โพลยก‘ทักษิณ’ขี่คอ‘เศรษฐา’

"เศรษฐา" ฟิตจัด ประชุม ครม.วันอาทิตย์ก่อนทัวร์ต่างประเทศถึงวันที่ 14 มี.ค. กลับมาลงพื้นที่เชียงใหม่-เชียงราย 15-17 มี.ค. ประชุม ครม.สัญจรพะเยาต่อ 18-19 มี.ค. ยันไม่แปลกป้าย "ฮักทักษิณ" โผล่ระหว่างลงพื้นที่ เหตุเป็นนายกฯ ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ย้ำ "อุ๊งอิ๊ง" เยือนกัมพูชาเป็นเรื่องดี "จุรินทร์" หยันรัฐบาลทำงานไม่ทัน ฝ่ายค้าน อุ้ม กม.ไปดองที่ทำเนียบฯ แนะเอาเวลาไปเดินทัวร์มาเร่งออก กม. "สว.วันชัย" เตือนผลงานไม่มีรัฐบาลจะพัง   "อดุลย์" เฉ่ง "เพื่อไทย" เตะถ่วงนิรโทษกรรม กระตุก "ทักษิณ" ต้องมีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จี้นายกฯ เร่งออกเป็น พ.ร.ก.แทน พิลึก! นิด้าโพลพบ "พิธา" น่าเห็นใจที่สุด ซูเปอร์โพลให้โอกาส "เศรษฐา" ทำงานครบวาระ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เป็นประธาน ก่อนจะเดินทางไปปฏิบัติราชการที่ต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 4-14 มี.ค.นี้ โดยนายเศรษฐากล่าวถึงการกำชับงานต่างๆ แก่รัฐมนตรีเนื่องจากเดินทางไปปฏิบัติภารกิจหลายวัน ว่า เช้าวันที่ 4 มี.ค. ตนจะออกเดินทางไปที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเชื่อว่าภารกิจของรัฐมนตรีแต่ละท่านก็มีมากอยู่แล้ว โดยในที่ประชุม ครม. ตนได้ฝากงานกันไปแล้วพอสมควร ทุกท่านมาถึงจุดนี้ได้เชื่อว่ามีวุฒิภาวะพอ ไม่จำเป็นต้องสั่งไปบอกว่าต้องทำอะไรบ้าง ทุกคนทำงานเต็มที่ มีงานล้นมืออยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา      กำหนดแผนตรวจและติดตามงานตามข้อสั่งการและการขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศให้ครอบคลุมทั่วถึง โดยหลังกลับจากเยือนยุโรป วันที่ 14 มีนาคมนี้ มีแผนงานเริ่มต้นที่ จ.เชียงใหม่-เชียงราย วันที่ 15-17 มีนาคม ทั้งนี้ นายกฯ ต้องการเห็นและติดตามงานสำคัญที่รัฐบาลมอบนโยบายและแนวทางไว้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาที่เร่งด่วน เพราะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อไปได้

สำหรับการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่-  เชียงราย ในวันที่ 15-17 มีนาคมนี้ เพื่อติดตามการแก้ปัญหาสำคัญคือเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่มีการบูรณาการหลายภาคส่วน เพื่อคลี่คลายปัญหาและความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การแก้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนและภาคเหนือ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้มีการป้อง กันปราบปรามอย่างเข้มข้น การดูแลคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  รวมทั้งการตรวจงานนโยบายในภาคเหนือตอนบน ที่จะมีกระประชุม ครม สัญจรที่จังหวัดพะเยา ในวันที่ 18-19 มีนาคม ต่อจากการลงพื้นที่เชียงใหม่ด้วย

นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ในระยะหลังที่พบว่ามีประชาชนถือป้าย "ฮักทักษิณ" ควบคู่กับการทวงถามเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ซึ่งถึงเวลาที่จะเชิญนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ  มาเป็นที่ปรึกษาหรือไม่ว่า  เรื่องป้ายฮักคุณทักษิณ ได้เรียนไปในหลายเวที ไม่ปฏิเสธเลย แล้วเข้าใจว่าท่านเป็นนายกฯ ที่ได้รับความนิยมชมชอบสูงสุดคนหนึ่งในประเทศไทย ฉะนั้นเป็นเรื่องปกติที่จะมีคนรักท่าน การรักใครถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ประเทศชาติมีความรักมันก็ดีอยู่แล้ว ส่วนการจะเชิญท่านมาหรือไม่นั้น ท่านยังไม่ได้แสดงเจตจำนงว่าจะเป็นที่ปรึกษาหรือเปล่าเลย  อย่างสัปดาห์ที่แล้วตนได้เข้าไปหาท่าน  ท่านก็ยังโฟกัสเรื่องการรักษาตัวเองให้ดี

"คิดว่าท่านอยากจะใช้เวลาอยู่กับครอบครัวหรือพี่น้องพรรคพวกเพื่อนฝูงที่สนิทกัน และดูแลรักษาตัวเองให้ดี หลังจากนั้นแล้วค่อยว่ากันดีกว่า ผมโอเพ่น อย่างเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้พบกับนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ มีการเสนอแนะหลายๆ เรื่องมา ซึ่งผมได้ชี้แจงในหลายๆ เรื่อง ที่บางทีท่านอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่บางเรื่องที่ท่านเสนอแนะมาผมก็น้อมรับไปปฏิบัติ และสั่งการทีมงานไปเรียบร้อยแล้ว"

เยือนกัมพูชากระชับสัมพันธ์

เมื่อถามถึงกรณีพรรคประชาชนกัมพูชาเชิญ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยไปเยือนกัมพูชา ระหว่างวันที่ 18-19 มี.ค.นี้ จะสามารถช่วยส่งเสริมการทำงานของรัฐบาลได้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ในแง่ของประชาชนซึ่งมีหลายมิติ เมื่อเดือนที่ผ่านมา สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต  นายกฯ กัมพูชา เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล และได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตนก็ได้เข้าเฝ้าฯ ด้วย ก็เป็นการสนทนาที่ดีระหว่างประมุขสูงสุดของประเทศ ซึ่งเรื่องของรัฐบาลตนและนายกฯ กัมพูชาก็มีความสัมพันธ์ที่ดี มีการพูดคุย ยกหูโทรศัพท์ถึงกันได้อยู่ตลอด ซึ่งในระดับพรรคการเมืองเอง ทั้งพรรคประชาชนกัมพูชากับพรรคเพื่อไทย หากได้พบปะกันก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ท่านได้เชิญหัวหน้าพรรคเพื่อไทยไปพูดคุยกัน

"ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ดี รวมถึงประชาชนกับประชาชนก็มีการเข้า-ออกกันได้อย่างดีขึ้น รวมถึงระหว่างชายแดนก็มีการเอื้อให้เข้า-ออกกันได้ โดยเฉพาะแรงงานในกัมพูชาสามารถมาทำงานในประเทศไทยโดยสิทธิเท่าเทียม เป็นการดูแลระหว่างประชาชนกับประชาชน คิดว่าในทุกมิติเรามีการพูดคุยกันได้ด้วย ก็ดีใจที่ น.ส.แพทองธาร ได้ไปเยือนกัมพูชา" นายเศรษฐากล่าว

ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธารจะนำคณะผู้บริหารของพรรคเพื่อไทยไปเยือนกัมพูชาว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดหรือกำหนดการ

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า รัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยยังไม่มีการพูดคุยกันถึงกำหนดที่จะเข้าพบนายทักษิณ และยังไม่ทราบว่านายทักษิณจะมีโอกาสเข้าพรรคเพื่อไทยในเร็วๆ นี้ หรือไม่ เนื่องจากจะต้องดูเรื่องของสุขภาพของนายทักษิณด้วย

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปราย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ต้องถามฝ่ายค้าน เพราะรัฐบาลไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร เราทำงาน ฝ่ายค้านจะยื่นหรือไม่ยื่นเราก็ทำงาน ฝ่ายค้านจะยุติก็ดี เราจะได้ทำงานสะดวกสบายขึ้น ฝ่ายค้านจะยื่นก็ดี ข้อคลางแคลงใจทำให้สาธารณะรับรู้ เราก็พร้อมชี้แจง วันนี้การทำงานอยู่ในมือพวกเรา เรากำลังทำงาน ถ้ามีอะไรไม่เข้าใจเราจะได้ชี้แจง จะยื่นหรือไม่ยื่นไม่ใช่ประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ตอนนี้รัฐบาลเดินหน้าทำงาน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นที่จะอภิปราย อาจจะไม่ได้เจาะจงไปที่เรื่องงบ แต่เจาะจงไปที่นายทักษิณ นายภูมิธรรมกล่าวว่า อยู่ที่ฝ่ายค้านว่าเขาให้ความสำคัญกับอะไร ให้ความสำคัญกับประชาชนที่กำลังเดือดร้อนหรือไม่ หรือให้ความสำคัญกับประเด็นการเมืองที่จะหยิบขึ้นมาแล้วให้ตัวเองได้แสดงทัศนะความเห็นหรือไม่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ ครม.ไม่ไปตอบกระทู้ถามในสภาว่า โดยข้อเท็จจริงหากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีติดภารกิจสำคัญจนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ก็สามารถเลื่อนการตอบกระทู้ถามของสมาชิกได้ แต่ข้อเท็จจริงหลายครั้ง หลายกรณีที่เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ก็คือรัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้ถามด้วยเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น รัฐมนตรีบางท่านไม่เคยมาตอบกระทู้ถามสดของสมาชิก บางท่านแม้เป็นกระทู้ถามทั่วไปที่รู้ล่วงหน้ามาหลายเดือนก็ยังไม่มาตอบก็มี

หยันรบ.ทำงานไม่ทันฝ่ายค้าน

"รัฐบาลชุดนี้ทำงานไม่ทันฝ่ายนิติบัญญัติ ทำงานไม่ทันฝ่ายค้าน ที่ให้ความสำคัญกับการใช้เวทีของสภาเป็นเวทีในการเสนอกฎหมาย สะท้อนปัญหาประชาชนและตรวจสอบรัฐบาล  กฎหมายหลายฉบับที่ฝ่ายค้านเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาและบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระแล้ว แต่ไม่สามารถพิจารณาตามวาระได้ เพราะรัฐบาลเสนอกฎหมายตามประกบไม่ทัน ทำให้รัฐบาลต้องรับกฎหมายหลายฉบับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ หรือที่เรียกกันเป็นภาษาการเมืองว่าต้องขออุ้มกฎหมายของ สส.หรือฝ่ายนิติบัญญัติ เอาไปดองไว้ที่ทำเนียบฯ ก่อนระยะเวลาหนึ่ง จนกว่ารัฐบาลจะเสนอร่างของรัฐบาลมาประกบได้ทันในภายหลัง ทำให้กฎหมายที่ถูกรัฐบาลอุ้มเกิดความล่าช้า ประชาชนต้องเสียประโยชน์ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเอาเวลาที่ใช้กับการเดินทัวร์มาให้ความสำคัญกับการออกกฎหมายซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารประเทศของรัฐบาลเองกับงานในสภาให้มากขึ้นกว่านี้"

เมื่อถามถึงการตรวจสอบรัฐบาลของฝ่ายค้านในสมัยประชุมนี้ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับพรรคก้าวไกลเป็นหลักว่าจะดำเนินการในรูปแบบใดหรือไม่ และถ้าจะมีการอภิปราย จะอภิปรายในรูปแบบของการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ซึ่งต้องใช้เสียง 50 เสียงขึ้นไป หรือในรูปของการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ซึ่งต้องใช้เสียงอย่างน้อย 100 เสียง ซึ่งประชาธิปัตย์มีเสียงไม่พอ จึงไม่สามารถดำเนินการแต่เพียงลำพังพรรคเดียวได้ จึงต้องอาศัยเสียงของพรรคก้าวไกลเป็นหลัก

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ไม่มีผลงาน...รัฐบาลพัง" ผ่านมา 6-7 เดือนแล้วผลงานยังไม่ออกมาหรือออกมาล่าช้า พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำก็จะเสียคน และก็จะกระทบไปยังรัฐบาลโดยรวมด้วย ข้ออ้างเรื่องงบประมาณยังไม่ออก หรือโน่นนี่นั่น ชาวบ้านเขาไม่ฟังหรอก ยิ่งคุยใหญ่คุยโตก่อนเลือกตั้งว่าจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ทันที แต่ถึงเวลายังไม่เห็นมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากงานประจำ ลงพื้นที่ ไปต่างประเทศ แล้วก็ประชุมเป็นงาน routine แต่งานที่จะออกมาโดนใจเปรี้ยงปร้างมากกว่ารัฐบาลลุงตู่ยังไม่เห็นเลย

"ชาวบ้านเขาก็ชักจะทนไม่ไหว เปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรดีไปกว่ารัฐบาลเก่า กระแสจึงตีกลับกดดันมาเป็นข่าวเรื่องปรับ ครม.บ้าง เรื่องนายกฯ 2 คน 3 คนบ้าง หรือถึงขั้นเปลี่ยนตัวนายกฯ บ้าง เหล่านี้เป็นเรื่องไม่มีผลดีต่อรัฐบาลทั้งสิ้น ยิ่งขืนปล่อยให้นานวันไปเพื่อไทยก็จะเสียผู้เสียคนไปใหญ่ ก้าวไกลก็จะโตขึ้น ทั้งหมดมาจากความสิ้นหวังที่มีต่อรัฐบาล" นายวันชัยกล่าว 

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพรรคเพื่อไทย ระบุว่า สังคมไทยต้องมีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์อย่างแท้จริง  และขณะนี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กมธ. แสดงเจตนาชัดเจนเตะถ่วงเวลาพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวที่จะให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ตามกรอบเวลา โดยเอาประชาชนทุกเสื้อสีเป็นตัวประกันทางการเมือง เป็นการหลอกลวงประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองเท่านั้น

สำหรับกรณีที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนักโทษหนีคดีทุจริต 8 ปี กลับมาได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือจำคุก  1 ปี ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้  และบัดนี้ได้รับการพักโทษกลับไปอยู่บ้านกับครอบครัวอย่างอบอุ่นแล้ว จึงควรมีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณช่วยทำให้บ้านเมืองเกิดสันติสุข โดยร่วมผลักดันการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองให้กับประชาชนทุกกลุ่มเช่นกัน อย่าเอาแต่ประโยชน์ของตัวเอง แล้วทิ้งประชาชนที่เคยช่วยเรียกร้องต่อสู้ให้กับตัวเอง ต้องรู้จักการเสียสละให้คนอื่นด้วย จึงจะได้ความรักกลับคืนมา

"ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีนำเสนอคณะรัฐมนตรีออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ตามแนวทางของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เชื่อว่าจะทำให้สังคมไทยเกิดความปรองดองสมานฉันท์ คนในชาติเกิดความรักสามัคคี บรรยากาศทางการเมืองจะกลับคืนสู่ปกติ ประชาชนทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองตลอดไป ทั้งนี้ หาก ไม่ดำเนินการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง คณะกรรมการญาติวีรชนฯ มีความจำเป็นต้องยื่นถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสต่อไป" นายอดุลย์ระบุ

นิด้าโพลชี้ 'พิธา' น่าเห็นใจที่สุด

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล”  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองกับผู้น่าเห็นใจทางการเมือง” ระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ 1,310 หน่วยตัวอย่าง เมื่อถามถึงบุคคลที่คิดว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง พบว่า  ร้อยละ 42.90 ระบุว่าเป็นนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ, ร้อยละ 21.91 ระบุว่าเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ, ร้อยละ 17.40 ระบุว่าเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล, ร้อยละ 15.11 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ, ร้อยละ 10.15 ระบุว่าไม่มีผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองไทย,  ร้อยละ 9.01 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, ร้อยละ 6.11 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, ร้อยละ 4.27 ระบุว่าเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, ร้อยละ 3.28 ระบุว่าเป็นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และร้อยละ 3.21 ระบุอื่นๆ

เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนคิดว่าเป็นผู้ที่น่าเห็นใจทางการเมือง พบว่า ร้อยละ 46.79 ระบุว่าเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล,  ร้อยละ 17.86 ระบุว่าไม่มีใครที่น่าเห็นใจทางการเมือง, ร้อยละ 11.45 ระบุว่าเป็นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, ร้อยละ 10.46 ระบุว่าเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ,  ร้อยละ 8.55 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ, ร้อยละ 8.09 ระบุว่าเป็นนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ, ร้อยละ 1.91 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, ร้อยละ 1.37 ระบุว่าเป็นนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, ร้อยละ 1.22 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และร้อยละ 2.98 ระบุอื่นๆ

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง ประเมินผลงานรัฐบาล 6 เดือน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ อายุ 18 ปีขึ้นไป 1,289 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.ถึง 2 มี.ค.2567 พบว่า 5 อันดับแรกรัฐมนตรีที่ประชาชนรับรู้และพอใจเรื่อง แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ได้แก่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ร้อยละ 67.5, อันดับที่สอง ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ร้อยละ 36.0, อันดับที่สาม ได้แก่ นายภูมิธรรม  เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ร้อยละ 32.9, อันดับที่สี่ ได้แก่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ร้อยละ 26.0 และอันดับที่ห้า ได้แก่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร้อยละ 21.8  ตามลำดับ

เมื่อถามถึงรัฐมนตรีที่ประชาชนรับรู้และพอใจเรื่องแก้ไขปัญหายาเสพติดและจัดระเบียบสังคม ได้แก่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง ร้อยละ 60.9, อันดับที่สอง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ร้อยละ 33.9, อันดับที่สาม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ร้อยละ 29.4, อันดับที่สี่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ร้อยละ 29.1 และอันดับที่ห้า นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ร้อยละ 27.3 ตามลำดับ

นอกจากนี้ พบว่า 5 อันดับแรก รัฐมนตรีที่ประชาชนรับรู้และพอใจเรื่อง แก้ไขปัญหาปากท้อง อาชีพการงาน และที่ดินทำกิน ได้แก่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง ร้อยละ 65.4, อันดับที่สอง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ร้อยละ 30.8, อันดับที่สาม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ร้อยละ 30.5, อันดับที่สี่ นายวราวุธ  ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร้อยละ 26.3 และอันดับที่ห้า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ร้อยละ 24.6

เมื่อสอบถามถึงระยะเวลาการให้โอกาสรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีทำงานบริหารประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.1 ระบุอยู่ครบวาระ รองลงมาคือร้อยละ 10.4 ระบุ 3 ปี, ร้อยละ 5.0 ระบุ 2 ปี และร้อยละ 6.5 ระบุไม่เกิน 1 ปี ตามลำดับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่ไหวแล้ว 'เศรษฐา' จ่อเรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจ นัดพิเศษ หลังรู้จีดีพีไทยโตต่ำสุดในอาเซียน

“เศรษฐา” เรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจ นัดพิเศษ 27 พ.ค.นี้ หลังจีดีพีไทยไตรมาสแรกโตต่ำสุดในอาเซียน

เริ่มฮั้วยึดเก้าอี้สว. กกต.จับตาพวกไร้คะแนน-ท็อปไฟว์/‘ทักษิณ’ส่ง‘สมชาย’ดันนั่งปธ.

ประเดิมสมัคร สว.วันแรก มีทั้งพื้นที่คึกคักและกร่อย สะพัด! กทม.เริ่มมีเรื่องฮั้ว รวมกลุ่ม “กกต.” จับตาพวกไร้คะแนนและบรรดาท็อปไฟว์