2อดีตขุนคลังชำแหละเงินดิจิทัล

2 อดีตรัฐมนตรีคลังชำแหละ นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท "กรณ์" ชี้เป็นนโยบายที่คิดมาไม่ละเอียดเพื่อหวังผลทางการเมือง ส่วน "ธีระชัย" ตั้งคำถาม 9 ข้อ เลี่ยงการตรวจสอบจากสภาฯ-สตง. ห่วงข้าราชการโดนหางเลข ขณะที่รัฐบาลยันไม่มีถอย "จุลพันธ์" ลั่นจะทำให้มากที่สุด ส่วนที่มาของเงิน 5.6 แสนล้านยังอ้ำอึ้งให้รอปลายเดือน

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล ซึ่งกำลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อเสียอย่างมากว่า พรรคเพื่อไทยเคยสร้างประวัติศาสตร์ทางด้านนโยบายด้วยความกล้าหาญและวิสัยทัศน์ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค หรือแนวคิดส่งเสริม OTOP หรือการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ dual track แต่เพื่อไทยควรตระหนักเช่นกันว่าบางนโยบายสร้างความเสียหายอย่างมาก ชัดๆ คือประกันราคาข้าวทุกเมล็ดที่เรียกว่า จำนำข้าว และนโยบายรถคันแรก

"ผมรู้สึกอย่างมากว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลเป็นนโยบายที่คิดมาไม่ละเอียด หวังผลทางการเมืองมากกว่าการพัฒนา และเป็นแนวนโยบายที่อันตรายต่ออนาคตเศรษฐกิจของเราอย่างมาก เพื่อไทยยังสามารถปรับแนวคิด และเบนทรัพยากรไปสู่การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน และการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อช่วยภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปในการเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในด้านเทคโนโลยี ด้านสังคมสูงอายุ  และด้านพลังงานหมุนเวียน หรือยังไม่ต้องรีบกู้เงินก้อนนี้ก็ได้ เก็บกระสุนไว้ก่อน ไว้จำเป็นจริงๆ ค่อยว่ากัน"

นายกรณ์ยังระบุว่า รัฐบาลนี้มีความมั่นคงมากกว่าที่คิด เพราะแรงเสียดทานทางการเมืองหายไปมากจากการผสมผสานข้ามขั้ว หากใช้ทุนทางการเมืองในทางที่บ้านเมืองได้ประโยชน์ ความกังขาในเรื่องที่มาของรัฐบาลจะถูกมองข้าม เพราะเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่พร้อมยอมรับทุกรัฐบาลที่สร้างประโยชน์ให้พวกเขา

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแนะนำกรรมการเงินดิจิทัล ตามที่รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับเงินดิจิทัลว่า มีความเป็นห่วงน้องๆ ข้าราชการ เกรงจะมีความเสี่ยงในการเสนอเรื่องนี้ จึงใคร่ขอฝากคำแนะนำบางประการ

หนึ่ง ขอบวัตถุประสงค์ของธนาคารออมสิน พระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 "มาตรา 28 การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดําเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดําเนินการน้ัน ให้กระทําได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น"

ดังนั้น กรณีที่รัฐบาลจะให้ธนาคารออมสินไปกู้เงินมาเพื่อใช้ในโครงการเงินดิจิทัล คณะกรรมการจะต้องแน่ใจเสียก่อนว่า โครงการแบบนี้อยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของธนาคารออมสินหรือไม่

สอง เหตุผลที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น กรณีที่รัฐบาลจะกู้เงินด้วยตนเองเพื่อใช้ในโครงการเงินดิจิทัลนั้น ต้นทุนดอกเบี้ยที่รัฐบาลจ่ายย่อมจะต่ำกว่าที่ธนาคารออมสินต้องจ่าย ดังนั้น คณะกรรมการจึงต้องมีเหตุผลชัดเจน เหตุใดรัฐบาลไม่กู้เงินด้วยตนเองอย่างโปร่งใส เพื่อให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ธนาคารออมสินต้องจ่าย และเป็นการเลี่ยงการสำแดงเจตนากู้หนี้สาธารณะหรือไม่

สาม ธนาคารออมสินเสี่ยงในการให้กู้แก่เอกชน กรณีที่ธนาคารออมสินกู้เงินจากตลาดเงิน 560,000 ล้านบาท แล้วเอาเงินนั้นไปให้กู้แก่ 4 บริษัทเอกชนซึ่งจะเป็นผู้ออกโทเคนดิจิทัล นั้น ธนาคารออมสินย่อมจะมีความเสี่ยง โดยผู้กู้แต่ละรายกู้เงินมากเกิน 100,000 ล้านบาท และเงินให้กู้ในโครงการนี้ 560,000 ล้านบาท ก็เป็นสัดส่วนที่สูงสำหรับลูกหนี้รายใหญ่ของธนาคารออมสิน ซึ่งแม้แต่โลโก้ ก็ระบุชัดเจนว่า "รัฐบาลเป็นประกัน" ดังนั้น คณะกรรมการจึงต้องเสนอให้ชัดเจนว่า จะให้ธนาคารออมสินบริหารความเสี่ยงตรงนี้อย่างไร

สี่ รายได้รัฐเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท ทีมงานของท่านนายกฯ เศรษฐาได้แถลงข่าวชัดเจนว่า โครงการเงินดิจิทัลจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท ดังนั้น คณะกรรมการจึงต้องแจกแจงให้ชัดเจนว่า รายได้จะเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท จริงหรือไม่ และรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น จะประกอบด้วยภาษีชนิดใด และจะเกิดขึ้นเมื่อใด

ห้า สตง.ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากเงินที่ธนาคารออมสินจะให้กู้แก่ 4 บริษัทเอกชนผู้ที่จะออกโทเคนดิจิทัล 560,000 ล้านบาท นั้น สตง.ไม่สามารถตรวจสอบบริษัทเอกชนได้ ดังนั้น คณะกรรมการต้องแถลงว่า จะให้ธนาคารออมสินดำเนินการอย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทเอกชนปฏิบัติถูกต้องตามโครงการ และถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อรักษาสถานะ "รัฐบาลเป็นประกัน" ให้มั่นคง

หก ระวังแอปดูดเงินอย่างไร เนื่องจากฝ่ายคนร้าย อาจจะถือโอกาสส่งแอปดูดเงินไปให้แก่ชาวบ้านในช่วงก่อนหน้าทางการส่งข้อมูล ดังนั้น คณะกรรมการควรแนะนำรัฐมนตรีคลังว่า จะมีมาตรการป้องกันไม่ให้ชาวบ้านถูกหลอกได้อย่างไร

เจ็ด ระวังแอปพนันอย่างไร เนื่องจากคาดเดาได้ว่า เว็บพนันของเอกชนน่าจะพยายามจูงใจให้ชาวบ้านที่ได้รับเงินดิจิทัล เอาไปเล่นพนันในเว็บที่จัดตั้งขึ้นในรัศมี 4 กม. โดยซ่อนรูปให้ดูคล้ายเป็นเว็บขายสินค้าออนไลน์

ดังนั้น คณะกรรมการควรมีข้อเสนอแนะว่า จะป้องกันการนำเงินดิจิทัลไปเล่นพนันออนไลน์ได้อย่างไร

แปด ค่าใช้จ่ายพัฒนาระบบบล็อกเชน เนื่องจากขณะนี้ ทางการไทยมีการลงทุนระบบเงินโอนอิเล็กทรอนิกส์ไว้แล้ว คือแอปเป๋าตัง และเงินดิจิทัลของ ธปท.ซึ่งมีการทดสอบกับต่างประเทศผ่านเรียบร้อยแล้ว

กรณีถ้าหากรัฐบาลจะทำโครงการแบบประหยัด ก็สามารถให้ธนาคารกรุงไทยขยายเงื่อนไขในแอปเป๋าตังได้ หรือขอใช้เงินดิจิทัลของ ธปท.ได้ ดังนั้น คณะกรรมการจึงควรมีคำตอบให้แก่สังคม เหตุใดจึงจะเสนอแนะให้มีบริษัทเอกชนทำเงินดิจิทัลขึ้นใหม่ อันเป็นการลงทุนค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน

เก้า การเลี่ยงรัฐสภาตรวจสอบ เนื่องจากการที่รัฐบาลจะให้ธนาคารออมสินเป็นผู้กู้เงินจากตลาดเงิน เพื่อนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัล จะมีผลเป็นการเลี่ยงการเสนอโครงการเพื่อให้รัฐสภาอนุมัติเสียก่อนในระบบงบประมาณ ในขณะที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๓ วรรคสอง บัญญัติว่า "รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไป ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของ ประชาชนโดยรวม" การเลี่ยงรัฐสภาตรวจสอบ จึงอาจเข้าข่ายคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการธนาคารออมสินปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ดังนั้น คณะกรรมการจึงควรเสนอแนะต่อรัฐมนตรีคลังว่า การเลี่ยงรัฐสภาตรวจสอบนั้น เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือไม่

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมุ่งมั่นเร่งสร้างความมั่นใจเดินหน้าในการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต และรู้สึกดีที่มีการถกเถียงกันในสังคมวงกว้าง ขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยยังไม่ได้เติบโตเต็มศักยภาพ และเติบโตช้ากว่าภูมิภาค ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนยังเปราะบาง มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตจึงเป็นการจุดชนวน กระตุกเศรษฐกิจให้เติบโตอีกครั้งหนึ่ง เป็นการใส่เงินให้ทั่วถึง กระจายทุกพื้นที่ สร้างโอกาสการจ้างงาน สร้างการลงทุน เพิ่มการผลิต และเชื่อมั่นกลไกนโยบาย จะประสบผลสำเร็จ

"คำว่าไม่ทำมาตรการนี้ ไม่มีอยู่ในความคิด เพราะได้รับมอบหมายมาแล้ว ได้แถลงนโยบายต่อสภาแล้ว ประชาชนเองก็อยากได้ อยากเห็นนโยบายนี้เดินหน้า การบอกว่าเราจะไม่ทำเป็นไปไม่ได้ แต่ในทางกลับกันเราจะพยายามทำให้มากที่สุด โดยจะพิจารณารายละเอียดของกรอบกฎหมาย ภาระต่องบประมาณ และวินัยการเงินการคลัง โดยมาตรการนี้รัฐจะได้รับเงินคืนมาในรูปแบบภาษี และเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และ e-Gorvernment ในอนาคต เราเดินหน้าทำตามสัญญาที่ให้กับประชาชนและรัฐสภาที่ได้แถลงไว้ โดยมุ่งเป้าเศรษฐกิจเติบโต 5% ในระยะ 3-4 ปีหน้า" นายจุลพันธ์กล่าว

ส่วนประเด็นแหล่งที่มาของเม็ดเงินต้องใช้เวลาในการพิจารณา โดยจะมีมากกว่า 1 ทางเลือกให้คลังพิจารณา แต่จะเลือกใช้กลไกที่เหมาะสมที่สุด อาจจะผสมผสานกัน แต่ยืนยันอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลทำทุกอย่างในกรอบกฎหมาย เราไม่ทะลุกรอบของกฎหมาย วินัยการเงินการคลังอย่างแน่นอน โดยรัฐบาลจะยึดมั่นในวินัยการเงินการคลังให้เกิดประโยชน์กับประเทศสูงที่สุด โดยมาตรการนี้จะใช้แหล่งงบประมาณเป็นส่วนใหญ่ ส่วนรายละเอียดขอให้รอสิ้นเดือน ต.ค.นี้

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วันนี้เศรษฐกิจไทยยังโตต่ำกว่าศักยภาพ การปรับลดคาดการณ์จีดีพีจึงมีออกมาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่ารอบต่อไปก็มีแนวโน้มลดลงอีก ดังนั้นการเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ผิด เพื่อให้เศรษฐกิจกลับไปเติบโตใกล้เคียงกับศักยภาพ จึงอยากให้เชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของกระทรวงการคลังในการรักษาวินัยการเงินการคลัง ไม่ว่าแหล่งเงินจะมาจากไหน ใช้จ่ายอย่างไร ใช้คืนอย่างไร ทั้งหมดจะชัดเจน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง