ปชป.ยังวุ่นลุ้น9ธ.ค.ได้หน.ใหม่

"ก้าวไกล" เปิดพรรค ถกคณะอนุฯ ฟังความเห็นแก้ รธน. ชง 3 ข้อเสนอจัดทำประชามติ แนะเพิ่มคำถามพ่วงเพื่อสร้างฉันทามติใหม่ "นิกร" ปลื้มได้รับความร่วมมือแม้ยังมีความเห็นต่าง พร้อมเชิญ “ไอติม” เข้าทำเนียบฯ ฟังภาคประชาชน 15 พ.ย. "ศาล รธน." นัดถกคดี "พิธา" ถือหุ้นสื่อ "ก้าวไกล" เสนอนโยบายแก้ ม.112 พุธนี้ "ปชป." วุ่น! "จุรินทร์" ไขก๊อกรักษาการหน.พรรค เคาะ 9 ธ.ค.เลือก กก.บห.ชุดใหม่ ตั้ง "เฉลิมชัย" รักษาการหัวหน้า พร้อมเพิ่มองค์ประชุม 150 คน สแตนด์บายหากองค์ประชุมไม่ครบ

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 14 พ.ย. เวลา 07.50 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ  กล่าวถึงกรณีคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติจะเดินทางไปพบพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เพื่อหารือและรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำประชามติเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า เป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นการสร้างความบริสุทธิ์ใจ

"การไปพบพรรค ก.ก.จะทำให้เห็นว่า ถึงแม้ทางพรรค ก.ก.จะค้านไม่ยอมเข้ามา เราก็แสดงความจริงใจ ซึ่งในวันที่ 15 พ.ย. จะมีการเชิญตัวแทนภาคประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น จึงอยากจะให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงจุดสำคัญ  คือถ้าไม่แก้แล้วให้มีความเป็นไปได้ให้ผ่าน ก็จะต้องอยู่ระบบนี้ไปอีกนาน หากเราแก้แล้วพยายามทำให้มันผ่าน ก็ไม่มีใครได้อะไร 100% ทั้งหมด ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ หลายๆ คนช่วยกันแก้ปัญหาให้ระบบช่วยคลี่คลายและแก้ได้มากขึ้น" นายภูมิธรรมกล่าว

ต่อมาคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ซึ่งมีนายนิกร จำนง เป็นประธาน พร้อมคณะ เดินทางไปที่พรรค ก.ก. โดยมีนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคให้การต้อนรับ และร่วมหารือรับฟังความเห็น เกี่ยวกับการจัดทำประชามติเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

จากนั้นเวลา 12.00 น. นายชัยธวัช ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือว่า การรับฟังในวันนี้เป็นไปได้ด้วยดี ได้มีการแลกเปลี่ยนกันในรายละเอียดหลาย ๆเรื่อง ซึ่งพรรคก้าวไกลมี 3 ข้อเสนอหลัก คือ 1.กระบวนการจัดทำประชามติควรจะมีกี่ครั้ง 2.คำถามในการทำประชามติครั้งแรกควรจะเป็นอย่างไร 3.ข้อเสนอในการแก้ไข

โดย 1.กระบวนการจัดทำประชามติ พรรคเสนอควรจะมีการทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่ง 2 ครั้งหลังให้เป็นไปตามกระบวนการตามธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต้องมีอยู่แล้ว แต่ในส่วนของครั้งแรกควรจะต้องมีการจัดทำประชามติก่อน ก่อนที่สภาจะมีกระบวนการในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม

2.สำหรับคำถามในการทำประชามติครั้งแรกควรจะเป็นอย่างไร พรรคจึงได้นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ว่า ควรจะออกแบบคำถามในการจัดทำประชามติครั้งแรก โดยมีคำถามหลักหนึ่งคำถาม แล้วจึงมีคำถามพ่วงสองคำถาม ซึ่งคำถามหลักควรจะเป็นคำถามที่กว้างที่สุด และสามารถสร้างความเห็นร่วมได้มากที่สุด คือ “เห็นชอบหรือไม่ที่ควรจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.” ซึ่งเราคิดว่านี่จะเป็นคำถามที่เราสามารถทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย และไม่ทำให้มีเงื่อนไขปลีกย่อยที่ทำให้เกิดการเห็นแตกต่างกัน ในการคัดค้านการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่ต้น ในส่วนของคำถามพ่วงอีกสองคำถาม คือ "เห็นด้วยหรือไม่ในการแก้ไขรัฐธรรม โดยคงไว้ในหมวดหนึ่งหมวดสอง" และคำถามพ่วงที่สองคือ “เห็นชอบหรือไม่ ที่จะให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด”

3.ข้อเสนอแก้ไข พรรคได้เสนอว่าควรให้คณะอนุกรรมการฯ และกรรมการชุดใหญ่ของรัฐบาล หาข้อยุติในประเด็นนี้ให้ได้ก่อน เพราะหากได้ข้อยุติร่วมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เราก็จะสามารถร่วมมือกัน เพื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมได้ทันทีหลังเปิดสมัยประชุมสภาฯ

ก.ก.ชง 3 ข้อทำประชามติ

ด้านนายนิกรกล่าวว่า ผลการหารือเป็นไปตามที่คาดหวัง ได้รับฟัง และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แม้จะยังมีประเด็นที่ยังเคลือบแคลงว่ายังมีความเห็นต่าง แต่ทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็นตรงกันว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย รวมถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการฯ ของรัฐบาล ก็ได้คลี่คลายหลักการกันเป็นที่เข้าใจ

สำหรับข้อเสนอ 3 ข้อของพรรคก้าวไกลนั้น ในเรื่องจำนวนครั้งของการทำประชามติ มีความเห็นสอดคล้องกับคณะอนุกรรมการฯ โดยประชามติ 2 ครั้งท้าย มีสภาพบังคับตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่การทำครั้งแรกมีความสำคัญมาก เพราะเป็นการเริ่มนับหนึ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คำถามประชามติเป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีความรวบรัด ชัดเจน ไม่ซับซ้อน ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย อีกทั้งรัฐบาลก็มีภารกิจกับคำแถลงของตัวเอง เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา จากการที่ ครม.ได้เห็นชอบให้ดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะหมวด 2 เป็นทั้งนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และเป็นมติ  ครม.

นายนิกรกล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องการคัดเลือก ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง 100% นั้น พรรค ก.ก.ยังมองต่างจากฝ่ายรัฐบาล ที่มองว่าควรมีสัดส่วนอาชีพอยู่บ้าง เช่น นักวิชาการ โดยอาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งคงต้องพูดคุยกันต่อไปในรายละเอียด

"วันที่ 15 พ.ย. คณะอนุกรรมการฯ จะเชิญประชาชนอีก 15 กลุ่มอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ถือเป็นเวทีใหญ่ซึ่งจัดขึ้น ณ ทำเนียบรัฐบาล จึงประสงค์เชิญนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย" นายนิกรกล่าว

ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีรายงานว่า ในวันที่ 15 พ.ย. เวลา 09.30 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมประจำสัปดาห์ตามปกติ โดยมีวาระที่น่าสนใจคือ การนัดพิจารณาคดีต่อกรณีที่ กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล (ก.ก.) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินกระบวนพิจารณามาแล้ว 11 ครั้ง เรียกให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งเอกสารหลักฐานจำนวน 12 ราย

รวมทั้งคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพระพุทธะอิสระ ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธาและพรรค ก.ก.ที่เสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

"การประชุมดังกล่าวเป็นการนัดประชุมเพื่อวางแนวทางและหลักเกณฑ์ของการพิจารณาคดีเท่านั้น ยังไม่ได้นัดลงมติหรือวินิจฉัยคดี" แหล่งข่าวระบุ

จุรินทร์ไขก๊อกรักษาการ หน.

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป. กล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. ได้ลาออกจากตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคแล้ว โดยแจ้งผ่านกลุ่มไลน์กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) สาเหตุสืบเนื่องจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง มีการระบุชื่อนายนราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป. เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. ซึ่งเป็นเอกสารแจ้งอัปเดตสถานะพรรคการเมืองแต่ละพรรค แม้ว่าล่าสุดทางกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลแล้ว แต่เพื่อไม่ให้มีข้อสงสัยประเด็นข้อกฎหมาย และให้การจัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรคราบรื่น นายจุรินทร์จึงแสดงเจตจำนงลาออกจากรักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. โดยเพิ่งลาออกวันนี้ (14 พ.ย.) เวลา 14.07 น.

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นายนราพัฒน์ยังไม่ได้เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค เนื่องจากต้องมีการประชุม กก.บห.ก่อน โดย กก.บห.พรรคต้องเป็นผู้พิจารณาเลือกรักษาการหัวหน้าพรรค เพื่อให้มีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรคต่อไป

ซักว่าเหตุใดจึงไม่โต้แย้ง นายราเมศกล่าวว่า เราได้ทำการโต้แย้ง โดยทำหนังสือถึงนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งนายสรรเสริญ สมะลาภา รักษาการรองหัวหน้าพรรคได้ชี้แจงไป และตนได้มีการตรวจกฎหมาย 2 ฉบับ ทั้งรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีการระบุไว้ถึงกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมืองลาออก หรือเว้นว่างจากตำแหน่ง แต่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า หากหัวหน้าพรรคลาออกกระบวนการต้องทำอย่างไร แต่กฎหมายที่พรรคการเมืองระบุไว้ให้เป็นไปตามข้อบังคับพรรค ดังนั้นต้องกลับมาดูข้อบังคับพรรคว่าเขียนไว้ว่าอย่างไร ซึ่งของพรรคเราเขียนไว้ชัดเจนว่าหัวหน้าพรรคต้องรักษาการ

 “ผมเชื่อว่าคงเป็นความคลาดเคลื่อน ไม่อยากไปพูดว่ามีความผิดพลาดตรงไหน และเชื่อว่าทุกคนไม่ได้มีเจตนาร้าย ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของพรรคที่เราจะต้องมาพูดคุยกันในส่วนของข้อบังคับพรรค ว่าเรื่องนี้ระบุอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดข้อถกเถียงขึ้น แต่เคยมีการประชุม กก.บห.พรรคเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.66 ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาเพื่อพูดคุยกัน และที่ประชุมมีมติให้นายจุรินทร์ยังคงดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค” นายราเมศกล่าว

เมื่อถามว่า เมื่อนายจุรินทร์ลาออกจากหัวหน้าพรรคในวันนี้ ตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคก็จะเว้นว่าง ไม่ใช่นายนราพัฒน์ใช่หรือไม่ โฆษกพรรค ปชป.กล่าวว่า ถูกต้อง แล้วคงต้องมีการไปพูดคุยกันในที่ประชุม กก.บห. ก่อนจะเข้าสู่ระเบียบวาระในส่วนการกำหนดวันเวลา สถานที่ องค์ประชุมที่จะมีเพิ่มหรือไม่เพิ่ม

วันเดียวกัน นายนราพัฒน์ยืนยันว่า ตนยังมีความตั้งใจเหมือนเดิมที่จะเข้ามาช่วยปรับปรุงพรรค แต่ขอประชุมเพื่อคุยรายละเอียดในวันนี้ก่อนว่าเสียงส่วนใหญ่ยังสนับสนุนให้ตนลงชิงหัวหน้าพรรคเหมือนเดิม

ต่อมาเวลา 14.00 น. พรรค ปชป.มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ โดยใช้เวลาประชุมร่วม 4 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติให้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญพรรค ในวันที่ 9 ธ.ค. รวมทั้งการแก้ไขข้อบังคับให้เพิ่มองค์ประชุมอีก 150 คน มาจากตัวแทนภาค ภาคละ 30 คน เพื่อสำรองกรณีองค์ประชุมไม่ครบ โดยให้สมาชิกพรรคสมัครเข้ามาด้วยตนเอง หากสมัครเกินจำนวนให้ใช้วิธีจับสลาก

ทั้งนี้ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคุณสมบัติสมาชิกที่จะมาเป็นองค์ประชุม 5 คน ประกอบด้วย นายชนินทร์ รุ่งแสง, น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ,  นาวาตรีสุธรรม ระหงษ์, นายธนา ชีรวินิช และนางขนิษฐา นิภาเกษม ตัวแทนสาขาพรรค

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมมีมติตั้งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค อีกหนึ่งตำแหน่ง แทนนายจุรินทร์ที่ลาออกจากตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค  โดยนายเฉลิมชัยสามารถรักษาการได้ทั้งสองตำแหน่ง เพราะข้อบังคับพรรคไม่ได้ห้ามไว้

สำหรับบรรยากาศในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยถึงกรณีที่นายจุรินทร์ลาออกจากรักษาการหัวหน้าพรรค โดยนายสาธิต ปิตุเตชะ รักษาการรองหัวหน้าพรรคภาคกลาง ได้เสนอนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รักษาการรองหัวหน้าพรรค เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค แต่นายองอาจขอถอนตัว จึงทำให้ที่ประชุมโหวตนายเฉลิมชัยเป็นรักษาการหัวหน้าพรรค

"แคนดิเดตหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเสนอใคร แม้ว่านายนราพัฒน์ แก้วทอง ที่เป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคก่อนหน้านี้ จะออกมายืนยันว่ายังสนใจในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็ตาม" แหล่งข่าวระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง