สภาสูงลุยสอบ‘เศรษฐา’

กมธ.การเมืองวุฒิฯ รับสอบคุณสมบัติ "เศรษฐา" ปมเลี่ยงภาษีให้จบก่อนโหวตนายกฯ "เสรี" ยันโหวตนายกฯ ไม่ได้ดูที่พรรค แต่ต้องให้ รบ.มีเสถียรภาพ ย้ำคุณสมบัติต้องอยู่ในมาตรฐาน “สมเจตน์” ขวางนายกฯ พท.  ข้องใจเสนอแก้ รธน.เป็นงานแรก เชื่อมีวาระซ่อนเร้นช่วย "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" กลับ "วันชัย" แนะพรรคการเมืองตกลงกันให้ได้ สว.พร้อมโหวตยึดเสียงข้างมากจากสภา มั่นใจหากไม่สะดุดขาตัวเองจะเรียบร้อย

ที่รัฐสภา วันที่ 8 สิงหาคม นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.)  ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน   วุฒิสภา กรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นให้ตรวจสอบคุณสมบัตินายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ว่า วันนี้ที่ประชุมนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา เบื้องต้นทาง กมธ.ได้รับเรื่องไว้พิจารณา โดยเสนอให้ตรวจสอบเอกสาร สัญญาซื้อขาย ความเห็นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองและบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ทั้งนี้ กมธ.ได้ทำหนังสือแจ้งขอเอกสารที่เกี่ยวข้อง ทั้งโฉนดที่ดิน สัญญาซื้อขาย หลักฐานการโอนที่ดิน เอกสารคนซื้อคนขาย โดยขอไปที่กรมที่ดินและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากทางแสนสิริอ้างว่าทำถูกต้อง กมธ.ก็จะดูข้อโต้แย้งด้วย โดยจะให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

เมื่อถามว่า จะใช้กรอบระยะเวลาในการพิจารณาเท่าใด นายเสรีกล่าวว่า เราประชุมสัปดาห์ละครั้ง ส่วนจะจบในสัปดาห์หรือไม่ ต้องขอดูข้อมูลก่อน โดยจะพยายามเร่งให้เสร็จ เพราะควรจบให้ทุกอย่างกระจ่างก่อนเลือกนายกฯ เพื่อที่หากมีเหตุต้องนำมาตัดสินใจก็จะเป็นข้อมูล เนื่องจากคนเป็นนายกฯ ต้องมีความชัดเจนว่าต้องซื่อสัตย์ เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ไม่มีข้อด่างพร้อย แต่ถ้าสุดท้ายแล้ว กมธ.พิจารณาไม่เสร็จ ก็ไม่เกี่ยวกับการเลื่อนโหวตนายกฯ เพราะการกำหนดวันประชุมรัฐสภาเป็นเรื่องของประธาน

ถามว่า หากพบว่าไม่ผิดจะโหวตให้หรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ถ้าไม่ผิดก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องปฏิเสธ                                   ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ  กล่าวด้วยว่า กมธ.เห็นถึงปัญหาสถานการณ์ปรากฏในปัจจุบัน ที่มีการแสดงออกของกลุ่มคนเชิงก้าวร้าวรุนแรง  โดยไม่มีใครแก้ปัญหารับผิดชอบ กมธ.จึงจัดสัมมนาในวันที่ 1 ก.ย.นี้ ที่รัฐสภา  โดยจะเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาเสนอความเห็น เช่น ตัวแทนรัฐบาล ศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด ตำรวจ นักวิชาการ สื่อมวลชน ตัวแทนพรรคการเมือง และผู้ชุมนุม เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรจะลดปัญหาการกระทำรุนแรงก้าวร้าว โดยให้ความสำคัญเรื่องทำความเข้าใจเป็นอันดับแรก รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง ไม่เช่นนั้นจะเกิดความไม่เคารพคนอื่น ไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง

นายเสรีกล่าวถึงการรวมพรรคของพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในการจัดตั้งรัฐบาลว่า สว.ต้องรอให้แต่ละพรรคการเมืองที่ไปจัดตั้งรัฐบาลรวมตัวกันให้เสร็จ เพราะต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพต้องได้เสียงเกินกว่า 250 คนขึ้นไป ซึ่งตอนนี้ได้กว่า 200 แล้ว คงต้องไปตกลงกันว่าจะนำชื่อท่านใดที่อยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แม้ พท.จะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ แต่ระยะเวลายังมีอยู่  ก็คงต้องรอต่อไปว่าสุดท้ายการเสนอชื่อในสภาจะเป็นชื่อใดกันแน่

 เมื่อถามว่า แคนดิเดตของ พท.ตอนนี้เป็นนายเศรษฐาอยู่ ทาง สว.จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า อยู่ในเกณฑ์พิจารณามากกว่า เพราะการเสนอชื่อมาแล้วต้องอยู่ในมาตรฐานที่เราเคยตัดสินใจไปแล้วว่า 1.ต้องไม่แตะมาตรา 112 หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญหมวดมาตราพระมหากษัตริย์ ถือเป็นหลักสำคัญในการพิจารณาครั้งก่อน 2. ดูคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนที่ได้รับการเสนอชื่อมีการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ 3.ดูนโยบายของแต่ละพรรคเพื่อนำมาประกอบในการตัดสินใจ ทั้งนี้ อยากให้นายเศรษฐามาแสดงวิสัยทัศน์ด้วยตัวเอง ต้องตอบคำถามของสมาชิกที่อยากจะทราบข้อมูลในหลายๆ เรื่อง จะเป็นประโยชน์แก่คนที่ได้รับการเสนอชื่อด้วย

 เมื่อถามว่า หากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วมรัฐบาล จะมีผลต่อการรวมคะแนนเสียงของ สว.หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า แล้วแต่บุคคล มีผลหรือไม่ คิดว่าทุกพรรคที่เสนอชื่อมา สว.ต้องพิจารณาทั้งหมด คงไม่เลือกพรรคในการพิจารณา แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญในแต่ละพรรคที่ต้องตกลงกันเอง

ถามย้ำว่า การลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ นายกฯ ไม่เกี่ยว แต่อยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ต้องดูให้การจัดตั้งรัฐบาลมีความเข้มแข็ง แต่ละพรรคที่มาร่วมต้องไม่สร้างปัญหาในมวลหมู่ทางการเมืองหรือไม่สร้างปัญหาให้กับประเทศชาติด้วย

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว. ให้สัมภาษณ์ถึงการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า จะงดออกเสียง เนื่องจากตนไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย หลังจากที่แถลงว่ามีนโยบายเร่งด่วนต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ มองว่ามีวาระซ่อนเร้น เพื่อช่วยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ต้องคดีทุจริต โดยพรรคเพื่อไทยต้องการแก้รัฐธรรมนูญ พ่วงกับการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการไม่จำกัดอายุความของคดีทุจริต ทั้งนี้ การแก้รัฐธรรมนูญมองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ ยกเว้นจะช่วยเหลือนายทุนพรรคการเมืองของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

 พล.อ.สมเจตน์กล่าวด้วยว่า ผลเลือกตั้งประชาชนกำหนดตัวเลือกให้ สว.มาเพียง 2 ตัวเลือก คือพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เมื่อพรรคก้าวไกลมีพฤติกรรมที่ทำลายชาติ ทำลายสถาบันเบื้องสูง ตนจึงไม่เห็นชอบให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ ดังนั้นตัวเลือกที่เหลือคือพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศจะยกร่างรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. ตนไม่เห็นด้วย หากพรรคเพื่อไทยต้องการเสียงสนับสนุนจากตนต้องประกาศให้ชัดว่าจะไม่มีเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 "ความเห็นของผมเป็นเรื่องของผมเพียงคนเดียว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกผมมาเป็น สว. เพื่อประเทศ ไม่ใช่ทำเพื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นหน้าที่ของ สว.ต้องทำเพื่อประเทศชาติ ส่วนแคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทยถูกตีตกไปหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ยืนยันว่าหากคนของพรรคเพื่อไทยไม่ผ่าน คนที่จะเสนอต่อไปจากพรรคอันดับสอง อันดับสาม ทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ" พล.อ.สมเจตน์กล่าว

นายวันชัย สอนศิริ สว. กล่าวถึงแนวทางการสนับสนุนพรรคเพื่อไทยจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทยว่า นับแต่ที่ไม่มีการเสนอแก้ไขมาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกล สว.ได้คุยกันมากในหลายกลุ่มหลายฝ่าย ค่อนข้างเห็นพ้องเป็นเสียงส่วนใหญ่ว่า ถ้าไม่มีเรื่องดังกล่าวแล้วจะโหวตให้ใครก็ตามที่รวมเสียงส่วนใหญ่ได้ ซึ่งหากเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคแกนนำรวมกันได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง เชื่อว่า สว.จะโหวตให้ เพราะประเด็นที่เป็นเงื่อนไขในคราวที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขมาตรา 112 หรือพรรคก้าวไกลหมดไปแล้ว และ สว.อยากให้มีรัฐบาลโดยเร็ว เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คาราคาซัง มีผลกระทบมาถึง สว.ด้วย ทำให้ประชาชนทั่วไปมองว่า สว.มีส่วนในการทำให้การตั้งรัฐบาลล่าช้า หรือ สว.อาจเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งการบริหารประเทศ

 “เมื่อคุณไม่สามารถมีเสียงได้เบ็ดเสร็จโดยพรรคเดียว จำเป็นต้องประนอมอำนาจในหลายพรรค ตกลงกันให้ได้ ได้กันบ้างเสียกันบ้าง โดยทำอย่างไรให้การจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็ว อย่าตั้งแง่จนเกินไปจนทำให้ประเทศสะดุดหยุดชะงัก ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นที่ตระหนักของ สว.ทั้งสิ้น และยิ่งมีรัฐบาลเร็วเท่าไร จะทำให้ประเทศเกิดความเชื่อมั่นมากเท่านั้น ยืนยันว่า สว.ไม่เป็นอุปสรรคและปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น” นายวันชัย กล่าว

 นายวันชัยกล่าวอีกว่า อย่ามัวแบ่งฝักแบ่งฝ่ายว่ากลุ่มนั้นเป็นเผด็จการหรือสืบทอดอำนาจ เพราะจบตั้งแต่วันที่พวกคุณได้รับผลเลือกตั้ง และทุกคนมาจากการเลือกตั้ง ขอให้ลดละเลิกในเรื่องที่กล่าวหากัน รีบตกลงกันให้ได้ และรีบเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่ สว.พร้อมที่จะสนับสนุนเสียงคนที่ได้เสียงข้างมากและพร้อมจะโหวตให้ เพื่อให้เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ

เมื่อถามว่า กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ เคยพูดเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และขณะนี้โดนโจมตีเรื่องการเลี่ยงภาษีที่ดิน สว.จะนำไปพิจารณาหรือไม่ นายวันชัยกล่าวว่า  หลักการใครรวมเสียงข้างมากเราให้กับพรรคการเมืองพรรคนั้นและคนคนนั้น ส่วนประเด็นว่านายกฯ ที่เสนอมานั้นเป็นใครอย่างไร เป็นเรื่องของหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบต่อไป ส่วนจะมี สว.บางคนตั้งแง่เป็นเรื่องของท่าน แต่ส่วนใหญ่เท่าที่ตนฟัง ใครรวมเสียงข้างมากได้ ตอนนี้ สว.พร้อมสนับสนุน ไม่ได้มองตัวบุคคลเป็นสำคัญ

ถามว่า หากการตั้งรัฐบาลไม่มีพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ จะมีผลต่อเสียงสนับสนุนจาก สว.หรือไม่ นายวันชัยกล่าวว่า ประเด็นเหล่านี้ถูกตัดออกไป ไม่ได้มองเรื่องพรรคหรือบุคคลเป็นที่ตั้ง ไม่เช่นนั้น สว.จะกลายเป็นพรรคการเมือง ว่าเข้าข้างพรรคนั้นพรรคนี้ แต่ขณะนี้เราเข้าข้างประชาชน เสียงส่วนใหญ่

ถามถึงกระแสข่าว สว.ตีตกชื่อนายเศรษฐา ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลตกไปอยู่กับพรรคอันดับสาม อันดับสี่ และผลักดัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกฯ นายวันชัยกล่าวว่า เป็นข้อวิเคราะห์ทางการเมืองของนักวิชาการ และคนวิเคราะห์การเมืองบางคน แต่โดยหลักการเท่าที่คุยกัน ยืนยันได้ว่าไม่ได้เอาตัวบุคคลเป็นตัวตั้ง ยึดหลักการเป็นสำคัญ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่า กระสุนตกที่ สว. และ สว.จะเป็นอุปสรรคจัดตั้งรัฐบาล

ถามย้ำว่า การโหวตนายกฯ รอบหน้าจะได้นายกฯ คนที่ 30 แน่นอนหรือไม่ นายวันชัยกล่าวว่า น่าจะได้ เว้นไว้แต่มีอุปสรรคปัญหาอื่นใด อันที่เกิดจากพรรคการเมืองและพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล หรือปัญหากฎหมายอื่นใด ซึ่งตนไม่รู้ แต่โดยหลักแล้ว ใครรวมเสียงส่วนใหญ่ถ้าไม่สะดุดขาตัวเอง เชื่อว่าการโหวตนายกฯ จะเรียบร้อย

ถามด้วยว่า หากพรรคก้าวไกลโหวตให้พรรคเพื่อไทย สว.ติดใจหรือไม่ หรือปล่อยเป็นเอกสิทธิ์ของ สส.พรรคก้าวไกล นายวันชัยกล่าวว่า เป็นเอกสิทธิ์และการแสดงออกถึงหลักประชาธิปไตยของพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่เป็นประเด็นที่สว.ตั้งแง่ว่าเขาจะฮั้วกันภายหลังหรือรวมกันภายหลัง เพราะ สว.ไม่รู้ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง