ทร.ไม่ทิ้งเรือดำน้ำ ชงใช้‘เครื่องยนต์’ ‘จีน’แทนเยอรมนี

"ผบ.ทร." เตรียมชงข้อมูลเครื่องยนต์จีนใส่เรือดำน้ำให้ "สุทิน" สัปดาห์หน้า มั่นใจปลอดภัยทดแทนเครื่องยนต์เยอรมันได้ เพิ่มรับประกัน 8 ปี เผยเคยหารือเยอรมนีแล้วแต่ไม่สำเร็จ  พร้อมเดินหน้ากู้ รล.สุโขทัย จ่อเลือกเอกชนใหม่ ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 21 กันยายน พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงข้อสรุปเรื่องเครื่องยนต์ของจีนที่จะติดตั้งในเรือดำน้ำที่ ทร.ไทยว่าจ้างอู่ต่อเรือจีนในการจัดสร้างว่า  ปีที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบข้อมูลที่จีนนำเสนอ รวมถึงส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้อมูลและเครื่องยนต์ และได้ยื่นข้อเสนอในการรับประกันเครื่องยนต์ดังกล่าว ล่าสุดกองทัพเรือจีนได้เสนอมาที่กองทัพเรือไทย ควบคู่กับแนวทางพิจารณาแก้ไขข้อตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อที่จะขยายระยะเวลาในการสร้างเรือดำน้ำออกไปอีกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการบริหารโครงการเรือดำน้ำได้เสนอเรื่องขึ้นมาที่กองทัพเรือ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายอำนวยการที่เกี่ยวข้อง เมื่อพิจารณาเสร็จ กองทัพเรือก็จะนำเสนอรัฐบาลว่าแนวทางที่จีนนำเสนอเรื่องการเปลี่ยนเครื่องยนต์ จากเครื่องยนต์ของเยอรมนีเป็นเครื่องยนต์ของจีนนั้นเป็นอย่างไร 

“กองทัพเรือเชื่อมั่นว่าข้อมูลที่ได้รับ รวมถึงการตรวจสอบเครื่องยนต์ของจีนที่เป็นเครื่องกำเนิดเครื่องไฟฟ้าของเรือดำน้ำสามารถใช้ทดแทนและเทียบเคียงเครื่องยนต์ของเยอรมันได้ โดยไม่ทำให้เกิดผลเสียในเรื่องของความปลอดภัยในการใช้งาน และไม่ทำให้เสียคุณค่าทางยุทธการ ส่วนเรื่องการรับประกัน จากเดิมตามข้อตกลงเดิมเป็นการรับประกันชิ้นส่วนของเรือน้ำภายหลังส่งมอบเป็นระยะเวลา 2 ปี ก็จะสนับสนุนในการรับประกันเครื่องยนต์ดังกล่าวเป็นระยะเวลา 8 ปีพร้อมอะไหล่ พร้อมเจ้าหน้าที่มาดูแลเครื่องยนต์ที่ประเทศไทย รวมถึงการซ่อมบำรุงในช่วงของ 8 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาในการอัปเกรดเรือดำน้ำตามช่วงระยะเวลา ก็เป็นข้อมูลที่กองทัพเรือจะสรุปและนำเสนอรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงกลาโหมภายในสัปดาห์หน้า”

พล.ร.อ.เชิงชายกล่าวอีกว่า ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ สภาวะแวดล้อมของโลกและประเทศรอบบ้าน ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีเรือดำน้ำในการรักษาสมดุลของความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค ส่วนการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อโครงการหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องพิจารณาและนำเสนอเข้าพิจารณาในส่วนของครม.และรัฐบาลต่อไป

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีจะเจรจากับทางเยอรมนีนั้น ความจริงกองทัพเรือได้เคยเจรจากับทางการเยอรมนีผ่านทางผู้ช่วยทูตทหารตั้งแต่ทราบปัญหา  ซึ่งทางผู้ช่วยทูตทหารเยอรมนีและเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ก็ได้แจ้งข้อมูลนี้ว่า ทางเยอรมนีไม่สามารถขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำตามกฎของการห้ามการส่งออกในกรณีที่สามารถนำไปใช้เป็นอาวุธสงครามให้กับทางการจีนได้

“และกองทัพเรือก็ได้ทราบข้อมูลจากทางกองทัพเรือจีนว่า แม้ปัจจุบันทางเยอรมนีก็ไม่ส่งออกเครื่องยนต์ของเยอรมนีเพื่อติดตั้งในเรือน้ำที่จีนต่อเองด้วย เพราะฉะนั้นโดยสรุปแล้วจีนเองก็ต้องผลิตเครื่องยนต์เพื่อใช้กับเรือดำน้ำของตัวเองในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งจีนมีการพัฒนาเรือน้ำ แล้วก็ต่อเรือดำน้ำอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นในอนาคตจีนก็ต้องใช้เครื่องยนต์ของจีนเองในการติดตั้งกับเรือดำน้ำ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ก็จะอยู่ในข้อพิจารณาเพื่อเสนอกับรัฐมนตรีกลาโหม

เมื่อถามย้ำว่า จะยืนยันกับ ครม.กับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมไปตามที่จะได้ส่งเรื่องขึ้นไปใช่หรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชายกล่าวว่า ก็ยืนยันเป็นข้อมูลให้กับทางรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งตามข้อตกลง ถ้ามีการแก้ไข ข้อตกลงจะต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างเรือดำน้ำเพิ่มเติมอีกประมาณเกือบ 3 ปี เพราะต้องอยู่ในขั้นตอนการผลิตเครื่องยนต์ก่อน แล้วมาติดตั้งกับเรือดำน้ำที่มีการต่อไว้แล้วในระดับหนึ่ง

เมื่อถามถึงท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ดูเหมือนอยากได้เรือดำน้ำของทางเยอรมนี พล.ร.อ.เชิงชายกล่าวว่า ก็ต้องต้องพิจารณาภายหลังจากที่รัฐบาลพิจารณาว่าจะเดินหน้าต่อโครงการเรือดำน้ำของจีน หรือจะเปลี่ยนเป็นโครงการอื่น ซึ่งก็ต้องไปเริ่มพิจารณารายละเอียดกันใหม่ แต่การเริ่มต้นโครงการใหม่ ปัญหาคือเรื่องงบประมาณ เพราะว่าการจัดหาเรือดำน้ำ เป็นลักษณะจัดหาแบบแพ็กเกจ ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง อย่าลืมว่าการตั้งโครงการเรือดำน้ำเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เราตั้งโครงการเรือดำน้ำ 2 ลำ มูลค่าโครงการ 36,000 ล้านบาท เป็นเรือดำน้ำมาตรฐาน ปัจจุบันราคาน่าจะสูงขึ้นกว่าในอดีต และถ้าเป็นการจัดหาเรือดำน้ำทั่วไป ก็จะต้องจัดหาอย่างน้อย 2 ลำ ซึ่งน่าจะใช้งบประมาณมากกว่า 36,000 ล้านบาท การตั้งงบประมาณขนาดนั้น เกรงว่างบเสริมสร้างของกองทัพเรืออาจจะไม่เพียงพอ ถ้าจะต้องตั้งงบประมาณสูงขนาดนั้น

พล.ร.อ.เชิงชายยังกล่าวถึงความคืบหน้าการกู้เรือหลวงสุโขทัยว่า เดิมการกู้เรือได้มีการประมูลยื่นซองมาแล้ว เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.66 ซึ่งบริษัทที่เสนอเข้ามาได้มีการตรวจสอบเอกสารทั้ง 16 บริษัท พบว่าทุกบริษัทส่งเอกสารไม่ครบตามที่กำหนด ทางคณะกรรมการรับซองฯ จึงได้พิจารณายกเลิกการประมูลไปก่อน แล้วกำหนดให้แต่ละบริษัทยื่นซองใหม่ พร้อมแจ้งว่าบริษัทใดขาดเอกสารใดบ้าง เพื่อความเป็นธรรม จากนั้นก็จะมายื่นซองใหม่ ไม่มีการล้มประมูล ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ จึงเป็นเพียงแค่บริษัทที่มาเสนอ เท่าเทียมกันหมด ก็คือยื่นเอกสารไม่ครบ เพราะฉะนั้นเหมือนเริ่มต้นใหม่

"โดยช่วงต้นถึงกลางเดือน ต.ค.66 จะให้ยื่นซองใหม่ ถือเป็นความเท่าเทียม จึงไม่ได้มีการเปลี่ยนหรือล้มประมูลใดๆ ทั้งสิ้น" พล.ร.อ.เชิงชายกล่าว

เมื่อถามว่า จะไม่มีการการล็อกสเปกให้กับบริษัทที่นามสกุลหนุนภักดีใช่หรือไม่ พล.ร.อ.เชิงชายชี้แจงว่า “ไม่มีหรอกครับ คนนี้แค่นามสกุลพ้องกับว่าที่ ผบ.สส.เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกัน”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง