อึ้ง!ที่ปรึกษานายกฯ 9อรหันต์‘ทนายถุงขนม-บอร์ดแสนสิริ-โฆษกรัฐบาล’มาเต็ม

"เศรษฐา" เซ็นตั้ง 9 ที่ปรึกษานายกฯ “กิตติรัตน์” ประธาน "พิชิต" เฮ! ได้ตำแหน่งเสียที ผงะ! บิ๊กแสนสิริก็มีชื่อ "เสี่ยนิด" แจงตั้งให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน แย้มจะมีเพิ่มอีก ปัดตั้งคณะทำงานศึกษาทำประชามติยื้อเวลาแก้ รธน. "ชวน" ชี้สังคมน่าห่วงไม่มีใครสนโกงซื้อเสียง แค่ขอชนะเลือกตั้งพอ "พิธา" ตั้งเป้าสิ้นปีก้าวไกลมีสมาชิกพรรคที่สูงสุดใน ปท. “ชลน่าน” มั่นใจรัฐบาล พท.อยู่ครบ 4 ปี

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 เรื่องแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี จำนวน 9 ราย ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ ควบ รมว.พาณิชย์ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานที่ปรึกษาฯ

ส่วนที่ปรึกษานายกฯ ได้แก่ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า, นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), นายศุภนิจ จัยวัฒน์ คณะกรรมการบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน), นายพิมล ศรีวิกรม์  นายกสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย นายพิชิต ชื่นบาน หัวหน้าทีมทนายความของตระกูลชินวัตร ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีข่าวจะได้เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ก่อนที่ชื่อจะหายไป, นายชลธิศ สุรัสวดี คณะทำงานนโยบายที่ดินและสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย, นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายสุรยุทธ์ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน (CFO) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS และผู้สมัครสส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 78 ของพรรคเพื่อไทย

ท้ายหนังสือคำสั่งระบุว่า ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตามที่ได้รับการร้องขอและให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาฯ สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามระเบียบของราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ที่กองบิน 6 (บน.6) เวลา 11.15 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง พร้อมคณะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์,  พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง และนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยนายกฯ มีกำหนดการเดินทางไปตรวจราชการที่ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 15-17 ก.ย.66

นายเศรษฐากล่าวถึงการแต่งตั้งที่ปรึกษานายกฯ 9 รายว่า ยังไม่ได้มีการแบ่งส่วนงานแต่อย่างใด ได้พยายามตั้งให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน และจะพิจารณาแต่งตั้งเพิ่มอีก

"อย่างที่ผมเคยบอกแล้วว่าอะไรทำได้ผมทำก่อน เช่น ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ก็จะให้มาช่วยดูแลเรื่องกีฬา ก็จะให้ไปดูแลกองทุนที่สนับสนุนกีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ 1 ประเภทกีฬา รัฐบาลนี้ยืนยันทำได้ก็จะทำก่อน เดี๋ยวจะมีรายชื่อเข้ามาเสริมอีก" นายเศรษฐากล่าว

ถามถึงกรณีที่นายกฯ ได้กล่าวกับนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 65 วันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมาโดยเฉพาะประเด็นเรื่องคอนเนกชัน นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องคอนเนกชันหรือเรื่องการใช้สิทธิ์ใด ซึ่งตนเห็นว่า วปอ. เป็นสถาบันที่มีเกียรติ เป็นแหล่งฟูมฟักกำลังสำคัญของประเทศชาติ ก็อยากจะให้ดูให้ดีด้วยว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นแค่คอนเนกชันอย่างเดียว ที่มาใช้ระหว่างพวกกันเอง อยากให้มาดูแลพี่น้องประชาชนด้วย โดยใช้คอนเนกชันเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก

"การใช้ทรัพยากรของรัฐก็อยากให้ใช้ให้มันถูกต้อง ไม่ใช่แค่มีสิทธิ์อย่างเดียว ต้องดูที่หน้าที่และความเหมาะสม เพราะมีคนที่เฝ้าดูกันอยู่หลายคน หลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่เขาอยากมีตัวอย่างผู้นำที่ดี ก็ขอฝากด้วย ไม่ได้มีอะไรหรอก คงเป็นอะไรที่อาจจะแตกต่างจากคำกล่าวของคนอื่นเท่านั้นเอง แต่ก็เป็นความตั้งใจของผม และเป็นความหวังดีของผมต่อสถาบัน" นายเศรษฐากล่าว

ซักว่า การพูดดังกล่าวนายกฯ ใช้คำว่าอภิสิทธิ์ชน นายเศรษฐากล่าวเพียงว่า “ครับ”

นายกฯ กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาในคดีกลับคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ที่มีชื่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ สมัยเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.ว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว หากมีเรื่องส่งมาต้องขอดูเรื่องทั้งหมดก่อน

นายกฯ ปัดยื้อเวลาแก้ รธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ผ่านเพจ THE STANDARD ตอนหนึ่งหลังผู้ดำเนินรายการถามว่า ตอนนี้มีความเกรงใจหรือกลัวทหารหรือไม่ว่า ไม่ได้กลัว ที่ผ่านมาตนไม่เคยใช้คำว่าปฏิรูปกองทัพใช้คำว่าพัฒนามาโดยตลอด จุดยืนตนไม่ได้เปลี่ยน คือเรื่องทหารเข้ามาช่วยพัฒนา เช่นเรื่องภัยพิบัติ การพัฒนาพื้นที่ทำกินของประชาชน ส่วนเรื่องเกณฑ์ทหารโดยความสมัครใจ ตนไม่เคยบอกให้ยกเลิก แต่ให้เป็นการสมัครใจในการเกณฑ์ทหาร ทุกอย่างอยู่ในกรอบที่พูดคุยกัน ดูการซื้ออาวุธให้ดี ก่อนซื้ออาวุธผู้กับอย่างอื่นด้วย เช่น ซื้อข้าวเราได้หรือไม่ ถึงยืนยันไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน

ถามว่า นโยบายเพื่อไทยคือป้องกันการรัฐประหาร นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ไม่เห็นด้วยไม่ได้หมายความว่าต้องไม่พูดคุยกัน อะไรเห็นด้วยกันก็ทำกันไป ไม่มีประโยชน์ที่จะไม่พูดกัน เพราะอย่างไรก็ต้องทำงานร่วมกัน ยืนยันไม่กลัวไม่เกรงใจ เราอยู่ด้วยกันอย่างผู้ใหญ่ พูดจากันด้วยเหตุผล อาจไม่เห็นตรงกันทุกเรื่องแต่เวลานี้คนประสบปัญหาเยอะ

นายเศรษฐายืนยันเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมีการตั้งคณะทำงานเพื่อทำประชามติว่า ไม่ใช่การซื้อเวลาแน่นอน เป็นการตั้งคณะทำงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน เราทำประชามติแน่นอนผ่านกลไกรัฐสภาที่เป็นตัวแทนประชาชนอยู่แล้ว โดยไทน์ไลน์จะเป็นอย่างไรนั้น ส.ส.ร.ต้องฟังประชามติก่อน ตอนนี้เริ่มแล้ว

"ยืนยันทำตามไทม์ไลน์ ไม่ใช่การซื้อเวลา เราต้องการให้คนเห็นต่างร่วมพูดคุยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาอย่างไร โดยสิ่งที่ไม่แก้คือหมวดพระมหากษัตริย์ ชัดเจน ส่วนเรื่องอื่นก็รอฟังประชามติ ส่วนเรื่อง 112 ยืนยันไม่มีการปรับแก้ ขณะที่นักโทษทางการเมืองก็เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม" นายกฯ กล่าว

ขณะที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการตรวจสอบรายชื่อประชาชนจำนวนกว่า 200,000 รายชื่อที่ภาคประชาชนรวบรวมเพื่อเสนอให้มีการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่า กกต.ตรวจสอบรายชื่อประชาชนเรียบร้อยแล้ว คาดว่าน่าจะมีการลงลายมือรับรองและส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในสัปดาห์หน้า

ที่กระทรวงกลาโหม มีรายงานว่า นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ได้หารือกับ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม และ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งศิตา ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม เห็นชอบให้ พล.อ.ม.ล.สุปรีดี ประวิตร อดีตอาจารย์ รร.นายร้อย จปร. (ตท.20) ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงาน รมว.กลาโหม โดยคาดว่าจะมีคำสั่งกระทรวงกลาโหมอย่างเป็นทางการต่อไป

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการแบ่งงานของรองนายกฯ ที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้กำกับดูแลกระทรวงเกษตรฯ ทั้งที่เป็นรัฐมนตรีในสังกัดของ พปชร.ว่า ไม่มีอะไร เป็นการแบ่งงานตามคลัสเตอร์เท่านั้น โดยให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์อยู่ด้วยกัน คือ กระทรวงเกษตรฯ ผลิต กระทรวงพาณิชย์ขาย พวกเราไปคิดมากกันเอง

ถามว่า ไม่ได้มีปัญหากันใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว ก่อนเดินไปรับฟังรายงานร่วมกับนายกรัฐมนตรี

ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาท ปฏิเสธตอบคำถามประเด็นดังกล่าวเช่นกัน

ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม. พรรค ก.ก. แถลงข่าวกรณี ป.ป.ช.ส่งชื่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูนให้นายกฯ ดำเนินการทางวินัย กรณีไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือบอสสมัยเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.ว่า นายกฯ จะดำเนินการเรื่องคดีบอสให้ได้ความจริงอย่างไร รวมทั้งจะดำเนินการกับพล.ต.อ.เพิ่มพูน ซึ่งปัจจุบันเป็น รมว.ศึกษาธิการอย่างไร

"ความเหมาะสมในตำแหน่งของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน เหมือนเป็นครูใหญ่ของประเทศ จะเหมาะสมหรือไม่ ที่จะออกนโยบายต่างๆ สั่งสอนเด็กให้ซื่อสัตย์สุจริต และให้มีประสิทธิภาพ เพราะมีความด่างพร้อยตรงนี้” สส.ก้าวไกลรายนี้ระบุ

ชลน่านลั่นอยู่ 4 ปีไม่ยุบสภา

วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมสโมสรราชพฤกษ์ นอร์ธปาร์ค นักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) รุ่นที่ 13 จัดเสวนานำเสนอยุทธศาสตร์หัวข้อ “ยุทธศาสตร์เสริมสร้างให้ระบบการเลือกตั้งได้รับการยอมรับ” โดยมีนายสันทัศน์ ศิริอนันต์ไพบูลย์ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานในพิธี

นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตประธานรัฐสภา กล่าวปาฐกถาเรื่อง  “ฉากทัศน์ประเทศไทยหลังการจัดตั้งรัฐบาล” ในงานดังกล่าว ตอนหนึ่งระบุว่า อยู่กับการเลือกตั้งมา 17 สมัย ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปทางบวกคือประชาธิปไตยเติบโต เกิดความตื่นตัวประชาชนเข้าใจสิทธิหน้าที่มากขึ้น เรามีนักการเมืองที่มีความรอบรู้ แต่ในสภาอ่านไอแพดอยู่ แต่สิ่งที่ต้องเรียนด้วยความเคารพนั้น กระบวนการการเลือกตั้งโดยชอบธรรมนั้น ตนว่าติดในทางลบ ตนเป็นนักการเมืองรุ่นแรก รุ่นไม่โกง ไม่ซื้อเสียง ถ้าต้องซื้อเสียงแม้แต่บาทเดียวตนก็ไม่เป็น แต่บังเอิญสมัยนั้นในจังหวัดตนมีนักการเมืองที่มีชื่อเสียงที่สร้างไว้ก่อน และประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมตนก็อาศัยบารมีด้วยตนเองจนได้ สส. 11 สมัย รวมทั้งครั้งที่ 12 แม้พรรคเราแพ้ทั้งประเทศ จึงถือว่าเป็นความนิยมส่วนตัว

"เลือกตั้งกี่ครั้งก็ตามถ้าเราทำงานลำพังคนเดียว ก็ทำได้เพียงทำให้การเลือกตั้งจบแล้วประกาศผลเท่านั้น แต่เป็นการเลือกตั้งโดยชอบหรือไม่ก็ไม่สามารถที่จะตอบได้ สังคมปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยสนใจ สื่อก็ไม่สนใจ ขอเพียงชนะมาก็จบ จะซื้อมาโกงมาก็ไม่สำคัญ ถ้าค่านิยมเป็นอย่างนี้ คนที่หวังเล่นการเมืองด้วยการใช้เงินจะไม่เกิดขึ้นได้อย่างไร นี่เป็นความก้าวหน้าในทางลบต่อระบบประชาธิปไตย คิดว่าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้เมื่อมีรัฐบาลแล้ว กกต.ก็ต้องเตรียมรับภาระความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ปัจจุบันนี้รัฐบาลอยู่ 4 ปี, สภาอยู่ 4 ปี ถ้าเกิดความประมาทขึ้นแม้จะมีเสียง 314 เสียงก็ตาม ถ้าเผอิญไปทำอะไรที่ขัดต่อแนวทางความชอบธรรมของบ้านเมือง" นายชวนกล่าว

อดีตประธานสภาฯ กล่าวว่า  ประเด็นที่ให้เป็นการบ้านกับ กกต. การเลือกตั้งในปี 66 เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าไม่มีทางที่ท่านจะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมได้ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายอื่น ทั้งกระทรวงมหาดไทย

ส่วนนายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนานำเสนอยุทธศาสตร์ หัวข้อ “ยุทธศาสตร์เสริมสร้างให้ระบบการเลือกตั้งได้รับการยอมรับ” ว่า ที่จริงหัวข้อการเสวนาว่า พรรคการเมืองแบบไหนที่คนไทยต้องการ นั้นอาจจะต้องเปลี่ยนเป็น พรรคการเมืองที่คนไทยต้องการ เพราะประชาชนมีความหลากหลาย แต่ที่แน่ๆ พรรคการเมืองที่คนไทยไม่ต้องการนั้น จบไปแล้วตั้งแต่การเลือกตั้งที่ผ่านมา ดังนั้นพวกเราที่เหลือคือพวก Survivor

"วันนี้แม้คำว่าพิธาจะมาแรง แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนจริงๆ คือพรรคก้าวไกล คำว่าอนุทินสิ่งที่ขับเคลื่อนจริงๆ คือพรรคภูมิใจไทย การเมืองไทยจัดเป็นการเมืองสมัยใหม่ที่ทุกพรรคการเมืองต้องมีการทบทวนบทเรียนจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่ขวาสุด เสรีนิยมมากไป ประเทศก็มีปัญหา เศรษฐกิจมีปัญหา อนุรักษนิยมมากไปก็ทำให้ประเทศเกิดปัญหาเช่นกัน ดังนั้นคิดว่าถึงจุดจุดหนึ่งเราอาจจะต้องอยู่ในจุดที่มีความสมดุล ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ทำอย่างไรที่จะสนองความต้องการของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ ผ่านพรรคการเมือง" นายศุภชัยกล่าว

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า ถ้าพวกเราเห็นตรงกันว่าพรรคการเมืองจะเป็นแบบพรรคที่เกิดง่าย อยู่ได้ ยุบยาก ก็ยังจะมีอยู่ต่อไป การเป็นพรรคมวลชนที่ก้าวหน้าและตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นพันธกิจของพรรคก้าวไกล ซึ่งการจะเป็นพรรคมวลชน ก้าวหน้า และตรวจสอบนั้น ก็ต้องยึดโยงกับประชาชนได้

"สุดท้ายเราก็จะเป็นพรรคการเมืองที่เกิดง่าย อยู่ได้ และยุบยาก ถ้าทำอย่างนั้นได้ผมจะกลายเป็นพรรคมวลชนที่ไม่ต้องพึ่งทุนใหญ่ เพราะทุกวันนี้สามารถอยู่ได้ด้วยทุนตนเอง ซึ่ง ณ วันนี้สมาชิกพรรคก้าวไกลมี 70,000 คน เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน 6,000-7,000 คน และเราถือเป้าหมายว่าเราจะเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคสูงที่สุดภายในประเทศ ให้เกิน 100,000 คนภายในสิ้นปีนี้" นายพิธากล่าว

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มั่นใจรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยอยู่ครบ 4 ปี ไม่มีการยุบสภาแน่นอน อาจจะมีการปรับเปลี่ยนมีพรรคอื่นๆ เข้าร่วมรัฐบาลเป็นธรรมดา ส่วนเงื่อนไขอื่นที่เป็นเหตุผลเหมาะสม แต่ไม่ใช่การยึดอำนาจหรือยุบสภาด้วยเหตุการณ์ไม่ปกติ  

"ไม่เคยมีการพูดว่าแก้รัฐธรรมนูญเสร็จจะยุบสภา แต่โอกาสความเป็นไปได้มี หากร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นที่ต้องการของประชาชน เกิดกระแสเรียกร้องบริบทการเมืองที่เหมาะสม ก็มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลมอบอำนาจไปให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ และหากทำงานเข้าตาและประชาชนเรียกร้อง เหตุใดจะต้องยุบสภา ดังนั้นด้วยเงื่อนไขครบ จึงมั่นใจอยู่ครบ 4 ปี เดิมการเมืองมีความขัดแย้งรุนแรง แบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน เหลือแดง แต่ถูกย่อยสลายแล้ว เมื่อเหลือแดงไม่สู้ หันหน้าเข้ามากัน บรรยากาศการเมืองดีขึ้น" นพ.ชลน่านระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง