กกต.ตีตกยุบ3พรรคใหญ่

นายทะเบียนพรรคการเมืองตีตกอีกคำร้องยุบ 3 พรรค ทั้งเพื่อไทยปม "อุ๊งอิ๊ง" บินหาทักษิณที่ฮ่องกง ปราศรัยพาพ่อกลับบ้านเลี้ยงหลาน ก้าวไกลเดินสายปลุกด้อมส้มชุมนุมกดดันโหวต "พิธา" เป็นนายกฯ พปชร.ขายฝันไม่ทำตามนโยบายหาเสียงปี 62 ขณะที่ "สนธิญา" ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องไปให้ศาล รธน.วินิจฉัยว่าสมาชิกรัฐสภา 314 คนเสนอชื่อ "พิธา" รับการโหวตเป็นนายกฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.)​ ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง มีความเห็นให้ยุติเรื่องกรณีนายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบพรรคเพื่อไทยและ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กระทำการฝ่าฝืนพระราช​บัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.) ​ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 45 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)

ทั้งจากการที่ น.ส.แพทองธารบินไปพบนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ฮ่องกงเมื่อช่วงปลายปี 2565 การที่เว็บไซต์พรรคเพื่อไทยปรากฏข้อความว่า “พรุ่งนี้ เพื่อไทย” คล้ายลายมือนายทักษิณ การที่นายทักษิณแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2564 การนำคำปราศรัยของ น.ส.แพทองธาร เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ จ.อุดรธานี ที่ระบุ "จะพาทักษิณกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน" มารวมกับสโลแกนของพรรคเพื่อไทย

ซึ่งพฤติการณ์ทั้งหมดเท่ากับเป็นการยินยอมให้บุคคลอื่นครอบงำ ชี้นำการดำเนินกิจการของพรรค และการที่พรรคเพื่อไทยส่งเสริม สนับสนุน ให้นายทักษิณจัดรายการจากต่างประเทศผ่านระบบออนไลน์ โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าเมื่อพิจารณาคำร้อง การให้ถ้อยคำ และพยานหลักฐานตามคำร้อง รวมถึงคำชี้แจงของพรรคเพื่อไทย น.ส.แพทองธารและบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้วข้อเท็จจริง พยานหลักฐานที่ปรากฏ ยังไม่มีน้ำหนักให้ฟังได้ว่าพรรคเพื่อไทย และ น.ส.แพทองธารทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 45  พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่เป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)

ขณะเดียวกันก็สั่งไม่รับคำร้องกรณีนายสนธิญาร้องขอให้ตรวจสอบว่าการจัดชุมนุมทางการเมืองของพรรคก้าวไกลในหลายจังหวัด รวมทั้งการนัดชุมนุมในวันที่ 13 ก.ค.2566 บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา ซึ่งเป็นวันที่รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 45 ประกอบมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (3) และ (4) หรือไม่ โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าข้อเท็จจริงพฤติการณ์พยานหลักฐานหรือข้อมูลตามคำร้องยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าพรรคก้าวไกลมีการกระทำฝ่าฝืนตามที่ร้องอันเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรค

นอกจากนี้ ยังสั่งไม่รับคำร้องกรณีนายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหว ขอให้ กกต.พิจารณาสั่งยุบพรรคพลังประชารัฐ จากเหตุไม่ดำเนินการตามนโยบายหาเสียงหลายโครงการที่ได้ประกาศโฆษณาไว้ในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อ 24 มี.ค.2562 โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าตามคำร้องไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลเพียงพอว่าพรรคพลังประชารัฐกระทำการฝ่าฝืนตามที่ร้องอันเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรค โดยทางสำนักงานได้มีหนังสือแจ้งให้นายสนธิญาและนายเอกชัยผู้ร้องทราบแล้ว

​ที่สำนักงาน​ผู้ตรวจการ​แผ่นดิน​ นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้พิจารณาและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณี สส.พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคร่วมจำนวน 8 พรรคการเมือง รวมถึง สว. จำนวน 314 คน เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 ก.ค. และ 19 ก.ค. เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 159 และ 160 (6) หรือไม่

นายสนธิญากล่าวว่า ที่ต้องมายื่นเรื่องดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายพรชัย เทพปัญญา และนายบุญส่ง ชเลธร นักวิชาการ ได้มายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ตรวจฯ ได้มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อที่ 41 ที่ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาเพื่อรับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง  เพราะเป็นญัตติซ้ำ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงเห็นว่าเพื่อความเสมอภาค เท่าเทียม จึงขอให้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการที่สมาชิกรัฐสภาทั้ง 314 คน เสนอชื่อนายพิธาเพื่อเข้ารับการโหวตเป็นนายกฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

เพราะก่อนหน้านั้น กกต.ได้มีมติแล้วว่านายพิธาเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) โดยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และประธานสภาฯ ก็ได้มีการแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม นายพิธาก็รับทราบและเดินออกจากห้องประชุม แต่ยังคงมีการเสนอชื่อนายพิธาและดำเนินการโหวต ซึ่งเห็นว่าการกระทำดังกล่าว รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) เขียนไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้อง​ห้า​มตามรัฐธรรมนูญ​มาตรา 98 จึงเห็นว่าการกระทำของ สส.เหล่านี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ประกอบ 160 

เขาบอกว่า ประเด็นนี้ร้องเพื่อความเป็นธรรมของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะก่อนหน้านี้นักวิชาการ ทั้งนายพรชัยและนายบุญส่งร้องว่า การกระทำของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ สว. ที่มีมติว่าการเสนอชื่อนายพิธารอบสองเป็นญัตติซ้ำ ทำไม่ได้ ผมก็ต้องมาร้องอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เสนอชื่อนายพิธา ทั้งๆ ที่ขณะนั้นรู้กันหมดแล้วว่า กกต.ประกาศและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพของนายพิธา แต่ทั้ง สส.และ สว.ก็ยังคงเสนอชื่อนายพิธาโหวตในการประชุมทั้งวันที่ 13 และวันที่ 19 ก.ค. ดังนั้นในเมื่อผู้ตรวจฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับข้อบังคับที่ 41 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผมก็ต้องการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและส่งเรื่องการเสนอชื่อนายพิธา ซึ่งรัฐสภารู้อยู่แล้ว นายพิธาก็เดินออกไปแล้ว แต่สมาชิกรัฐสภาก็ยังตั้งหน้าตั้งตาโหวตอยู่  เหตุการณ์เหล่านี้จึงขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นับเป็นการตรวจสอบทั้ง 2 ฝ่าย

"ตามคำร้องได้มีการขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินขอต่อศาลสั่งให้ สส.และ สว.ทั้ง 314 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของการยื่นร้องในเรื่องลักษณะนี้"

นายสนธิญายังเผยว่า ในวันที่ 11 ส.ค.นี้ จะไปยื่นหนังสือถึง กกต. เพื่อขอให้เร่งรัดวินิจฉัย สส.ที่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สส. เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากก่อนหน้านี้ กกต.มีการรับรอง สส.ทั้ง 500 คนไปก่อนแล้วค่อยมาตามสอยทีหลังนั้น ทั้งที่มีจำนวนหนึ่งมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา ซึ่งเท่าที่ทราบมีราวๆ 71 คนที่มีเรื่องร้องเรียนหนักๆ อีกทั้งวันที่ 14 ส.ค.นี้ก็จะครบเวลา 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง จึงอยากทราบว่า กกต.ได้พิจารณาไปถึงไหน อย่างไรแล้ว เพราะหากผลการพิจารณาออกมาแล้วมีการสั่งให้เลือกตั้งใหม่ ก็จะกระทบกับการจัดตั้งรัฐบาลด้วย ดังนั้นวันที่ 11 ส.ค.นี้ จึงจำไปยื่นเรื่องถึง กกต.เพื่อสอบถามความคืบหน้า และเร่งรัดให้ดำเนินการเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่อเลื่อนประชามติ รอแก้กฎหมาย ร่างรธน.ฉบับใหม่ ต้องไม่จุดไฟความขัดแย้ง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา รับทราบ รายงานผลการดำเนินงานของ”คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ