ธปท.แจงกมธ.เงินดิจิทัลจำเป็นน้อย

นายกฯ เลื่อนถกบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต 24 ต.ค.นี้ออกไปก่อน เหตุอนุฯ ชุดเล็กยังทำข้อมูลไม่เสร็จ 

“จุลพันธ์” เผยเรื่องแหล่งเงิน แจกใครบ้าง ยังไม่มีคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์  ส่อเลื่อนแจก อ้างเพราะพัฒนาแอปพลิเคชันไม่ทัน เกรงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ไม่กลัวเป็นจำนำข้าว 2 ยันไม่โกงโดยเฉพาะตัวเอง ขณะที่ “แบงก์ชาติ” ชี้แจง “กมธ.เศรษฐกิจ” ย้ำ “ดิจิทัลวอลเล็ต” จำเป็นน้อย

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ภายหลังมีรายงานข่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2566 ในวันอังคารที่ 24 ต.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ที่ห้องเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล  และมีการเลื่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเป็นวันพุธที่ 25 ต.ค. เวลา 09.00 น. ที่ห้อง 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 แทน

ล่าสุด มีการแจ้งยกเลิกวาระการประชุมดังกล่าวนี้ออกไปก่อน เนื่องจากคณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตฯ อยู่ระหว่างทำข้อมูลยังไม่เสร็จเรียบร้อย จึงต้องเลื่อนการประชุมออกไป อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าวให้กลับมาประชุมครม.ตามเดิม

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงเรื่องกรอบระยะเวลาของโครงการ ซึ่งโจทย์ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง วางไว้คือ 1 ก.พ.2567 โดยเรียนตามตรงว่า เป็นเวลาที่ค่อนข้างตึง และไม่ง่าย ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องเลื่อน ก็ต้องเลื่อน เชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ติดใจในประเด็นนี้ หากเป็นการเลื่อนด้วยเหตุผลที่เหมาะสม และมีความจำเป็นจริงๆ

 “ไม่ได้หมายความว่าเราจะเลื่อนจากกรอบเวลา 1 กุมภาพันธ์ 2567 แต่หมายความว่าสุดท้ายแล้วถ้าแอปพลิเคชันที่จะใช้ในการดำเนินการ จำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนา และสิ่งสำคัญที่ต้องดูคือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ความมั่นคงของตัวระบบ ดังนั้นถ้าจะเอาเรื่องพวกนี้มาแลกกับเวลาคงไม่ได้ เรารู้อยู่แล้วว่ากระบวนการทำแอปพลิเคชัน สิ่งที่ใช้เวลานานที่สุดคือการทดสอบระบบ ทดสอบการโดนโจมตี ผมจะซื้อเวลาพวกนี้ไม่ได้เลย ถ้ามันมีความจำเป็นเท่าไหร่ก็ต้องเท่านั้น แต่ต้องตอบให้ได้ว่าช้าเพราะอะไร แต่ก็มีเดดไลน์ไว้ว่าจะต้องไม่เกินไตรมาส 1/2567”

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังต้องหารือในหลายประเด็น ทั้งเรื่องแหล่งเงิน ซึ่งมีการหารือกัน แต่ยังสรุปไม่ได้ ไม่ใช่ไม่มีข้อสรุป โดยเพดานของโครงการอยู่ที่ 5.48 แสนล้านบาท ซึ่งสุดท้ายต้องมาหารือกับคณะทำงานว่าจะมีการกำหนดกรอบผู้ได้รับสิทธิ์อย่างไร จำเป็นจะต้องตัดคนรวยไหม เพราะมีทั้งข้อเสนอให้ตัด และไม่ให้ตัด รวมถึงมีข้อเสนอให้จ่ายเป็นเฟส ตรงนี้ก็ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณา แต่ยังไม่ได้มีการสรุป ดังนั้นสุดท้ายแล้วว่าจะใช้เงินเท่าไหร่ คนเท่าไหร่ ก็ยังตอบไม่ได้ ไม่มีคำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์

โดยรัฐบาลยังยืนยันว่า นโยบายนี้เป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่การสงเคราะห์ ไม่ใช่นโยบายช่วยเหลือคนยากจน ดังนั้นต้องให้มีเม็ดเงินมากเพียงพอที่จะมีผลกับการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับมาในระดับที่เต็มศักยภาพ เพราะที่ผ่านมาเห็นการเติบโตที่ต่ำมาโดยตลอด มีการปรับลดคาดการณ์จีดีพีลงอย่างต่อเนื่อง เหลือ 2.6-2.8% หากรัฐบาลไม่ทำอะไร ปล่อยไว้ หลายส่วนก็คาดว่าจีดีพีอาจจะต่ำไปกว่านี้ แต่ตอนนี้รัฐบาลมีหลายนโยบายออกมา ทั้งเรื่องกระตุ้นการท่องเที่ยว ลดราคาพลังงาน ทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจมากขึ้น ด้วยกลไกที่รัฐบาลทำระดับนี้ และเศรษฐกิจไทยที่ยังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีก จึงมองว่ากลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะเป็นจุดหนึ่งที่ช่วยจุดประกายให้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น หลังจากนั้นรัฐบาลจะมีนโยบายอื่นๆ  ประกอบตามมา เพื่อให้การเติบโตเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่เฉลี่ย 5%

 “ถามว่าหากมีการกำหนดกรอบ หรือเกณฑ์ของผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการ ก็ยอมรับว่าอาจจะขัดกับนโยบายที่ได้เสนอไว้ตอนหาเสียงว่าจะจ่ายให้ทุกคนที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นรัฐบาลผสม นโยบายบางข้อต้องมาพูดคุยเพื่อหาข้อสรุป จะยืนแข็งเป็นหินคงทำไม่ได้ ต้องมีจุดร่วมที่เหมาะสม เพราะตอนแรกยังไม่แน่ใจว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อชัดเจนแล้วว่ามีการเดินหน้าโครงการ ก็มีคนออกมาตั้งข้อสังเกต รัฐบาลก็พร้อมรับฟัง และนำมาปรับในสิ่งที่เหมาะสม” นายจุลพันธ์กล่าว

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าจะซ้ำรอยโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่นั้น ไม่กังวล เพราะมั่นใจว่านโยบายนี้ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะตน มั่นใจมากว่าไม่มี เราแค่ต้องดูให้รอบคอบ รัดกุม ปฏิบัติตามกฎหมายทุกระดับอย่างเคร่งครัด มีกลไกในการตรวจสอบติดตาม ทั้งในส่วนนโยบายและการใช้จ่ายจริง หากไม่ได้มีการใช้จ่ายจริง โดยเป็นการแลกสิทธิ์เป็นเงินสด ก็มีกระบวนการติดตามตรวจสอบและดำเนินคดีได้อย่างครบถ้วน

สำหรับประเด็นเรื่องการใช้วงเงินในการพัฒนาแอปพลิเคชันหลักหมื่นล้านบาทที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้นั้น รมช.การคลังกล่าวว่า ยืนยันว่าตัวเลขที่จะใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าตกใจ ไม่ใช่ตัวเลขเป็นพันล้านบาทหรือหมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน แต่ยังไม่ได้คุยชัดเจนในประเทศนี้ ตนไม่รู้ว่าข่าวดังกล่าวที่ออกไป ไปเอาตัวเลขมาจากไหน ส่วนเงื่อนไขการใช้จ่ายที่เดิมกำหนดไม่เกิน 4 กิโลเมตรจากทะเบียนบ้านนั้น ตอนนี้ตัวเลือกที่เหลือคือสามารถใช้จ่ายได้ในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด หากเป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็เป็นเขต เป็นแขวง

ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ มีวาระพิจารณานโยบายของรัฐบาลว่าด้วยดิจิทัลวอลเล็ต โดยมี น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน พร้อมด้วยตัวแทนจากกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้แจงให้ข้อมูล 

ในช่วงต้นของการประชุม น.ส.ดารณี ย้ำว่า โครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท โดยผู้ที่มีสิทธิ์จะต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินจำนวน 1 หมื่นบาท ซึ่งรัฐบาลต้องการกระตุ้นอุปโภคบริโภคของประชาชน แต่มุมมองของ ธปท. เห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกที่เกี่ยวกับการบริโภคภาคเอกชน มองว่าความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมผ่านโครงการนี้ยังมีไม่มาก เนื่องจากภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้สูง และตลาดแรงงานก็ฟื้นตัวต่อเนื่อง ดังนั้น ผลของโครงการต่อเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ด้านนายสิทธิพล เปิดเผยภายหลังการประชุมว่าทางกระทรวงการคลังไม่ได้ชี้แจงเรื่องแหล่งที่มาของเงิน บอกแต่เพียงว่ากรอบงบประมาณที่ใช้จะคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง โดยไม่ได้บอกว่าจะมีการนำแหล่งเงินจากการยืมจากรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ซึ่งกมธ.จะมีการติดตามความคืบหน้าของโครงการการนี้ต่อไป

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร  ยื่นหนังสือต่อประธานกกต.เพื่อขอให้กกต.ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล หลังจากที่นี้ได้ไปยื่นให้ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน   ซึ่งมีอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน  2561 มาตรา 8  ในกรณีที่เห็นว่านโยบายของรัฐบาล อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านงบประมาณและวินัยการเงินการคลังก็สามารถที่จะตรวจสอบเรื่องนี้ได้   และหากพบว่าผิดก็สามารถที่จะเชิญประธาน กกต. และ ประธาน ป.ป.ช.มาประชุมเพื่อพิจารณาและทำรายงานเสนอให้รัฐบาลล้มเลิกโครงการนี้

 “เสนอเรื่องนี้เพื่อให้สื่อและประชาชนทราบว่าขณะนี้มีกฎหมายใหม่  ที่จะสามารถหยุดยั้งกระบวนการที่ไม่ชอบ และเห็นว่าสิ่งที่นี้เป็นเรื่องที่เราร่วมกันล้อมคอกก่อนวัวหาย  เพราะที่ผ่านมาเรามักจะล้อมคอกเมื่อวัวหายไปแล้ว ฉะนั้นการที่ได้ยื่นต่อประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน  เพื่อให้ท่านเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้  ถ้าพบว่าข้อเท็จจริงที่จะสามารถพิจารณายับยั้งได้ก็ขอให้เรียนเชิญประธาน กกต. และ ประธาน ป.ป.ช. มาประชุมร่วมกันเพื่อลงมติว่าควรจะยับยั้งเรื่องนี้หรือไม่"น.ส.รสนากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง