จบ!แบ่งเค้ก35กมธ.ลงตัว ขู่ฟัน‘มาเฟีย’อาหารสภา

"สส.ภท." เสนอท่านผู้ทรงเกียรตินำอาหารมากินเอง ขอสภาแค่อำนวยความสะดวกจาน-ชาม "พิเชษฐ์" ลั่นพยายามจัดการ "มาเฟีย" อยู่แม้จัดการยาก มั่นใจเดือนหน้าแก้ปัญหาได้  เคาะ กมธ.รอบ 3 แบ่งลงตัว 35 คณะ  ไม่มีจับไข่ นัดส่งรายชื่อ 27 ก.ย.  "ชัยธวัช" เสียดาย ก.ก.อดนั่ง ปธ.กมธ. ป.ป.ช.-แรงงาน "วัชระ" ค้านตรวจรับงานก่อสร้างสภา ทวงค่าปรับทำงานล่าช้า 12.2 หมื่นล้านบาท 

ที่รัฐสภา เวลา 09.00 น. วันที่ 21 กันยายน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ ​เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่สอง เป็นประธานการประชุม โดยเปิดให้สมาชิกหารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย หารือว่าพรรคภูมิใจไทยได้ติดตามปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณในการหาอาหารให้กับเพื่อนสมาชิก ที่บางวันอาหารไม่พอ บางวันอาหารเหลือ

"ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและประหยัดงบประมาณ พรรคภูมิใจไทยขอเสนอให้ทางสภาจัดเตรียมสถานที่เอาไว้ โดยอาจจะดูแลเรื่องอุปกรณ์ ถ้วย จาน ชาม และเจ้าหน้าที่มาดูแลเรื่องการทำความสะอาด ส่วนเรื่องอาหาร พวกเราสมาชิกซึ่งมีเงินเดือนอยู่แล้วสามารถนำมาเองได้ ก็จะแบ่งเบาปัญหาและลดงบประมาณ ซึ่งใช้งบประมาณปีละ 80-100 ล้านบาท จะได้เอางบประมาณในส่วนนี้ไปใช้อย่างอื่น ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่านี้" นายกรวีร์กล่าว

ด้านนายพิเชษฐ์ชี้แจงว่า เรื่องอาหารของสมาชิกสภาได้งบปีละ 70 กว่าล้านบาท แต่เราใช้ไม่หมด ใช้แค่ประมาณ 50 ล้านบาท แล้วเหลือประมาณ 20 ล้านบาททุกปี แต่ปัญหาคือคนกินไม่ได้กำหนด คนกำหนดไม่ได้กิน การบริหารจัดการอาหารเป็นเรื่องของคลัง

 “วันนี้ผมในฐานะที่รับผิดชอบพยายามแก้ไข และพยายามจัดการเรื่องมาเฟียทั้งหลาย ก็ยังจัดการยาก แต่คิดว่าเดือนหน้าคงจะแก้ปัญหา และให้ทุกเรื่องที่เราได้รับทราบมาลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งเราพยายามแก้ปัญหาอยู่ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่พวกเราจะต้องพยายามแก้ไข ผมรับปากว่าจะดีขึ้น” นายพิเชษฐ์ กล่าว

วันเดียวกัน เวลา 13.30 น. มีการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อจัดสรรโควตาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ว่าพรรคการเมืองใดจะได้ประธาน กมธ. ชุดใด โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม และตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง  สำหรับการประชุมจัดสรรโควตา กมธ. นั้น มีการพิจารณามาแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้ต้องมีการพิจารณาครั้งที่ 3 ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการเตรียมกล่องสี่เหลี่ยมใสจำนวน 2 ใบ บรรจุไข่สีทองจำนวน 35 ใบ และสีน้ำเงินจำนวน 8 ใบ

โดยเมื่อเริ่มการประชุม นายวิสุทธิ์  ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า อยากให้แต่ละพรรคถอยคนละก้าว เพื่อจะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่เช่นนั้นการเจรจาวันนี้ก็จะไม่สำเร็จ

ขณะที่นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า วันนี้ สส.ระยองพรรค ก.ก.ได้ปฏิญาณตนแล้ว โดยรวมนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค ก.ก.ก็คงสถานะ สส.อยู่ จะทำให้สถานะประธาน กมธ.ของพรรค ก.ก. จากที่ได้ 10 คณะ เพิ่มมาเป็น 11 คณะ ดังนั้น ยืนยันว่าเราต้องได้ 11 คณะ ตามจำนวนที่สำนักเลขาธิการสภาฯ คำนวณมา

จากนั้นที่ประชุมได้เชิญสื่อมวลชนออกจากห้อง เพื่อขอประชุมเป็นการภายใน

เคาะแบ่ง กมธ.ลงตัวแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมผ่านไปเพียง 30 นาที ที่ประชุมได้สั่งพักการประชุมเพื่อให้ทุกพรรคไปพูดคุยตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน แล้วกลับเข้าที่ประชุมอีกครั้ง เนื่องจากเหลือเหลืออยู่ 3 คณะที่ยังตกลงกันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม  ในที่ประชุมได้มีการถกเถียงเรื่องจำนวน สส.ของพรรค ก.ก.ที่ได้เพิ่มจากระยอง ทำให้พรรค ก.ก.จะได้ กมธ.เพิ่มมา 1 คณะ และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ลดลงไปเหลือ 2 คณะ แต่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรค รทสช. ได้หยิบยกกรณีของนายพิธา ที่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.ว่าไม่ควรนำมารวมด้วย แต่ฝ่ายกฎหมายยืนยันว่าแม้นายพิธาจะหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่ยังเป็น สส.อยู่ จึงสามารถนำมาคิดคำนวณ กมธ.ได้ แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงทำให้พรรค ก.ก.ได้ กมธ. 11 คณะ และพรรค รทสช.ได้ กมธ. 2 คณะ

ต่อมาเวลา 16.16 น. การประชุมได้เสร็จสิ้น โดยนายพิเชษฐ์ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ใช้เวลานานมาก แต่สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทุกพรรคถอยคนละก้าว โดยในวันที่ 27 ก.ย.นี้ ทุกพรรคจะเสนอรายชื่อประธาน กมธ.ทั้ง 35 คณะ และในวันที่ 28 กันยายน จะเป็นการประชุมนัดแรก เพื่อจะเลือกประธาน รองประธาน  เลขาฯ และโฆษก กมธ.ทุกตำแหน่ง ซึ่งจำนวน กมธ.ได้ตามสัดส่วน สส.ของแต่ละพรรค แต่จะมีบางคณะ เช่น กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินและ กมธ.ติดตามราคาพืชผลผลิตทางการเกษตร ในส่วนของพรรค ก.ก. ปัจจุบันได้ 11 คณะ ตามสัดส่วน สส. เพราะนายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ สส.ระยอง ได้รายงานตัววันนี้จึงครบตามสัดส่วนพอดี

ขณะที่นายอัครเดชกล่าวว่า ในส่วนของพรรค รทสช. ได้ 2 คณะครึ่ง คือกมธ.พลังงาน และ กมธ.อุตสาหกรรม ส่วนอีก 1 กมธ.คือ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน ซึ่งต้องแบ่งกับพรรค ก.ก.คนละครึ่ง เนื่องจากติดในเรื่องข้อกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม คือจะเป็น กมธ.คนละ 2 ปี หรือปีเว้นปี ซึ่งจะต้องมาพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือว่า ก็ต้องถือว่าบรรยากาศไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่เราก็พยามทำให้จบเพื่อเดินหน้าทำงาน น่าเสียดายที่ฝั่งรัฐบาลบางส่วน แทนที่จะยอมถอยกันคนละก้าว ก็ไม่ถอยเลย ส่วนบรรยากาศในที่ประชุม เราพยายามจะเจรจาอะไรที่ทับซ้อนกัน ก็ควรถอยกันคนละก้าว เพื่อให้บรรยากาศการทำงานเป็นไปได้ด้วยดี และเพื่อให้กลไกตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภาระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเป็นไปด้วยดี แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้นทั้งหมด

เมื่อถามว่า คิดอย่างไรที่ กมธ.คณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ในความรับผิดชอบของพรรคเพื่อไทย นายชัยธวัชกล่าวว่า น่าเสียดาย คิดว่าควรจะเป็นประเพณีปฏิบัติได้แล้ว ในระบบรัฐสภา กมธ.สำคัญๆ ที่มีบทบาทในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร เช่น กมธ.ติดตามงบประมาณ กมธ.ป.ป.ช. ควรจะเป็นของฝ่ายค้าน แน่นอนว่าตอนนี้ประธาน กมธ.ติดตามงบประมาณเป็นของพรรคก.ก. ประธาน กมธ.ป.ป.ช. เป็นของพรรคเพื่อไทย คำถามคือสังคมจะคาดหวัง กมธ.ที่ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบการคอร์รัปชัน การใช้อำนาจมิชอบ ที่ประธาน กมธ.อยู่ในฝ่ายรัฐบาล ก็คงคาดหวังได้ยาก

เมื่อถามว่า โดยรวมแล้ว 11 คณะที่ได้มาพอใจหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ไม่เป็นไร เราก็พยายามถึงที่สุดภายใต้ข้อจำกัดทางการเมือง แม้พรรคก้าวไกล จะมี สส.มากที่สุด แต่พรรครัฐบาลก็มีเสียงมาก ถามว่าพูดได้หรือยังว่าเราถูกรุมกินโต๊ะจริงๆ นายชัยธวัชกล่าวว่า อย่าไปว่าอย่างนั้นคิดว่าก็ต้องเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริง

ค้านรับมอบงานสร้างรัฐสภา

ขณะที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ตนทำหนังสือถึงนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ขอคัดค้านการรับมอบงาน 100% การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ด้วยเพราะพบกระบวนการของคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ผิดข้อสัญญาที่กำหนดให้การตรวจรับงานเมื่องานแล้วเสร็จสมบูรณ์ ปราศจากข้อบกพร่อง แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ กลับใช้วิธีมีมติด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 1 เห็นชอบว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานก่อสร้างแล้วเสร็จครบถ้วน 100%

 “นอกจากนี้ยังพบว่ามีงานก่อสร้างหลายรายการที่ผู้รับจ้างส่งมอบงานไม่ตรงตามแบบรูปและข้อกำหนดประกอบแบบ อาทิ งานต้นไม้ งานพื้นไม้ งานถมทรายหลังเขื่อนบริเวณสนามหญ้าริมเขื่อน เป็นต้น รวมถึงค่าปรับงานล่าช้าวันละ 12.2 ล้านบาท นับถึงวันนี้ 20 ก.ย.2566 จำนวน 994 วัน คิดเป็นจำนวนเงินค่าปรับทั้งสิ้น 12.2 หมื่นล้านบาท ได้เรียกค่าปรับกับผู้รับจ้างตามสัญญาหรือไม่” นายวัชระกล่าว

ด้านนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ กล่าวถึงการตรวจรับมอบอาคารรัฐสภาว่า จากกรอบเวลาเดิมที่ควรจะเป็น จะต้องส่งมอบตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ายังมีความเห็นแย้งในตัวกรรมการอยู่ จึงทำให้ต้องได้ข้อมูลชี้แจงความขัดแย้งก่อน ซึ่งจะมีความชัดเจนภายในสิ้นเดือนนี้ โดยเรื่องที่ประชาชนสนใจมีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.อาคารรัฐสภาสมบูรณ์พอที่จะตรวจรับหรือยัง เงื่อนไขเป็นไปตามแบบสัญญาหรือไม่ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกรรมการตรวจงานจ้าง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายเลขาธิการสภา 2.เรื่องค่าปรับ เราจะมีการรวบรวม และเปิดเผยสู่สาธารณะ เพราะเรื่องนี้เป็นความโปร่งใส ถ้าเราสามารถดำเนินการทุกอย่าง และตรวจรับได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ เราก็จะมีการเปิดใช้อาคารรัฐสภาอย่างเป็นทางการ

นายปดิพัทธ์กล่าวอีกว่า ส่วนของเรื่องการฟ้องร้อง และข้อร้องเรียนต่างๆ ที่อยู่ในสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น สามารถแยกออกจากการตรวจรับได้ เนื่องจากเมื่อเราตรวจรับเรียบร้อย อยู่ในระยะเวลาประกัน 2 ปี คดีของป.ป.ช.ก็ยังเดินหน้าต่อไปได้

 “ผมไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้จ้าง และผู้รับจ้าง แต่ผมจะเป็นตัวแทนของประชาชนในการตรวจสอบเรื่องนี้ให้มีความโปร่งใสมากที่สุด” นายปดิพัทธ์ กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง