"พรรคประชาชน" ชำแหละขบวนการค่าไฟฟ้าแพง ล็อกโควตาให้กลุ่มทุนพลังงาน ทำกันมาหลายรัฐบาล จะถูกสานต่อโดยรัฐบาลแพทองธาร เรียกร้อง "นายกฯ" ยุติขบวนการขูดรีดประชาชน-ฟอกเขียวเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจนายทุน ด้วยการยกเลิกโครงการซื้อโรงไฟฟ้าหมุนเวียนจากเอกชนในราคาแพง ทั้งที่ กฟผ.ราคาถูกกว่า พร้อมผนึกเอกชนที่ถูกกีดกันการประมูลร้องศาลปกครอง
ที่อาคารอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พรรคประชาชาชน นำโดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) และนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลง Policy Watch หัวข้อขบวนการค่าไฟแพง กำลังจะถูกสานต่อโดยรัฐบาลเพื่อไทย
โดยนายศุภโชติกล่าวย้อนไปถึงปี 65 ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน และมีมติรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดสำหรับปี 2565-2573 ตามแผนพลังงานชาติฉบับปี 2018 ปรับปรุงครั้งที่ 1 รวมไปถึงกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทขึ้น จากนั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็รับลูกด้วยการออกหลักเกณฑ์จัดหาพลังงานสะอาดจำนวน 5,203 MW ซึ่งผลการคัดเลือกของรอบแรกได้ประกาศออกมาว่า ใคร บริษัทไหน ได้โครงการอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่
"ส่งผลให้เกิดปัญหาเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้น ทั้งระยะเวลาการเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมค่อนข้างสั้น ทำให้บางบริษัทไม่มีเวลาที่เพียงพอในการเตรียมเอกสาร รวมไปถึงที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่มีการออกประกาศหลักเกณฑ์มาล่วงหน้าว่าจะให้คะแนนกันอย่างไร ทำให้มีคนที่เข้าร่วมรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงมีการฟ้องร้องกันมากมาย"
ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบเพิ่มเติมจำนวน 3,600 MW แต่ไม่แน่ใจว่ามีการปรับปรุงอย่างไรจึงทำให้มีการล็อกโควตากว่า 2,100 MW ให้แก่ผู้ที่เคยยื่นเข้ามาในรอบ 5,200 MW เมื่อตอนปี 65 เท่านั้น และเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ทาง กกพ.ก็มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบเพิ่มเติมตามมติ กบง.
โดยนายศุภโชติสรุปข้อพิรุธออกมาทั้งหมดจำนวน 5 ข้อ ดังนี้ 1.ด้วยโครงสร้างของประเทศไทยทุกการรับซื้อไฟฟ้าของรัฐ ทุกสัญญาสัมปทานที่รัฐให้เอกชน จะกลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนทุกคน ถ้ามีการซื้อไฟแพง ต้นทุนค่าไฟของพี่น้องประชาชนก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย จากการที่รัฐรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในรอบนี้ ไม่มีการประมูลแข่งขันให้ได้ราคาที่ดีที่สุด ทำให้ประชาชนต้องเป็นคนแบกรับการจ่ายค่าไฟแพงขึ้น ที่แย่ที่สุดการรับซื้อในปี 67 คือ การที่ยังใช้ราคารับซื้อราคาเดิมที่เคยประกาศ ผ่านไป 2 ปีก็ยังคงจะประกาศรับซื้อราคาเดิม โดยไม่มีการคิดถึงต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงทุกปีตามการพัฒนาของเทคโนโลยี
2.การรับซื้อไฟฟ้าทั้ง 2 รอบกำหนดเงื่อนไขกีดกัน รัฐวิสาหกิจ อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ออกจากกระบวนการรับซื้อ ทั้งๆ ที่ กฟผ.เคยพิสูจน์แล้วในการทำโครงการโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ที่เขื่อนสิรินธร คนที่สามารถผลิตของถูกได้ ท่านไม่เอา แต่รัฐบาลกลับยินดีประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าแปลกใจว่า ในเมื่อรัฐวิสาหกิจอย่าง กฟผ.สามารถทำราคาได้ถูกกว่า ทำไมถึงไม่ยอมให้เข้าร่วมกระบวนการการคัดเลือกในรอบนี้
3.การรับซื้อไฟฟ้าทั้ง 2 รอบไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนที่ใช้ในการคัดเลือก หรือประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนให้เอกชนรู้ก่อนได้เลย ว่าเขาควรจะเตรียมโครงการอย่างไรเพื่อที่จะทำให้ชนะการคัดเลือก จึงทำให้มีช่องโหว่ในการตัดสิน และผู้ประเมินก็สามารถใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจเพื่อเข้าข้างใครก็ได้
4.การรับซื้อ 3,632 MW นี้ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก 2,168 MW และกลุ่มที่ 2 ที่เหลือ จนเกิดเป็นปัญหา เนื่องจากกลุ่มแรก 2,168 MW ได้มีการกำหนดเงื่อนไขผู้ที่จะเข้าร่วมการคัดเลือกว่า ให้เฉพาะคนที่เคยผ่านการคัดเลือกรอบแรกเมื่อปี 65 เท่านั้น เหมือนเป็นการล็อกมงไว้แล้ว ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขันในการรับซื้อไฟฟ้า ซึ่งอาจเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้เข้าร่วมรายอื่นๆ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ
5.การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพิ่มอีกถึง 3,632 MW โดยไม่มีความจำเป็นนั้น ควรมีวิธีการแบบอื่นที่จะทำให้ผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ โดยไม่เป็นภาระต่อพี่น้องประชาชน อย่าง Direct PPA หรือการที่อนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดขายไฟฟ้าให้แก่ผู้ซื้อไฟฟ้าได้โดยตรง โดยจ่ายค่าเช่าระบบสายส่งของการไฟฟ้าหรือไม่ เพื่อให้ไม่เป็นภาระต่อประชาชน ผู้ผลิตไฟกับผู้ซื้อไฟเจรจาขายไฟกันเอง โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องไปกำหนดราคาให้เขา หากเจ้าของโรงไฟฟ้าอยากขายแพงก็ไม่มีใครซื้อ หรือต่อให้ซื้อกันแพงมากๆ คนที่แบกรับต้นทุนก็คือผู้ประกอบการรายเดียว ไม่ใช่ประชาชน
"ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบเพิ่มเติมปี 2567 จำนวนกว่า 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งก็น่าจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอในการยกเลิกหรือหยุด เพราะแม้ว่าการประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดจะเริ่มต้นโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่ตามเงื่อนไขของการรับซื้อระบุชัดเจนว่า กพช.ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น มีอำนาจในการยกเลิกการรับซื้อได้ก่อนการลงนามซื้อขายไฟฟ้า หรือแม้แต่การออกมติใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การรับซื้อ กำหนดราคารับซื้อใหม่ที่เป็นธรรมก็สามารถทำได้ รัฐบาลเศรษฐาเดินหน้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนเรื่อยมา ทั้งๆ ที่มีข้อพิรุธในหลายประการ และรัฐบาลแพทองธารก็กำลังจะสานต่อ ขบวนการค่าไฟแพงอีกครั้ง" นายศุภโชติกล่าว
ขณะที่นายณัฐพงษ์กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่อยากส่งไปถึงนายกฯ ในฐานะเป็นประธาน กพช.ที่มีอำนาจเต็มในการหยุดยั้งขบวนการที่พวกตนตั้งข้อสังเกตว่า จะเป็นขบวนการขูดรีดประชาชน เป็นขบวนการฟอกเขียวเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจหรือไม่ ทั้งนี้พรรคประชาชนไม่ได้ค้านกลุ่มทุน ตราบใดที่กลุ่มสามารถส่งออกสินค้าและบริการที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจไทย ดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศกลับเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในประเทศ
"แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ก็คือกลุ่มทุนที่เอารัดเอาเปรียบ และสูบเลือดสูบเนื้อประชาชน แล้วถ่างช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำมากขึ้นทุกวัน ซึ่งกลุ่มทุนพลังงานก็เป็นกลุ่มทุนเหล่านั้น ทำให้ประชาชนเสียค่าไฟที่แพงกว่าความเป็นจริง แต่เงินทุกบาททุกสตางค์นั้นกลับกำลังไหลกลับเข้าสู่กระเป๋าเจ้าสัว จากแผนพลังงานแห่งชาติที่มีการวางแผนการผลิตไฟฟ้าที่สูงเกินกว่าความจำเป็นถึง 49% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด"
นายณัฐพงษ์มองว่า ถ้ารัฐบาลอยากสนับสนุนพลังงานสะอาดหรือสัญญาซื้อขายโดยตรง ก็สามารถทำได้โดยตรงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องให้สัญญาสัมปทานที่ไม่มีการประมูลแบบนี้ ที่กำลังสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลในปัจจุบันกำลังใช้นโยบายของรัฐในการให้สัมปทานที่ไม่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อที่จะเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนบางกลุ่มหรือไม่ ซึ่งเรายังสามารถหยุดยั้งได้
“ข้อแรกอยากให้ยกเลิกการซื้อโรงไฟฟ้าหมุนเวียน ยุติการดำเนินการสัมปทานไฟฟ้าหมุนเวียน 3,200 MW และข้อสองคือ สัญญาสัมปทาน 5,200 MW ไปแล้ว ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 2,000 MW ที่ยังไม่เซ็นสัญญาลงนามให้เริ่มการรับซื้อไฟฟ้าและสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งผมในฐานะผู้นำฝ่ายค้านจึงอยากจะส่งต่อข้อเรียกร้องให้ดำเนินการทั้งสองข้อนี้โดยเร็ว"
ทั้งนี้ พรรคประชาชนอยากจะเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันติดตามวาระนี้อย่างจริงจัง ให้เป็นวาระทางสังคม เพื่อยุติกระบวนการกว่าแสนล้านบาท อย่าให้ขบวนการแบบนี้เดินหน้าต่อไปอีก โดยพรรคยินดีเป็นเจ้าภาพให้เอกชนที่เสียประโยชน์จากการเข้าร่วมขอรับสัมปทาน และมีการกีดกันการประมูล ถ้าเสียประโยชน์สามารถติดต่อมาที่พรรคประชาชน ในการฟ้องร้องศาลปกครองเพื่อยุติขบวนการนี้อย่างถึงที่สุด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รมช.คลังตอบชัด ปฏิรูประบบภาษี ศึกษาไร้ทิศทาง
เก้าอี้ดนตรี! "ศิริกัญญา" ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษีให้ "นายกฯ" ตอบ แต่ "อุ๊งอิ๊ง" ส่ง "รมว.คลัง" ตอบแทน
20สส.รอซบ‘กล้าธรรม’ ขอถอยคดี‘ไร่ภูนับดาว’
"พปชร." ลงมติขับ "20 สส.ก๊วนธรรมนัส" พ้นสมาชิกพรรค
ตั้ง2ข้อหาหนัก‘โกทร-ลูกน้อง’ การเมืองท้องถิ่นปมฆ่าสจ.โต้ง
"ผบ.ตร." สั่งเข้มกองปราบฯ ลงพื้นที่สางคดียิง “สจ.โต้ง” ดับคาบ้าน "สุนทร วิลาวัลย์" ฮึ่มเหตุอุกฉกรรจ์ใครเอี่ยวฟันหมด
จ่อถกเหล่าทัพหาจุดตรงกลาง
“ประยุทธ์” ขอแก้ไข 24 ข้อบกพร่อง กม.กลาโหม ก่อนดันเข้าสภาอีกรอบ “บิ๊กเล็ก” จับเข่าคุยเหล่าทัพ-ภูมิธรรม
ประชานิยมภาค2 ‘อิ๊งค์’โชว์เดี่ยวขายฝันปี68แจกแหลก ปชน.ฟันฉับ!สอบตกแค่ฝากงานรมต.
"นายกฯ อิ๊งค์" ร่ายยาวผลงานรัฐบาล 90 วัน เปิดอนาคตปี 68
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน