งานใหญ่รัฐบาล จ่อประชุมร่วม! ครม.เขมร-ไทย

กรุงเทพฯ ๐ "เศรษฐา" สนับสนุน  "อุ๊งอิ๊ง" เยือนกัมพูชา ไม่มีอะไรเสียหาย  เลขาธิการพรรคเพื่อไทยเผยไม่ผิดพลาดปีนี้คงมีการประชุม ครม.ร่วมของทั้งสองประเทศ ส่วน “โฆษกเพื่อไทย” ติง ฝ่ายค้านอย่าให้อคติบังตา ยัน 8 วิสัยทัศน์ “นายกฯ” ดันประเทศไทยสู่ผู้นำภูมิภาค ด้วย DNA นักบริหารมืออาชีพ

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้สัมภาษณ์กรณีที่สมเด็จ อัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เชิญ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไปเยือนกัมพูชาในวันที่ 18-19 มี.ค.นี้ว่า ความสัมพันธ์ของสองประเทศเป็นไปได้อย่างเดียวคือดีขึ้น เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าแขกคนสำคัญที่มาเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคือสมเด็จฮุน  เซน ขณะที่ น.ส.แพทองธารถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศ  ทั้งระดับผู้นำและประชาชน เชื่อว่าไม่มีอะไรเสียหายแน่นอน และตนก็ให้การสนับสนุนและยินดีด้วย

ด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง  เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้เป็นการเชิญในนามพรรคการเมือง ที่พรรคประชาชนกัมพูชาที่เป็นพรรครัฐบาลเชิญพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไปร่วมพูดคุย อาจเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองของพรรคการเมืองในการพัฒนาประเทศของแต่ละฝ่าย

เมื่อถามว่า ในมุมมองพรรคเพื่อไทย  คิดว่ามีอะไรที่จะเพิ่มความร่วมมือและนำไปสู่การพัฒนาของทั้งสองประเทศได้บ้าง นายสรวงศ์กล่าวว่า ยังไม่มีการคุยกันในรายละเอียดในส่วนนั้น อย่างไรก็ตาม ตอนนี้พรรคเพื่อไทยมีกรรมการบริหารที่เป็นคนรุ่นใหม่ แต่พรรคประชาชนกัมพูชามีสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีที่เป็นคนรุ่นใหม่ ส่วนที่เหลือเป็นรุ่นเก๋า ก็คงได้แลกเปลี่ยนกันในส่วนนี้ ย้ำว่าครั้งนี้เป็นการพูดคุยกันของพรรคการเมืองกับพรรคการเมือง คงไม่มีเรื่องการบริหาร และถ้าไม่ผิดพลาดปีนี้คงมีการประชุม ครม.ร่วมของทั้งสองประเทศ เรื่องการบริหารคงคุยกันในวงนั้น

นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแสดงวิสัยทัศน์ของนายเศรษฐา ในหัวข้อ IGNITE Thailand จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง พร้อมเสนอวิสัยทัศน์ผลักดันประเทศไทยเป็น 8 ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เป็นการยืนยันว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีประสบการณ์การบริหารประเทศมาหลายยุค มีนายกรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถหลายคน เราคิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อคนไทยทุกคน คือแคมเปญหลักที่เราใช้ในการหาเสียงและยังคงเดินหน้า แม้เป็นรัฐบาลมาเพียง 6 เดือน แต่ผลงานประจักษ์ กลับมาเป็นที่ยอมรับบนเวทีนานาชาติ สำหรับวิสัยทัศน์ 8 ด้าน

โดยนายกรัฐมนตรีนั้นมุ่งเน้นการวางรากฐานด้านเศรษฐกิจและอนาคตประเทศไทยไปสู่ผู้นำของภูมิภาค มีการวางช่วงระยะการดำเนินผลสำเร็จ และยังมีเป้าหมายหรือตัวชี้วัดความสำเร็จ หรือ KPI ที่ชัดเจน ในขณะที่โครงการการลงทุนขนาดใหญ่ นายกรัฐมนตรีได้เตรียมการเอาไว้สำหรับการดำเนินการศึกษาอย่างรอบคอบ โดยต้องการการพิจารณาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ สภาผู้แทนราษฎร หรือการขอความเห็นที่เป็นประโยชน์จากองค์กรอิสระต่างๆ ด้วย ทั้งขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งโครงการขนาดใหญ่นี้จะเดินไปควบคู่กับดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลกำลังผลักดันเต็มที่

DNA ผู้บริหารมืออาชีพ

นายดนุพรกล่าวว่า ส่วนที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่าฟังแล้วไม่มีอะไรใหม่ ไม่เห็นเป็นรูปธรรมทั้ง 8 ด้านว่าจะทำอย่างไร และกล่าวหาว่าแผนค่อนข้างลอยนั้น เป็นการกล่าวหาที่เต็มไปด้วยอคติ และไม่เปิดใจที่จะรับฟัง เพราะการประกาศ ‘วิสัยทัศน์’ หรือ Vision คือการมองภาพในอนาคต (Future Perspective) เป็นสิ่งที่ผู้นำบอกกับประชาชนและนานาประเทศถึงทิศทางของประเทศไทย และกำหนดจุดหมายปลายทางที่มีความชัดเจน มีพลัง และมีความเป็นไปได้ เช่น วางเป้าหมายเพิ่มระยะทางรถไฟทางคู่อีก 2,000 กิโลเมตร ภายในปี พ.ศ.2573, เพิ่มระยะทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและในภูมิภาค 2.5 เท่า ในปี พ.ศ.2573 และรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินไปถึงหนองคายในปี 2030 และอื่นๆ อีกมากมาย จึงอยากวิงวอนว่า ประชาชนรอความเจริญมานานมากแล้ว อย่าให้ความไม่รู้บดบังความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการวางอนาคตให้ประเทศ

“นายกรัฐมนตรีมี DNA ผู้บริหารมืออาชีพ นอกจากประกาศเป้าหมายของประเทศให้ประชาชนรับรู้แล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณไปถึงนักลงทุนที่ฟังอยู่ทั่วโลก ว่าประเทศไทยมีความพร้อมมาก นักลงทุนเมื่อได้ฟังแล้ว พวกเขาจะได้รับรู้ทิศทางการลงทุนในไทยอย่างไร ในเวลาเดียวกันยังเป็นการแบ่งงานให้แต่ละกระทรวงไปทำงาน แบ่งงบ ประมาณตามงาน เพื่อไทยเรามององค์รวมภาพใหญ่ เราต้องการสร้างความเจริญกลับคืนสู่ประเทศ กลับมาเป็นผู้นำในภูมิภาค” นายดนุพรกล่าว

ขณะที่ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ระบุว่าอาจมีการนําเรื่องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า เป็นสิทธิ์ของฝ่ายค้านที่จะอภิปราย เป็นเรื่องปกติทุกสมัย ตนติดตามข่าวว่าฝ่ายค้านมีการเตรียมข้อมูลเรื่องเศรษฐกิจและสังคม แต่ไม่ทราบว่าจะนําประเด็นอะไรมาอภิปรายบ้าง อีกทั้งไม่แน่ใจว่าจะเป็นการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 หรือ 152 ก็ต้องคอยติดตาม ยืนยันว่าหากอภิปรายด้วยเหตุและผล เราก็รับฟัง แต่ถ้าไม่ใช่ข้อเท็จจริง ก็ว่ากันในสภา

นายครูมานิตย์กล่าวว่า หากมีการนำเรื่องนายทักษิณมาอภิปราย ตนก็ไม่รู้ว่าจะมีประเด็นอะไร เพราะนายทักษิณเป็นบุคคลนอก หากเขาอภิปรายพาดพิง เราก็ต้องลุกตอบโต้ ส่วนเรื่องนอนโรงพยาบาลตํารวจ ก็ถูกต้องตามขั้นตอน ซึ่งนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องเป็นผู้รับผิดชอบชี้แจง

เมื่อถามถึงกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่าการแถลงวิสัยทัศน์ของนายเศรษฐาไม่มีเรื่องอะไรใหม่ นายครูมานิตย์กล่าวว่า วันนี้ฝ่ายค้านก็ค้านทุกเรื่องจนแทบจะหมดข่าวแล้ว การหว่านแหเป็นเรื่องปกติของฝ่ายค้าน ต่างคนก็ต่างคิด แต่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลมีหน้าที่แก้ปัญหาและนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามา ทําตามที่รัฐบาลวางโครงสร้างไว้

เศรษฐกิจไม่วิกฤต

ด้านนายชนินทร์ รุ่งแสง รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  กล่าวถึงรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่ามีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ลดลง ในไตรมาสที่สี่ของปี 66 เหลือเพียง 1.7% ทั้งปีโต 1.9% เมื่อเจาะลึกดูรายละเอียดมีตัวเลขที่เป็นบวกอยู่หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคของเอกชน การส่งออก การลงทุน ยกเว้นส่วนที่รัฐบาลรับผิดชอบ คือตัวเลขเงินลงทุนภาครัฐที่ลดลง จึงถือว่ารัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลังสอบตก และจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะเหตุการณ์เกิดในช่วงที่มีอำนาจเข้าบริหารประเทศแล้ว ถึงแม้จะแก้ตัวว่าเป็นเงื่อนไขเหตุการณ์ทางการเมืองทำให้งบประมาณล่าช้า แต่รัฐบาลต้องรู้และเตรียมตัว เพราะว่าเข้ามาบริหารประเทศเกือบ 6 เดือนแล้ว ขอให้รัฐบาลตั้งสติ โดยเฉพาะนายเศรษฐา อย่ากังวลเรื่องนายกฯ เงา

“ในรายงานของสภาพัฒน์ จะเห็นถึงปัญหาของเศรษฐกิจไทยที่ทำให้ตัวเลขจีดีพีลดลง ผมต้องย้ำว่าวันนี้ประเทศเราไม่ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เรามีปัญหาเศรษฐกิจ เชื่อว่านโยบายการเงินจะได้รับการตอบสนองจากธนาคารแห่งประเทศไทยเร็วๆ นี้ โดยการเริ่มต้นลดดอกเบี้ย แต่ไม่ควรคาดหวังผลระยะสั้น 3 เดือน 6 เดือนนี้ เพราะการลดดอกเบี้ยได้ผลจริงๆ ก็ควรจะไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในระยะสั้นนี้ การลดดอกเบี้ยไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้า เพราะรายใหญ่ลดทันที แต่รายย่อย ผู้ให้กู้มองว่ามีความเสี่ยงอยู่ก็ไม่สามารถลดได้ทันที รัฐบาลจะต้องเร่งคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาฯ ได้ นโยบายการคลังไม่ใช่เรื่องงบประมาณเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษีต่างๆ ซึ่งอำนาจอยู่ที่รัฐบาลที่จะต้องเร่งดำเนินการให้สอดคล้องกัน” นายชนินทร์กล่าว

นายชนินทร์กล่าวอีกว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาไม่ดีนั้น ชัดเจนว่าเป็นผลจากการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ที่ผิดพลาด และไม่ควรเบี่ยงเบนความผิดโยนบาปให้แบงก์ชาติเรื่องไม่ลดดอกเบี้ย เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน รัฐบาลชุดที่แล้วบริหารดีกว่านี้ ทั้งที่ปัจจัยบวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องการส่งออก การลงทุน  การบริโภคดีขึ้น อัตราการว่างงานต่ำที่สุดในช่วง 32 ไตรมาส ถามว่ารัฐบาลรู้สึกอะไรหรือไม่ที่ผลออกมาเช่นนี้

นอกจากนี้ นายชนินทร์ยังระบุถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า รัฐบาลยังไม่แน่นอน กลับไปกลับมา และต้องมีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องที่เหมือนจะเป็นเรื่องเดิมที่เคยพิจารณามาแล้ว ถือเป็นการนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง ขอแนะนำให้ปรับไปอยู่ในแผนสองได้แล้ว ไม่เช่นนั้นประเทศและประชาชนจะเดือดร้อน ในระยะสั้น 3-6 เดือนนี้ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยอาจตายก่อน ต้องเปลี่ยนเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นแบงก์กงเต๊กเผาให้ใช้ชาติหน้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง