คุกต้องรอ‘ทักษิณ’ อ้างหาหมอก่อนค่อยกลับอีก2สัปดาห์‘ชูวิทย์’เย้ยเพ้อเจ้อ

ไทยโพสต์ ๐ "ทักษิณ" เลื่้อนกลับมาติดคุกตามคาด อ้างหมอเรียกให้ไปตรวจร่างกายก่อน ยันอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ วันเวลาจะแจ้งอีกที "ชูวิทย์" ได้ทีเย้ย เพ้อเจ้อ หาข้ออ้างที่ทำให้คนไทยเชื่อมากกว่านี้ดีกว่าไหม? ยันเลื่อนเพราะศาล รธน. "ประเสริฐ" ลั่นเสียงสนับสนุนโหวตเลือกนายกฯ พอแล้ว ตีปีกยิ่งเลื่อนยิ่งได้เสียงเพิ่ม

     เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2566 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลบหนีคดีอยู่ต่างแดน โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ว่า "ผมขอเลื่อนวันเดินทางกลับไทยจากวันที่ 10 ไปอีกไม่เกินสองสัปดาห์ วันเวลาจะแจ้งอีกครั้ง หมอเรียกให้ไปตรวจร่างกายก่อนครับ"

     ขณะที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า เลื่อนอีกแล้ว  หมอจะตรวจร่างกาย ถึงขนาดเลื่อนกลับเลยหรือ? หาข้ออ้างที่ทำให้คนไทยเชื่อมากกว่านี้ดีกว่าไหม? เดี๋ยวมีใครไปบอกว่า “เพ้อเจ้อ”

     ทุกอย่างเลื่อน ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อไทยประกาศข้ามขั้ว โหวตนายกฯ  การเลื่อนกลับไทยของทักษิณจึงเชื่อมกันหมด อย่าไปให้คนไทยรอเก้อ คงมีจตุพรกับชูวิทย์ 2 คนเท่านั้นที่รู้ว่าท่านไม่กลับ

     คนที่เคยติดคุกจะรู้ว่าการก้าวเท้าเข้าคุกล้วนอยู่ที่ใจ การกลับหรือไม่กลับจึงอยู่ที่ใจ ไม่ใช่ไฟยังไม่เขียว ครั้งหน้าไม่ต้องบอกล่วงหน้าดีกว่า จะกลับก็กลับเลย

     ส่วนนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ทราบตามที่ทุกคนทราบว่านายทักษิณจะเดินทางกลับวันที่ 10 ส.ค. ถ้านายทักษิณจะมีเหตุผลอื่นใดประกอบ ก็ตามที่แจ้งไป เพราะแต่ละบุคคลก็มีความจำเป็น ตัดสินใจจากเหตุผลข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งโพสต์ของนายทักษิณระบุว่าต้องไปพบแพทย์ จึงเลื่อนไป 2 สัปดาห์ ก็เป็นตามนั้น และไม่ได้มีนัยอะไร ทั้งนี้ เรื่องการเดินทางกลับก็เป็นเรื่องความสะดวกและความประสงค์ของนายทักษิณ เมื่อมีภารกิจอื่นใดเข้ามา นายทักษิณคงจัดลำดับภารกิจ เมื่อเสร็จสิ้นอาจจะเดินทางกลับมาตามที่ประกาศ

     นายประเสริฐ จันทรรวงทอง  เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า การเดินทางกลับประเทศไทยของนายทักษิณไม่มีผลกระทบอะไรกับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย เพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัวของนายทักษิณ ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด และนายทักษิณก็ยืนยันด้วยตัวเองมาโดยตลอดว่าการเดินทางกลับไทยไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองแต่อย่างใด

     ส่วนความคืบหน้าการประสานงานจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย เขาบอกว่า พรรคเพื่อไทยประสานงานพรรคการเมืองต่างๆ และพร้อมสนับสนุนยกมือให้กับแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อประธานรัฐสภาเลื่อนการโหวตนายกฯ ออกไป เพื่อรอความชัดเจนของศาลรัฐธรรมนูญประเด็นคำร้องผู้ตรวจการ ทำให้พรรคเพื่อไทยมีเวลาพูดคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึง สว.ให้มากยิ่งขึ้น จากเดิมเรามั่นใจว่าเสียงเพียงพอ สามารถผลักดันแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยได้อย่างแน่นอน แต่เมื่อมีเวลาเพิ่มเติม ก็คาดว่าจะได้ยิ่งมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น

     เมื่อถามว่า เสียงที่เพียงพอมีพรรคใดบ้าง และมีพรรคของลุงร่วมด้วยหรือไม่ นายประเสริฐปฏิเสธว่า ไม่ขอพูดอะไรในประเด็นนี้ รอให้ติดตามตอนแถลงข่าวเปิดตัวพรรคการเมืองที่จะร่วมโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ถึงวันนั้นทุกอย่างจะชัดเจน

โวย 'ชูวิทย์' ปั่นข้อมูล

     นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีนายชูวิทย์แฉเรื่องการซื้อขายที่ดินของนายเศรษฐา  ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยว่า น่าแปลกใจมากที่ทำไมคนที่เข้าใจการซื้อขายที่ดินดีถึงหยิบเอาราคาประเมินมาวิพากษ์วิจารณ์ราคาซื้อขายจริง คนที่ทำงานในแวดวงอสังหาริมทรัพย์เข้าใจดี ว่าราคาซื้อขายจริง ไม่สัมพันธ์กับราคาประเมินเสมอไป และการที่เอกชนรายหนึ่งตัดสินใจซื้อที่ดินแปลงใดในราคาใดก็ตาม ไม่ใช่เพราะเขาเองปั่นราคาขึ้น แต่เพราะความต้องการของตลาดที่ปั่นให้ราคาขึ้นไป ทั้งนี้ ที่ดินในย่านวิทยุ-สวนลุมพินี-หลังสวน เป็นย่านซูเปอร์ลักชัวรี หรือบางที่เรียกอัลตราลักชัวรีด้วยซ้ำ ทำให้ที่ดินในโซนนี้มีราคาซื้อขายที่ดินที่ทะลุเพดานราคาเดิมเสมอ

     เขาบอกว่า แปลงที่เป็นประเด็นอยู่ก็เช่นกัน ภายใต้ปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ 1) เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ขาด หรือ Freehold แปลงท้ายๆ ในโซนที่ยังไม่ถูกพัฒนา ต่างจากอีกหลายแปลงที่เป็นสิทธิการเช่า หรือ Leasehold 2) เป็นแปลงขนาด 1 ไร่ ติดถนนกว้าง มีขนาดพอเหมาะ พัฒนาอาคารสูงได้ ศักยภาพที่ดินแบบนี้ราคาต่อตารางวา จะโดดสูงกว่าที่ดินแปลงใหญ่หลายๆ ไร่ ที่จะถัวเฉลี่ยราคาต่อตารางวาลง และ 3) เป็นแปลงที่สามารถได้รับวิวสวนลุมพินี ที่คนทำงานอสังหาฯ ชอบขายว่าเป็นเซ็นทรัลพาร์กเมืองไทยได้ดีมาก และด้วยเหตุผลเหล่านี้ต่างหากที่ปั่นให้ราคาที่ดินแปลงนี้สูง และต้องใช้บริษัทที่มีศักยภาพและมีความน่าเชื่อถือเป็นผู้พัฒนา เพราะเมื่อพัฒนาเป็นคอนโดฯ  แล้วจะต้องขายอย่างต่ำราว 600,000 บาทต่อตารางเมตร แต่ก็ไม่แปลกที่แสนสิริกล้าซื้อ เพราะโครงการที่เคยพัฒนาไปก่อนนี้ อย่าง 98 wireless ก็มีราคาขายไปแตะตารางเมตรละ 1 ล้านบาทมาแล้ว

     “ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ผมเพียงอยากให้ทุกคนระมัดระวังในการรับข้อมูล และอย่าตกเป็นเครื่องมือในการปั่นให้เข้าใจผิด ผมเชื่อว่าคนทำงานอสังหาฯ เข้าใจตรงกันว่าธรรมชาติของราคาที่ดินในย่านอัลตราลักชัวรีนี้เป็นอย่างไร” นายชนินทร์กล่าว

     ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์  เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “ด้วยความเคารพ.. เสียงของประชาชนคนไทยตามระบอบประชาธิปไตย” รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติด้วยเสียงส่วนใหญ่ของคนไทยทั้งประเทศ ถือเป็นกระบวนการการหยั่งเสียงในระบอบประชาธิปไตย และหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้ ประเทศไทยก็ผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2562 และล่าสุดในปี 2566

ก้าวไกลไม่ใช่เสียงข้างมาก

     การที่พรรคการเมืองสามารถออกมานำเสนอจุดยืน พูดอย่างเปิดเผยบนเวที ออกสื่อได้ทุกช่องทาง ไม่ว่าเนื้อหาจะรุนแรงเพียงใดก็ตาม ถือเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าการเลือกตั้งนั้นเสรีและเป็นธรรม (Free and Fair) ไม่ได้ถูกปิดกั้นแต่อย่างใด เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย

     แต่กองเชียร์เองก็ต้องยอมรับฟังข้อเสนอของพรรคการเมืองอื่นๆ ที่สะท้อนความต้องการที่หลากหลายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย

     การออกมาคุกคามบูลลี่คนที่เห็นต่างผ่านสื่อ บีบบังคับให้สังคมต้องบิดเบี้ยวไปตามความต้องการของตัวเอง อาจบานปลายกลายเป็นการคุกคามละเมิดสิทธิของคนอื่น ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย

     วันนี้ การเลือกตั้ง สส.ที่เป็นประชาธิปไตยก็จบไปแล้ว พรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับหนึ่ง ได้จำนวน สส. 151 คน พรรคเพื่อไทยมาเป็นอันดับสอง ได้จำนวน สส. 141 คน และมีพรรคอื่นๆรวมแล้ว ได้จำนวน สส.อีก 208 คน รวมทั้งหมดเป็น 500 คน

     พรรคก้าวไกลเป็นพรรคอันดับหนึ่งก็จริง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเป็นเสียงข้างมากที่จะโหวตนายกฯ หรือตั้งรัฐบาลได้ในระบบการเลือกตั้งที่เป็นระบบรัฐสภา

     ระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ที่นานาประเทศใช้กัน สรุปง่ายๆ มีสองระบบ คือระบบประธานาธิบดี (Presidential System) เป็นการเลือกผู้นำของประเทศโดยตรง และอีกระบบคือระบบรัฐสภา  (Parliamentary System) เป็นการเลือกตั้ง สส.จากพรรคการเมือง แล้วให้ สส. กับพรรคการเมืองไปเลือกผู้นำประเทศและตั้งรัฐบาลต่อไป

     ระบบของไทยโดยหลักแล้วเป็นระบบรัฐสภา แต่เนื่องจากมีข้อกำหนดต้องเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีก่อนการหาเสียงเลือกตั้ง จึงเสมือนเป็นระบบผสม หรืออาจจะเรียกว่าเป็น Hybrid System ก็น่าจะได้ ซึ่งอาจจะทำให้คนสับสนนึกว่าเป็นการไปเลือกแคนดิเดตนายกฯ โดยตรง

ควรมีน้ำใจนักกีฬา

     อันที่จริงแล้ว ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในกติกาว่าแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคที่ได้เสียงมากที่สุดจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี และในระบบรัฐสภาที่เป็นสากลก็ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในกติกาว่าพรรคอันดับหนึ่งจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หากแต่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะให้โอกาสพรรคอันดับหนึ่งไปดำเนินการก่อนเท่านั้น

     ขณะนี้ ยังอยู่ในช่วงเวลาที่บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญที่ให้ สว.เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ ยังมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นผลพวงของคำถามเพิ่มเติม ที่ผ่านการทำประชามติเมื่อปี 2559 ด้วยเสียงถึง 15.1 ล้านเสียง หรือคิดเป็นสัดส่วน 58% ของผู้ที่ไปลงคะแนน

     พอใจ หรือไม่พอใจ แต่ก็ผ่านการทำประชามติ ซึ่งถือเป็นการหยั่งเสียงด้วยเสียงส่วนมากของคนทั้งประเทศ เปรียบเทียบได้กับกรณีการทำประชามติ Brexit ในสหราชอาณาจักร ที่ฝ่าย Leave เอาชนะฝ่าย Remain เพียงนิดเดียว 52% ต่อ 48% ถึงแม้ว่าการตัดสินใจนั้นจะสร้างความแตกแยกทางความรู้สึกและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่รัฐบาลก็ต้องปฏิบัติตาม ด้วยความเคารพต่อเสียงส่วนมากในระบบการหยั่งเสียงในระบอบประชาธิปไตย

     มาวันนี้ในประเทศไทย.. การใช้เสียงในรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ถือเป็นขั้นตอนการเลือกผู้นำในระบบรัฐสภา ผลออกมาอย่างไร รูปร่างหน้าตาออกมาแบบไหน พอใจหรือไม่พอใจ ก็เป็นกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ควรมีน้ำใจนักกีฬา ให้ความเคารพต่อเสียงส่วนมากของประชาชน และการตัดสินใจของผู้แทนราษฎรในสภาที่มาจากการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน

      นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ล่ารายชื่อเพื่อจะเสนอต่อคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการและ 25 สส.พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อคัดค้านการเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคในฐานะสถาบันการเมืองพร้อมรับฟังเสียงสมาชิกพรรคทุกช่องทาง ทั้งโซเชียลหรือจดหมาย นำไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรคต่อไป

ปชป.อุบไต๋ร่วมรัฐบาล

     ส่วนความคืบหน้าจัดตั้งรัฐบาล นายราเมศย้ำกระบวนการตามข้อบังคับของพรรค หากจะมอบหมายใครไปเจรจา แต่ยังไม่มีกระบวนการดำเนินการมอบหมาย จึงยังไม่มีการตัดสินใจร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และไม่ใช่การตัดสินใจของใครคนใดคนหนึ่ง หากมีการหารือคณะกรรมการของพรรค 2 ชุดคือคณะกรรมการบริหารพรรคกับ สส.พรรค ว่าจะมอบหมายใคร และมีมติร่วมรัฐบาลหรือไม่ พร้อมยืนยันประชาธิปัตย์ยังไม่มีการติดต่อดีลกับพรรคเพื่อไทย ขอรอมติพรรค ส่วนความเห็นของสมาชิกต่อการร่วมรัฐบาลนั้นเป็นความเห็นส่วนตัว

     โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ยังปฏิเสธที่จะตอบเรื่องการคาดการณ์ว่า หากพรรคประชาธิปัตย์มีมติไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ที่ประชาธิปัตย์ตรวจสอบการบริหารมาตลอด และเป็นขั้วตรงข้าม   หากไปร่วมรัฐบาลเจอวิกฤตศรัทธาจะทำให้ความนิยมพรรคลดน้อยลงจนปิดพรรคหรือไม่ และไม่ตอบคำถามว่าสุดท้ายหากประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาลเพื่อไทย จะชี้แจงเหตุผลได้หรือไม่ ทั้งที่เป็นพรรคต่อต้านระบอบทักษิณมาตลอด

     โดยชี้ว่าเป็นเรื่องของอนาคต และย้ำว่าอุดมการณ์ของพรรคชัดเจน ด้วยความเป็นสถาบันการเมือง ไม่มีการกังวลเรื่องนี้ ขอให้มีความชัดเจนก่อนว่าใครเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล และใครเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนกล่าวทิ้งท้ายว่า “ไม่ว่าจะมีมติอย่างไร ทุกคนต้องรับผิดชอบ”

     นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวมีหลายกลุ่มในพรรคที่อาจจะเสียงแตกในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นในทิศทางเดียวกัน ว่า ต้องยอมรับว่าในพรรครวมไทยสร้างชาติมาจากการเมืองหลายกลุ่ม และมีความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่เรื่องการทำหน้าที่ในสภา โดยเฉพาะการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น สส.ทั้ง 36 คนของพรรคมีความเป็นเอกภาพ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยยึดตามมติของพรรคมาโดยตลอด รวมทั้งการเลือกประธานสภาฯ ด้วย ซึ่งยอมรับว่าอาจมีการประสานงานและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในบางประเด็น แต่รวมไทยสร้างชาติพร้อมรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายของทุกกลุ่ม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง