ชงแพ็กเกจอุ้มอสังหาเอื้อทุน

คลังชงประชุม ครม.คลอดแพ็กเกจกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ลดค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนองให้บ้านราคาไม่เกิน 7 ล้าน รองโฆษก พท.หนุน “ซื้อ-สร้าง-ซ่อม” ที่อยู่อาศัยกระตุ้นเศรษฐกิจ จี้ “แบงก์ชาติ” ปรับลดดอกเบี้ยตามเสียงเรียกร้อง “ก้าวไกล” ดักคอ "เศรษฐา" หวังระบายสต๊อก เตือนผุดนโยบายเอื้อกลุ่มทุนพันตัว ชี้คนที่ได้ประโยชน์คือกำลังซื้อต่างชาติ แนะควรเริ่มจากราคาบ้านถูกกลางเมืองจับต้องได้ 

 เมื่อวันจันทร์ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 เม.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ให้ที่ประชุมพิจารณา โดยจะมีทั้งมาตรการการเงินและการคลัง เพื่อช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และให้สะท้อนต่อสถานการณ์ราคาอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันที่ปรับเพิ่มขึ้น

 “มาตรการที่เสนอมีทั้งการขยายเรื่องลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมถึงมาตรการสินเชื่อของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่วงเงินพิเศษอยู่แล้วให้ครอบคลุมกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น” นายกฤษฎากล่าว 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังแจ้งว่า ในวันที่ 9 เม.ย. เวลา  14.30 น. ผู้บริหารกระทรวงการคลังจะแถลงข่าวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision)  ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยจะมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง พร้อมด้วยนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นผู้แถลง นอกจากนี้ยังมีนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนายกมลภพ  วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)  ร่วมแถลงด้วย

นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ เหตุผลหลักอย่างหนึ่งคือขาดเม็ดเงินลงทุนที่เพียงพอและกระจายตัว ซึ่งการกระตุ้นการลงทุนที่สามารถสร้างผลกระเทือนเป็นห่วงโซ่ไปยังธุรกิจอื่นๆ ได้มากคือภาคอสังหาริมทรัพย์ จึงเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรการที่รัฐบาลเตรียมประกาศออกมานั้นจะส่งเสริมให้เกิดการซื้อ-สร้าง-ซ่อมที่อยู่อาศัย เพื่อดึงเงินเข้าระบบผ่านการจ้างงาน  การซื้อวัสดุก่อสร้าง และการผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อการกระตุ้นจีดีพีด้วย ทั้งนี้ตนอยากให้มีมาตรการที่มุ่งช่วยให้กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง สามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพเองได้ด้วย เพราะกลุ่มนี้เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด นอกเหนือจากจะสร้างผลกระเทือนทางเศรษฐกิจแล้ว ยังสามารถยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลได้ด้วย

นายชนินทร์กล่าวว่า นอกเหนือจากมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการได้แล้ว อยากเรียกร้องไปถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายตามที่มีการเรียกร้องกันมายาวนาน เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยของผู้ผ่อนบ้าน และผ่อนคลายมาตรการ LTV (Loan-to-Value) ให้ผู้ซื้อสามารถกู้ได้ในสัดส่วนที่สูงขึ้น หรือเต็ม 100% เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อบ้านและเป็นเจ้าของบ้านได้ง่ายขึ้น เพราะที่อยู่อาศัยเป็นสินค้าจำเป็น และมีราคาเติบโตเฉลี่ยต่อเนื่องตามกาลเวลา มิใช่สินค้าฟุ่มเฟือย อีกทั้งการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารก็ต้องพิจารณาศักยภาพในการผ่อนของผู้กู้ด้วยอยู่แล้ว เชื่อว่าหากปลดล็อกข้อจำกัดว่าให้กู้ได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทรัพย์สินนี้ จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจ และยังมีผลสืบเนื่องช่วยกระตุ้นการซื้อขายทั้งบ้านใหม่และบ้านเก่า ช่วยดึงเม็ดเงินกลับเข้าสู่ระบบได้อีกทางหนึ่งด้วย

"ผมมั่นใจว่านายกฯ เศรษฐาสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย และคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้นได้ไปพร้อมกัน แต่มาตรการทางการเงินเองก็มีความสำคัญมากในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ หากแบงก์ชาติสามารถทำงานเป็นทีมกับรัฐบาลได้ จะเป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด“ นายชนินทร์กล่าว

ขณะที่นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพมหานคร  พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ โดยเป็นการลดวงเงินค่าโอนและจดจำนองที่อยู่อาศัยเหลือ 0.01% จากเดิมบ้านหลังไม่เกินราคา 3 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นบ้านราคาไม่เกิน 7 ล้าน เข้าสู่ที่ประชุม ครม.วันที่ 9 เม.ย.นี้ว่า ถ้าพูดอีกมุมหนึ่งคือเป็นการระบายสต๊อกให้กลุ่มภาคอสังหาฯ เนื่องจากปัจจุบันอสังหาฯ ในไทยระบายออกยาก เพราะปัจจัยดอกเบี้ยที่สูงก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มทุนใหญ่ที่ต้นทุนทางด้านการเงินได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นอีกมุมหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องการผลักดันให้ดอกเบี้ยต่ำ ให้ประชาชนซื้อเพื่อระบายอสังหาฯ อย่างไรก็ตามอาจมีการมองว่า เป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มอสังหาฯ ซึ่งอาจจะถูกโยงไปที่ตัวนายกฯ จึงต้องระมัดระวัง

นายศุภณัฐกล่าวว่า สำหรับการปรับฐานให้บ้านราคา 7 ล้านได้รับประโยชน์นั้น ตนมองว่าสูงเกินไป ถ้านายกฯอยากจะทำควรผลักดันบ้านราคาถูกในใจกลางเมือง ดีกว่าที่รัฐบาลจะใช้นโยบายดังกล่าวเพื่อระบายสต๊อกของภาคเอกชน เพราะบ้านราคา 7 ล้านคนซื้อน้อย กำลังการซื้อของประชาชนมีน้อย ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของนอมินี โดยถ้าต่างชาติต้องการจะซื้อก็จะใช้นอมินีโดยใช้ชื่อคนไทยแล้วเข้าไปซื้อ เพราะดูในสถิติปัจจุบันหลังๆ คนเมียนมาเข้ามาซื้ออสังหาฯ ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้การที่รัฐบาลต้องการจะออกมาตรการแบบนี้ มองว่าเพราะต่างชาติมีกำลังซื้อ

 “อย่างที่ผมเคยพูดในเรื่องผังเมืองก่อนหน้านี้ อย่างในเมืองนอกถ้าคุณจะต้องการขึ้นคอนโดฯ ใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้นต้องถูกนำมาพัฒนาให้เป็นคอนโดฯ ที่ราคาจับต้องได้ ในประเทศไทยถ้าทำได้จะทำให้คนที่มีรายได้น้อย เขาจะได้มีที่อยู่อาศัยที่ราคาถูกในโลเกชันที่ดี เพราะทุกวันนี้ถ้าเราดูจากการผลักดันโครงการเคหะฯ การเคหะฯ จะต้องหาทำเลแย่ๆ ถึงแม้คนที่มีรายได้น้อยจะมีที่อยู่จริง แต่เขาต้องมีต้นทุนทางด้านการเงินและการเดินทางเพิ่มเติมขึ้นมา ดังนั้นประเด็นนี้จึงต้องระวังว่าเป็นการเอื้อกลุ่มทุนอสังหาฯ หรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้ถูกโยงมาตั้งแต่ในมิติของผังเมืองแล้ว” นายศุภณัฐระบุ

นายศุภณัฐกล่าวด้วยว่า แต่อีกมุมหนึ่งมองว่าระบายในตัวซัพพลายตรงนี้ ก็จะทำให้สามารถระบายในภาควัสดุก่อสร้างได้ พอระบายได้ก็ขึ้นโครงการใหม่ได้ ก็จะทำให้เกิดการจ้างงานขึ้น ซึ่งสามารถมองมิตินี้ได้ สำหรับภาคก่อสร้างไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณจะขายให้กับระดับบนหรือระดับล่าง คุณก็จ้างคนงานราคาเท่าเดิม ไม่ว่าจะคอนโดฯ แพงหรือคอนโดฯ ถูก คุณทำการตลาดในระดับล่างดีกว่า ถ้าบ้านกรอบราคาไม่เกิน 5 ล้าน อาจจะพอทำได้สำหรับคนในเมือง แต่ถ้า 7  ล้าน อาจจะเป็นคนชนชั้นกลางแทนที่รัฐบาลอยากจะกระตุ้น  คุณกำลังกระตุ้นคอนโดฯ ลักชัวรีหรือไม่ คอนโดฯ ห้องละ 7  ล้าน แน่นอนว่าคอนโดฯ ลักชัวรีขายได้ แต่อยู่ดีๆ คนที่ไม่มีเงินจะซื้อคอนโดฯ ลักชัวรีไปทำไม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง