ชื่นมื่น! ดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลนัดแรก เสิร์ฟอาหารหรู "นายกฯ อิ๊งค์" แย้มวางแพลนตระเวน ครม.สัญจรทั่วทุกภาค นายกฯ โยนสภาปมรายงานนิรโทษกรรม บอกไม่ขอชี้แจงรายละเอียดเพราะเป็นเรื่องเซนซิทีฟ ยันไม่แตะมาตรา 112
เมื่อเวลา 18.00 น. วันจันทร์ที่ 21 ต.ค. 2567 ที่โรงแรมโรสวูด ถนนเพลินจิต น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ชั้น 5 ห้องจัดเลี้ยง The Pavilion โรงแรมโรสวูด เพื่อร่วมรับประทานอาหารค่ำ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของรัฐบาลชุดนี้ โดยมีบรรดาหัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วมอย่างคึกคัก
โดย น.ส.แพทองธารเดินทางมาถึงในเวลา 17.27 น. ก่อนจะนั่งพูดคุยและถ่ายภาพหมู่ร่วมกันกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล โดยในช่วงหนึ่งนายกฯ ได้พูดถึงการลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่มีกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จ.เชียงราย และหลังจากนี้อยากตระเวนลงพื้นที่ ครม.สัญจรทั่วทุกภาค
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับเมนูอาหารจัดเลี้ยง ประกอบด้วย หอยเป๋าฮื้อคาเวียร์ หอยเชลล์ฮอกไกโด บาร์บีคิวหมูราดน้ำผึ้ง วอลนัตสลัดซอสหัวหอม ซุปหอยเชลล์ กุ้งลายเสือ และเต้าหู้ ล็อบสเตอร์นึ่งซีอิ๊ว ปลาหิมะนึ่งเห็ดทรัฟเฟิล ข้าวอบหอยเป๋าฮื้อ และเมนูของหวานคือ ผลไม้ และครีมบูเล่ เป็นต้น
ต่อมาเวลา 20.00 น. น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนต่อรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมจะเดินหน้าต่อกันอย่างไร ว่า อย่างที่ทราบว่าทุกเรื่องมีทั้งเรื่องที่เห็นตรงกันและเห็นไม่ตรงกัน ก็เป็นประชาธิปไตย แต่ในทุกเรื่องก็สามารถตกลงกันได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ เพราะฉะนั้นขั้นตอนต่อไปก็ขอให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร เราก็จะทำงานตรงนี้ต่อไป
เมื่อถามว่า การหารือเรื่องการนิรโทษกรรมส่วนใหญ่มีความเห็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า จริงๆ มีในเนื้อความหลายๆ อย่าง มันเป็นเรื่องที่เซนซิทีฟ เพราะฉะนั้นก็อย่างที่ได้บอกมีเรื่องที่เห็นตรงกันและบางอย่างก็เห็นไม่ตรงกัน เป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้นในรายละเอียดตรงนี้ขอไม่ชี้แจงมากกว่านี้แล้วกัน เป็นเรื่องของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรแยกกัน ซึ่งไม่มีเรื่องที่ต้องทะเลาะเบาะแว้งกัน
เมื่อถามต่อว่า กรณีการนิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จะให้เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลหรือให้เอกสิทธิ์แต่ละพรรคร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่การที่เราได้มาร่วมกันวันนี้ก็ถือว่าได้พูดคุยกันอยู่แล้ว ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่พูดมาโดยตลอด และถือเป็นข้อตกลงที่ร่วมรัฐบาลกันได้ และเห็นพ้องต้องกันมากๆ
เมื่อถามถึงความชัดเจนในเรื่องมาตรา 112 เป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า เราไม่แตะเรื่อง 112 อยู่แล้ว ได้พูดในทุกเวที
เมื่อถามย้ำว่า พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดเห็นพ้องที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะอย่างไรบ้าง ในเรื่องรายละเอียดขอให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรไป แต่สิ่งที่เราคุยกันก็คุยกันในกรอบว่าอยากทำอะไรบ้าง และยังมีไปถึงเรื่องในแต่ละกระทรวงว่าอยากจะพัฒนาประเทศอย่างไร เราก็คุยกันในรายละเอียดแบบนั้นและเข้าใจในความหมายตรงกัน
ลั่นแค่รับประทาน
ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะแกนนำพรรค พท.กล่าวเรื่องนี้ว่า ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ น.ส.แพทองธารเข้ามารับตำแหน่ง จึงถือโอกาสพูดคุยกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์เป็นเรื่องหลัก นอกจากนั้นคงอยากฟังความเห็นจากหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ว่าเมื่อมาบริหารร่วมกันแล้วมีอะไรที่เป็นข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไข
เมื่อถามว่า ในวงรับประทานอาหารจะหารือถึงแนวทางร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมหรือไม่ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลยังมีความเห็นต่าง นายภูมิธรรมกล่าวว่า แล้วแต่พรรคร่วมว่าจะคุยกันในเรื่องนี้หรือไม่ เพราะปกติเรื่องเหล่านี้ไม่ได้หารือกันในเวทีนี้ เพราะต้องใช้เวลานั่งพูดคุยกันและวงเหล่านั้นก็มีอยู่แล้ว
เมื่อถามต่อว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการศึกษาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกมาให้ความเห็นว่าควรนำร่างดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรับทราบ ความเห็นพรรคร่วมรัฐบาลที่เห็นต่างกัน นายภูมิธรรมกล่าวว่า เดี๋ยวต้องคุยกัน แต่ไม่ใช่บรรยากาศในวงดินเนอร์ เพราะต้องคุยหลายเรื่องและแต่ละเรื่องต้องใช้เวลา ไม่ใช่แค่ผิวเผิน ต้องดูถึงเหตุผลแต่ละส่วนว่าเป็นอย่างไร แต่เป็นธรรมดาที่พรรคร่วมรัฐบาลมาจากต่างพรรค คงไม่เห็นไปในทิศทางเดียวกันหมด เรื่องที่เห็นส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องหลักๆ ที่เป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา นอกเหนือจากนั้นจะต้องปรับปรุงกันเมื่อถึงเวลา หากพูดคุยกันแล้วเรื่องไหนเป็นเรื่องของจุดยืน เขายืนยันมาชัดเจน ก็ต้องคุยกันว่าจุดร่วมกันอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้จะมีเวทีให้พูดคุยกันอยู่แล้ว
นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรค พท.กล่าวเรื่องนี้ว่า ไม่ได้มีประเด็นอะไรมากมาย แต่เป็นการรับประทานอาหารร่วมกันครั้งแรกหลังจากที่ น.ส.แพทองธารรับตำแหน่งนายกฯ ซึ่งตอนที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ก็มีการรับประทานอาหารร่วมกัน แต่ก็ได้ขาดช่วงไป
เมื่อถามว่า เป็นเพราะพรรคร่วมรัฐบาลมีท่าทีต่างๆ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงทำให้ต้องนัดรับประทานอาหารกัน นายสรวงศ์กล่าวว่า เรื่องพวกนี้คุยกันได้อยู่แล้ว ตอนนี้เราอยู่ในการจัดตั้งรัฐบาลแบบพรรคร่วม แต่การทำงานร่วมกันไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งอาจพูดคุยถึงเรื่องการทำงานในอนาคตกันบ้าง แต่เรื่องความขัดแย้งหรืออะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องของการทำงานการเมือง เพราะต่างคนต่างมาจากพรรคการเมืองซึ่งมีจุดยืนที่แตกต่างกัน แต่ย้ำว่าโดยภาพรวมไม่มีปัญหากัน
ถามว่า รัฐบาลยังยืนยันเดินหน้าหรือไม่เรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ นายสรวงศ์กล่าวว่า แน่นอน และน่าจะทันในเรื่องวิธีการต่างๆ แต่สิ่งที่เรากังวลคือ สว.มีการกลับมติที่มีประเด็นตอนนี้คือการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ทำให้เกรงว่าจะไม่ทันทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศในต้นปีหน้า ซึ่งหากไม่ทันอาจต้องทำประชามติแยกออกมา และต้องใช้งบประมาณพอสมควร แต่คิดว่าประเด็นดังกล่าวต้องมีการพูดคุยในกรรมาธิการร่วมทั้ง 2 สภา
ถามย้ำว่า จะเห็นการยกร่างทั้งฉบับในรัฐบาลหรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดต้องมีขั้นตอนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการได้มาซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือมาตรการต่างๆ ก็ดี ซึ่งมั่นใจว่าจะได้เห็นในรัฐบาลนี้แน่นอน
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการดินเนอร์ พรรค ภท.จะหยิบยกประเด็นอะไรขึ้นมาหารือบ้างว่า ต้องแล้วแต่เจ้าภาพ เพราะนายกฯ เป็นผู้เชิญ จึงคิดว่าท่านคงมีประเด็นอะไรที่อยากพูดคุย แต่หากมีประเด็นใดที่สามารถต่อยอดไปในประเด็นอื่นก็ต้องดูบรรยากาศด้วย แต่คิดว่าน่าจะเป็นการพูดคุยอย่างฉันผู้ร่วมงานที่จะเดินหน้าบริหารประเทศร่วมกัน
เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยเรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกับแก้รัฐธรรมนูญที่ยังมีความเห็นต่างด้วยหรือไม่ นายอนุทินย้ำว่า แต่ละพรรคการเมืองมีเจตนารมณ์และมีหลักข้อคิดต่างๆ เรื่องนี้อยู่แล้ว เราก็อาจนำเอาขึ้นมาหารือกันว่าแต่ละคนมีความเห็นและมีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง เพราะหากกฎหมายสำคัญๆ เข้าไปควรมีการหารือกันก่อนจะได้ไม่ขัดแย้งกัน แต่เรื่องของสภาก็คือเรื่องของสภา อย่าเอามารวมกับเรื่องของรัฐบาล เพราะเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินพวกเราพร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว แต่เรื่องข้อกฎหมายเห็นต่างกันได้ จากนั้นก็ค่อยมาหารือกันเพื่อแสวงหาความร่วมมือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ไม่เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของพรรคหรือแนวทางที่ยึดถือปฏิบัติกันมา
“เรื่องนี้ไม่มีความขัดแย้งอยู่แล้ว แต่ความเห็นต่างมันต้องมี หากทำงานแล้วไม่เห็นต่างกันเลย ก็จะเดินหน้าทำงานไม่ได้ ต้องฟังแล้วเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชนมาเป็นตัวตัดสิน ไม่ใช่เห็นพ้องกันหมด มิเช่นนั้นจะเรียกว่าฮั้ว” นายอนุทินกล่าว
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ระบุว่า การศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้นเสร็จสิ้นแล้ว และในวันที่ 24 ต.ค.จะนำเข้ารายงานต่อที่ประชุมสภา เพื่อเสนอผลการศึกษาของ กมธ.ว่าไทยจะก้าวไม่พ้นเรื่องความขัดแย้ง ทั้งๆ ที่ทุกคนพูดตรงกันว่าอยากสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็มีเรื่องทุกที
“กมธ.วิสามัญฯ ทำงานเสร็จ ก็เป็นกฎหมายของสภาไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องของสภาล้วนๆ ถ้า สส.ติดใจอะไรต่างๆ สามารถต้องข้อสังเกตได้ ถามข้อข้องใจได้คณะ กมธ.จะได้ตอบคำถามให้ แต่ไม่ใช่การอภิปราย ขอย้ำว่าเป็นการศึกษา ที่ทำการศึกษาเสร็จแล้ว ไม่ใช่การยกเลิกมาตรา 112 และไม่มีการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น และเรื่องนี้ก็ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องของ สส. เพราะถ้าผ่านได้ก็เท่ากับว่าเป็นการศึกษาวิจัยอีกทางหนึ่ง ที่มีไว้ศึกษาอ้างอิงได้ โดยไม่ต้องไปคิดกันใหม่” นพ.เชิดชัยกล่าว
สว.ส่ง 14 ชื่อเดิมนั่ง กมธ.ร่วม
วันเดียวกัน ในการประชุมวุฒิสภา มีวาระพิจารณาตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... จำนวน 14 คน โดยนายสุทนต์ กล้าการขาย สว. เสนอรายชื่อ กมธ.ร่วมกันตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เห็นชอบ ซึ่งภายหลังเสนอรายชื่อ 14 คนแล้ว มี สว.เสียงข้างน้อยหลายคนอภิปรายคัดค้าน โดยระบุว่า สว. 14 คนที่ได้เป็น กมธ.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการใช้เกณฑ์โหวตแบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น การตั้ง กมธ.ร่วมควรสัดส่วนทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการใช้เกณฑ์ดังกล่าว
โดยหลังการอภิปรายเรื่องดังกล่าว วิปวุฒิฯ ได้ยืนยันใน 14 รายชื่อ ทำให้นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.เสนอญัตติของดใช้ข้อบังคับชั่วคราว เพื่อขอให้ออกเสียงแบบ 1 คน ต่อ 1 ตัวเลือก ซึ่งที่ประชุมก็มีลงมติและตีตกข้อเสนอดังกล่าวด้วยเสียง 138 ต่อ 26 งดออกเสียง 5 เสียง จากนั้นประธานสั่งพักการประชุม เนื่องจากให้เจ้าหน้าที่ทำบัตรออกเสียง เพราะมี สว.ต้องการเป็น กมธ.ร่วมกัน 16 คน ซึ่งเกินกว่าจำนวน 14 คน
ต่อมาได้การลงคะแนนและประกาศผลการนับคะแนน ซึ่งเสียงส่วนใหญ่โหวตเห็นชอบตามรายชื่อที่วิปวุฒิสภา มีมติ 14 คน ส่วนตัวแทน สว.เสียงข้างน้อย คือ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ได้เพียง 27 คะแนน และนายประภาส ปิ่นตบแต่งได้ 25 คะแนนเท่านั้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทักษิณ' ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์ 'เกาะกูด' ของไทย ไม่บ้ายกให้กัมพูชา จ่อติวเข้ม สส. แจงปชช.
'ทักษิณ' ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์ 'เกาะกูด' เป็นของไทย โต้เฟกนิวส์ใช้เอไอปล่อยข่าวมั่ว ชี้ใครจะบ้ายกให้ เตรียมติว สส. เพื่อไทย แจงประชาชนถึงที่มา MOU 44
หัวลำโพงคึกคัก! 'อิ๊งค์' นำทีม พท. สัมมนาหัวหิน ตื่นเต้นขึ้นรถไฟรอบ 20 ปี
’แพทองธาร‘ นำทีม ’เพื่อไทย’ ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ มุ่งหน้าสัมมนาหัวหิน ‘เศรษฐา-โอ๊ค-เอม’ ร่วมด้วย ตื่นเต้นนั่งรถไฟรอบ 20 ปี
จับตา! 'ทักษิณ' สร้างอภินิหารการเมือง คัมแบ็กนายกฯ
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า จับสัญญาณ ทักษิณหวนคืนอำนาจรัฐ
รมช.คลังตอบชัด ปฏิรูประบบภาษี ศึกษาไร้ทิศทาง
เก้าอี้ดนตรี! "ศิริกัญญา" ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษีให้ "นายกฯ" ตอบ แต่ "อุ๊งอิ๊ง" ส่ง "รมว.คลัง" ตอบแทน
20สส.รอซบ‘กล้าธรรม’ ขอถอยคดี‘ไร่ภูนับดาว’
"พปชร." ลงมติขับ "20 สส.ก๊วนธรรมนัส" พ้นสมาชิกพรรค
ตั้ง2ข้อหาหนัก‘โกทร-ลูกน้อง’ การเมืองท้องถิ่นปมฆ่าสจ.โต้ง
"ผบ.ตร." สั่งเข้มกองปราบฯ ลงพื้นที่สางคดียิง “สจ.โต้ง” ดับคาบ้าน "สุนทร วิลาวัลย์" ฮึ่มเหตุอุกฉกรรจ์ใครเอี่ยวฟันหมด