อพยพวันละ400คน นายกฯสั่งบินจนจบงาน/ทูตปาเลสไตน์ปูดข่าวร้าย

กองทัพอิสราเอลทิ้งใบปลิวเตือนประชาชนให้อพยพออกจากฉนวนกาซาตอนเหนือใน 24 ชั่วโมง ขณะที่มะกันร้องขอประเทศข้างเคียงให้ที่พักพิงผู้อพยพ “เศรษฐา” เชิญทูตอิสราเอลหารือด่วน ขอร้องให้ดูแลความปลอดภัยแรงงานไทย ทูตยิวรับปากดูแลเหมือนพลเรือนตนเอง ย้ายผู้บริสุทธิ์จากเรดโซน แล้ว 99% ข่าวร้าย! ทูตปาเลสไตน์ยอมรับ หากไม่มีเจรจาหยุดยิงยากช่วยตัวประกัน   นายกฯ ขอบคุณ 3 สายการบินร่วมช่วยคนไทยคืนถิ่น วางแผนให้บินมาบ้านเกิดทุกวันจนจบภารกิจ “กต.” ตั้งเป้ารับคนไทยวันละ 400 ราย

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานสถานการณ์สงครามของกลุ่มฮามาสและประเทศอิสราเอลว่า กองทัพอิสราเอลได้ทิ้งใบปลิวลงบนฉนวนกาซาเพื่อเตือนประชาชนให้หลบหนีออกจากพื้นที่ทันที โดยแนบแผนที่ที่มีลูกศรชี้ไปทางทิศใต้ พร้อมข้อความที่ลงนามโดยกองทัพอิสราเอลสั่งให้ประชาชนอพยพออกจากที่พักพิงสาธารณะในเมืองกาซา และเตือนไม่ให้กลับเข้ามาอีกจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม ซึ่งมีชาวกาซาราว 423,000 คนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดย 60% ในจำนวนนี้พักพิงอยู่กับหน่วยงานผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์แห่งสหประชาชาติ

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติในกาซากล่าวว่า พวกเขาได้รับแจ้งจากกองทัพอิสราเอลให้ทำการอพยพประชาชนออกจากฉนวนกาซาทางตอนเหนือภายใน 24 ชม.

คำสั่งอพยพพลเรือนจำนวนมากเกิดขึ้นท่ามกลางการโจมตีฉนวนกาซาครั้งใหญ่โดยกองทัพอิสราเอล ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1,530 ราย ขณะที่กลุ่มติดอาวุธฮามาสยิงจรวดใส่อิสราเอลจนมีผู้เสียชีวิตแล้วราว 1,200 ราย

สหประชาชาติทักท้วงว่าการที่ประชาชน 1.1 ล้านคนต้องพลัดถิ่นจากฉนวนกาซาตอนเหนืออาจนำไปสู่ผลเสียหายร้ายแรงด้านมนุษยธรรม ในขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะอพยพผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงและเคลื่อนย้ายหน่วยรักษาทางการแพทย์ในภาวะสงคราม

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา หารือร่วมกับกษัตริย์จอร์แดนและประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ ซึ่งปกครองตนเองในเขตเวสต์แบงก์ เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในฉนวนกาซา

นอกจากนี้ บลิงเคนยังทำงานร่วมกับอียิปต์ซึ่งมีพรมแดนติดกับฉนวนกาซาและเป็นประเทศอาหรับแห่งแรกที่สร้างสันติภาพกับอิสราเอล ในแผนสร้างทางเดินปลอดภัยจากพื้นที่สู้รบให้กับพลเรือนในกาซา

กษัตริย์จอร์แดนซึ่งเป็นพันธมิตรยาวนานของสหรัฐ ทรงเรียกร้องให้เปิดช่องทางด้านมนุษยธรรมเพื่อให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือทางการแพทย์และการบรรเทาทุกข์อย่างเร่งด่วนในฉนวนกาซา และปกป้องพลเรือน ตลอดจนยุติความรุนแรงและสงครามในฉนวนกาซา แต่จอร์แดนซึ่งเป็นบ้านของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ 2 ล้านคนอยู่แล้ว เตือนไม่ให้วิกฤตนี้เป็นการผลักดันพลเรือนให้เป็นผู้พลัดถิ่นอย่างถาวร เพราะจะเป็นการทำให้ปัญหาผู้ลี้ภัยรุนแรงขึ้นในประเทศข้างเคียง

สหรัฐยันไม่แทรกแซงทางทหาร

รัฐบาลวอชิงตันออกแถลงการณ์ยืนหยัดเคียงข้างและพร้อมช่วยเหลือ แต่จะไม่แทรกแซงทางทหาร ในขณะที่อิสราเอลดำเนินการด้านความมั่นคงที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อปกป้องตนเองจากการก่อการร้าย

กลุ่มฮามาสได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากอิหร่านซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐ แต่ก็มีความสัมพันธ์อันยาวนานกับกาตาร์ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐ และถูกมองว่าจะเป็นตัวกลางสำคัญในการเจรจาเพื่อปล่อยตัวตัวประกันที่ถูกจับกุม 150 คน

ด้านความเคลื่อนไหวในไทยนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือกับนางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย โดยนายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นด้วยความกังวล หวังว่าสถานการณ์กลับเป็นปกติในเร็ววัน และแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งไทยขอคัดค้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นในทุกรูปแบบโดยทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อส่งผลกระทบต่อผู้บริสุทธิ์รวมถึงคนไทย

ขณะที่นางซากิฟกล่าวว่า รัฐบาลอิสราเอลเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความสูญเสียเกิดแก่ผู้บริสุทธิ์ โดยพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนไทยและผู้บริสุทธิ์ทุกคน พร้อมดูแลทุกคนที่อยู่ในประเทศอิสราเอลเหมือนเป็นพลเมืองของตนเอง แต่ขอให้เข้าใจว่าอิสราเอลเผชิญกับสงครามในรูปแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน แต่ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ ร่วมมือกับรัฐบาลไทยท่ามกลางสถานการณ์และความท้าทายที่เกิดขึ้นนี้อย่างดีที่สุด ซึ่งตอนนี้ได้อพยพคนที่อยู่ในพื้นที่อันตรายออกมา 4 กิโลเมตรจากพื้นที่อันตราย ทราบดีว่ารัฐบาลไทยให้ความสําคัญสูงสุดในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนไทยในอิสราเอล ซึ่งมีประมาณ 30,000 คน รัฐบาลอิสราเอลได้ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และจัดแผนให้การช่วยเหลือคนไทย ซึ่งขณะนี้มีคนไทย 16 คนถูกลักพาตัว ซึ่งรัฐบาลห่วงกังวลต่อความปลอดภัยของคนไทยเหล่านี้ รัฐบาลอิสราเอลพร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อให้คนไทยทั้ง 16 คนได้รับการปล่อยตัว

จากนั้น เวลา 09.20 น. ภายหลังการหารือ นายเศรษฐาแถลงว่า ได้เชิญเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยมาอัปเดตสถานการณ์ และขอร้องว่าให้ช่วยคนไทยอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องแรกคนงานไทยที่เสียชีวิตในอิสราเอลก็ขอร้องผ่านเอกอัครราชทูตไปขอให้นำกลับมายังไทยโดยเร็วที่สุด ซึ่งอิสราเอลก็ขอความเห็นเช่นกัน เนื่องจากมีขั้นตอนหลายอย่าง  แต่ได้รับปากว่าจะช่วยอย่างเต็มที่ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตเป็นพันศพ จำเป็นต้องชันสูตรและพิสูจน์ทราบ แต่ยืนยันว่าจะให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ เนื่องจากขั้นตอนการพิสูจน์ทราบอัตลักษณ์มีความสำคัญ เพราะมีการเสียชีวิตแล้ว จะได้เงินค่าตอบแทน รวมทั้งบุตรธิดาด้วยที่จะได้รับค่าตอบแทนตลอดชีวิต ดังนั้นต้องทำให้ถูกต้องก่อนนำศพกลับมาประเทศไทย  ขอร้องว่าให้ใจเย็นๆ เข้าใจความรู้สึกของครอบครัวดี และรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างเต็มที่

นายเศรษฐากล่าวว่า ในการหารือกับเอกอัครราชทูตฯ ได้ขอร้องไปทางอิสราเอลว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่งที่แสดงเจตจำนงกลับประเทศไทยกว่า 6,000 คนแล้ว ซึ่งความเร็วรวดในการอพยพมายังที่ปลอดภัยต้องยอมรับว่าข้อมูลยังสับสนอยู่  แต่ที่แน่นอนคือจะอพยพได้วันละ 200 คน ซึ่งเอกอัครราชทูตยืนยันว่ามีเครื่องบินมารับเท่าไรก็พร้อมนำส่งกลับออกมาทันที จุดใหญ่วันนี้คือเครื่องบินที่จะต้องไปรับกลับมาให้ได้ วันนี้คณะทำงานฯ จะประชุมเพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อนำคนไทยกลับมาได้โดยเร็ว ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ ให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลอิสราเอลให้ความสำคัญสูงสุดในการลำเลียงคนออกมาจากจุดต่างๆ มายังจุดปลอดภัยและพร้อมส่งกลับ รวมทั้งระหว่างรอก็มีประชาชนที่ประสบปัญหาด้านจิตใจ ซึ่งรัฐบาลอิสราเอลให้ความสำคัญในการเข้ามาดูแลอย่างดีเท่าที่จะทำได้

ยึดความปลอดภัยสำคัญที่สุด

นายเศรษฐายังกล่าวว่า ปัญหาที่ยังมีการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียว่ามีคนไทยถูกบังคับให้ทำงานอยู่ที่พื้นที่ที่เกิดภาวะสงคราม ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ รับทราบ และพยายามหาความจริงให้ได้ รวมทั้งเห็นด้วย 100% ว่าจะมาบังคับให้ทำงานในภาวะสงครามไม่ได้ ไม่ควรให้เกิดในช่วงเวลาเช่นนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราต้องลืมเรื่องผลประโยชน์ไปก่อน และเอาความปลอดภัยของประชาชนคนไทยมาเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

“เอกอัครราชทูตฯ ยืนยันว่าภาวะสงครามไม่ได้ลดหย่อนลง ความเข้มข้นยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมก็ต้องขอร้องและวิงวอน ซึ่งความจริงก็คือการกดดันเอกอัครราชทูตฯ ท่านว่าคนของเราไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือเป็นส่วนหนึ่งของข้อพิพาทของใครทั้งนั้น แต่เรากลายเป็นชาติที่สูญเสียมากเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ ถ้าไม่นับอิสราเอล เรามีผู้เสียชีวิต ณ เวลานี้ 21 คน ถือว่าสูญเสียมาก และยังไม่แน่ใจว่าจะมีแค่นี้หรือไม่” นายกฯ กล่าว

นายเศรษฐากล่าวว่า ในการหารือและขอร้องเอกอัครราชทูตฯ เป็นเรื่องสุดท้ายคือเรื่องของตัวประกัน ขอให้ดูแลและขอร้องให้เร่งเจรจาเพื่อนำตัวออกมาให้ได้ และตัวประกันไม่ได้ของชาติไทยเพียงชาติเดียว ตัวประกันทุกชาติก็ไม่ได้เป็นส่วนของข้อพิพาทตรงนี้ เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะดูตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับใดก็ตาม คนเหล่านี้ต้องถูกปล่อยออกมาโดยเร็วที่สุด และต้องให้ความสำคัญที่สุด รัฐบาลไทยก็พยายามใช้ทุกเส้นทาง ทั้งเรื่องความมั่นคง คงไม่สามารถเปิดเผยได้ ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลทำอย่างเต็มที่

“วันนี้คณะทำงานฯ จะเชิญตัวเเทนสายการบินเอกชนต่างๆ มาพูดคุยที่กระทรวงการต่างประเทศ หวังว่าจะมีความคืบหน้าออกมา เพราะมีขั้นตอนหลายอย่างในการบินข้ามประเทศและน่านฟ้า เที่ยวบินพิเศษต่างๆ ที่จะบินผ่านเข้าไปจะต้องขออนุญาตก่อน ไม่ว่าน่านฟ้าประเทศไหน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศพยายามอย่างเต็มที่ กระทรวงสาธารณสุขเองก็เตรียมพร้อมรับผู้ป่วยกลับมา กระทรวงแรงงานก็ช่วยประสานงานอย่างเต็มที่ ทำงานกันโดยตลอดไม่ได้หยุด ทั้งนี้ ในเรื่องการขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าของแต่ละไฟลต์ กำลังพยายามเจรจาในการลดขั้นตอนเพื่อเป็นการประหยัดเวลา เพราะถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ เกิดภาวะสงคราม ก็หวังว่านานาชาติจะช่วยอำนวยสะดวกให้เรา เพราะปัจจุบันเครื่องบินที่จะไปนำคนไทยกลับมายังไม่เพียงพอกับความต้องการ และเห็นใจครอบครัวที่อยู่ในประเทศไทย ใจเขาใจเรา”

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการนำคนไทยไปพักไว้ในประเทศที่ 3 นายเศรษฐา กล่าวว่า กต.กำลังเจรจาอยู่ ซึ่งน่าจะมีประเทศอียิปต์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  และเมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ก็พยายามคุยกันอยู่ ถ้าหากเข้าไม่ได้ก็พักคอยไว้ แล้วหากมีสายการบิน สามารถบินเข้า-ออกได้ ก็ให้รับมาเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว

“ยืนยันว่าจะทำทุกวิถีทางที่สามารถทำได้ ซึ่งจากการพบกับทูตอิสราเอลเมื่อสักครู่ ผมมีความสบายใจขึ้นมานิดหนึ่ง  เพราะท่านทูตยืนยันว่าไม่ต้องห่วง ตอนนี้พร้อมหมด ใครจะมาถ้ามีเครื่องบินพอก็สามารถออกมาได้หมด ซึ่งสามารถขนย้ายคนมาอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว และในพื้นที่สู้รบ 0-4 กิโลเมตร ซึ่งในฉนวนกาซา 99% ของคนไทยหรือชาวต่างชาติที่เป็นผู้บริสุทธิ์ได้ถูกอพยพออกจากพื้นที่สู้รบแล้ว ตอนนี้ต้องไปดูว่าพื้นที่โซน 4-9 กิโลเมตร จะทำอย่างไรต่อไป ก็จะพยายามเต็มที่”นายเศรษฐากล่าว

เมื่อถามว่า จะมีการสนับสนุนค่าเดินทางสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเดินทางออกมาเองหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ตรงนี้ตนเชื่อว่ารัฐบาลรับผิดชอบให้ได้แน่นอน ไม่ใช่ส่วนหนึ่ง แต่เป็นทั้งหมด ซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบตรงนี้

เมื่อถามว่า จะมีโอกาสไปรับคนไทยที่กลับจากอิสราเอลหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องดูเวลาอีกที เพราะวันจันทร์ที่ 16 ต.ค. มีภารกิจต้องเดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน และซาอุดีอาระเบีย วันนี้มีหลายอย่างที่อยากทำ มีคนเจ็บก็อยากไปเยี่ยม และพยายามดูจังหวะเวลาว่าง อย่างวันที่ 14 ต.ค.ก็ต้องลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งตระหนักดีถึงใจเขาใจเรา มีคนเดือดร้อน และมีคนไม่สบายใจเยอะในเรื่องนี้

เศรษฐายันบินรับคนไทยทุกวัน

ในช่วงเย็น นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ได้รับรายงานว่าวันนี้ทีม กต.ได้หารือกับการบินไทย นกแอร์ และแอร์เอเชีย เพื่อวางแผนจัดเที่ยวบินอพยพคนไทยกลับจากอิสราเอลโดยด่วน ตั้งแต่นี้ไปจนถึงสิ้นเดือนนี้จะมีเที่ยวบินไปรับพี่น้องคนไทยที่ต้องการกลับบ้านกลับมาไทยทุกวันจนจบภารกิจ ขอขอบคุณทั้งสามสายการบินเป็นอย่างยิ่ง ที่สนับสนุนเครื่องบินเพื่อช่วยเหลือคนไทยในภารกิจสำคัญนี้ด้วย

ขณะที่นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ จะจัดเที่ยวบินอพยพคนไทยครั้งที่ 3 นำแรงงานคนไทยจำนวน 100 คนกลับไทย โดยสายการบิน Fly Dubai เที่ยวบิน FZ1550 ออกเดินทางจากอิสราเอลในวันที่ 14 ต.ค.2566 เวลา 11.00 น. เปลี่ยนเครื่องที่นครดูไบ เพื่อโดยสารต่อโดยเที่ยวบิน FZ1837 ออกจากนครดูไบเวลา 20.00 น. และถึงไทยในวันที่ 15 ต.ค.2566 เวลา 07.25 น. ที่สนามบินอู่ตะเภา จากนั้นจะมีรถบัสรับจากอู่ตะเภาไปยังโรงแรมเอสซี พาร์ค เพื่อให้ญาติพบและรับแรงงานกลับภูมิลำเนาต่อไป โดยคาดว่าจะถึงโรงแรมดังกล่าว ประมาณ 10.00 น.เป็นต้นไป

นางกาญจนายังแถลงความคืบหน้าสถานการณ์การสู้รบในอิสราเอลหลังการประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินเพื่อติดตามสถานการณ์ในอิสราเอลว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายเศรษฐาได้เชิญทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยหารือ และขอให้อิสราเอลช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดส่งคนไทยกลับประเทศโดยเร็วที่สุด และขอให้ช่วยดูแลความปลอดภัยและการลำเลียงมายังสนามบิน ซึ่งทูตอิสราเอลได้รับปาก และยังได้คุยกับสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์เพิ่มเติม เพื่อจัด Charter Flight ในการอพยพคนไทยจำนวน 250 คน ออกเดินทางในวันที่ 16 ต.ค.2566 โดยรอยืนยันเวลาเดินทางถึงไทย ขณะเดียวกันยังมีเที่ยวบินของกองทัพอากาศอพยพคนไทย 135 คนจะเดินทางถึงประเทศไทย เวลา 04.00 น. โดยขณะนี้มีผู้ที่ประสงค์จะกลับประเทศไทย 6,778 ราย ผู้ประสงค์อยู่ต่อ 85 ราย นอกจากนี้ยังได้สำรองเที่ยวบินพาณิชย์สำหรับอพยพคนไทย แต่ขอยังไม่เปิดเผยรายละเอียด โดยมีการตั้งเป้าอพยพให้ได้วันละ 400 คน จากทุกช่องทาง หากเป็นไปได้จะเดินทางกลับประเทศไทยทุกวัน

“ยังมีแผนสำรองโดยการอพยพคนไทยออกไปที่ประเทศจอร์แดนและประเทศใกล้เคียง และให้สายการบินไทยไปรับกลับประเทศ ซึ่งจะรองรับได้เป็นจำนวนมาก โดยเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงจอร์แดนได้มีการไปพูดคุย รวมถึงขอให้มีการผ่อนปรนเอกสารหลักฐานบางคนที่ยังมีไม่ครบถ้วน รวมถึงกรณีการเดินทางทางบกโดยรถยนต์ ขณะที่แผนการให้ความช่วยเหลือก็จะปรับไปตามสถานการณ์ และดูพัฒนาการของอิสราเอล ส่วนกรอบเวลาการอพยพคนไทยนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย”

นางกาญจนายังกล่าวถึงแรงงานไทย 26 คน ที่จ่ายเงินซื้อตั๋วเครื่องบินกลับมาเองว่า ที่ประชุมสถานการณ์ฉุกเฉินได้มีการพูดคุย โดยเห็นชอบในหลักการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่เดินทางกลับไทยตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ประกาศสภาวะสงคราม โดยแรงงานไทยที่เดินทางกลับต้องยื่นหลักฐานประกอบด้วยบอร์ดดิ้งพาส ใบเสร็จหรือตั๋วเครื่องบิน ประกอบกับเอกสารหลักฐานแสดงตนหนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวประชาชน ยื่นผ่านแรงงานจังหวัดและกระทรวงแรงงาน

เจรจาหยุดยิงถึงช่วยตัวประกันได้

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ช่วยอำนวยความสะดวกแรงงานไทยซึ่งเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สงครามและหลบหนีมาจากพื้นที่อันตราย 19 คน ด้วยเที่ยวบินของสายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบินที่ LY085 ออกเดินทางจากกรุงเทลอาวีฟ เวลา 04.30 น. ของวันที่ 13 ต.ค.2566 และจะเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา 17.15 น. ของวันเดียวกัน โดยเป็นเที่ยวบินที่ 2 ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดส่งคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดรถพาแรงงานไทยบางส่วนไปสนามบินพร้อมเตรียมอาหาร น้ำดื่มให้แรงงานทั้ง 19 คน

ขณะที่นายวาลิด อาบู อาบี เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งรัฐปาเลสไตน์ประจำประเทศไทย ซึ่งพำนักอยู่มาเลเซีย ระบุถึงการช่วยเหลือตัวประกันที่ถูกจับตัวไปโดยเป็นแรงงานไทย 16 คน ว่าขณะนี้การสู้รบยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าจะหยุดยิง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าไปตรวจสอบว่าขณะนี้ตัวประกันที่ถูกจับตัวในฉนวนกาซามีตัวประกันจากชาติใดบ้าง สิ่งที่ทำได้ต้นสังกัดหรือประเทศผู้ที่มีแรงงานไปทำงานอยู่และหายตัวไป แล้วหาไม่เจอก็น่าจะคาดการณ์ว่าคนเหล่านั้นหายตัวไปเนื่องจากถูกจับเป็นตัวประกัน

“การช่วยเหลือจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเจรจาหยุดยิงก่อน หลังจากหยุดยิงแล้วจะมีความปลอดภัยสูง ที่จะให้หน่วยงานต่างๆ เข้าไปเจรจา และให้มีการอนุญาตปล่อยตัวประกัน ขณะนี้สถานะของเหตุการณ์ยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นนั้น”

สำหรับการเจรจาหยุดยิง ขณะนี้ปาเลสไตน์พยายามที่จะขอให้ประชาคมโลกมาเป็นตัวกลางนำไปสู่การเจรจาเพื่อหยุดยิง แต่ยังไม่มีท่าทีทางอิสราเอลจะยอมรับในเงื่อนไขตรงนี้ เพราะยังมีการโจมตีต่อเนื่องตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา คาดหวังว่าประชาคมโลกจะสามารถนำไปสู่การเจรจาหรือการพูดคุยในทางการเมืองระหว่างประเทศได้ ก็สามารถที่จะนำไปสู่เรื่องการหยุดยิงได้ หากการหยุดยิงเกิดขึ้น ก็จะมีกระบวนการอื่นๆ เกิดขึ้นต่อมา ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกันนำไปสู่กระบวนการต่างๆ รวมไปถึงการช่วยเหลือตัวประกัน

“ผมอยากเรียกร้องให้เข้าสู่กระบวนการพูดคุย และไม่ให้เกิดความรุนแรง เพราะการต่อสู้ในลักษณะเช่นนี้ผลกระทบไม่ได้เกิดกับทหารอย่างเดียว แต่กระทบไปถึงพลเรือน เด็กผู้ สูงอายุ ผู้หญิง คนบริสุทธิ์ ที่เสียชีวิตไปจำนวนมาก ทั้งฝั่งปาเลสไตน์และฝั่งอิสราเอล”

ขอย้ำว่า เรื่องของการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างปาเลสไตน์หรือกลุ่มฮามาสกับอิสราเอลเท่านั้น ตัวประกันที่เป็นต่างชาติจะมีจำนวนเท่าไหร่ก็แล้วแต่ที่ถูกจับตัวไป ไม่ใช่เรื่องของตัวประกัน หรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนชาติอื่น เพราะฉะนั้นยืนยันว่ากรณีที่มีการหยุดยิง ถึงจะมีโอกาสดำเนินการช่วยเหลือตัวประกันได้  หากยังไม่มีความปลอดภัยใครจะเข้าช่วยเหลือตัวประกันในขณะที่มีกระสุนปืนและระเบิดอยู่

มีรายงานอีกว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค. นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด (อสส.) ได้มีบันทึกข้อความด่วนที่สุด ถึงสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ (สคช.) สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดและสาขา (สคชจ. และ สคชจ. สาขา) เป็นผู้รับผิดชอบให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแรงงานไทยและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน กล่าวว่า อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนหลายจังหวัด ได้ลงพื้นที่ติดต่อครอบครัวแรงงานไทยในอิสราเอล ประสานงานการให้ความช่วยเหลือ โดยมีปัญหาที่พบแล้ว เช่น การกู้ยืมเงินทั้งนอกระบบและในระบบเพื่อไปทำงานอิสราเอล, เสียชีวิตที่อิสราเอล แต่มีบัญชีเงินฝาก มีที่ดิน ทรัพย์สินอยู่ที่เมืองไทยจะทำอย่างไร และติดต่อไม่ได้หายตัวไปในอิสราเอลจะแก้ปัญหากันอย่างไร

แรงงานหญิงแฉนายจ้าง

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของครอบครัวแรงงานไทย ในส่วนของ จ.นครพนม ซึ่งมีการตั้งวอร์รูมเป็นศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์สู้รบในอิสราเอล น.ส.ยุพิน ทองดีนอก อายุ 30 ปี บ้านเลขที่ 190 หมู่ 10 บ้านหนองบัว ต.หนองญาติ อ.เมืองฯ จ.นครพนม นำเอกสารหลักฐานของ น.ส.จารุวรรณ จันทะวงษ์ หรือหนุ่ย อายุ 35 ปี ซึ่งเป็นพี่สาวของสามีมายื่นความจำนงขอกลับประเทศ เนื่องจากพี่สามีวิดีโอคอลมาหา และบอกว่าถูกนายจ้างบังคับให้ออกไปทำงานในสวนผักตามปกติ แม้ว่าบริเวณนั้นเป็นพื้นที่สีแดง  ถ้าไม่ยอมไปทำงานจะถูกไล่ออกทันที และจะไม่มีที่หลบภัย จำเป็นต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายออกไปทำงาน

ทั้งนี้ ในบริเวณเดียวกัน มีแรงงานชาวอีสานรวมกันเกือบ 50 คน และเป็นชาว จ.นครพนมประมาณ 10 คน ที่ยังพักในแคมป์คนงานเดียวกัน และไม่ยอมออกไปทำงานตามนายจ้างสั่ง ทางญาติจึงต้องประสานขอความช่วยเหลือจากทางภาครัฐเข้าไปดูแลอำนวยความสะดวกในการกลับไทย

นายนพพร มานะ แรงงานจังหวัดนครพนม กล่าวว่า มีญาติแรงงานไทยชาว จ.นครพนม ไปทำงานในอิสราเอล มาขึ้นทะเบียนขอรับการช่วยเหลือ เพราะขาดการติดต่อ และยังรอการช่วยเหลือกลับไทย ที่มายืนยันตัวตนแล้ว 50 ราย มีการสูญหายขาดการติดต่อรวม 5 ราย ส่วนภาพรวมมีแรงงานชาวนครพนม ไปทำงานมากกว่า 2,100 ราย แต่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยประมาณ 330 ราย อยู่ระหว่างการประสานช่วยเหลือเร่งด่วนทุกช่องทาง หากกลับถึงไทยจะได้ดูแลการชดเชยเยียวยาทุกรายตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

ขณะที่นายชลวิทย์ สุธา อายุ 30 ปี หรือโอเล่ แรงงานไทยชาวบ้านกอก หมู่ 5 ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม ได้แชตวิดีโอคอลมายืนยันความปลอดภัย และสะท้อนความเป็นอยู่ของกลุ่มเพื่อนแรงงานที่ร่วมชะตากรรมด้วยกัน รวม 32 คน  โดยมีชาวนครพนมอยู่ 5 คน ปัจจุบันได้รับการช่วยเหลือจากทหารอิสราเอลนำไปอยู่ในศูนย์อพยพพื้นที่ปลอดภัย เพื่อรอคิวเดินทางกลับไทยในวันที่ 15 ต.ค.นี้

ขณะที่นางตุรัตน์ สุธา อายุ 57 ปี แม่ของหนุ่มโอเล่ กล่าวว่า หลังทราบข่าวแล้วดีใจมาก จากกังวลนอนไม่หลับแต่วันแรกที่เกิดการสู้รบ เพราะลูกชายบอกสงครามรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ในรอบการเดินทางไปทำงานเกษตรของลูกชาย เข้าสัญญาปีที่ 5 เหลือสัญญาอีก 1 ปีเท่านั้น โดยขอให้กลับถึงไทยโดยเร็ว และไม่ขอให้ลูกชายกลับไปทำงานอีก สิ่งสำคัญวางแผนจะจัดงานบวชให้รับขวัญเป็นสิริมงคลกับครอบครัว

ด้านครอบครัวของนางศิริพร แสงบุญ อายุ 47 ปี ชาวบ้านดอนแดงหมู่ 9 ต.คำเตย อ.เมืองฯ จ.นครพนม ที่ลูกชายคนโตนายทีปกร แสงบุญ หรือออย อายุ 27 ปี ได้ไปทำงานในสวนเกษตรเมื่อกลางปี 2565 ในตำแหน่งคนขับรถไถสวนการเกษตร ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ก็ไม่ได้ติดต่อทางญาติเลย จึงทำให้คนในครอบครัวกระวนกระวายใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ แม้พยายามติดต่อก็ไม่มีสัญญาณตอบรับ ล่าสุดออยได้วิดีโอคอลเฟซบุ๊กมาหา แม้จะอยู่ในสภาพที่อิดโรย แต่ก็ทำให้ครอบครัวพากันดีใจอย่างมาก

โดยออยเล่าเหตุการณ์ในวันที่ 7 ต.ค.ว่า เป็นวันเสาร์ ถือเป็นวันหยุดของคนงานทั่วไป ทุกคนส่วนใหญ่จะอยู่กันในแคมป์ที่พัก และนอนพักผ่อน บางคนก็ยังไม่ตื่น จู่ๆ มีเสียงหวอเตือนภัยดังขึ้น คนงานต่างตกใจเตรียมคว้าสิ่งของที่จำเป็นเพื่อวิ่งเข้าหลุมหลบภัย ยังไม่ทันจะหยิบฉวยอะไร ปรากฏกลุ่มฮามาสกรูกันเข้ามาในพื้นที่แคมป์คนงาน ขณะที่บนท้องฟ้ามีจรวดพุ่งเป็นสายนับสิบลูกข้ามหัวพวกตนไป ทำให้คนงานต่างวิ่งหนีตายอย่างไร้ทิศทาง โดยมีเสื้อผ้าติดตัวกับโทรศัพท์มือถือเท่านั้น พร้อมมีเสียงปืนกราดยิงไล่หลังถี่ยิบ

 “เมื่อหนีพ้นวิถีกระสุนจากกลุ่มฮามาส ก็หาที่ซ่อนตัวกัน โดยเข้าไปในหมู่บ้านชาวอิสราเอลที่กลายเป็นเหมือนบ้านร้าง เพราะเจ้าของบ้านอพยพหนีตายไปกันหมด จึงเข้าไปค้นหาอาหาร มีเพียงขนมปังที่คนพื้นเมืองนิยมกิน จึงหยิบใส่ถุงไว้กินระหว่างหลบหนี โดยอาศัยหลับนอนในสวนเกษตร ยามค่ำคืนไม่มีแม้แต่แสงไฟ แต่ละคนอยู่ด้วยความหวาดกลัว ส่วนอาหารที่เป็นขนมปังจะกินแค่คำสองคำ เพื่อประทังความหิวเท่านั้น เพราะมีน้อยนั่นเอง กระทั่งเดินเท้ามาถึงเขตชุมชน ก็เข้าสู่วันที่ 7 ของการหลบหนีจากแคมป์ มีสัญญาณโทรศัพท์ แต่ละคนดีใจรีบกดหาครอบครัวที่เมืองไทย ขณะที่บางคนแบตเตอรี่หมด ต้องยืมของเพื่อนโทร.หาญาติ โดยสถานที่แรกที่ติดต่อคือสถานทูตไทย เมื่อแจ้งพิกัดกับเจ้าหน้าที่แล้ว ไม่นานก็มีทหารเข้ามารับตัวไปยังศูนย์อพยพ พร้อมยื่นความต้องการขอเดินทางกลับบ้าน โดยจองตั๋วเครื่องบินได้วันที่ 18 ต.ค.นี้” นายออยเล่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จ่อผุด13อรหันต์นิรโทษ

กรมคุกร่อนแถลงการณ์ ยันทัณฑสถานราชทัณฑ์ช่วยชีวิต ‘บุ้ง ทะลุวัง‘ ตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเต็มกำลัง