‘ลุงพล’ยกเหตุ ไม่ได้เจตนาฆ่า สู้ในชั้นอุทธรณ์

โฆษกศาลฯ ระบุความเห็นแย้งของหัวหน้าศาลและอธิบดีศาลภาค 4 "คดีน้องชมพู่" จะถูกส่งไปยังศาลอุทธรณ์ไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนแปลงของคำพิพากษาโดยตรง เป็นเพียงข้อมูลประกอบในการพิจารณา ขึ้นกับองค์คณะศาลอุทธรณ์วินิจฉัย "บิ๊กต่อ" ชื่นชมตำรวจชุดคลี่คลายคดียกเป็นโมเดลให้นักสืบรุ่นใหม่ "ลุงพล" ยกประเด็นศาลชี้ว่าไม่ได้เจตนาฆ่าสู้ในชั้นอุทธรณ์

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยกรณีศาลชั้นต้นจังหวัดมุกดาหาร สั่งจำคุก นายไชย์พล วิภา หรือลุงพล จำเลย "คดีน้องชมพู่" จำคุก 20 ปี ว่าสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ที่ตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าควรยกฟ้อง (เห็นแย้ง)​ เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์มีข้อสงสัย ว่าคำเห็นแย้งก็จะแนบในสำนวนคำพิพากษา เมื่อเวลาคดีขึ้นสู่การพิจารณาศาลอุทธรณ์ องค์คณะศาลอุทธรณ์ก็จะเห็นทั้งตัวคำพิพากษาศาลชั้นต้นและความเห็นแย้ง ซึ่งทางองค์คณะศาลอุทธรณ์ก็จะเอาข้อมูลทั้งหมดในสำนวน ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมทั้งความเห็นแย้งต่างๆ ข้อที่คู่ความอุทธรณ์ขึ้นมาประกอบในการพิจารณาทำคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ 

"แต่ความเห็นแย้งดังกล่าวคงไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยนคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์โดยตรง เพราะตัวความเห็นหลักยังเป็นความเห็นขององค์คณะผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษาเป็นคนสืบพยานเป็นผู้ที่เห็นข้อเท็จจริงในตอนที่พยานมาเบิกความ เห็นข้อเท็จจริงพยานหลักฐานต่างๆ อย่างใกล้ชิด ส่วนน้ำหนักความเห็นแย้งจะมีมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับมุมมองขององค์คณะผู้พิพากษาชั้นอุทธรณ์ หากยังเห็นคล้อยไปตามเสียงข้างมากขององค์คณะผู้พิพากษา ก็เป็นดุลยพินิจของศาลในชั้นอุทธรณ์ ที่จะต้องวิเคราะห์วินิจฉัยจากข้อเท็จจริงจากคำเบิกความที่รับฟังมา ทั้งพยานเบิกความมา จากพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาประกอบกัน และเห็นว่าตัวข้อเท็จจริงพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์กับคำเบิกความมีความสอดคล้องกันเพียงพอเชื่อมั่นได้ว่าจำเลยน่าจะเป็นคนที่กระทำความผิด"

นายสรวิศกล่าวว่า ในการบังคับบัญชาของผู้พิพากษาหรือตุลาการไม่เหมือนกับข้าราชการฝ่ายอื่น เพราะถึงแม้ว่าโดยสายของการบังคับบัญชาในองค์กร ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะฯ จะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าศาล อธิบดีผู้พิพากษา แต่การบังคับบัญชาไม่มีผลต่อการพิพากษาคดี เพราะหลักการพิพากษาคดีเป็นอิสระ ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลยพินิจในการพิพากษาออกไปได้ โดยที่ไม่ได้เน้นผลของการบังคับบัญชา แต่ในฐานะที่หัวหน้าและอธิบดีศาลเป็นผู้รับผิดชอบราชการในงานของศาล ก็มีส่วนในการดูแลความเรียบร้อยของศาลที่อยู่ในการดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นหากผู้บริหารศาลมีอะไรที่เห็นส่วนตัวอาจจะแตกต่างไปจากองค์คณะผู้พิพากษา ก็มีอำนาจตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ที่จะทำความเห็นเเย้งไว้ในสำนวนได้

ส่วนการที่หัวหน้าศาลและอธิบดีศาลภาคมีความเห็นแย้ง จะต้องไปนั่งบัลลังก์ด้วยหรือไม่ โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวว่า เป็นคนละกรณีกัน กรณีที่ไปนั่งในห้องพิจารณาถือเป็นคณะส่วนหนึ่งในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ส่วนความเห็นแย้งคงไม่ได้เป็นประโยชน์ฝ่ายใดโดยตรง เพียงแต่เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาในชั้นสูงขึ้นไป เรื่องการยกประโยชน์แห่งความสงสัยเป็นเงื่อนไขปกติในกฎหมาย ซึ่งในคดีอาญาหลายคดีก็ต้องพิจารณาอยู่แล้วว่าพยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบมามีเหตุทำให้วิญญูชนทั่วไปเกิดความสงสัยได้หรือไม่ว่าตัวจำเลยหรือผู้ต้องหากระทำความผิดจริง

"การเห็นแย้งของหัวหน้าศาลและอธิบดีศาล เคยเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ และก่อนหน้านี้ในศาลใหญ่ๆ ก็เคยมีเหตุการณ์คล้ายๆ กัน ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะเป็นเรื่องของการตรวจสำนวนตั้งข้อสังเกตไว้ชั้นสำนวนปกติ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงที่ผิดปกติไป" นายสรวิศกล่าว

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงมาตรฐานการทำงานของพนักงานสอบสวนในคดีน้องชมพู่ว่า ต้องขอชื่นชมเจ้าหน้าที่และรู้สึกพอใจผลการปฏิบัติงานในคดีนี้ ซึ่งคดีดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีต ผบ.ตร. ซึ่งเป็นการทำงานที่ยากมาก เนื่องจากคดีนี้ไม่มีพยานหลักฐานในอากาศ ไม่มีประจักษ์พยานใดๆ แต่เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะฝ่ายสืบสวนได้พยายามสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด โดยเฉพาะหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ คือเส้นผมของน้องชมพู่ที่ถูกตัด และพยานบุคคลที่ให้การมาตั้งแต่ต้น และไม่เคยกลับคำให้การเลย ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้สำนวนมีความแน่นหนาในระดับหนึ่ง จนทำให้ศาลเชื่อและมีคำพิพากษาดังกล่าวได้

ส่วนกรณีที่ผู้ต้องหาโต้แย้งว่าไม่ได้รับความชอบธรรมในการเข้าตรวจค้นรถของตน ผบ.ตร.กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิ์ที่ผู้ต้องหาสามารถทำได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน และการที่ศาลยกฟ้องก็เนื่องจากมีเหตุอันควรสงสัยจึงยกประโยชน์ให้จำเลย แต่หากมีพยานหลักฐานอื่นๆ ก็สามารถเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ได้

"จะต้องยกคดีของลุงพลนี้เป็นโมเดลในการปรับปรุงพัฒนางานสืบสวนในอนาคต ทั้งการวิเคราะห์พฤติกรรมศาสตร์ของคนร้าย และการสืบสวนแบบดั้งเดิม (back to basic) ซึ่งวานนี้ (20 ธ.ค.) ได้แจ้งกับที่ประชุมของกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล แล้วว่าให้ฝึกนักสืบรุ่นใหม่ๆ ให้สามารถสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมด้วยวิธีแบบดั้งเดิม ยกระดับให้มีความเป็นสากลและมืออาชีพมากขึ้น" ผบ.ตร.กล่าว

ที่ บ.จำปาดง ต.กุดเรือคำ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร บ้านของนายไชย์พล วิภา กับนางสมพร หลาบโพธิ์ หรือป้าแต๋น ภายหลังจากศาลอนุญาตให้ใช้หลักทรัพย์ 500,000 บาท ประกันตัวออกมาสู้คดี โดยช่วงเช้า นายไชย์พลกับนางสมพรได้ทำบุญตักบาตร ต่อมาในช่วงสายได้มีการรำบวงสรวงถวายครูบาอาจารย์ที่นับถือ ก่อนจะจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญผูกข้อมือ โดยบางคนก็ผูกแขนด้วยธนบัตรเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ลุงพล ป้าแต๋น พร้อมกับสวมกอดแฟนคลับร่ำไห้ด้วยความตื้นตันใจ

นายไชย์พลกล่าวถึงการจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นประเพณีท้องถิ่นอีสานเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจ คงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วสำหรับลุงป้าในตอนนี้ วันนี้ที่ร้องไห้เพราะได้รับกำลังใจจากทั้งแฟนคลับและยูทูบเบอร์ ทั้งนี้ ขอขอบคุณในความเมตตาของศาลที่ให้ตนออกมาสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมชั้นต่อไป ส่วนการดำเนินการชั้นศาลอุทธรณ์ ต้องรอร่างสำเนาคำพิพากษาประมาณ 1 เดือน เพื่อนำมาเขียนคำร้องว่าขาดตกบกพร่องตรงไหน หากดูที่คำพิพากษาศาลตัดสินว่าไม่ได้เจตนาฆ่า คิดว่าจะสู้ประเด็นนี้ ไม่ว่าจะมีพิรุธในส่วนไหน ตนก็พร้อมจะพิสูจน์ในชั้นศาลอุทธรณ์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมต.ใหม่ถวายสัตย์ เศรษฐานำเข้าเฝ้าฯ3พ.ค. แม้วควงสุวัจน์ทัวร์ภูเก็ต

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ "มาริษ" เป็น รมว.ต่างประเทศ "นายกฯ" เตรียมนำ รมต.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ 3 พ.ค.นี้