ศาลรธน.ชี้3สิงหา ยุฉีกMOU8พรรค

จับตา 3 ส.ค. ศาล รธน.ชี้ปมห้ามเสนอชื่อซ้ำโหวตนายกฯ วันนอร์ ปิดประตูก้าวไกลขอที่ประชุมทบทวนมติ ระบุหากผลไม่ตรงกันอาจเกิดความขัดแย้งในทางปฏิบัติ “ชัยธวัช” ดิ้นพรวด ไม่เห็นด้วยศาล รธน.มีอำนาจเหนือสภา ผวาหนักถูกฝังกลบพรรค โร่ขอยื้อเวลาแจงศาลแก้ไขนโยบาย 112 ขณะที่เลขาฯ เพื่อไทยกั๊กตัวเลขมือ สว.เทคะแนนให้ ฝันหวานโหวตนายกฯ รอบเดียวฉลุย ยืมปากพรรคเล็กยุฉีกเอ็มโอยู "ชวน" เชื่อได้ข้อยุติ ไม่ต้องรอไปถึง 10 เดือน

เมื่อวันที่ 26 ก.ค.66 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงต่อสื่อมวลชนผ่านเอกสาร หลังจากที่ผู้ตรวจการ​แผ่นดิน​ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 25 ก.ค. พร้อมเอกสารประกอบ​คำร้อง​ต่อศาลรัฐธรรมนูญ​ผ่านระบบ​งานคดี​รัฐธรรมนูญ​อิเล็กทรอนิกส์​ (e-filing) เพื่อขอให้ศาล​รัฐธรรมนูญวินิจฉัย​ตามรัฐธรรมนูญ ​มาตรา 213 กรณีรัฐสภามีมติเรื่องการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี​ให้รัฐสภา​พิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่ 2 ขัดหรือ​แย้ง​ต่อรัฐธรรมนูญ​หรือไม่ โดยคดีอยู่ระหว่าง​การดำเนิ​นการทางธุรการ​ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอคณะตุลาการให้พิจารณา

แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 ส.ค.2566 เวลา 09.30 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้วินิจฉัยหรือไม่ หลังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ รอบ 2 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องทางธุรการเรียบร้อยแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเบื้องต้น จะออกได้ 3 แนวทาง คือ 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง 2.ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง แต่ไม่มีคำสั่งให้ชะลอการโหวตนายกฯ 3.ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และมีคำสั่งให้ชะลอการโหวตนายกฯ ไว้ก่อน

 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการสั่งงดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาบุคคลที่สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 27 ก.ค.ว่า เหตุที่งดการประชุมวันที่ 27 ก.ค.นั้น เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  ซึ่งตนเองมองว่าเป็นเรื่องดี เมื่อมีผู้สงสัยก็ส่งเรื่องให้องค์กรสูงสุด เพื่อให้วินิจฉัยแนวทางปฏิบัติ เป็นแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร คำฟ้องศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ดีกับทุกฝ่าย

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะกระทบต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หากเลือกนายกฯ ไปแล้วศาลชี้ว่าทำไม่ได้ ก็จะเกิดความเสียหายย้อนกลับ ไม่ใช่แค่เรื่องเวลา แต่บุคคลที่เราเลือกเป็นนายกฯ ก็จะเสียหายไปด้วย รวมถึงกระบวนการต่อไปก็จะเกิดความเสียหาย จึงต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอยู่หลายแนวทาง หากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องก็สามารถดำเนินการต่อ หากมีคำสั่งให้ชะลอเราก็ต้องชะลอ ก็มีโอกาสเสนอชื่อซ้ำได้

ปัดเลื่อนโหวตโยงการเมือง

 นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง แต่เกี่ยวกับการปฏิบัติของรัฐสภา เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและสมาชิกก็ไม่ต้องเสียเวลาโดยใช่เหตุ ประกอบกับอีกเหตุผลหนึ่ง ว่าองค์ประชุมในวันที่ 27 ก.ค.อาจจะมีปัญหา เนื่องจากมีสมาชิกหลายคนแจ้งมาว่า ในวันที่ 28 ก.ค. จะมีพระราชพิธีสำคัญทุกจังหวัด ทั้ง สส.และ สว.ต้องรีบเดินทางไปเข้าร่วม หากประชุมในวันที่ 27 ก.ค. อาจจะกลับไปไม่ทันช่วงเช้า หรือสมาชิกอาจจะไม่มาประชุมเลย

เมื่อถามว่า วันโหวตนายกฯ ครั้งต่อไปจะเริ่มวันที่เท่าไหร่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่ หากไม่รับคำร้องก็สามารถเปิดการประชุมได้เลย แต่หากศาลรับคำร้องจะต้องดูว่าให้ชะลอการประชุมหรือไม่ หากไม่มีคำสั่งให้ชะลอแล้วเราควรจะรอหรือไม่ ก็จะต้องดูสถานการณ์ก่อน เพราะหากรอนานเกินไปก็จะเกิดความเสียหายเหมือนกัน แต่ตนเองมองว่าศาลรัฐธรรมนูญคงเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์พิเศษ จำเป็นที่จะต้องมีนายกฯ ศาลรัฐธรรมนูญคงตระหนักและพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว แต่เราก็ไม่สามารถไปคาดคั้นได้

 “หากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง การเปิดประชุมรัฐสภาจะสามารถเกิดขึ้นได้ทันที ที่สามารถออกหนังสือเรียกประชุมได้ ผมไม่อยากให้รอ เสียเวลาแม้แต่น้อย เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องก็จะเร็วแน่นอน” ประธานรัฐสภากล่าว 

  เมื่อถามว่า การเสนอญัตติ ขอให้ที่ประชุมสภาทบทวนมติที่เคยลงมติไปแล้ว สามารถทำได้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากมีอีกองค์กรหนึ่ง เช่น รัฐสภาไปวินิจฉัยด้วย และผลออกมาไม่ตรงกันก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งในการปฏิบัติ ซึ่งความจริงรัฐสภาได้วินิจฉัยไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ก.ค. มีผู้เห็นแย้งว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตนเองคาดว่าน่าจะได้ข้อยุติ ไม่ทราบว่ารัฐสภามีความจำเป็นต้องวินิจฉัยหรือไม่ แต่ก็สามารถปรึกษาหารือได้ แต่ต้องดูว่าจะทำได้โดยมีปัญหาหรือไม่อย่างไร เพราะเรื่องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลมองว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมาแทรกแซงรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หากทำแล้วไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เขาก็ทำ แต่หากทำแล้วขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ ก็ต้องว่ากันอีกที

เมื่อถามด้วยว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องแล้ว ในวันที่ 9 ส.ค.จะสามารถนัดประชุมเพื่อโหวตนายกฯ ได้หรือไม่ เนื่องจากการจัดประชุมรัฐสภาจะต้องแจ้งอย่างน้อยก่อน 3 วัน นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ประธานรัฐสภาสามารถใช้อำนาจในการนัดประชุมวันถัดไปทันทีหลังศาลมีมติไม่รับคำร้องได้เลย

ก้าวไกลผวาหนักยุบพรรค

ที่พรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เราไม่เห็นด้วยหากศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจเหนือรัฐสภา ยกเว้นในส่วนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่าอำนาจของศาลอยู่ตรงไหน ดังนั้นจุดยืนของเราคือการนำเสนอทางออกให้กับสภา ว่าเมื่อมีความเห็นของสังคมว่ามติของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ น่าจะใช้กลไกของรัฐสภาในการแก้ปัญหาของตนเองได้ ซึ่งควรใช้อำนาจของสภาเองในการแก้ไขปัญหานี้ ไม่เช่นนั้นเราที่ถือว่าเป็นตัวแทนของอำนาจอธิปไตย จะทำอะไรได้หรือไม่ได้ต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ทุกอย่าง มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น ซึ่งข้อเสนอในเรื่องนี้คงต้องเอาไปหารือกัน

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลจะมีโอกาสพลิกในการกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า คิดว่าทุกอย่างเป็นไปได้หมด แต่สิ่งที่เราอยากจะผลักดันตอนนี้คือ ควรจะมีการปลดล็อกมติซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ซ้ำไม่ได้ หรืออาจจะทำได้ แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ในส่วนนี้จะเป็นเงื่อนไขที่บีบในการจัดตั้งรัฐบาลมีปัญหาได้ของ 8 พรรคร่วม ไม่ว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคใดก็ตาม เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องของแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล​พรรคเดียว

เมื่อถามต่อว่า หากปลดล็อกเรื่องนี้ได้ พรรคก้าวไกล​ และ 8 พรรคร่วมจะสามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล​ ซ้ำอีกครั้งหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกัน เบื้องต้นพรรคก้าวไกล​ได้ส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อ​ไทย​เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่จะมีการฉีกเอ็มโอยู พรรคก้าวไกล ยังคงย้ำจุดยืนเดิมหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ต้องรอในที่ประชุม สำหรับพรรคก้าวไกล​จุดยืนเราชัดเจน ว่าพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามผลการเลือกตั้ง เมื่อถามย้ำว่า ยังมั่นใจใช่หรือไม่ว่าจะไม่ไปถึงขั้นฉีกเอ็มโอยู นายชัยธวัชกล่าวว่า อย่าเพิ่งไปประเมิน แน่นอนการเมืองทุกอย่างเป็นไปได้ แต่ขอให้รอการประชุมดีกว่า

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกล​และพรรคเพื่อ​ไทย​ยังมีความสัมพันธ์เป็นข้าวต้มมัดอยู่หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือความต้องการและความคาดหวังจากประชาชน ที่อยากจะเห็นพรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 ซึ่งเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เพื่อยุติการสืบทอดอำนาจของขั้วอำนาจเดิม

เมื่อถามถึงกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า ควรรออีก 10 เดือนเพื่อให้ส.ว.หมดวาระ ในทางปฏิบัติสามารถทำได้หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ในทางปฏิบัติทำได้ แต่อาจจะนานเกินไป อย่างไรก็ตาม ตนเองเชื่อว่า 8 พรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคอันดับหนึ่งและอันดับสองจับมือกันแน่น รัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นไปได้ยากกว่ารัฐบาลเสียงข้างมาก

เมื่อถามถึงกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า นโยบายแก้ ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครอง ที่จะต้องมีการชี้แจงภายใน 15 วัน ซึ่งครบในวันนี้ มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง นายชัยธวัชกล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการอยู่ และได้ยื่นขอขยายเวลาในการชี้แจงไปแล้ว ซึ่งคงต้องรอว่าศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาออกไปอีกกี่วัน

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าในกรณีดังกล่าวจะนำไปสู่การยุบพรรค นายชัยธวัชกล่าวว่า คำร้องให้ยุติการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ยังไม่ไปไกลถึงเรื่องนั้น แต่อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลจะต้องไม่ประมาท ซึ่งคงต้องประเมินถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดและป้องกันไว้ทุกทาง

พท.ฝันโหวตนายกฯ ฉลุย

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เราคาดการณ์ว่าสภาจะมีการเลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค. ซึ่งเป็นไปตามที่เราคิด จึงเป็นเหตุให้มีการเลื่อนออกไป ซึ่งเป็นวันใดต้องรอประธานสภาฯ นัดแนะอีกครั้ง

 เมื่อถามว่า เรื่องการพูดคุย สว.ตอนนี้คืบไปมากน้อยเพียงใด จากเดิมที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้ 13 เสียง นายประเสริฐกล่าวว่า ได้มาพอสมควรส่วนแรก ส่วน 13 เสียงเดิมของพรรค ก.ก. เราได้คุยกับนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ยังยืนยันว่ายังอยู่ ส่วนที่สองเป็นส่วนที่พรรคเพื่อไทยได้ไปประสานงานเอง ส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุย อีกส่วนหนึ่งตัดสินใจแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้คอย เราคิดว่ายังมีเวลาอยู่

เมื่อถามว่า ส่วนที่ตัดสินใจแล้วมีเงื่อนไขมาตรา 112 หรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า หลายท่านมี บางท่านก็ไม่มี เมื่อถามต่อว่าแนวโน้มเป็นอย่างไร นายประเสริฐกล่าวว่า ตนเองขอไปทำตัวเลขก่อน ยังไม่อยากคิดว่าจะไปถึงไหน เพราะขณะนี้นอกจากเราได้คุยกับทาง สว.แล้วส่วนหนึ่ง เรายังได้คุยกับทางพรรคอื่นๆ เกือบทั้งหมดแล้ว คงเป็นเรื่องที่ 8 พรรคต้องมาพูดคุยกันอีกครั้ง

เมื่อถามอีกว่า ถ้าเลื่อนเป็นสัปดาห์หน้าถือว่ามีเวลามากขึ้นหรือไม่ในการพูดคุย นายประเสริฐกล่าวว่า มากขึ้น คิดว่าจะทำให้เรามีเวลาอีก 1 สัปดาห์โดยประมาณ

เมื่อถามว่า ล่าสุดพรรคก้าวไกลมีมติจะเสนอที่ประชุมสภาให้ทบทวนมติ วันที่ 19 ก.ค. นายประเสริฐกล่าวว่า ขอดูเหตุผลและรายละเอียดก่อน

 เมื่อถามต่ออีกว่า ถ้าเสนอแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยแล้วโดนตีตกเหมือนกรณีของพรรคก้าวไกล เป็นห่วงในประเด็นนี้หรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า ไม่ห่วง เพราะคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยครบ อยากให้เสนอครั้งแรกแล้วผ่านเลย เนื่องจากโหวตมา 2 รอบแล้ว

 เมื่อถามว่า เตรียมแผนของการชะลอโหวตนายกฯ หรือไม่ ถ้าท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง นายประเสริฐกล่าวว่า คิดว่าถ้าเปิดสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้งหนึ่ง ตนเข้าใจว่าน่าจะรอคำสั่งของศาลเสร็จสิ้นก่อน ซึ่งไม่รู้ว่าวันไหน ศาลจะประชุมทุกวันพุธ และสัปดาห์นี้คงยากแล้ว เพราะต้องคอยเรื่องส่งจากสำนักงานผู้ตรวจฯ มองสัปดาห์หน้าวันพุธก็เป็นวันเข้าพรรษา หรืออาจจะประชุมก็ได้ ซึ่งเป็นเพียงข้อสังเกตเฉยๆ

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการเสนอให้เลื่อนการโหวตนายกฯ ออกไป 10 เดือนว่า เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่เป็นผู้รับผิดชอบ ตนเองไม่ขอวิจารณ์ให้ความเห็นอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีผลกระทบหรือมีความเสียหายอย่างไร นายชวนกล่าวว่า เขาคงไม่รอ 10 เดือน เขาคงดำเนินการไปเรื่อยๆ แต่วันเวลาก็ผ่านไปจนถึง 10 เดือน ถึงตอนนั้นน่าจะจบแล้ว ก่อนที่จะถึง 10 เดือน เชื่อว่าคงได้ข้อยุติไปแล้ว

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายมองว่าควรรอให้ สว.หมดวาระไปก่อน นายชวนกล่าวว่า หากสมมุติว่า 10 เดือนไม่เสร็จ ต้องถามผู้ที่เป็นฝ่ายรับผิดชอบในการร่วมตั้งรัฐบาล เลือกนายกรัฐมนตรี ว่าเขาจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

เมื่อถามต่อว่า สว.ที่เป็นตัวแปรสำคัญ นายชวนกล่าวว่า เมื่อเทียบกับครั้งที่แล้ว การตั้งรัฐบาลครั้งนี้น่าจะง่ายที่สุด เพราะมีแค่ 3 พรรคก็รวมเสียงได้ ตัวเลขชัดเจน แต่ครั้งที่แล้วมีถึง 19 พรรค สมัยก่อนพรรคอันดับ 1 เป็นรัฐบาล พรรคอันดับ 2 เป็นฝ่ายค้าน แต่เที่ยวนี้พรรคที่มีเสียงข้างมากลำดับ 1 และลำดับ 2 อยู่ฝ่ายเดียวกัน รวมถึงพรรคลำดับ 3 มีตัวเลขเกินกว่าตัวเลขที่กฎหมายต้องการ แต่บังเอิญมันเป็นเรื่องขัดแย้งเกี่ยวกับทัศนคติ และนโยบายที่มีปัญหากัน

เมื่อถามว่า สว.ควรจะผ่อนปรนอย่างไร นายชวนกล่าวว่า ไม่ไปยุ่งกับเขา ต้องให้เขาว่ากันเอง เขาพูดเรื่องตั้งรัฐบาล เราไม่มีสิทธิ์ไปให้ความเห็นอะไรเหล่านี้

พรรคเล็กโผล่ยุฉีกเอ็มโอยู

นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ กล่าวว่า เอ็มโอยูที่ทำกันครั้งแรกมี 23 ข้อ เพราะทั้ง 8 พรรคสนับสนุนให้นายพิธาเป็นนายกฯ และส่วนใหญ่ทั้ง 23 ข้อเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกลทั้งหมด แต่เมื่อพรรคก้าวไกลส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เอ็มโอยูเดิมจึงใช้ไม่ได้ ต้องให้พรรคเพื่อไทยทำใหม่ แต่จะทำหรือไม่ก็แล้วแต่พรรคเพื่อไทย เพราะเป็นสิทธิ์ของพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล

ที่ จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้ามีความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าภายในเดือน ส.ค.นี้ น่าจะเห็นโฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ เพราะเลือกตั้งมาตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ผ่านมา 4 เดือนแล้ว ถ้านานเกินไปเหมือนเลือกตั้งแล้วยังไม่มีรัฐบาล เป็นสุญญากาศ ทําให้ความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจ การลงทุนไม่ค่อยจะมี แต่ถ้ามีรัฐบาลใหม่โดยเร็วและเป็นไปตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญเขียนไว้ ก็จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความเชื่อมั่น

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการงดประชุมสภาในวันที่ 27 ก.ค.66 นี้ เลื่อนโหวตนายกฯ ออกไปอีกว่า การที่มีผู้เสนอให้รัฐบาลรักษาการไปอีก 10 เดือนนั้น ตนคิดว่าไม่สามารถทำได้ เชื่อว่าความคิดดังกล่าวเป็นความคิดส่วนบุคคลและ 8 พรรคร่วม รวมทั้งพรรคที่ได้เสียงข้างมากทราบดีอยู่แล้ว เข้าใจดีว่าข้อจำกัดเรื่องการใช้งบประมาณ การอนุมัติกรอบงบประมาณ การทำงานระหว่างประเทศมีความสำคัญเพียงใด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วุ่น!ส่อรื้อระเบียบเลือกสว.

ระเบียบแนะนำตัว สว.ส่อวุ่น! ตุลาการศาล ปค.ผู้แถลงคดีเสนอองค์คณะเพิกถอน 5 ปมแนะนำตัว แจกเอกสารได้เฉพาะในกลุ่มไม่เกิน 2 หน้า

'ราเมศ' กรีด 'พิชิต' อย่ารีบลาออกรมต. ต้องต่อสู้พิสูจน์ถุงขนม 2 ล้านเป็นการกระทำซื่อสัตย์สุจริต

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สว.ได้ยื่นคำร้องตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน และนายพิชิต ชื่นบาน ว่าตั้งแต่วันแรกที่ทราบว่านายพิชิตเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี