มีนายกฯไว้ทำไม! ซัดตีมึนอุ้มนักโทษเทวดา ก.ก.เงิบตกประชาพิจารณ์

นายกฯ ตีมึนระเบียบราชทัณฑ์เอื้อ “ทักษิณ” กลับไปนอนที่บ้าน โยนเป็นหน้าที่ ก.ยุติธรรม “ทวี” ยันทำตามหลักเกณฑ์ไม่มีเรื่องตัวบุคคล  "อิ๊งค์" ขอดูหลักเกณฑ์ก่อนพ่อจะใช้สิทธิ์ตามระเบียบหรือไม่ อธิบดีกรมคุกแจงยิบเป็นไปตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ปี 60 ลั่นบังคับใช้ช้าด้วยซ้ำ "ทักษิณ" จะได้ประโยชน์​ขึ้นอยู่กับคณะทำงานพิจารณา "จุรินทร์” จวกลักไก่ไฟเขียวนักโทษติดคุกที่บ้าน "คปท." ซัด รบ.ลอยตัว นัด 13 ธ.ค.บุก รพ.ตร. "วิปรัฐบาล" จ่อเสนอญัตติด่วนตั้ง กมธ.ศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อ้างเป็นประเด็นอ่อนไหวควรหารือทุกฝ่าย ขณะที่ประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับก้าวไกล เสียงค้านกว่า 71 เปอร์เซ็นต์

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 12 ธันวาคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ  รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ ซึ่งถูกมองว่าเอื้อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า ไม่ทราบเรื่องเลย เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับตน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ แต่นายเศรษฐาไม่ตอบคำถามดังกล่าว และเดินเลี่ยงออกจากวงสัมภาษณ์

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเกิดจาก พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 แต่กฎหมายรอง หรืออนุบัญญัติต่างๆ ต้องมีออกมาให้ครบ เหมือนบางกระทรวงที่มีกฎหมาย แต่ไม่สามารถออกอนุบัญญัติได้ ทำให้ใช้กฎหมายได้ไม่ครบถ้วน

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายทักษิณ ชินวัตร จะได้รับประโยชน์จากระเบียบดังกล่าวหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องไปดูรายละเอียด เพราะไม่ได้ติดตาม ส่วนผู้ที่จะพิจารณาได้ว่าระเบียบดังกล่าวจะครอบคลุมไปถึงทักษิณ เป็นเรื่องของกระทรวงและเจ้าหน้าที่พิจารณา เพราะรายละเอียดตนไม่ได้ดู

เมื่อถามว่า มีการวิจารณ์ว่าเรื่องดังกล่าวมีการปูทางไว้ตั้งแต่สมัยที่นายสมศักดิ์เป็น รมว.ยุติธรรม นายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่ใช่ กฎหมายมีมาตั้งแต่ปี 2560 และต้องมีอนุบัญญัติในทุกมาตรา เพื่อประโยชน์ในการบริหาร

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวเช่นกันว่า เป็นการออกตามกฎหมายราชทัณฑ์อยู่แล้ว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้สังคมครหาในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า เรื่องนี้ตนขอไปดูรายละเอียดก่อน เพราะมันเป็นเรื่องของคณะกรรมการราชทัณฑ์ที่มีการประชุมไว้หลายเดือนแล้ว เท่าที่ตรวจสอบมีปลัดกระทรวงลงไปดูแลอยู่ เป็นการออกตามกฎหมายราชทัณฑ์ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าวันนี้กรณีของเรือนจำ เมื่อเรารับเป็นหลักนิติธรรม ปรากฏว่ากรมราชทัณฑ์ได้คะแนนเรื่องหลักนิติธรรม 0.25 จากคะแนนเต็ม 1 ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานเยอะ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม หรือกฎหมายราชทัณฑ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็ได้ทำหนังสือมาถึงรัฐบาลในชุดที่แล้ว ซึ่งการปฏิบัติทั้งหมดจะไม่เอาตัวบุคคลมาตั้ง 

รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องในอำนาจการออกกฎกระทรวงจะมีกฎกระทรวงตามมาตรา 89/1 ของวิอาญา เพราะตอนนี้นักโทษที่อยู่ในเรือนจำคือ นักโทษระหว่างไปขังอยู่กับนักโทษเด็ดขาด เป็นการส่อที่จะขัดรัฐธรรมนูญ ในกรณีเรือนจำจะมีกฎหมายที่ระบุของราชทัณฑ์ไว้ ซึ่งมีส่วนหนึ่งของผู้ต้องขังจะมีสถานที่ควบคุม ทุกคนก็คือติดคุกเหมือนเดิม แต่รายละเอียดจะมีคณะกรรมการที่จะมีการประชุม โดยจะมีตัวแทนทั้งศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปลัดกระทรวงบอกว่าเรื่องการดำเนินการจะไม่มีเรื่องตัวบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จะดูเรื่องของหลักเกณฑ์ เพราะเราต้องการให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายราชทัณฑ์ ปรากฏว่ากฎหมายราชทัณฑ์มีกฎหมายลูกที่จะต้องออกจำนวน 10 ฉบับ ซึ่งยังไม่ได้ออกระเบียบต่างๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่ออกโดยสภา

เมื่อถามย้ำว่า แม้ไม่ระบุตัวบุคคล แต่นายทักษิณเข้าเงื่อนไขนี้หรือไม่ พ.ต.อ.ทวีไม่ตอบคำถาม

'อิ๊งค์' ขอดูหลักเกณฑ์พ่อใช้สิทธิ์

ส่วน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีกรอบกำหนดการพักรักษาตัวนอกเรือนจำของนายทักษิณ จะครบ 120 วัน ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ จะขอขยายเวลาหรือไม่ หรือจะใช้สิทธิ์ตามประกาศระเบียบของกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับการคุมขังนอกเรือนจำว่า จะต้องดูหลักเกณฑ์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่ากฎเกณฑ์รายละเอียดเป็นอย่างไร โดยวันนี้ขอเน้นให้เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ให้กับงานที่มาก่อน

ทางด้าน นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงว่า ขอย้อนไปใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ได้บัญญัติชัดเจนในมาตรา 33 โดยให้มีการออกกฎกระทรวง และเมื่อกฎกระทรวงมีการประกาศใช้ มาตรา 34 จึงกำหนดให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ดำเนินการออกระเบียบมารองรับ ดังนั้นในส่วนของกฎกระทรวงพบว่า ได้มีการออกมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1.เป็นการจำแนก แยก ควบคุม ผู้ต้องขัง 2.เป็นผู้ต้องขังที่ต้องพัฒนาพฤตินิสัย 3.นักโทษที่เจ็บป่วย หากได้รับการคุมขังดูแลภายนอกเรือนจำ อาจมีประโยชน์มากกว่า และ 4.เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย

"ผมมองว่ามันช้าไปเสียด้วยซ้ำ เพราะ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ บังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 แต่ขณะนี้ระเบียบดังกล่าวที่ประกาศออกมา ถือว่าเกินกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และปัจจุบันมันมีกฎหมายที่เร่งรัดให้แต่ละหน่วยงานต้องดำเนินการออกกฎหมายที่ค้างดำเนินการ อีกทั้ง ครม.ก็ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานกระทรวงทำการออกกฎหมายของตัวเองให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็วที่สุด แต่ขยายเวลาไปได้อีกไม่เกิน 1 ปี จึงหมายความว่ากว่าที่กฎหมายจะออกบังคับใช้ ได้มีการพิจารณากันอย่างชัดเจนแล้ว ไม่ใช่ว่าจะลงนามประกาศคำสั่งเวลาใดตามใจ" นายสหการณ์กล่าวถึงสาเหตุที่เพิ่งลงนามประกาศระเบียบกรมราชทัณฑ์ไปเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.

สำหรับกรณีที่สังคมจับตาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการลงนามคำสั่งออกระเบียบเอื้อต่อนายทักษิณ นายสหการณ์ระบุว่า อย่างที่ได้เรียน เพราะ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ออกบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2560 และกฎกระทรวงออกบังคับใช้ปี 2563 การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย จะต้องได้รับการคัดกรองตั้งแต่ขั้นตอนของเรือนจำ จนเข้าสู่ขั้นตอนของคณะทำงานพิจารณาการคุมขังกรณีของนายทักษิณ จะต้องไปตรวจสอบอีกครั้ง เพราะการพิจารณาว่าจะเข้าเกณฑ์ได้รับประโยชน์คุมขังนอกเรือนจำหรือไม่ จะต้องดูทั้งในเรื่องของระยะเวลาการรับโทษ พฤติกรรมระหว่างต้องโทษว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ประเมินความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ และดูว่าสถานที่คุมขังนั้นๆ มีความพร้อมที่จะดูแลผู้ต้องขังหรือไม่ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าอดีตนายกฯ 

นายสหการณ์กล่าวด้วยว่า กระบวนการที่แต่ละเรือนจำทั่วประเทศจะเริ่มพิจารณาว่าผู้ต้องขังรายใดเข้าเกณฑ์ได้รับประโยชน์ที่จะไปคุมขังนอกสถานที่คุมขังนั้น คาดว่าจะเริ่มได้ภายในเดือน ธ.ค. ตามที่มีผลบังคับใช้ทันที หลังจากนี้กรมราชทัณฑ์จะมีการแจ้งรายละเอียดและแนวทางปฏิบัติไปยังแต่ละเรือนจำทั่วประเทศ ซึ่งในระดับเรือนจำจะมีคณะทำงานของเรือนจำนั้นๆ ไม่ได้หมายความว่ากรมราชทัณฑ์ปล่อยผู้ต้องขัง เพราะผู้ต้องขังจะคงอยู่ในการควบคุมดูแลของราชทัณฑ์ แต่เพียงเปลี่ยนสถานที่ในการคุมขังเท่านั้น มั่นใจว่าจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของกรมราชทัณฑ์สูงขึ้น และขณะเดียวกันก็จะได้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนด้วย

จวกปล่อยนักโทษไปนอนบ้าน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอถามนายกฯ เศรษฐากับ รมว.ยุติธรรม ว่าปล่อยให้กรมราชทัณฑ์ลักไก่ออกระเบียบให้นักโทษไปติดคุกที่บ้าน เพื่อรองรับนักโทษชั้นพิเศษได้อย่างไร เพราะถ้าทำได้ต่อไปคำพิพากษาศาลสถิตยุติธรรมก็ไม่มีความหมาย ศาลสั่งตัดสินจำคุกไม่ต้องสนใจ เพราะกรมราชทัณฑ์สั่งให้ไปติดคุกนอนเสวยสุขอยู่กับบ้านได้ แล้วคุกจะมีไว้ทำไม มีไว้ขังคนจนกับคนไม่มีอำนาจเท่านั้นหรือ และถ้าจะบอกว่าไม่ขอแทรกแซงกระทรวงยุติธรรมหรือกรมราชทัณฑ์ แล้วกรณีขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีไตรภาคีที่เป็นองค์กรตามกฎหมายดูแล เขามีมติตามกฎหมายแล้ว ทำไมไปสั่งให้เขาทบทวน เรื่องนี้ถ้านายกฯ ไม่ทำอะไร ก็จะมีคำถามว่าจะมีนายกไว้ทำไม มีไว้ดูแลประชาชนหรือมีไว้ดูแลนักโทษเทวดา

เมื่อเวลา 12.00 น. ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดยนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. พร้อมมวลชนได้นำรถขยายเสียงมาประชิดทำเนียบรัฐบาลปราศรัยเรียกร้องให้นายกฯ สั่งการให้นำตัวนายทักษิณ ซึ่งเป็นนักโทษชายกลับไปควบคุมตัวที่เรือนจำ หลังจากที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจมาเป็นเวลานาน

โดยนายพิชิตกล่าวว่า เรามาวันนี้เพื่อถามรัฐบาล เพราะรัฐบาลเข้ามาบริหาร 120 วัน จะลอยตัวให้นายทักษิณไปอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่ได้อยู่ในเรือนจำแบบนี้หรือ ที่ผ่านมามีแต่ข้ออ้างจนวันนี้ทำให้เห็นว่า ระเบียบใหญ่กว่าคำพิพากษา อีกทั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566​ ซึ่งที่วัด มัสยิด โรงแรม โรงพยาบาล บ้านพักอาศัย สามารถเป็นที่ควบคุมผู้ต้องขังได้ นั่นแสดงว่าการออกระเบียบนี้เพื่อเอื้อให้นายทักษิณ โดยวันที่ 13 ธ.ค.66 คปท.จะไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อถามนายแพทย์ใหญ่เกี่ยวกับความเห็นแผนการรักษาของนายทักษิณ จะดำเนินการอย่างไร

ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมวิปรัฐบาลถึงการยื่นญัตติด่วนขอให้สภาตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องของการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า สมควรที่จะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมในเร็ววันนี้ รวมถึงสาระสำคัญหากมีการเสนอต้องครอบคลุมในเรื่องใดบ้าง ร่างกฎหมายที่ออกมานั้นควรจะเป็นอย่างไร สส.ประกอบด้วยหลายพรรค ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ถ้าจะเสนอไปโดยไม่หารือกัน ก็ควรจะศึกษากันให้ถ่องแท้เสียก่อน ให้เป็นรูปธรรมว่าจะสมควรอย่างไร เข้าใจว่าจะให้วิปของแต่ละพรรคเสนอเป็นญัตติเข้าไปในสภา เพื่อให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญที่ประกอบด้วยสมาชิกของแต่ละพรรคมาพิจารณา

พท.ดึงทุกพรรคดัน กม.นิรโทษ

เมื่อถามว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย จะหยิบยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของที่มีการเสนอในสมัยก่อนๆ มาพิจารณาด้วยหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ไม่ได้หยิบยกขึ้นมา เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำโดยลำพังได้ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.หากจะผ่านสภา ต้องมีความเห็นพ้องต้องกัน โดยเราเห็นด้วยในหลักการ ทำให้บ้านเมืองเกิดความปรองดอง แต่ขณะนี้เรายังไม่ได้ยกร่างและอยากฟังความเห็นจากทุกพรรค เวลาเสนอกฎหมายเข้าไปจะได้มีการพิจารณาได้อย่างเรียบร้อย โดยไม่สร้างความแตกแยกขยายใหญ่โตขึ้นไปอีก เราระมัดระวังตรงนี้ เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหว ดีที่สุดคือต้องคุยกันก่อน หารือกันก่อน ในรูปของคณะกรรมาธิการที่มาจากทุกพรรค

นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยวางตัวลำบาก ไม่เหมือนพรรคอื่น เพราะเหมือนกับว่าเราจะมีส่วนได้เสีย หากวางตัวผิดจะตกเป็นเหยื่อทางการเมือง ส่วนท่าทีของพรรคเพื่อไทย แม้เราจะไม่ได้เสนอร่าง เราก็ไม่คัดค้าน พร้อมยินดีสนับสนุน แต่ขอให้ไปดูในเนื้อหาสาระดีกว่า หากเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายและสังคมเข้าใจได้ เราก็จะสนับสนุน ส่วนที่วิปร่วมรัฐบาลเตรียมเสนอญัตติด่วนนั้นถือว่ารอบคอบ เพราะเรื่องนี้ละเอียดอ่อน สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการขยายผลไปในทางความขัดแย้งได้ ส่วนจะถูกมองว่าเป็นการซื้อเวลาหรือไม่นั้น ต้องมีการอธิบายให้เข้าใจ มันอยู่ที่เจตนา ถ้าเห็นว่ามีความจำเป็น และต้องศึกษาก็ต้องอธิบายให้เข้าใจ

ส่วนกรณีกรมราชทัณฑ์ออกระเบียบใหม่ว่าด้วยการคุมขังนักโทษนอกสถานที่เรือนจำ มีการมองว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ นายสุทินกล่าวว่า “นั่นแหละเราถึงต้องระมัดระวัง เพราะมันมีสิทธิ์โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ.... ของนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ โดยมีการเปิดรับฟังความเห็นประชาชน ระหว่างวันที่ 9 พ.ย. ถึง 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ระยะเวลา 1 เดือนเต็มนั้น ผลปรากฏว่ามีประชาชนมาลงทะเบียนจำนวน 631 คน โดยมีผู้เห็นด้วย ให้การรับรองเพียง 28.37% ขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วย ไม่ให้การรับรองมีสูงถึง 71.32% ซึ่งถือว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.ของพรรคเราจะไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์ ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะสุดท้ายก็ต้องเอากลับเข้ามาคุยกันในสภาเพื่อหาข้อแตกต่างของแต่ละฝ่ายอีกครั้งอยู่แล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง