ผนึกกำลังจี้นิรโทษคดีการเมือง

"หมอระวี-ภาคประชาชน" เดินหน้าจี้ปลดโซ่คดีการเมือง ชง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมล้างโทษ ปชช.ทุกฝ่ายเท่าเทียมเพื่อสร้างความปรองดอง ขณะที่ "วันนอร์” โยน "ก้าวไกล" สะสางกันเองหลังได้หัวหน้าพรรคใหม่ปม "ปดิพัทธ์-ผู้นำฝ่ายค้าน” “อดิศร” ขยี้หนักฮุบ 2 ตำแหน่ง นิติกรรมอำพราง-ไม่สง่างาม “เพื่อไทย” ไม่มีกั๊กปูพรมรับ “ลูกสาวทักษิณ” ขึ้นแท่นกุมบังเหียนพรรค

 เมื่อวันจันทร์ ที่รัฐสภา นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข หรือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อนายอดิศร เพียงเกษ ประธานคณะกรรมประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวเคยยื่นไปในสมัยประชุมที่แล้วก่อนที่จะยุบสภา จึงมายื่นให้วิปรัฐบาลยื่นต่อสภาฯ เพื่อดำเนินการต่ออีกครั้ง โดยมีเนื้อหานิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทางแพ่งหรืออาญา ยกเว้นคดีทุจริตและคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายอาญา มาตรา 112

นพ.ระวีกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวคือร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ที่เคยได้ยื่นต่อสภาฯ ไปเมื่อสมัยประชุมที่แล้ว และได้มีการสอบถามความเห็นจากหลายฝ่ายเรียบร้อยแล้ว แต่ในขณะนั้นใช้เวลาในการสอบถามความเห็นประมาณ 2-3 เดือนซึ่งพอดีกับการยุบสภา ตนจึงนำมาเสนอในวันนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่วิปรัฐบาลจะเสนอใหม่หรือไม่

"ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมีเนื้อหาหลักในการนิรโทษคดีทางการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะทางแพ่งหรือทางอาญา ยกเว้นคดีทุจริต คดีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีอาญารุนแรง" นพ.ระวีกล่าว

วันเดียวกัน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน มีเวทีภาคประชาชนแถลง “วิพากษ์นโยบายรัฐบาลและข้อเสนอภาคประชาชน” ต่อรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยร่วมแถลงด้านการปฏิรูปการเมือง รัฐธรรมนูญ กองทัพ และการนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดย นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ในด้านการเมืองขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือฉบับประชาธิปไตยโดยเร็ว โดยมี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย แก้ปัญหาวิกฤตการเมืองเพื่อเป็นกติกาที่เป็นธรรมของทุกฝ่ายโดยเร็ว

นายเมธาระบุด้วยว่า ขอให้ดำเนินการนิรโทษกรรมคดีการเมืองของประชาชนตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน เพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยอาจตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมากลั่นกรองคดีการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ 18 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้สังคมไทยได้ไปต่อและมีเสถียรภาพ ก่อนการเริ่มต้นรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นกติกาประชาธิปไตยร่วมกัน โดยในสถานการณ์เฉพาะหน้า ควรมีนโยบายให้ปล่อยตัวชั่วคราว หรือให้ประกันตัวตามหลักการแห่งกฎหมายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยพึงได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ งดเว้นการกระทำหรือการปฏิบัติเสมือนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองเป็นผู้กระทำความผิดทั้งที่ยังไม่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด

"จึงสมควรสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ ข้อ 24 และ 25 โดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่แท้จริงของจำเลยโดยปราศจากอคติ เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้มีหน้าที่จำกัด ยับยั้ง หรือควบคุมกำกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และหวังว่าศาลจะเป็นสถาบันที่มีบทบาทในการคุ้มครอง และพัฒนาสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมให้งอกงามโดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ต่อไป" นายเมธาระบุ

ด้านนายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.) กล่าวว่า กป.อพช.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีกระบวนการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด โดยให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งและรับฟังเสียงของประชาชนทั่วประเทศ

ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้รับเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ว่า พรรคก้าวไกลต้องแจ้งผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งแล้วจะแจ้งมาที่รัฐสภาอีกครั้ง เพื่อดำเนินโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านต่อไป ส่วนจะเป็นช่วงใดนั้นขึ้นอยู่กับการรวบรวมเอกสารหลักฐานของพรรคก้าวไกลเพื่อยื่นต่อ กกต.และรัฐสภาจะดำเนินการต่อจากนั้นโดยเร็วที่สุด

เมื่อถามถึงกรณีตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน อาจมีปัญหาติดขัดที่ตำแหน่งของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ซึ่งเป็น สส.พรรคก้าวไกลเหมือนกัน นั้น นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ไม่ใช่ความติดขัดของสภาฯ อยู่ที่พรรคก้าวไกลและนายปดิพัทธ์เอง ที่จะต้องดำเนินการ เพื่อให้สภาฯ นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ และโปรดเกล้าฯ ผู้นำฝ่ายค้านต่อไป ซึ่งเป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ และคิดว่าพรรคก้าวไกลและนายปดิพัทธ์คงจะทำเรื่องต่างๆ ให้มีความเรียบร้อย

เมื่อถามว่า หากพรรคก้าวไกลขับนายปดิพัทธ์ให้ไปอยู่พรรคการเมืองอื่น เพื่อรักษาเก้าอี้ทั้ง 2 ตำแหน่งไว้ จะถูกโจมตีว่าเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองหรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและข้อบังคับของสภาฯ และสภาฯ ก็ต้องปฏิบัติตาม ส่วน สส.ฝ่ายรัฐบาลจะรับได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาล แต่สำหรับสภาฯ เองสามารถพูดได้ว่า นายปดิพัทธ์ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1  ก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างดี ร่วมมือกับฝ่ายสภาฯ ได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพรรคก้าวไกลและนายปดิพัทธ์

ขณะที่นายอดิศร เพียงเกษ  ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลจะเลือกผู้นำฝ่ายค้านหรือรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ก็ขอให้แจ้งวิปรัฐบาลทราบด้วย อย่าให้เรามโนเอา เพื่อให้คณะกรรมการประสานงานขับเคลื่อนไปได้  และพรรคก้าวไกลต้องเลือกว่าจะเอาตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน หรือรองประธานสภาฯ คนที่ 1 จะเลือกไว้ทั้งสองไม่ได้ ยกเว้นจะเล่นปาฏิหาริย์ทางกฎหมาย ซึ่งเป็นนิติกรรมอำพราง และความสง่างามที่เกิดจากการกระทำ

ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ยังระบุุถึงประมวลกฎหมายจริยธรรม ซึ่งถูกมองว่าไม่มีความเป็นสากล โดยเฉพาะหลังจากตัดสิทธิทางการเมืองของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และโฆษกคณะก้าวหน้า ตลอดชีวิต เนื่องจากฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงว่า หากเห็นว่าประมวลกฎหมายจริยธรรมมีความบกพร่องก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตราที่ว่าด้วยประมวลจริยธรรม ซึ่งไม่ได้บังคับใช้กับผู้หนึ่งผู้ใด

เมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้การวินิจฉัยเรื่องจริยธรรมเป็นหน้าที่ของรัฐสภา โดยไม่ต้องขึ้นตรงต่อศาล ประธานสภาฯ กล่าวว่า ไม่ว่ารัฐธรรมนูญระบุไว้อย่างไร สภาฯ ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น

นายวันมูหะมัดนอร์ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้ประสานมายังรัฐสภา เกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากรัฐบาลเห็นชอบการทำประชามติ ไปถึงขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องแจ้งมายังรัฐสภาอีกครั้ง

เมื่อถามถึงข้อกฎหมายที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นเข้าสภาฯ มาแล้ว สามารถเริ่มต้นพิจารณาได้เมื่อใด นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ระเบียบวาระการประชุมในสัปดาห์นี้จะเป็นไปตามที่เห็นชอบไว้แล้ว ทั้งนี้ในช่วงต้นเดือน ต.ค.จะเพิ่มวันประชุมสภาฯ จากวันพุธและวันพฤหัสบดี เป็นวันพุธถึงวันศุกร์ เพื่อเพิ่มเวลาพิจารณากฎหมาย ซึ่งกำลังรอการพิจารณาอยู่หลายฉบับ

ด้านนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงรายชื่อแคนดิเดตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขณะนี้นิ่งแล้วหรือยังว่า ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ แต่เท่าที่ฟังดูรวมถึงส่วนตัวแล้ว หากถามว่าใครเหมาะที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่สุด ก็ต้องขอฟันธงเลยว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ด้วยประสบการณ์ทางการเมืองวันนี้ ที่มีความแข็งแกร่งทางการเมืองในระดับหนึ่งแล้ว เพราะช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ได้มีการเดินสายไปทั่วประเทศ และได้มีการสัมผัสกับผู้แทน คิดว่า น.ส.แพทองธารไม่เป็นรองใคร และในการประชุม สส.ของพรรคทุกวันอังคาร น.ส.แพทองธารก็ได้เข้าร่วมพูดคุยพบปะและสอบถาม รวมถึงยังเป็นคนรุ่นใหม่ และมีสิ่งที่น่าจะได้เปรียบพรรคอื่นก็คือ เป็นสุภาพสตรีที่จะมาทำงานการเมือง คิดว่าน่าจะพร้อมที่สุดในพรรคเพื่อไทย ณ ขณะนี้

เมื่อถามว่า เท่าที่ฟังจากเสียง สส.ของพรรคเพื่อไทย ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันใช่หรือไม่ นายครูมานิตย์ กล่าวว่า 100% หากมีการเสนอมาก็จะมีการโหวตเป็นเอกฉันท์แน่นอน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะความเป็นชินวัตรอย่างเดียว แต่ น.ส.แพทองธารได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขามีความพร้อม ทั้งภูมิรู้ รวมถึงพื้นฐานทางการเมืองที่ได้ติดตามนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก ซึ่งตนคิดว่า น.ส.แพทองธารคงซึมซับเรื่องพวกนี้มาพอสมควร สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ น.ส.แพทองธารมีคือ ความเป็นคนที่มีจิตอาสา ไม่เคยรังเกียจพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย ซึ่งคุณสมบัติของ น.ส.แพทองธารเพียบพร้อมทุกอย่าง หัวหน้าพรรคไม่จำเป็นต้องเป็น สส. เพียงแค่เป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของของพรรคก็โอเคแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง