ปัดฮั้วสองตระกูล ขุมทรัพย์พลังงาน หนุนเจรจาให้ยุติ

ไม่มีหรอก! สองตระกูลฮั้วขุมทรัพย์พลังงานส่อไทยเสียดินแดนเกาะกูด “สุทิน” โต้ คปท.-ศปปส. คิดไปได้โยง “ทักษิณ” พบ “ฮุน เซน”-“อุ๊งอิ๊ง” เยือนกัมพูชา ด้าน “นพดล” ชี้เอ็มโอยู 44 มัดเจรจาเขตแดนด้วย ระบุอย่าปล่อยข่าวชกใต้เข็มขัดเสียดินแดน ยันไม่มีเกี้ยเซียะ  ทอ.เปิดสมุดปกขาวแผนซื้ออาวุธ 10 ปี งบฯ 68 ต้องการเครื่องบินรบ 1 ฝูงบิน 

เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นหนังสือถึง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ให้ยึดมั่นการปกป้องดินแดนประเทศไทยกรณีการลากเส้นเขตแดนทะเลที่จัดทำโดยประเทศกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียวผ่านกึ่งกลางของเกาะกูด จังหวัดตราด และมีการเชื่อมโยง ไปถึงการพบกันระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา อดีตนายกฯ กัมพูชา รวมถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีกำหนดการเดินทางไปประเทศกัมพูชาในเดือน มี.ค.นี้ว่า เรื่องนี้ก็คิดไปได้ แต่ว่าพื้นที่ทางทะเลกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้หาข้อสรุป ทหารจะเป็นคนรักษาข้อสรุปนั้น

ส่วนข้อกังวลที่อาจจะต้องเสียเกาะกูดไป เพราะกัมพูชาขีดเส้นออกมา จะให้ความมั่นใจกับกลุ่มผู้เรียกร้องอย่างไรนั้น  นายสุทินระบุว่า ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศ กรมสนธิสัญญาฯ เป็นผู้ตอบ สำหรับกรณีที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าจะกลายเป็นสองตระกูลหาผลประโยชน์ ทำให้เราเสียดินแดนนั้น นายสุทินยืนยันว่า ไม่มีหรอก

ที่รัฐสภา นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ  แถลงผลการประชุมว่า กมธ.ได้หารือเรื่องพื้นที่ซับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (OCA) เพื่อติดตามความคืบหน้าการเจรจา โดยมีการเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน,  กระทรวงการต่างประเทศ, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, สภาหอการค้าไทย เป็นต้น เข้าร่วมประชุม ซึ่งเราทราบจากกระทรวงการต่างประเทศว่า กรอบเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลได้ยึดตาม MOU 2544 ที่เป็นเครื่องมือนำไปสู่การเจรจา โดยไทยจะไม่เสียประโยชน์ ซึ่งตาม MOU 2544การเจรจาเรื่องพื้นที่ซับซ้อนทางทะเลและเขตพัฒนาร่วมจะต้องเจรจาควบคู่กันไป แยกกันไม่ได้

นายนพดลกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องกระทำผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมมือทางเทคนิคไทย-กัมพูชา หรือจีทีซี ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเจรจาระหว่างสองประเทศ โดยประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศด้านความมั่นคง และอื่นๆ สามารถเชื่อมั่นได้ว่าหน่วยงานรับผิดชอบจะรักษาประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และไม่เสียสิทธิด้านเขตแดนตามที่มีการบิดเบือนในสื่อต่างๆ  แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการจีทีซี จึงยังไม่มีการเจรจาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ดังนั้น ที่มีการเสนอข่าวว่านายทักษิณได้หารือประเด็นเรื่องผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนกับสมเด็จฮุน เซน จึงไม่เป็นความจริง

นายนพดลกล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่องเกาะกูดนั้น ประเทศไทยยังถือว่าเกาะกูดเป็นของไทย MOU 44 ไม่ได้ยอมรับเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลที่ลากโดยกัมพูชา ซึ่งแตกต่างจากเส้นที่ลากโดยไทย ฉะนั้น จึงต้องเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลกันต่อไป และที่มีการบิดเบือนว่า MOU 44 เป็นการยอมรับเส้นเขตแดนของกัมพูชานั้น จึงไม่เป็นความจริงเช่นกัน ตัวแทนหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต่างสนับสนุนให้รัฐบาลไทยเจรจากับกัมพูชา เพื่อนำพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน และผลการเจรจานั้นจะต้องได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย หาก MOU 44 ไม่ดี หรือหากการเจรจาจะเป็นผลประโยชน์ต่อคนใดคนหนึ่ง กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, กรมแผนที่ทหาร, สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน เขาไม่ยอมหรอก ฉะนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจได้

"การระงับข้อพิพาทในเรื่องนี้ทางการทูตจะดีที่สุด ซึ่งเมื่อสามารถเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนได้ จะนำไปสู่การแบ่งปันผลประโยชน์ทางไนโตรคาร์บอนเอ็นเนอร์จี  เอาใจช่วยรัฐบาลนี้ และอยากให้เจรจาเสร็จเร็วที่สุด"

นายนพดลยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่น.ส.แพทองธารจะเดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชาในช่วงเดือน มี.ค.ว่า ได้ยินว่าพรรคประชาชนกัมพูชาได้เชิญกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยเดินทางไป ซึ่งคงเป็นการพูดคุยในเรื่องของพรรคมากกว่าเรื่องของรัฐบาล คงไม่มีการเจรจาเรื่องพื้นที่ที่ทับซ้อนทางทะเล แต่คงเป็นการกระชับความสัมพันธ์มากกว่า และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเพิ่งรับตำแหน่ง  ส่วนการที่สมเด็จฮุน เซน เดินทางมาพบนายทักษิณ เพราะทั้งคู่เป็นเพื่อนเก่ากัน นับถือกันมา 30 ปี ความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิด นัยคงมีแค่นั้น ไม่มีเรื่องการเกี้ยเซียะกันระหว่าง 2 ตระกูลการเมือง การ เป็นมิตรก็ดีกว่าเป็นศัตรู การทูตเชิงบุคคลก็ยังมีความสำคัญ แต่เราก็ต้องยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลักด้วย

เมื่อถามย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนายทักษิณและสมเด็จฮุน เซน จะทำให้การเจราจาเรื่องนี้ง่ายขึ้นหรือไม่ นายนพดลกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนายเศรษฐาและฮุน มาเนต นายกฯ กัมพูชา ก็ค่อนข้างดี ก็ไม่อยากให้โยงกับนายทักษิณ เพราะเป็นเรื่องของการเจรจาในรัฐบาลก่อน ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ เองก็เคยเจรจา เรื่องนี้โดยการดำเนินการต่อเนื่องทุกรัฐบาลมา 23 ปีแล้ว และเป็นเรื่องที่ยาก ก็ต้องเจรจากันต่อไป และจะต้องผ่านกรรมการเจทีซี ดังนั้นยืนยันว่าไม่มีการอุบอิบ อะไรที่ไม่เห็นด้วยก็นำเสนอต่อกระทรวงการต่างประเทศ อย่ามาพูดว่าประเทศไทยเสียเกาะกูดแล้ว ไม่เป็นความจริง อย่าชกมวยใต้เข็มขัด

ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ กองทัพอากาศ จัดงานสัมมนาวิชาการ RTAF Symposium 2024 โดยมีนายสุทิน คลังแสง รมว.  กลาโหม กล่าวในการเปิดงานสัมมนาว่า โลกมีความเปลี่ยนแปลงมาก ทั้งเชิงกายภาพและสังคม เราต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วมาก ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดภัยคุกคามใหม่ ยุทธบริเวณและองค์ความรู้ใหม่ๆ ในทางวิชาการ ได้วิเคราะห์และสรุปได้ว่าในรูปแบบการเปลี่ยนแปลงนี้จะความรู้เกิดใหม่ทุก 5 นาที เพราะฉะนั้นเราต้องตามให้ทัน โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สถานการณ์โลกอาจตึงเครียด และมีภัยสงครามเกิดขึ้นด้วย ซึ่งกระทบกับเราทุกด้าน ทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จัดหายาก ราคาแพง

กองทัพอากาศจัดขึ้นได้มีการเผยแพร่สมุดปกขาวกองทัพอากาศ พ.ศ.2567 ( RTAF White paper 2024) โดยได้ประเมินสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ไทยจะเผชิญถึงปี พ.ศ.2580 พร้อมแสดงตารางแผนการพัฒนากองทัพอากาศทุกมิติ หรือ All domains projectโดยกำหนดเป็นแผนงบประมาณปี 2568-2577 ซึ่งในงบประมาณ 2568 กองทัพอากาศมีความต้องการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนแบบที่ 19 หรือ บ.ข.19/ก (F-16) ฝูงบิน 102 กองบิน 1 เนื่องจากครบอายุการใช้งานโดยจัดหาจำนวน 1 ฝูงบิน พร้อมอุปกรณ์เครื่องช่วยเหลืออะไหล่ระบบอาวุธอุปกรณ์สนับสนุนการบินและการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้อง โครงการวิจัยพัฒนา กองทัพอากาศยังได้ทำโครงการ ต่อเนื่องในปี 2580 ถึง 2589 ในการจัดหาทดทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบที่ 19 F-16 ฝูงบิน 403 กองบิน 4 ตาคลี เนื่องจากครบอายุการใช้งานจำนวน 1 ฝูงบินอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าการเลือกแบบเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ทดแทนเครื่องบินขับไล่ F-16 ที่จะปลดประจำการ ระหว่าง F-16 จากสหรัฐและกริพเพนจาก สวีเดน จะได้ข้อสรุปในเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย.นี้ เพื่อเสนอให้คณะกรรมาธิการงบประมาณสภาผู้แทนราษฎร ตามขั้นตอนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ซึ่งถึงเวลานั้นจะต้องมีความชัดเจนในการเลือกแบบเครื่องบินขับไล่ที่กองทัพอากาศจะจัดซื้อพร้อมแถลงให้กับสาธารณชนได้ทราบ

ขณะที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.ก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้รับเชิญให้กล่าวถึงบทบาท กมธ.การหทาร กับการพัฒนากองทัพอากาศ ในช่วงท้ายของงานได้เยี่ยมชมนิทรรศการและปฏิทินแผนงานกองทัพอากาศช่วงปี 2567-2580 (สมุดปกขาว) ซึ่งนายวิโรจน์ กล่าวว่า การวางแผนงานและงบชัดเจน ซึ่งประชาชนก็จะทราบว่าเราซื้อมาเพื่ออะไร มีความโปร่งใส จึงชื่นชม ทอ. ที่ประชาชนจะได้เห็นความโปร่งใสและความจำเป็น ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับกองทัพดีขึ้น การจัดซื้อมาเพื่อทดแทนอะไร และเป็นการแจ้งล่วงหน้าไปยังประชาชน

ในช่วงท้ายของงาน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า กองทัพอากาศปีนี้ถือว่าใช้ได้เป็นทีมที่เหมาะสม และมีความทะเยอทะยานควบคู่กันไปกับภารกิจ ในแง่ของความมั่นคงการต่อสู้ถือว่ามีข้อมูลครบ เข้าใจทุกบริบท ที่จะพัฒนากองทัพไทยไปให้ได้ ถึงขีดที่ควรจะเป็น ปกป้องอาณาจักรของประเทศไทยให้ได้สมเกียรติ ซึ่งยังมีอีกหลายประเด็นที่ทำมาและดีมาก และไม่ค่อยมีคนพูดถึง ปัจจุบันทั่วโลกมีความขัดแย้งสูง มีความไม่แน่นอนในการจับขั้ว มีการทะเลาะเบาะแว้ง ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญในการพัฒนากองทัพอากาศ เพื่อให้ถึงขีดความสามารถที่ควรจะเป็นควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ หากไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เราก็ไม่มีความมั่นคงทางด้านการทหาร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง