แจงว่า มีการขอศาลอาญาเลื่อนคดีหลายๆ ครั้งจริง แต่มีสาเหตุมาจากเหตุสำคัญถึง 4 ประการ ได้แก่ 1.การส่งหมายศาลไม่ตรงกับภูมิลำเนาจำเลย 2.จำเลยเจ็บป่วยเป็นโควิดสองครั้ง ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 และเข้ารับการผ่าตัดไตทั้ง 2 ข้าง ที่โรงพยาบาลศิริราช กับเป็นลมหมดสติจริง 3.มีญาติผู้ตายของ 99 ศพ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในคดีนี้หลายราย หลายครั้ง และ 4.จำเลยยื่นขอให้ศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ใช้บังคับกับคดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

     ซึ่งเหตุจำเป็นทั้ง 4 ประการดังกล่าว ศาลอาญาต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษา เพราะต้องส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งคำร้อง ด้วยเหตุคดีอยู่ในอำนาจของศาลฎีกานั่นเอง การเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีนี้หลายๆ ครั้ง จึงมีเหตุสำคัญและจำเป็นทั้ง 4 ประการดังกล่าว ซึ่งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้เกิดจากตนเสียทั้งหมด

     นายธาริตกล่าวเพิ่มเติม​ว่า​ ประเด็นที่ 3 ตนและญาติของผู้ตายจำนวนมาก มีความกังวลและไม่สบายใจต่อคำพิพากษาศาลฎีกา ที่จะได้มีการอ่านโดยศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) จึงมีการร้องขอโดยญาติผู้ตายเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามจำนวนมากหลายราย ส่วนตนเองก็ได้ร้องขอให้ศาลฎีกาส่งคดีไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 157 มาตรา 200 แห่ง ป.อาญา ที่จะใช้บังคับคดีนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ขณะนี้คำร้องต่างๆ ที่กล่าวมายังไม่ทราบผลว่าศาลฎีกาได้สั่งคำร้องอย่างไร โดยเฉพาะได้สั่งให้ส่งมาตรา 157 และมาตรา 200 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่

     และประเด็น​ที่ 4 ข้อกังวลและไม่สบายใจของตนและญาติผู้ตายคือ หากศาลฎีกาจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ย่อมเกิดผลอย่างใหญ่หลวงมาก เพราะอาจพิพากษาระบุเช่นเดียวกับศาลอุทธรณ์ว่า การที่ตนกับพวก พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพนั้นไม่ชอบ เป็นความผิด เพราะนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพกระทำการออกคำสั่ง ศอฉ. ให้ทหารใช้อาวุธสงครามไปยิง ทำร้ายและฆ่าประชาชนนั้น เป็นเหตุร้ายแรงที่สมควรแก่เหตุแล้ว

     "ผลก็จะเปรียบเสมือนการฟอกขาวให้บุคคลทั้งสองและผู้เกี่ยวข้องในเหตุร้ายแรงนี้เป็นผู้บริสุทธิ์ เกิดเป็นบรรทัดฐานแบบอย่าง ผู้ตายทั้ง 99 ศพพร้อมครอบครัว และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คนจะเป็นอันสิ้นสุดที่จะได้รับความยุติธรรม และการเยียวยาในความเสียหายทันที"

     จึงเป็นการโยนตราบาปให้กับผู้ตาย 99 ศพว่าเป็นผู้ผิดที่สมควรตาย นานาประเทศจะเกิดข้อสงสัยในกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอย่างยิ่ง อาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงทำนองนี้ได้อีกในประเทศไทย เพราะได้แบบอย่างว่า ทำแล้วไม่ต้องรับผิด และเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งดีเอสไอและหน่วยงานอื่นๆ จะไม่กล้าดำเนินคดี เพราะอาจต้องติดคุกเสียเอง คำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานในคดีนี้ จึงสำคัญอย่างที่สุด ดังที่ตนได้แถลงชี้แจงมาเป็นลำดับ ก็ด้วยมีความประสงค์จะร้องขอให้ศาลฎีกาได้โปรดเมตตาคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ซึ่งถึงแก่ความตาย 99 ศพ พร้อมครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้บาดเจ็บอีก 2,000 คน รวมถึงตนกับพวกที่เป็น เจ้าหน้าที่รัฐผู้รักษากฎหมายด้วย ในสถานการณ์ของบ้านเมืองเช่นนี้ คงมีแต่ศาลยุติธรรม โดยเฉพาะศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่จะผดุงความยุติธรรมตามความเป็นจริง และความยุติธรรมตามธรรมชาติที่สมควรจะพึงมีอยู่ต่อไป

     เมื่อถามว่า ในวันที่ 10 ก.ค.นี้จะเกิดอะไรขึ้น อดีตอธิบดีดีเอสไอตอบว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีผลต่อความยุติธรรมว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะตนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่อง ป.อาญา มาตรา 200 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คำร้องที่ได้ยื่นเมื่อวันที่ 7 ก.ค.นี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญว่า ศาลอาญาอาจส่งคำร้องไปให้ศาลฎีกาแล้ว และศาลฎีกามีคำสั่งทันที ให้ยกคำร้องที่ขอศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว สั่งศาลอาญาอ่านคำพิพากษาจำคุกตน และส่งตัวเข้าคุกทันที หรือศาลฎีกาอาจสั่งให้ส่งคดีไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แม้ว่าศาลอาญาจะได้พิพากษายกฟ้องตนกับพวก และผู้ตาย 99 ศพ ไม่ใช่ผู้กระทำผิด แต่ศาลอุทธรณ์กลับพิพากษาว่าเป็นความผิด คำพิพากษาดังกล่าวได้เกิดขึ้น ในช่วงที่ประธานศาลอุทธรณ์เป็นผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเคยร่วมชุมนุมกับ กปปส. และเมื่อคดีของตนกับพวกขึ้นสู่ศาลฎีกา บุคคลดังกล่าวก็ได้ขยับขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาเช่นกัน ประเด็นนี้เป็นข้อกังวลอย่างยิ่ง

     “หากผมจะต้องติดคุกอีกเหมือนคดีทุจริตโรงพักร้าง ที่ผมก็ได้ทำหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย แต่กลับถูกนายสุเทพ ฟ้องกลับ ผมก็จำต้องเคารพและปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ผมไม่อาจทำใจยอมรับได้ โดยต้องเสียใจอย่างที่สุด และการออกมาชี้แจงครั้งนี้ เป็นการใช้สิทธิครั้งสุดท้าย เพื่อความยุติธรรมว่าสมควรมีอยู่จริง”

     นายธาริตยังกล่าวด้วยว่า หลังจากเกิดเหตุการสลายชุมนุม ขณะที่เป็นอธิบดีดีเอสไอมีทหารนายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เรียกไปเจรจาไม่ให้ดำเนินคดี 99 ศพ โดยเรียกไปพูดว่า “อย่าดำเนินคดี 99 ศพนะ ถ้าไม่ทำตาม อั๊วจะปฏิวัติ และจะถูกย้ายเป็นคนแรก”  หลังจากนั้นตนและนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด ก็ถูกสั่งย้ายจากตำแหน่งเดิม และหากไม่ทำคดีนี้ก็จะต้องมีคนอื่นทำอย่างแน่นอน และเห็นว่าครั้งนี้เป็นการข่มขู่ครั้งแรกในการทำคดีนี้ ซึ่งไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

     สำหรับคดีการเสียชีวิตของ 99 คน ยังเหลืออายุความอีก 7 ปี นายธาริตเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แต่งตั้งคณะกรรมาธิการอิสระขึ้นมาแบบระดับ Senior Super Board เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดและให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งหมด แม้ว่าที่ผ่านมาจะเคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาในกรณีนี้แล้วก็ตาม  ทั้งนี้ ที่เพิ่งออกมาเคลื่อนไหวและแถลงข่าว เพราะด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย หากออกมาพูดก็เห็นว่าจะยิ่งทำให้แย่ลง และเห็นว่ากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ที่จะสามารถให้ความเป็นธรรมได้ และหากถูกตัดสินจำคุก ก็ยืนยันว่าจะไม่ใช่การติดคุกฟรี จะไม่มีแค่ตัวเองเท่านั้นที่จะต้องติดคุก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โยนรบ.ปลดล็อกม.112 กมธ.นิรโทษฯชง3ข้อเสนอทะลุฟ้า/ก.ก.ย้ำสิทธิประกันตัว

"กลุ่มทะลุฟ้า" บุกทำเนียบฯ-รัฐสภา ร้องรัฐบาลตรวจสาเหตุ  "บุ้ง" เสียชีวิตให้โปร่งใส จี้คืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง