ไม่เข็ด!ดันพิธาอีกรอบ อึ้ง!ขอเสียงพรรคร่วมเดิม พท.จ้องเสนอ‘เศรษฐา’ชิง

มติ 8 พรรคไม่เข็ด! ดึงดันเสนอชื่อ “พิธา" โหวตนายกฯ รอบสอง มั่นใจไม่ผิดข้อบังคับการประชุมแน่ ส่วนเรื่องแก้ไขมาตรา 272 “ก้าวไกล” ประกาศชงพรรคเดียว “แดดดี้ทิม” รับหากเสียงไม่ถึง 345 ก็ยกธงขาวให้เพื่อไทยชิงผู้นำ พท.เตรียมแผนปมชื่อซ้ำ ชงเลื่อนยกมือแต่หากทำไม่ได้ส่ง “พ่อค้าขายบ้าน” ชิง “ธรรมนัส” ฟันธง 19 ก.ค.ไร้โหวตแน่ “วราวุธ” รับถูกทาบทาม ย้ำ ชทพ.ไม่ร่วมพรรคแตะ 112 ส.ว.ตัวตึงบอกชัดตราบใดมีชื่อ ก.ก.ร่วมรัฐบาล โอกาสริบหรี่ได้เสียงสภาสูง

เมื่อวันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม ที่ตึกไทยซัมมิท แกนนำ 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้มีการหารือทิศทางในการลงมติเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 ก.ค. โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมเสร็จสิ้นว่า มีข้อสรุปอยู่ 3 ข้อ ได้แก่ 1.วันที่ 19 ก.ค.นี้ 8 พรรคมีมติส่งตนเองเป็นแคนดิเดตนายกฯ คนที่ 30 2.การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ของพรรค ก.ก.เป็นสิ่งที่พรรคเสนอเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอีก 7 พรรค และ 3.ข้อบังคับรัฐสภา ข้อที่ 41 ที่มีกระแสข่าวว่าวุฒิสภา (ส.ว.) จะตีความตามข้อบังคับข้างต้น ในที่ประชุมเห็นว่าไม่น่าจะเข้าข่ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับข้อบังคับแต่อย่างใด ไม่ถือว่าเป็นญัตติ

เมื่อถามว่า หากวันที่ 19 ก.ค.มีเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอจะทำอย่างไร นายพิธากล่าวว่า จากสมรภูมิแรกถ้าคะแนนไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เราก็พร้อมที่ถอยให้ประเทศชาติ ถอยให้พรรคอันดับ 2 ที่อยู่ใน MOU ร่วม ซึ่งคือพรรคเพื่อไทย (พท.) 

ถามถึงตัวเลขไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นตัวเลขจำนวนเท่าไหร่ นายพิธากล่าวว่า ถ้าให้เหมาะสมต้องเพิ่มขึ้นเป็น 344-345 เสียง ก็น่าเป็นตามลักษณะนี้ ไม่ได้ตั้งใจกั๊กไว้ว่าเป็นนัยสำคัญที่ไม่ได้คิดตัวเลขไว้ในใจ ก็จะเป็นตัวเลขที่ไม่ฝืนสายตาประชาชน

เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ของพรรคร่วมในขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง นายพิธากล่าวว่า เป็นไปได้ด้วยดี มีความพยายามตั้งรัฐบาลประชาชนให้ได้ จึงมีมติที่จะเสนอชื่อตนเองเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกครั้ง และไม่มีการเสนอชื่อสำรอง มีชื่อพิธาคนเดียว ส่วนการขอเสียงจากพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นั้น เรื่องดังกล่าวยังไม่เป็นมติของ 8 พรรค 

เมื่อถามถึงกรณีต่อสายตรงคุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเดิม นายพิธากล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่หารือถึงประเด็นทางการเมืองกับเพื่อน ส.ส.และ ส.ว. แต่ไม่มีการเชิญเข้าร่วมรัฐบาล เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง ไม่มีการโทร.ไปขอคะแนนเสียง

ถามถึงความเป็นไปได้หากพรรค ก.ก.ยอมถอยเรื่องแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้พรรคอื่นยกมือโหวตให้ นายพิธากล่าวว่า มาตรา 112 เป็นข้ออ้างที่อยู่ข้างหน้า แต่ว่าข้างหลังก็คงมีหลายเรื่องที่จะไปมีผลกระทบต่อสัมปทานและผลประโยชน์การปฏิรูปกองทัพ, กอ.รมน. ที่พรรค ก.ก. ต้องการจะให้ถ่างออกจากการเมืองให้ได้ ซึ่งเชื่อว่ามาตรา 112 ก็เป็นเรื่องที่อ่อนไหว เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง เรื่องนี้หายไปเรื่องอื่นก็จะมาอีกทาง เรื่องที่สำคัญคือต้องการรักษาคำพูด

หึ่ง ‘พิธา-ชัยธวัช’ ต่อสายขอเสียง

มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา นายพิธาและนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ก.ก.ได้พยายามโทรศัพท์สายตรงหาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันเพื่อขอเสียงสนับสนุนในการโหวตนายกฯ รอบสอง รวมถึงโทรศัพท์สายตรงหา ส.ส.หลายคน และ ส.ว.ที่ลงมติงดออกเสียงและลงมติไม่เห็นชอบเพื่อโน้มน้าวให้เปลี่ยนใจมาสนับสนุน โดยพูดคุยในท่าทีที่อ่อนลงและเป็นกันเอง แต่ยังไม่มีใครตอบรับ ขณะที่ปลายสายบางคนยังรู้สึกแปลกใจในท่าทีที่นายพิธาโทรศัพท์มาหาด้วยตัวเอง               ก่อนหน้านี้ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการประชุม 8 พรรคร่วมว่า จะเสนอชื่อนายพิธาให้เป็นนายกฯ ในครั้งที่ 2 ซึ่งไม่กังวล รวมถึงเรื่องการยกเลิกมาตรา 272 ที่พรรค ก.ก.ได้ยื่นไปก่อนหน้านี้ โดยขอเสียงสนับสนุนจาก 8 พรรคร่วม เพราะเราได้ทำตามสิ่งที่ได้ให้สัญญากับประชาชนไว้ หากประชาชนยังไม่ถอยเราก็ยังไม่ถอย ซึ่งการเสนอชื่อนายพิธาอีกรอบหนึ่งเป็นไปตามสมรภูมิที่เราได้แจ้งกับประชาชนไว้

ถามถึงจำนวนเสียง ส.ว.ที่จะสนับสนุนนายพิธา เพราะพรรคเพื่อไทยต้องการทราบจำนวนว่ามีเท่าไหร่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เรื่องนี้เราสื่อสารกันมาโดยตลอดว่าพรรคติดต่อท่านไหน และพรรค พท.จะช่วยติดต่อคือ ส.ว.ท่านไหน รวมถึงพูดคุยกันมาโดยตลอด ซึ่งการโหวตในรอบนี้จากที่ทำงานกันมาได้คะแนนเสียงเพิ่มเติมจาก ส.ว.ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันนั้น

น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า เราไม่มีความกังวลใดๆ เราสัญญากับประชาชนไว้ว่าจะสู้กับ 2 สมรภูมิ ซึ่งเราจะสู้อย่างเต็มที่เพื่อเสนอนายพิธาเป็นนายกฯ พร้อมคาดหวังว่าจากสิ่งที่เราได้ทำแคมเปญจะทำให้ ส.ว.เปลี่ยนใจมายืนเคียงข้างประชาชน และหากการต่อสู้ทั้ง 2 สมรภูมิไม่เป็นผล เราก็จะเปิดทางให้พรรค พท.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการแก้ไขมาตรา 272 ไม่ได้เป็นการมัดมือชกใดๆ พรรคเพื่อไทย แต่คิดว่าเราน่าจะทำภารกิจนี้ร่วมกันทั้ง 8 พรรค

เมื่อถามว่า ได้กำหนดเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ไทม์ไลน์ต่างๆ ต้องขึ้นอยู่กับประธานสภาฯ ที่จะบรรจุวาระมาตรา 272 ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้า ซึ่งตามระเบียบแล้วต้องเอาเข้าภายใน15 วันอยู่แล้ว จึงคาดว่าจะจบภายในสัปดาห์หน้าและทราบทิศทางต่อไปอย่างแน่นอน

ถามอีกว่า แทนที่จะมาเดินหน้าแก้ไขมาตรา 272 ทำไมพรรคไม่ถอยการแก้ไขมาตรา 112 เสีย น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เป็นสิ่งที่เราได้สัญญากับประชาชนผ่านการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งการแก้ไขมาตรา 112 เป็นเพียงข้ออ้างของ ส.ว.ที่จะไม่โหวตให้พรรค ก.ก. แม้ว่าเรายอมถอยและเสียสัจจะที่ได้สัญญาไว้กับประชาชนก็ไม่ได้เป็นแน่นอน ดังนั้นเราขอเลือกไม่เสียสัจจะที่ให้ไว้กับประชาชน

เมื่อถามถึงกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ได้เจรจาดึงพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้าร่วมรัฐบาล ที่ระบุว่าได้รับการทาบทามจากพรรคก้าวไกล น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องว่าใครคือผู้ที่ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ไปเชิญ แต่หากได้เสียงจากพรรค ปชป.กับพรรค ชทพ.ก็จะได้เสียงที่มากขึ้น แต่หากมีเงื่อนไขเรื่องมาตรา 112 ก็คงไม่ได้ร่วมรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้ง

หลัง 29 ก.ค.ถอยให้เพื่อไทย

ส่วนนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯ ในฐานะรองเลขาธิการพรรค ก.ก. กล่าวถึงกระแสข่าวการซื้อ ส.ส.พรรค ก.ก.และพรรค พท. 50 คนเพื่อโหวตให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยว่า ส.ส.ก้าวไกลอยู่ครบ ไม่มีใครถูกซื้อแน่นอน ครั้งที่แล้วประชาชนลงโทษ ส.ส.งูเห่าทุกคนสอบตกหมด ทุกพรรคเห็นตัวอย่างกันดีอยู่แล้วว่าการทรยศต่อประชาชนผลออกมาเป็นอย่างไร

นายณัฐชายังกล่าวถึงการสู้ 2 สมรภูมิว่า พรรคออกโรดแมปมาให้ประชาชนเห็นชัดๆ แล้วว่าเรามีแผนการอย่างไร ซึ่งกรอบเวลาชัดเจนทั้ง 2 สมรภูมิ สมรภูมิโหวตนายกฯ ถ้าวันที่ 19 ก.ค.คะแนนโหวตนายกฯ รอบ 2 ยังห่างจาก 376 ก็จบ รอสมรภูมิต่อไปคือการยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งต้องเข้าสภาภายใน 15 วันหลังยื่นร่าง คือภายในวันที่ 29 ก.ค.นี้ ถ้าผลออกมาคือร่างตกก็จบเช่นกัน เรายอมถอยให้พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาล

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าวถึงการต่อสู้ใน 2 สมรภูมิของพรรคก้าวไกลว่า ไม่เข้าใจว่าสิ่งดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะการเปิดสมรภูมิใหม่เป็นการเสนอประเด็นที่อยู่นอกเหนือเอ็มโอยูที่ 8 พรรคเซ็นร่วมกัน การเสนอเรื่องนี้และบอกว่าจะต่อสู้จนกว่าจะประสบความสำเร็จ จนไม่สามารถไปได้แล้วจึงจะมอบอำนาจให้พรรคอันดับ 2 พูดเช่นนี้ฟังดูดี แต่ทั้ง 2 ประเด็นยากลำบากและไม่มีกรอบเวลาชัดเจน การแก้ไขมาตรา 272 เราเคยพูดแล้วว่าเป็นได้เพียงสัญลักษณ์ไม่ได้รับชัยชนะ แต่การเร่งตั้งรัฐบาลจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พรรค พท.ได้เสนอเป็นนโยบายไว้ว่าจะแก้ทั้งระบบ นี่ถือเป็นวาระสำคัญ แต่การเปิดวาระใหม่ของพรรค ก.ก.และนายพิธาเหมือนมัดมือชกเรา 

 “วันนี้อยากให้เปิดใจให้กว้าง แล้วเอาวาระประชาชนเป็นที่ตั้ง วาระประเทศเป็นที่ตั้งถูกต้องหรือไม่ การที่นายพิธาพูดว่าเวลานี้อนาคตของพรรคก้าวไกล และอนาคตของประชาชนอยู่ในมือของประชาชนแล้ว คิดว่าอย่าเอาประชาชนเป็นตัวประกัน” 

เมื่อถามว่า ได้คิดเรื่องการเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯไว้บ้างหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า พรรค พท.ไม่มีแผนสำรอง แผนแรกแผนเดียว เราอยากจับมือกับ 8 พรรคร่วม เดินหน้าไปให้ถึงที่สุด แต่ต้องมีคำตอบที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้เลือกไปเรื่อยๆ โดยที่ประเทศไม่รู้ว่าทางออกจะเป็นอย่างไร

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า เรายึดมั่นในเอ็มโอยู 8 พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งเสนอชื่อนายพิธา ส่วนที่ ส.ว.มองว่าเป็นการขัดข้อบังคับการประชุมข้อ 41 นั้นต้องมีการต่อสู้กันทางกฎหมาย ส่วนกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้ไปทาบทามพรรค ชทพ.เพื่อให้มาร่วมตั้งรัฐบาลนั้น ก็เป็นความเห็นของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่ใช่มติของ 8 พรรค รวมถึงประเด็นที่นายพิธาต่อสู้ในการแก้ไขมาตรา 272 ไม่ได้มีอยู่ในเอ็มโอยูเช่นเดียวกัน

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ กล่าวว่า ปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจประชาชนเป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าเราไม่รีบเจรจาและจัดตั้งเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาก็จะเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งสถานการณ์ก็บีบบังคับให้จัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด

ธรรมนัสฟันธง 19 ก.ค.ไร้โหวต

เมื่อถามว่า พร้อมหรือไม่ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ หากนายพิธาไม่ผ่านการโหวตรอบ 2 นายเศรษฐากล่าวว่า ถ้าไม่พร้อมก็คงไม่มีรายชื่อเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ พรรค พท. แต่พรรคยังไม่มีการคุยกัน ต้องให้เกียรติคณะกรรมการบริหารพรรค คงไม่ก้าวล่วง

“ผมเล่นกีฬาเป็นทีมอยู่แล้ว ผมเป็นประชาธิปไตย ถ้าหากคณะกรรมการมีมติอย่างไรผมพร้อมน้อมรับ และไม่อยากพูดไปเพื่อเป็นการกดดันอะไรทั้งสิ้น เป็นหน้าที่ของกรรมการบริหารที่มีความอิสระในการตัดสิน”

รายงานข่าวจากพรรค พท.แจ้งว่า พรรคมีความชัดเจนในการหารือกับ 8 พรรคร่วม โดยหากจะมีการเสนอโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ อีกครั้งก็ไม่ขัดข้อง แต่การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 พรรคชัดเจนว่าไม่เอาด้วย ส่วนการเสนอชื่อนายพิธาที่อาจถูกตีความในการยื่นญัตติซ้ำนั้น เชื่อว่าอาจต้องมีการโหวตในเรื่องดังกล่าว และเป็นไปได้ว่าเสียงของพรรคร่วม 8 พรรคอาจแพ้เหมือนการโหวตนายกฯ ทำให้พรรคเพื่อไทยอาจจำเป็นต้องเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ แทน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นพรรค พท.จะเสนอให้เลื่อนการพิจารณาโหวตนายกฯ ออกไปเป็นสัปดาห์ต่อไป แต่ถ้าไม่ได้ก็จะเสนอชื่อนายเศรษฐาเลย

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะประธานประสานงาน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 19 ก.ค.ว่าไม่มีโหวต หากพรรค ก.ก.ยังเสนอชื่อนายพิธา เนื่องจากเป็นญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา การเสนอเรื่องอะไรก็ตามในสภาไม่ว่าเรื่องไหน ถ้าขอเสียงรับรอง 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ในสภาคือญัตติ ซึ่งการนำญัตติที่ตกไปแล้วไปยื่นใหม่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันที่ 19 ก.ค.คงไม่มีการโหวต ถ้าวันนั้นไม่มีการโหวตประธานสภาก็จะนัดใหม่

เมื่อถามว่า กระแสข่าวพรรค พท.เตรียมจับมือพรรค พปชร.พลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล และกระแสข่าวจะมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ ชิงนายกฯ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ไม่มี รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็ยังไม่ได้พูดจากัน ส่วนใหญ่ที่โหวตเวลานี้คุยกันหน้างานตลอด เราก็อยู่ของเรา ซึ่งยืนยันเราไม่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยอย่างเด็ดขาด

นายอนุชานาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ส.ส. ชัยนาท และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวจะมีการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยว่า ไม่มีความเป็นไปได้ ส่วนที่มีการระบุว่า การเสนอชื่อซ้ำอาจขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 นั้น คงต้องไปพูดคุยกันในสภาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยอำนาจตัดสินใจก็อยู่ที่สภาอยู่แล้ว

ชทพ.ย้ำไม่จับมือพรรคแตะ 112

นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค รทสช.กล่าวเช่นกันว่า ไม่มีการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยแข่งแน่ ส่วนการโหวตนายกฯ นั้นเมื่อนายพิธาไม่ผ่านและเสียงขาดหายไปเยอะมาก ก็ควรเปิดโอกาสให้พรรคอันดับ 2 หรือ 3 ในการเสนอชื่อนายกฯ ต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเสนอไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เสียเวลาสภา ส่วนการที่ ส.ว.ออกมาระบุว่าญัตติเสนอซ้ำไม่ได้นั้น ตรงนี้เป็นข้อกฎหมายซึ่งต้องไปดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง

 “คิดว่า ส.ส.ทุกพรรคไม่ว่าพรรคฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็ทราบข้อมูลในเชิงลึกอยู่แล้ว ถ้ายังมีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่ในรัฐบาล ส.ว.ก็ไม่โหวตให้อยู่แล้ว และควรเลิกอ้าง14 ล้านเสียงได้แล้ว เชื่อว่าใน 14 ล้านเสียง มีเป็นล้านๆ คนที่ไม่อยากให้มีการแก้มาตรา 112 ดังนั้นพรรคก้าวไกลรู้อยู่แล้วว่าเป็นนายกฯ ไม่ได้เพราะอะไร และเมื่อพรรคก้าวไกลไม่ถอย ฝั่งอื่นก็คงไม่ถอยเช่นเดียวกัน” นายธนกรระบุ

ส่วนนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรค ชทพ. กล่าวถึงการโหวตนายกฯ ในวันที่ 19 ก.ค.ว่า ทุกครั้งก่อนลงมติเรื่องสำคัญประเพณีของ ชทพ.คือจะประชุมล่วงหน้าก่อน 1 ชั่วโมง ส่วนกรณีการเสนอชื่อนายพิธาซ้ำนั้น ตามข้อบังคับการประชุมของสภา หากญัตติใดมีการเสนอแล้วก็ไม่น่าเสนอญัตติเดิมได้อีก จึงเป็นที่สงสัยว่าในวันที่ 19 ก.ค. 8 พรรคร่วมยังสามารถเสนอญัตติเดิมได้อีกหรือไม่ 

 “อาจจะไม่งดออกเสียงแล้ว เพราะถ้าขัดกับแนวทางการทำงานของสภา เราก็ไม่เห็นด้วยที่จะเสนอซ้ำ

อีกครั้งหนึ่ง” นายวราวุธกล่าวตอบถึงการลงมติในวันดังกล่าวว่าจะงดออกเสียงอีกหรือไม่

นายวราวุธยังยอมรับถึงข่าว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์มาทาบทามพรรคว่า ได้โทรศัพท์มาหาและบอกว่ามีการส่งเทียบเชิญมายัง ชทพ.จากพรรคก้าวไกล ซึ่งได้บอกไปว่าเรื่องใหญ่เช่นนี้ไม่สามารถตอบรับได้ทันที คงต้องขอนำเข้าหารือในที่ประชุมพรรค แต่ยืนยันไปว่าแนวทางของ ชทพ.คือไม่แตะต้องเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และเชิดชู เคารพ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังเป็นแนวทางหลักของพรรค

น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ชทพ. โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องนี้ว่า "ข่าวเรื่องนี้ไม่ได้ออกจากเราเป็นต้นทาง และขอยํ้าว่าจุดยืนเราชัดเจนเสมอมา คือไม่แตะต้องมาตรา 112"     

สภาสูงยันชงซ้ำผิดข้อบังคับ

ด้านความเคลื่อนไหวของ ส.ว.นั้น นายสมชาย แสวงการ ส.ว.ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ระบุว่า ในวันที่ 18 ก.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นัดหารือวิป 3 ฝ่าย ซึ่งจะเข้าไปเรียนให้ทราบว่า ส.ว.มีความเห็นทางกฎหมาย ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 กำหนดชัดเจนว่าญัตติเสนอซ้ำไม่ได้ เว้นแต่เสนอสมัยประชุมหน้า ถ้าญัตติเป็นแบบเดิมเสนอชื่อนายพิธาในวันที่ 19 ก.ค.คงต้องอภิปรายกันว่าดำเนินการไม่ได้ รัฐสภาจะดำเนินการขัดต่อกฎหมาย และถ้าโหวตนายพิธาผ่านก็จะถูกร้องว่าการกระทำนั้นไม่ชอบ ญัตติที่เสนอเดิมให้นายพิธาเป็นนายกฯ ถือว่าตกไปแล้ว แต่ถ้าเสนอชื่อคนอื่นถือว่าเป็นญัตติใหม่

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวเช่นกันว่า ในวันที่ 19 ก.ค.คงมีคำถามที่เกิดขึ้นหากเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ ซ้ำอีกครั้ง เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 และข้อบังคับการประชุมข้อ 41 ระบุชัดไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ และควรต้องทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 คือแต่ละพรรคการเมืองที่เสนอบัญชีรายชื่อนายกฯ มาแล้ว ต้องเรียงหรือเสนอให้ครบถ้วน หากไม่มีใครเสนอแล้ว หรือไม่มีทางออกเลือกนายกฯ ได้ ก็ใช้ก๊อก 2 ใช้เสียงเสนอกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ถ้าเห็นชอบที่จะไม่ใช้บทบัญญัติในส่วนนี้ ก็ใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่อเลือกคนนอกต่อไป แต่ในชั้นต้นต้องให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ ตามที่ได้แจ้งความจำนงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

ส่วนนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวว่า การโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 19 ก.ค.น่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งพรรคก้าวไกลมีผู้อยู่เบื้องหลังเป็นภัยต่อบ้านเมือง เราไม่สามารถโหวตให้ได้ หากจะโหวตให้ใคร พรรคไหน หรือพรรคเพื่อไทยจะไปรวมกับใครนั้น เราไม่ก้าวก่ายแทรกแซง ใครจะเป็นนายกฯ ไปตกลงกันเอง เราไม่ไปยุ่งหรือมีธงใดๆ ทั้งสิ้น แต่เราจะไม่รับหรือไม่โหวตเลยบ้านเมืองมันก็ไปไม่ได้ แต่รัฐบาลต้องไม่มีพรรคก้าวไกลเท่านั้น

ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว. กล่าวถึงการลาประชุม ส.ว.เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ว่ามีทั้งสิ้น 33 คน ส่วนที่การลงมตินั้นมี ส.ว.ไม่ได้ร่วมลงมติ 43 คน แสดงว่ามี 10 คนที่เข้าร่วมประชุมแต่ไม่ได้ลงมติ

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน โพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องให้ 13 ส.ว.ที่เห็นชอบโหวตให้นายพิธาที่จะมาแก้ไขยกเลิกมาตรา 112 ได้เป็นนายกฯ ถวายคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานมาทั้งหมด และเตรียมเสนอประเด็นดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง