กนง.ชั่งน้ำหนักไม่ลดดอกเบี้ย

“กนง.” เสียงแตกคงอัตราดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี แจงปม "เศรษฐา" บี้ลดดอกเบี้ย เรื่องละเอียดอ่อน ชั่งน้ำหนักคนละแบบ ไม่มีใครถูกผิด พร้อมเคาะจีดีพีปี 67 โต 2.6% ประเมินส่งออกยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เมื่อวันที่ 10 เมษายน นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุม กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราสูง โดยปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวได้ 2.6% และในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% ด้านการส่งออกคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้

 “คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ แต่ยังต้องติดตามความไม่แน่นอนของปัจจัยที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า เพราะเศรษฐกิจภาพรวมถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ดอกเบี้ยก็ไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะต้องปรับชัดเจนขนาดนั้น แต่ต้องมองภาพที่มากกว่าปีนี้ ต้องมองไปถึงปีหน้า” นายปิติระบุ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว รวมทั้งมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% และในปีหน้าที่ 1.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ที่ 0.6% ในปีนี้ และในปีหน้าที่ 0.9% ตามการปรับลดลงของราคาอาหารสดบางกลุ่ม เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก รวมถึงราคากลุ่มพลังงานที่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ซึ่งหากหักผลของมาตรการดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดช่วงที่ผ่านมายังเป็นบวก

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นกลับเข้ากรอบเป้าหมายได้ภายในปลายปีนี้ โดยต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน

 “ปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยอาจจะมีแรงส่งและแรงฉุดพร้อมกันไป แต่ในปี 2567 แรงสนับสนุนหลักที่มีมาต่อเนื่องตั้งแต่ปีก่อน คือ การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนแรงฉุดตั้งแต่ปีก่อน ทั้งสินค้าคงคลังและการเบิกจ่ายภาครัฐที่ล่าช้าจะทยอยหมดไป ขณะที่ภาคการส่งออกยังขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งตัวเลขจีดีพี 2.6% ในปีนี้แม้อาจจะไม่ได้ขยายตัวมากนัก แต่ก็เป็นการเร่งขึ้นของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร” เลขานุการ กนง.ระบุ

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเปราะบางของเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงพิจารณาว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ จึงสนับสนุนนโยบายของธปท. ในการดำเนินมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม

นายปิติกล่าวว่า จุดยืนนโยบายการเงินในขณะนี้ไม่ได้เป็นการฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนนโยบายการคลังที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจก็สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน มองว่านโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องจะมาเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนช่วงโควิด-19 คงไม่ใช่สถานการณ์แบบนั้นที่เศรษฐกิจในปัจจุบันต้องการ เพราะอัตราการเร่งตัวของเศรษฐกิจตอนนี้ไม่ได้น้อย โดยยืนยันว่าคณะกรรมการฯ ได้พิจารณานโยบายการคลังเสมอและตลอด รวมถึงพยายามทำให้สอดรับกันได้

ส่วนกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เรียกร้องให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น นายปิติกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นมุมมองที่มีเหตุมีผลและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ได้มีความถูกต้องเป๊ะๆ ในการตัดสิน ณ ตอนนี้ เพราะสิ่งที่คณะกรรมการฯ ได้คุยกันคือ การปรับ ถ้าปรับก็คือปรับนิดเดียวเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนัก ที่ต้องชั่งทั้งปัจจัยระยะสั้น ระยะยาว เรื่องรายเล็ก รายใหญ่ ปัจจัยจากภาคต่างประเทศ ในประเทศ ขึ้นกับว่าพอชั่งน้ำหนักแล้ว ท้ายที่สุดมีมุมมองอย่างไร

 “เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ได้มีใครผิดหรือถูก 100% เป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนัก นายกรัฐมนตรีก็คงชั่งน้ำหนักอีกอย่างหนึ่ง คณะกรรมการฯ ทุกคนมองภาพเศรษฐกิจคล้ายๆ กัน เห็นพ้องกันกับภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือการชั่งน้ำหนัก โดยคณะกรรมการฯ 2 คน ชั่งน้ำหนักเรื่องการใช้เครื่องมือที่จะช่วยบรรเทาภาระหนี้สินได้ในระดับหนึ่ง โครงสร้างเศรษฐกิจที่อาจต่ำกว่าที่เคยเป็นมา และเป็นไปได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงในระดับหนึ่งอาจจะเหมาะสมกว่า ส่วนการประชุม กนง. ในรอบต่อไปก็ต้องมาชั่งน้ำหนักกันอีกทีภายใต้ข้อสมมุติฐานใหม่” นายปิติ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในส่วนของมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และมาตรการ Digital Wallet ที่รัฐบาลเร่งผลักดันออกมานั้น คณะกรรมการฯ ได้มีการคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวในการพิจารณาด้วย โดยเห็นว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์คงมีแรงกระตุ้นไม่เยอะ ส่วนมาตรการ Digital Wallet จะเริ่มในไตรมาส 4 คงจะมีผลกับเศรษฐกิจปีนี้ไม่เยอะ ส่วนใหญ่คงอยู่ที่ปี 2568 ดังนั้นยังมองว่าผลโดยรวมไม่ได้เยอะจนมีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบาย ส่วนรายละเอียดทั้งหมดขอดูอีกที เพราะเพิ่งมีความชัดเจน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง