ไฟเขียวรมต.พบนักโทษ ‘เสี่ยนิด’อ้างธรรมเนียมคนไทยเยี่ยมนายเก่าได้/‘อิ๊งค์’อิ่มใจ

“อุ๊งอิ๊ง” เผยดินเนอร์จันทร์ส่องหล้า คนตระกูลชินวัตรเข้าใจกันทุกอย่าง เขย-สะใภ้-หลานจองมาหาอาทิตย์หน้า “เศรษฐา” บอกเดินหน้าทำงานหัวหมุน ไม่สนเสียงวิจารณ์มีนายกฯ 2-3 คน พร้อมร่ายคิวลงพื้นที่ต่างจังหวัด-ต่างประเทศ ไฟเขียว “รัฐมนตรี” ไปเยี่ยม น.ช.ทักษิณ อ้างธรรมเนียมคนไทยไปเยี่ยมนายเก่าได้ “จตุพร”  ฟันธง “เสี่ยนิด” อยู่ในเก้าอี้ผู้นำไม่เกิน 10 เม.ย. เหตุดีลมัดมือไว้

เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการพักโทษนัดคนในครอบครัวตระกูลชินวัตรมาทานข้าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ก.พ.ว่า เป็นอีกวันที่น่าจดจำของครอบครัวเรา คุณพ่อชวนมาทานข้าวกัน 5 คน (เขย สะใภ้ หลานๆ  จองคิวอาทิตย์หน้า) พ่อบอกว่าบรรยากาศเหมือนเดิมเลย  โต๊ะทานข้าวก็ตัวเดิม แต่หันมาอีกทีโตกันหมดแล้ว เนื้อหาที่คุยก็เป็นเรื่องเดียวกันแล้ว เข้าใจกันทุกๆ อย่าง ทุกๆ ความรู้สึก

“ขอบคุณพ่อกับแม่ ที่เลี้ยงให้เรารักกัน ซึ่งพ่อจะพูดเสมอว่ายกความดีเรื่องนี้ให้แม่ ขอบคุณพี่ๆ ที่เป็นหลังแน่นๆ ให้กันเสมอ ขึ้นรถกลับมีความคิดว่าเอ๊ะ หรือเราจะมีลูกอีกคนดี เป็นมื้อค่ำที่แม้จะไม่ได้ทานด้วยเพราะกลัวแพร่เชื้อ แต่ก็อิ่มใจไปในความรู้สึกที่ได้คุยกันมากจริงๆ ดีใจจัง บ้านจันทร์ส่องหล้ามีพ่อแล้ว”

ขณะเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าพบนายทักษิณเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าประเทศไทยมีนายกฯ 2-3 คนว่า เชื่อว่าเรื่องที่กล่าวถึงพูดถึงเป็นของแต่ละคน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการกระทำ วันนี้บอกว่าตนไม่ใช่นายกฯ คนเดียว ก็ไม่ได้เปลี่ยนวิธีการทำงาน ยังทำงานทุกวันเหมือนเดิม ยังลงพื้นที่ทำงานทุกวันเหมือนเดิม ห้ามการเปลี่ยนแปลงและวิธีคิดของคนไม่ได้ ก็ทำงานต่อไป ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้โกรธ น้อยใจหรืออะไรทั้งสิ้น ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ตื่นเช้าไปทำงาน พรุ่งนี้ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับมาก็ลงพื้นที่ต่อที่จังหวัดศรีสะเกษและร้อยเอ็ด จากนั้นมีการประชุม ครม.ต่อในวันอาทิตย์ที่ 3 มี.ค. และวันจันทร์ที่ 4 มี.ค.ก็จะเดินทางไปประชุมอาเซียนที่ออสเตรเลีย ก่อนเดินทางต่อไปที่เยอรมนีและฝรั่งเศส ก็ยังทำงาน ห้ามไม่ได้

นายเศรษฐากล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับว่านี่คือสังคมไทย นายทักษิณก็เป็นนายกฯ ที่ได้รับความนิยมชมชอบสูงสุดคนหนึ่ง ตนก็ชื่นชอบท่าน นโยบายท่านก็ดี ถ้าท่านอยากให้คำปรึกษาก็พร้อมรับ เช่นเดียวกับอดีตนายกฯ คนอื่นๆ เช่น นายอานันท์ ปันยารชุน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเพิ่งรับตำแหน่งได้ 6 เดือน ต้องรับฟังข้อมูล คำเสนอแนะของผู้ใหญ่ แต่กาลเวลาก็เปลี่ยนไป บางอย่างอาจทำได้ในสมัยก่อน แต่บางอย่างต้องเปลี่ยนแปลง หน้าที่ตนเองคือรับฟังแล้วไปวิเคราะห์ว่าสามารถทำได้หรือไม่

 “วาทกรรมนายกฯ หนึ่ง สอง สาม สี่ มันไม่เกี่ยวหรอกครับ คุยเรื่องความดีดีกว่า ทุกๆ นายกฯ อยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ถึงแม้จะเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายเดียวกันก็ตามที ตอนนี้เป็นหน้าที่ผมในฐานะผู้บริหารสูงสุด นายกฯ ต้องมีการกลั่นกรองข้อมูล ตรงไหนทำได้ก็ทำ” นายเศรษฐากล่าว

ไฟเขียว รมต.พบทักษิณ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเข้าพบครั้งที่ผ่านมาเป็นการเข้าเยี่ยม มีแผนที่จะเข้าพบเพื่อขอคำปรึกษาอีกหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ยังไม่อยู่ในแพลน แต่ก็มีรัฐมนตรีบางคนเข้ามาถามว่าจะเข้าไปเยี่ยมได้หรือไม่ ซึ่งก็บอกว่าตามสบาย  แล้วแต่ท่านเลย เป็นผู้บังคับบัญชาเก่า เป็นนายเก่า ไม่มีปัญหาอะไรหรอก ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ บางท่านมีประวัติยาวนานกว่าตนเองเยอะ รู้จักกันมา 20-30 ปีแล้ว ไม่เจอกันมากว่า 10 ปี ตามธรรมเนียมคนไทยต้องไปเยี่ยมเยียนกันบ้าง ไม่ได้คิดอะไร

ถามอีกว่า วันที่เข้าไปหานายทักษิณได้พูดคุยเรื่องปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ นายเศรษฐาทำหน้านิ่งครู่หนึ่งก่อนตอบว่า คำถามนี้ไม่ควรจะถามนะ เพราะนายทักษิณไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ ครม. ยืนยันตลอดเวลา พวกคุณก็ถามทุกวัน ถามทุกหนที่มีการถาม ก็บอกไปแล้ว คำตอบคือคำตอบเดิม จะพูดทำไมว่าปรับ ครม. ซึ่ง ครม.ก็พยายามทำงานอยู่ แต่เมื่อพูดไปบางคนก็อาจจะนอยด์ บางคนก็อาจไม่สบายใจ เชื่อว่าวันนี้เราต้องเดินหน้าทำงานกันดีกว่า เมื่อถึงเวลาต้องปรับ พวกท่านก็ทราบกันเองว่าต้องปรับ เพราะก็เป็นคนทูลเกล้าฯ ถวายเอง

นายเศรษฐายังกล่าวถึงพรรคฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ และอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ก็ว่ากันไปตามกฎ ถ้ายื่นมาก็มีหน้าที่ตอบ ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ตอบ ฝ่ายนิติบัญญัติก็มีหน้าที่ออกกฎหมายกับตรวจสอบ เรียนไปแล้วว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็ทำงานกันต่อไป

ส่วนนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ฝ่ายค้านต้องเร่งยกระดับการทำงานตามให้ทัน ไม่เช่นนั้นประเด็นที่เห็นต่างเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับรัฐบาลแล้ว ฝ่ายค้านจะไม่มีน้ำหนัก และไม่ได้เสนอสิ่งใหม่ที่เป็นทางเลือกและทางออกให้ประชาชน รัฐบาลเศรษฐามีจุดแข็งเรื่องทำงานแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ ถ้าฝ่ายค้านยังคงจมปลักวนเวียนอยู่กับแต่การเปิดประเด็นทางการเมือง หวังดิสเครดิตรัฐบาลเป็นการเมืองแบบเก่า จุดพลุประเทศไทยมีนายกฯ พร้อมกัน 2 คน แล้วจุดไม่ติด จะไปสร้างประเด็นต่อเป็นมีนายกฯ เพิ่ม 3-4 คน ก็คงไม่สามารถทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาลได้ 

 “ก่อนหน้านี้มีกลุ่มเรียกร้องให้นายทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม วันนี้นายทักษิณก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนได้รับการพักโทษแล้ว และไม่ใช่ว่านายทักษิณได้รับการพักโทษเพียงคนเดียว ใช้มาตรฐานการพักโทษแบบเดียวกับอีก 930 ราย คนที่เคยเรียกร้องอยากให้ก้าวข้ามทักษิณในอดีต วันนี้ต้องก้าวข้ามให้ได้ การพยายามนำประเด็นการได้พักโทษของนายทักษิณมาผูกโยงกับรัฐบาล เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคงไม่เกิดผลใดๆ เพราะรัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น หมดเวลาการเมืองโบราณแบบสุดโต่ง มาเข้าสู่การเมืองยุคใหม่ที่สร้างสรรค์ สร้างประชาธิไปไตยที่กินได้ ให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปาก”

ส่วนนายสมชาย แสวงการ สว.โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า  "อย่าดูถูกประชาชน อำนาจราชทัณฑ์เหนือตุลาการระวังสึนามิศรัทธา" พร้อมยกผลสำรวจนิด้าโพลที่ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการพักโทษนายทักษิณ ที่ระบุว่า ประชาชน 40%  ไม่เห็นด้วยเลย 19.47% เห็นด้วยมาก 19.16% ไม่ค่อยเห็นด้วย 18.01% ค่อนข้างเห็นด้วย และ 3.36% ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

'เทพไท' ปลื้มสไตล์ทำงานเสี่ยนิด

ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช  พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "พูดหลายครั้งแล้วว่า ชอบสไตล์การทำงานของนายเศรษฐาแบบถึงลูกถึงคน เกาะติดทุกปัญหา เหมือนการเป็นซีอีโอบริษัทภาคเอกชน ถ้าจะมีที่ไม่ถูกใจอยู่บ้างก็น่ามีเพียงเรื่องเดียว คือกรณีนายทักษิณเท่านั้น ที่นายเศรษฐาทำเมินเฉย ไม่รู้ไม่ชี้  โบ้ยไปให้กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งตอนนี้ได้รับการพักโทษไปแล้ว ก็ไม่ว่ากัน

 “ผมสนับสนุนวิธีการทำงานของผู้บริหารทุกคน ในลักษณะเช่นนี้ การลงพื้นที่ไปตรวจดูงานไม่จำเป็นต้องบอกล่วงหน้า อยากให้คุณเศรษฐาได้มีโอกาสไปเยี่ยมหน่วยงานอื่นๆ ที่เป็นหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการบริการประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องบอกล่วงหน้า” นายเทพไทระบุ

นายพิชิต ไชยมงคล เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “วนกลับไป” ระบุว่า "การเมืองหลังทักษิณก็จะวนมาลักษณะเดิมคือ การเมืองแบบขี้ข้ามีนาย มีเจ้าของพรรค บรรดา สส.เชลียร์นาย สามารถทำลายทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด คนเลียก็ยอมเลียทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอดเช่นกัน น่าทุเรศกับการเมืองเช่นนี้ แต่รอบนี้มวลชนคนเสื้อแดงน่าจะน้อยลง เพราะระดับแกนหลายคนเขารู้เห็นไส้ติ่งนายทักษิณหมดแล้ว ที่จะออกมาปกป้องนายทักษิณทั้งที่เอาเปรียบพวกเขาคงเบาบาง คงเหลือแค่โหวตเตอร์บางกลุ่มที่หากินนายทักษิณอยู่ สงสารอุ๊งอิ๊งรับมรดกบาปของพ่อเต็มๆ" 

ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า การดีลให้นายทักษิณกลับบ้านโดยไม่ติดคุกสักวันเมื่อ 22 ส.ค. 2566 นั้น มีเป้าหมายให้นำพรรค พท.สกัดพรรคก้าวไกลไม่ให้เติบโตไปกว่านี้อีก แต่คงยากมากที่จะสกัดได้ แต่เมื่อนายทักษิณไม่ยอมติดคุกสักวัน จึงเป็นจุดเปราะบางเกิดภาพลักษณ์ด้านลบ ถูกครหาสองมาตรฐาน เป็นพวกอภิสิทธิ์ชน ประชาชนประจานซ้ำเติมหนักขึ้น ขณะที่พรรคก้าวไกลยิ่งกอบโกยความนิยมมากขึ้น โอกาสจะได้ครองเสียง สว.จำนวนมากก็เป็นไปได้ ดังนั้นนายทักษิณจึงไม่ได้มาช่วยสกัดความเติบใหญ่ของก้าวไกลเลย

 “ถ้าก้าวไกลมีเสียง สว.สีส้มเต็มสภา จะรับกันไหวหรือไม่ เพราะ สว.ต้องเลือกองค์กรอิสระ เลือกบุคคลไปเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) เป็นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน  เป็นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งคัดเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย นอกจากนี้ความนิยมของก้าวไกลยังจะไหลไปสู่ชัยชนะเลือกตั้งท้องถิ่นได้ง่ายดายขึ้น ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือเทศบาล และสิ่งเหล่านี้พรรคเพื่อไทยคงสู้ก้าวไกลไม่ได้ในทางการเมือง” นายจตุพรระบุ

นายจตุพรยังกล่าวถึงกรณี นายเศรษฐาไปพบกับนายทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้าว่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ทำให้คนเห็น แต่เป็นเจตนาเพื่อสังสัญญาณให้ฝ่ายดีลกันไว้ได้สบายใจว่า ยังรักษาดีลตามที่ตกลงกันไว้ ดังนั้นนายเศรษฐาจึงถูกเรียกตัวไปพบทักษิณ และต้องย้ำให้ยึดมั่นดีล เมื่อนายทักษิณได้พักโทษ นายเศรษฐาต้องลงจากตำแหน่งนายกฯ  อย่างไม่มีข้อบิดพลิ้ว เพราะต้องไม่ลืมไปว่านายเศรษฐา เป็นแค่ตัวเลือกให้มาแสดงในตำแหน่งนายกฯ ที่สำคัญยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับธุรกิจเดิมอยู่ ดังนั้นการบิดพลิ้วอยู่เป็นนายกฯ  ต่อย่อมกระทบกับคดีความต่างๆ จะตามมาเล่นงานเอาได้ในภายหลัง

 “การดีลและการเลือกคนมาเป็นนายกฯ เขาจะเลือกคนที่สะอาดหมดจดไม่ได้ เพราะจะเป็นปัญหาเมื่อต้องการให้ออก ดังนั้นคนที่มีบาดแผลจึงเข้าคุณสมบัติในดีลให้เป็นนายกฯ อีกทั้งคนดีลยังถูกคล้องไว้ไม่ให้ได้อิสรเสรี คือต้องมีคดีคาไว้เพื่อป้องกันการเบี้ยวดีล” นายจตุพรกล่าว

นายจตุพรย้ำว่า การดีลที่เกิดขึ้นมีการวางตาข่ายไว้มากมาย เพื่อป้องกันไม่ให้นายเศรษฐาเบี้ยวดีลในตำแหน่งนายกฯ โดยให้บริหารประเทศ แต่ไม่ยอมให้งบประมาณมาใช้จ่าย สิ่งนี้ย่อมทำให้บริหารประเทศได้ยากลำบากขึ้น และเป็นการกดดันทางอ้อมต่อตัวนายเศรษฐาด้วย แต่สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งกรณีนายเศรษฐาใช้รถหลวงประจำตำแหน่งนายกฯ คันใหม่ ราคากว่า 7 ล้านบาทไปพบนายทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้า โดยใช้ในกิจการที่ดูเหมือนจะถูกครหาเป็นเรื่องส่วนตัว และการใช้รถหลวงแบบนี้มีคดีความเกิดขึ้นมากมาย และถูกวินิจฉัยเป็นความผิดจนต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองและติดคุกกันระนาว ดังนั้นนายเศรษฐาจึงควรคำนึงและระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องเสียหายลุกลามบานปลายไปเป็นอุปสรรคทางการเมือง

เศรษฐาอยู่ไม่เกิน 10 เม.ย.

 “การเดินทางไปพบทักษิณในวันอาทิตย์ ถือว่าเป็นการทำหน้าที่หรือเปล่า ฉะนั้นนายเศรษฐาต้องระมัดระวัง แต่การกดกระจกลงเพื่อจงใจให้คนเห็น แล้วออกมายืนสัมภาษณ์หน้าประตูบ้านที่ปิดเรียบร้อยนั้น คนเป็นนายกฯ ไม่ควรทำถึงขั้นนั้น แต่ที่น่าสนใจมากกว่าคือ คนที่เข้าไปพบทักษิณก่อนนั้นเป็นใคร แล้วถัดมารถนายเศรษฐาก็ตามเข้าไป” นายจตุพรระบุ

นายจตุพรกล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองกำลังเดินมาถึงจุดน่าสนใจมากขึ้น เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางกลับไทยตามดีลไว้เช่นกัน ซึ่งการดีลทางการเมืองล้วนเป็นอำนาจและผลประโยชน์ที่ลงตัวกัน  และที่สำคัญไม่มีใครได้ฝ่ายเดียว

 “การเดินทางกลับบ้านของทักษิณ และยังไม่ติดคุกสักวันนั้น สิ่งที่น่าสนใจคือจะมีการปฏิบัติตามดีลหรือไม่ เพราะต้องผูกพันและต่อเนื่องกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องเดินทางกลับมา ดังนั้นวันที่ 4 มี.ค. ศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีของยิ่งลักษณ์ และอัยการสูงสุดนัดฟังคำสั่งคดีทักษิณวันที่ 10 เม.ย. ดังนั้นตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.นี้จึงเป็นเวลาสำแดงที่นายเศรษฐาต้องพ้นไปจากนายกฯ หรืออย่างช้าสุดคงยื้อได้ถึงก่อน 10 เม.ย.นี้” นายจตุพรระบุ

สำหรับการดีลที่เกิดขึ้นนั้น พรรค พท.ได้ตามที่ดีลไว้แล้ว โดยให้นายทักษิณกลับบ้าน แล้วยังมีการตกลงกันอีกในเรื่อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องกลับบ้านตามมาด้วย อีกอย่างการกลับบ้านของนายทักษิณ ต้องเลือกกลับในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ซึ่งเป็นไปตามดีลที่ตกลงกันไว้ ส่วนการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วไปจับมือกับพรรคที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์นั้น ก็เป็นไปตามดีลเช่นกัน เพราะถ้าพรรคเพื่อไทยจับมือกับก้าวไกลแล้ว นายทักษิณก็จะไม่ได้กลับบ้าน หรือกลับมาก็ต้องติดคุก 8 ปี ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นดีลที่มีเงื่อนไขอันสมบูรณ์ที่สุดของนายทักษิณ คือการกลับบ้านโดยไม่ต้องติดคุกสักวัน และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีก แต่เป็นไปตามดีลที่ตกลงกันไว้ ดังนั้นการได้เพื่อไทยเป็นรัฐบาล นายเศรษฐาเป็นนายกฯ ล้วนเป็นสิ่งผิดธรรมชาติ การจะพ้นตำแหน่งไปจึงไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดี หรือบริหารประเทศไม่ได้ แต่มันคือข้อตกลงที่ให้เป็นนายกฯ ได้แค่นี้.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง