รบ.บอกปชช.อย่ากังวลค่าไฟ!

“รัดเกล้า” บอกประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องค่าไฟ! “เศรษฐา-พีระพันธุ์” ไม่ยอมให้เอฟทีกระฉูดไป 4.65 บาท/หน่วยแน่ “ปลัด พน.” ตื่นบอกเตรียมถก กกพ.ตั้งเป้าหั่นไม่เกิน 4.20 บาท/หน่วย เด็กก้าวไกลขย่มรัฐบาลหมดโปรโมชั่น แนะ 3 แนวทางลดค่าไฟฟ้าฝันแปร

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ยังคงมีความเคลื่อนไหวกรณีสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือเอฟที รอบเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 โดยมีมติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีที่ 89.55 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 4.68 บาท/หน่วย

โดยนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอประชาชนอย่ากังวล เนื่องจากเป็นเพียงข้อเสนอของ กกพ. ซึ่งยังไม่ได้เป็นการพิจารณาจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมั่นใจว่าการพิจารณาจะเป็นไปด้วยความเหมาะสม และเป็นธรรมให้กับประชาชนอย่างแน่นอน โดยจะพยายามทำตัวเลขให้ลดลงได้มากที่สุด ประมาณ 4.20 บาทต่อหน่วย ขณะเดียวกันนายกฯ ได้บอกไปแล้วว่าไม่ยอมให้ค่าไฟขึ้นไปถึงจำนวนดังกล่าว และจะเรียกประชุมเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย

“ยืนยันว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไม่นิ่งดูดายความกังวลใจของนายกฯ เรื่องค่าไฟฟ้า โดยพร้อมพิจารณาให้เหมาะสม เป็นธรรม​ และไม่เป็นภาระให้กับประชาชน เพราะเข้าใจดีถึงความเดือดร้อน ดังนั้นขอประชาชนสบายใจ และไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้”นางรัดเกล้ากล่าว

ด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน (พน.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเตรียมหารือกับ กกพ.เพื่อพิจารณาการคำนวณค่าเอฟทีว่ามีส่วนใดบ้างที่สามารถปรับลดได้เพิ่มขึ้นบ้าง เบื้องต้นคาดว่าจะปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เป็นธรรมมากขึ้น มีการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งที่มีต้นทุนต่ำ รวมทั้งจะหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อของบกลางมาช่วยเหลือเพื่อลดค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบาง พร้อมทั้งการเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด และรณรงค์การอนุรักษ์พลังงาน

“ขอยืนยันว่ากระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามบริหารจัดการค่าไฟฟ้ามาโดยตลอด แต่ด้วยสถานการณ์ด้านราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ก็พยายามทางหาลดให้ได้ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือได้ประมาณ 4.20 บาทต่อหน่วย” นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐกล่าวว่า ค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นในครั้งนี้จะอยู่ในส่วนของค่าเอฟที ซึ่งเกิดจากการคำนวณต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่ผ่านมา ซึ่งต้นทุนค่าเชื้อเพลิงหลักคือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งราคามีความผันผวนสูง เป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาวของกลุ่มประเทศตะวันตก ทำให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ราคาในตลาดโลกจึงปรับตัวสูงขึ้นตาม และที่ผ่านมาไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จึงทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติลดน้อยลง จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่คาดว่าจะสามารถกลับมาผลิตในภาวะปกติได้ในช่วงเดือน เม.ย.2567

“ค่าไฟฟ้าที่ กกพ.ปรับเพิ่มขึ้น อยู่ในส่วนของค่าเอฟที ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนไปตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยหากย้อนดูค่าเอฟทีในอดีตก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะพบว่าค่าเอฟทีของไทยติดลบมาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดสงคราม ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก เมื่อไม่สามารถส่งออกก๊าซได้ ทำให้ราคาก๊าซทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อค่าเอฟที” นายประเสริฐระบุ

ด้านนายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า รู้สึกกังวลกับอัตราค่าไฟในช่วงต้นปีหน้าของพี่น้องประชาชน และกังวลต่อมาตรการของรัฐบาลที่ออกมา ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอ้างว่า เป็นผลงานของรัฐบาลในการลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยกำลังหมดไป เพราะล่าสุดวันที่ 29 พ.ย. กกพ.มีมติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟที สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 เพิ่มขึ้นเป็น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมพุ่งจาก 3.99 บาทต่อหน่วย ไปอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย หลายคนเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมอยู่ดีๆ ค่าไฟถึงขึ้นไปอย่างก้าวกระโดดขนาดนี้ ทั้งที่จริงแล้วต้นทุนค่าไฟของต้นปีหน้าอยู่ที่แค่ 4.05 บาทเท่านั้น ส่วนเกิน 64 สตางค์มาจากไหน

นายศุภโชติกล่าวต่อว่า ย้อนกลับไปถึงมาตรการที่รัฐบาลในอดีตเคยใช้ในการลดค่าไฟ วิธีหลักๆ คือการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แบกภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าไว้ก่อน ซึ่งรัฐบาลเศรษฐาก็ใช้วิธีเดียวกัน ทำให้ปัจจุบันภาระหนี้ที่ กฟผ.แบกไว้มีมูลค่าสูงถึง 95,777 ล้านบาท จน กฟผ.เองแสดงความกังวลถึงการมีมติให้ยืดหนี้ก้อนนี้ออกไป เพราะสร้างต้นทุนให้ กฟผ.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ขาดสภาพคล่อง กระทบต่อความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ย ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อค่าไฟในอนาคตของประชาชนแน่นอน แต่สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้น และไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะรัฐบาล หรือ กฟผ.เอง เลือกที่จะขึ้นค่าไฟเพื่อเอาเงินมาจ่ายหนี้ก้อนที่แบกอยู่ พูดง่ายๆ คือ กฟผ.มีหน้าที่แบกหนี้ไว้ชั่วคราวเท่านั้น รอการเก็บเงินจากประชาชนมาจ่ายหนี้ทีหลัง

“มีการคำนวณว่าหากต้องใช้หนี้ก้อนนี้ รัฐบาลจะทำได้อย่างไร ไม่กี่วันก่อนหน้าที่จะประกาศอัตรา 4.68 บาทต่อหน่วย กกพ.มีการประกาศรับฟังความคิดเห็นเรื่องค่าไฟ สำหรับเดือน ม.ค.2567 โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือกรณีที่ 1 ถ้าต้องการให้ กฟผ.ชำระหนี้ที่แบกอยู่ภายใน 4 เดือน ค่าไฟที่ควรสูงถึง 5.95 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากระดับ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด กรณีที่ 2 คือให้ กฟผ.จ่ายคืนหนี้ภายใน 1 ปี ค่าไฟเพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย และกรณีที่ 3 อนุญาตให้ กฟผ.ยืดเวลาจ่ายหนี้ออกไปเป็น 2 ปี ค่าไฟจะอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย จึงถือว่าโชคดีที่ กกพ.มีมติเลือกกรณีที่ 3 ที่กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด แต่จะเห็นได้ว่ามาตรการการยืดหนี้ที่รัฐบาลใช้นั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ต้องขึ้นค่าไฟอย่างก้าวกระโดดในทีเดียวเมื่อหมดโปรโมชั่น” นายศุภโชติกล่าว

นายศุภโชติกล่าวอีกว่า อัตราที่เคาะกันออกมา 4.68 บาทต่อหน่วย จัดอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก นายเศรษฐาก็เพิ่งมีท่าทีขึงขังต้องการลดค่าไฟให้ต่ำกว่านี้ แต่ก็ต้องถามกลับไปที่นายกฯ เองว่าจะทำอย่างไร เพราะหากใช้มาตรการแบกหนี้ ยืดหนี้ แบบเดิมอีก ก้อนหนี้ที่สุดท้ายประชาชนต้องจ่ายก็ใหญ่ขึ้นอีก มีการคำนวณไว้ว่า หากตรึงค่าไฟในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ไว้เท่าเดิมที่ 3.99 บาท มูลค่าหนี้จะเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 140,000 ล้านบาท และสุดท้ายเมื่อหมดโปรโมชั่น เราอาจจะเห็นประชาชนต้องจ่ายค่าไฟ 6 บาทต่อหน่วยก็เป็นได้

นายศุภโชติกล่าวด้วยว่า ข้อเสนอของพรรค ก.ก. ซึ่งพูดมาตลอดตั้งแต่การหาเสียง และการอภิปรายนโยบายรัฐบาล หรือแม้แต่ตอนที่เข้าไปเสนอวิธีแก้ไขปัญหาต่อ รมว.พลังงานเมื่อวันที่ 27 ก.ย.นั้น ปัญหาพลังงานของประเทศเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งรัฐบาลก็เคยตอบรับและเห็นด้วย แต่ไม่เคยเอาไปปฏิบัติอย่างจริงจัง วันนี้จึงขอย้ำอีกครั้งว่าวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องค่าไฟในระยะเร่งด่วนที่ทำได้ทันทีมี 3 ข้อ คือ 1.การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ที่พรรค ก.ก.และพรรคเพื่อไทยต่างสนับสนุน และใช้หาเสียงมาด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของไฟฟ้าถูกลงได้มากกว่าปัจจุบันถึง 70 สตางค์ต่อหน่วย 2.การเจรจาแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่รัฐเคยทำกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ภาคเอกชน เพื่อลดค่าความพร้อมจ่าย จะประหยัดต้นทุนค่าไฟได้เพิ่มอีก 15 สตางค์ต่อหน่วย และ 3.หยุดการเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนที่ลาวกว่า 3,000 เมกะวัตต์ ที่เซ็นมาในราคาที่แพงมาก 2.7 บาทต่อหน่วย หรือโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ที่ทั้งแพง และศาลปกครองกลางชี้ว่ากระบวนการมีปัญหา

“หากแก้ปัญหาที่โครงสร้าง และนำเงินที่เหลืออยู่ไปใช้หนี้ที่ กฟผ.แบกอยู่ ในที่สุดเราอาจได้เห็นค่าไฟที่สะท้อนความเป็นจริง และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่อัตรา 3 บาทต้นๆ ก็เป็นได้ ดังนั้น สิ่งที่ขอฝากรัฐบาลเศรษฐา คือให้ลองนำสิ่งที่พรรคพูดมาเสมอ เรื่องการแก้ปัญหาที่โครงสร้างภาคพลังงาน กลับไปศึกษาต่อ และนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะสุดท้ายคนที่ได้รับผลประโยชน์ก็คือพี่น้องประชาชนทุกคน” นายศุภโชติกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง