คุก6กปปส.ไล่ปู 6ด.-5ปี9เดือน แต่รอลงอาญา

ศาลสั่งจำคุก 6 กปปส.ชุดเล็ก ชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อความวุ่นวาย ยุให้มีการหยุดงานในบ้านเมือง ตั้งเเต่ 6 เดือน-5 ปี เมตตารอลงอาญาคนละ 2 ปี ยกฟ้อง “กิตติศักดิ์ ปรกติ” อาจารย์ มธ. เปิดคำพิพากษา เป็นการแสดงออกเพื่อต่อสู้ให้เกิดความชอบธรรมตามหลักนิติรัฐนิติธรรมเป็นสำคัญ มิใช่เป็นการกระทำเพื่อตนเอง จำเลยทั้งหมดมอบตัวและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยความกล้าหาญ ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก   ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดี กปปส.ชุดเล็กร่วมกันกบฏ ก่อการร้าย หมายเลขดำ อ.2732/2562 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ฟ้องนายนัสเซอร์  ยีหมะ, นายอุทัย ยอดมณี, นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา, น.ส.จิตภัสร์ หรือตั๊น กฤดากร, นายพานสุวรรณ ณ แก้ว, นายประกอบกิจ อินทร์ทอง และนายกิตติศักดิ์ ปรกติ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุม เป็นกบฏ สมคบกันใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฯ โดยอัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2562 สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย.2556-1 พ.ค.2557

จำเลยกับพวกซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. จำเลยที่ศาลพิพากษาลงโทษ ได้ร่วมกันกับพวกจำเลยคดีนี้ มั่วสุมเป็นกบฏ สมคบกันใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ต่อต้านการบริหารราชการแผ่นดิน และขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้พ้นจากตำแหน่ง ยุยง ปลุกระดม ให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง พวกจำเลยให้การปฏิเสธและได้รับการประกันตัว

โดยศาลพิจารณาพยานหลักฐานคู่ความทั้งสองที่เบิกความตรงกันเห็นว่า  ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่าการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนเเปลงการปกครองทำให้เกิดความเเตกเเยกในบ้านเมือง พฤติการณ์ไม่ใช่การทำกบฏ ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 7  ในข้อหากบฏฯ ส่วนข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมข้อหาอื่นๆ อาทิ ทำให้เกิดความวุ่นวายและทรัพย์สินเสียหาย ยุยงให้มีการหยุดงาน รวมถึงขัดขวางการเลือกตั้ง ศาลลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละรายแตกต่างกัน

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 นายนัสเซอร์ ยีหมะ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 117 วรรคสอง, 215 วรรคหนึ่ง ฐานเข้ามีส่วนให้เกิดการร่วมกันหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล และฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้บทลงโทษที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90  ฐานเข้ามีส่วนให้เกิดการร่วมกันหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล จำคุก 6 เดือน  และปรับ 20,000 บาท

พิพากษาจำเลยที่ 4 น.ส.จิตภัสร์ หรือตั๊น กฤดากร มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 117 วรรคหนึ่ง, 215 วรรคหนึ่ง ฐานร่วมกันยุยงให้เกิดการหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล และฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ฐานร่วมกันยุยงให้เกิดการหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาลจำคุก 9 เดือน และปรับ 40,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน

พิพากษาว่า นายอุทัย ยอดมณี, นายนิติธร ล้ำเหลือ จำเลยที่ 2-3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2), 117 วรรคหนึ่ง, 215 วรรคหนึ่ง 216, 358, 362 ประกอบ 365 (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 36, 152 การกระทำของจำเลยที่ 6 และจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรม รวมห้ากระทง จำคุกคนละ 5 ปี 9 เดือนปรับคนละ 2 แสนบาท

พิพากษาว่า นายพานสุวรรณ ณ แก้ว, นายประกอบกิจ อินทร์ทอง  จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2), 117 วรรคหนึ่ง, 215 วรรคหนึ่ง, 216, 358, 362 ประกอบ 365 (2) การกระทำของจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน รวมจำคุกคนละ 4 ปี 9 เดือน ปรับคนละ 180,000 บาท

ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2-6 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ส่วนจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมีกำหนด 6 เดือนมาก่อน

จำเลยทั้งหมดกระทำความผิดสืบเนื่องจากมีข้อมูลถึงการกระทำที่ไม่ชอบของนักการเมือง จำเลยทั้งหมดจึงมีเจตนารมณ์และเป็นการแสดงออกเพื่อต่อสู้ให้เกิดความชอบธรรมตามหลักนิติรัฐนิติธรรมเป็นสำคัญ มิใช่เป็นการกระทำเพื่อตนเอง จำเลยทั้งหมดมอบตัวและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยความกล้าหาญ ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี เห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 (2) สำหรับจำเลยที่ 1  และมาตรา 56 (1) ข้อหาและคำขออื่นให้ยก

ยกฟ้องนายกิตติศักดิ์ ปรกติ จำเลยที่ 7 เนื่องจากเป็นการขึ้นปราศรัยโดยให้ความเห็นทางรัฐธรรมนูญในการเรียกสิทธิ

ภายหลังการฟังคำพิพากษา นายนัสเซอร์ ยีหมะ จำเลยที่ 1 ในคดีได้เปิดเผยว่า ตนและทนายได้เข้าไปปรึกษาข้อกฎหมายกับทางศาล ว่าคดีอื่นที่ตนเคยโดนโทษจำคุก 6 เดือนมาก่อน แต่ว่าเวลาผ่านไปนานกว่า 5 ปีแล้ว ตามกฎหมายในส่วนของตนจึงสามารถรอลงอาญาได้ แต่ต้องเสียค่าปรับ 20,000 บาทแทน เเละยื่นร้องต่อศาล ต่อมาศาลได้ตรวจสอบเท็จจริงเเล้วพบข้อผิดหลง จึงเเก้ไขคำพิพากษาเป็นว่าให้รอลงอาญา เเละอ่านให้จำเลยที่ 1 ฟัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง