ปชป.จี้เลื่อนประชุม หวั่น‘อุดมการณ์’พัง

ประชาธิปัตย์ ๐ ปชป.ยันจัดประชุมใหญ่ฯ 6 ส.ค. เลือกหัวหน้าพรรค แม้มีสมาชิกขอให้เลื่อน "ราเมศ" เชื่อเคลียร์ใจในพรรคได้ แต่ "เชาว์" ชี้แก้ไขข้อบังคับพรรคให้เป็นประชาธิปไตยก่อน เพราะปรากฏการณ์ สั่ง สส.ซ้ายหันขวาหันได้ อันตรายต่อทิศทางอุดมการณ์พรรคในอนาคต

     เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2566 นายเชาว์  มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์  โพสต์เฟซบุ๊ก Chao Meekhuad เรื่อง ตั้งหัวหน้าพรรค ปชป.ต้องสง่างาม มีเนื้อหาระบุว่า มีสมาชิกจำนวนมากโทรศัพท์สอบถามมาที่ผมว่า เรื่องเกี่ยวกับข้อโต้แย้งการใช้ข้อบังคับพรรคในการประชุมฯ ที่กำหนดเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ค.66) เป็นมาอย่างไร  ก็เลยขออนุญาตใช้พื้นที่นี้ชี้แจงเพิ่มเติม  เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกที่เป็นองค์ประชุมในขณะนี้ จากที่ได้อ่านคำร้องที่มีผู้ไปยื่นต่อ กกต.ตามที่ปรากฏเป็นข่าว มีประเด็นข้อกังวลจากสมาชิกที่ไปยื่นคำร้อง 2 เรื่องสำคัญ คือ

     1.การใช้สัดส่วนการคำนวณคะแนนเสียงในการเลือกสมาชิกเป็น กก.บห.พรรค ในสัดส่วนร้อยละ 70 ต่อ 30 ที่กำหนดให้ สส.ปัจจุบันมีสัดส่วน 70% ขณะที่สมาชิกพรรคมีสัดส่วน 30% ที่ผู้ร้องมองว่าขัดหลักประชาธิปไตย ซึ่งส่วนตัวผมก็เห็นคล้อยตามอยู่ แม้ข้อบังคับพรรคนี้จะใช้บังคับมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดปัญหาในเชิงประจักษ์ให้เห็นว่า หาก สส.ถูกครอบงำได้ จะเกิดปัญหาต่อการกำหนดทิศทางของพรรคอย่างไร เพราะในอดีต สส.มีอิสระสูง มีความเป็นตัวของตัวเองในการใช้ดุลพินิจพิจารณาบนกรอบของอุดมการณ์พรรค แต่ในครั้งนี้มีสัญญาณหลายอย่างปรากฏให้เห็นว่าไม่เป็นอย่างนั้น ออกไปในแนวทางสั่งซ้ายหัน ขวาหันได้มากกว่า ซึ่งเป็นอันตรายต่อการบริหารพรรคในอนาคต จึงสมควรมีการปรับเปลี่ยนข้อบังคับพรรคนี้เสียก่อนที่จะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ จะได้ปราศจากข้อกังขาว่าพรรคถูกชี้นำและกำหนดทิศทางจากคนบางกลุ่มเท่านั้น

      2.การเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากที่ข้อบังคับพรรคให้พิจารณาที่มาจำนวน 250 คนก่อน แต่กลับมีการเพิ่มสัดส่วนที่มาอื่นเป็น 374 คน เรื่องนี้ผมคิดว่าสุ่มเสี่ยงมากที่จะถูกมองว่าเป็นการเพิ่มเติมพรรคพวกตัวเองเข้าไป เพื่อเพิ่มคะแนนของฝั่งตัวเองให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้ผู้บริหารชุดใหม่ตามที่ตัวเองวางแผนไว้

     "ผมไม่แน่ใจว่า กกต.จะมีคำสั่งให้พรรคประชาธิปัตยชะลอการเลือกหัวหน้าพรรคในวันพรุ่งนี้ออกไปก่อนเพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรคตามคำร้องหรือไม่ แต่ที่กระจ่างในความคิดของผมตอนนี้คือ การเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รอได้ เพื่อให้เกิดความสง่างาม และป้องกันไม่ให้มีการใช้จุดอ่อนจากข้อบังคับพรรคในปัจจุบันไปเป็นประโยชน์ทางการเมือง เพราะหากปล่อยไป เราอาจได้เห็นประชาธิปัตย์ที่เราไม่เคยรู้จักอีกต่อไป" นายเชาว์ระบุ

     ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่นายไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค เลื่อนการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 ส.ค.นี้ออกไปก่อน เพื่อรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีคำวินิจฉัยคำร้องของนายไชยวัฒน์ ที่ขอให้เพิกถอนมติการประชุมใหญ่ฯ เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2566 ว่า ยังไม่เห็นหนังสือของนายไชยวัฒน์ฉบับเต็ม  อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ยังจัดการประชุมใหญ่สมัยวิสามัญในวันที่ 6 ส.ค.นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ซึ่งมีวาระที่สำคัญคือการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค, กก.บห. และคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคชุดใหม่ ทางพรรคอยู่ระหว่างการจัดเตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่เพื่อรองรับผู้เข้าร่วมประชุมใหญ่ฯ ส่วนข้อเรียกร้องของนายไชยวัฒน์นั้น กก.บห.ชุดรักษาการและที่ประชุมใหญ่วิสามัญฯ คงจะหยิบยกมาพิจารณาในที่ 6 ส.ค.

     เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าเรื่องดังกล่าวจะทำให้สมาชิกพรรคที่เป็นองค์ประชุมเกิดความลังเลแล้วไม่มาร่วมประชุมใหญ่ฯ ครั้งนี้ นายราเมศตอบว่า เมื่อ กก.บห.ชุดรักษาการกำหนดวันประชุมใหญ่วิสามัญฯ แล้ว จะต้องเดินหน้าการประชุมนี้ต่อไป ส่วนประเด็นที่มีการถกเถียงและยื่นคำร้องนั้น ก็เคยมีการถกเถียงกันในการประชุม กก.บห.ชุดรักษาการ รวมถึงได้พูดคุยและเสนอญัตติแล้วในที่ประชุมใหญ่วิสามัญฯ เมื่อครั้งที่ผ่านมา

     สำหรับประเด็นข้อบังคับพรรคที่ถูกมองว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมายและรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อเรามีการถกเถียงจนตกผลึกเป็นข้อบังคับของพรรคแล้ว ก็จะส่งให้ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในพรรคที่จะต้องมีการพูดคุยกัน และไม่มีเรื่องร้ายแรงถึงขั้นที่ต้องดำเนินการอย่างเอาเป็นเอาตาย

     โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า ทุกอย่างดำเนินการตามข้อบังคับ แม้อาจมีข้อท้วงติงกันบ้าง แต่เป็นเรื่องปกติ ในฐานะที่เราเป็นสถาบันพรรคการเมืองและมีความเป็นประชาธิปไตย โดยเราให้สิทธิ์แก่สมาชิกได้แสดงความคิดเห็น ขณะเดียวกัน อยากให้สมาชิกพรรคทุกคนมาร่วมกันทำงาน เพราะกระบวนการเริ่มนับหนึ่งสู่การฟื้นฟูและพัฒนาพรรคให้เจริญรุ่งเรืองนั้น ความเป็นเอกภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ตนจึงเชื่อว่าจะมีการพูดคุยกันในพรรคได้ในท้ายที่สุด.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง