ฮึ่ม!เร่งทหารปฏิวัต ‘เสธ.อ้าย’เตือนรื้อสภากห.ยิ่งกว่าเผด็จการ/ตัวตึงยุใช้ยาแรง

ตัวตึงก้าวไกลบอก “สุทิน”   แก้กฎหมายปฏิวัติไม่ถึงแก่น แตะแค่องค์ประกอบ ทหารยังเป็นรัฐเหนือรัฐ จี้หั่นอำนาจสภากลาโหม พร้อมลดสัดส่วนท็อปบูต “พงศกร” บอกทำได้ยาก   เสนอใช้ยาแรงปฏิรูปกองทัพ ยึดอำนาจ ผบ.ทบ.ในการประกาศกฎอัยการศึก ให้  ผบ.เหล่าทัพตั้งทหารได้แค่ 2 ระดับ สุดย้อนแย้งให้ ผบ.สส.เป็น รมว.กลาโหม   พอช่วงสงครามนายกฯ ค่อยมานั่ง  “ไพศาล-นันทิวัฒน์” โพสต์สับเหิมเกริม หวังยึดอำนาจแต่งตั้งนายทหาร "เสธ.อ้าย" เตือนหากเดินหน้าเร็วไปยิ่งเร่งให้รถถังออกมาทำปฏิวัติ อัดยิ่งกว่าเผด็จการทหาร เปิดช่องฝ่ายการเมืองแกล้งผู้นำเหล่าทัพ 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2567  ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอให้สภากลาโหมรับทราบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม และร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีคำสั่งให้พักราชการทันที เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้าราชการทหารผู้ใดใช้กำลังทหารเพื่อยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฏ

โดยเมื่อช่วงเช้า นายสุทินไปเป็นประธานพิธีสักการะและบวงสรวงองค์พระหลักเมือง เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาองค์พระหลักเมืองครบรอบ 242 ปี ประจำปี 2567 โดยมี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม, นายจำนงค์ ไชยมงคล ผู้ช่วย รมว.กลาโหม และนายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมพิธี

ขณะที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา  ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในเรื่องนี้ว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดทั้งของเดิมและของใหม่ จึงยังพูดไม่ได้ แต่คิดว่าการปรับปรุง พ.ร.บ.กลาโหมเป็นเรื่องที่ดี เพราะ พ.ร.บ.กลาโหมฉบับที่ใช้ปัจจุบัน ออกตั้งแต่สมัย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน  ทำการปฏิวัติรัฐประหาร ส่วนการแก้ไขคุณสมบัตินายพลจะป้องกันการรัฐประหารได้หรือไม่นั้น ไม่ขอก้าวลึกไปขนาดนั้น เพราะไม่ทราบในรายละเอียด

ส่วนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการอยู่แล้ว แต่ควรแก้ให้ถึงแก่น ไม่ใช่แค่ผิว เพราะเป้าหมายสูงสุดในการแก้คือทำให้กองทัพไม่อยู่ในฐานะรัฐอิสระ หรือรัฐซ้อนรัฐ และอำนาจการตัดสินใจของกองทัพต้องอยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลพลเรือน แต่ที่นายสุทินเสนอเป็นเพียงการแก้แค่องค์ประกอบเท่านั้น ยังไม่ถึงแก่น โดยควรปรับแก้อำนาจของสภากลาโหมให้มีหน้าที่แค่เสนอแนะแก่ รมว.กลาโหมเท่านั้น ส่วนการตัดสินใจใดๆ ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลพลเรือน ส่วนการให้สภากลาโหมมีอำนาจวีโตหรือเห็นแย้งคำสั่งนั้น ต้องเป็นสถานการณ์เฉพาะ เช่น ศึกสงคราม เป็นต้น แต่ในภาวะทั่วไปถ้าสภากลาโหมมีอำนาจเหนือรัฐมนตรี คิดว่าไม่ถูกต้อง 

“ที่สำคัญการแต่งตั้งทหารระดับนายพลควรอยู่ภายใต้อำนาจของ รมว.กลาโหม และมีระบบคุณธรรมกำกับ คือมีหลักเกณฑ์ชัดเจน ไม่มีระบบเส้นสายอุปถัมภ์ ไม่มีการวางเครือข่ายของตนเองเพื่อมานั่งทับความผิดของอดีตผู้บังคับบัญชาของตนเอง โดยทั้งหมดควรอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งสภากลาโหมไม่ควรมาแทรกแซงได้”

เมื่อถามว่า อาจเกิดการกลั่นแกล้งได้หรือไม่นั้น นายวิโรจน์ระบุว่า มีกลไกของศาลปกครองอยู่แล้ว ทำไมต้องมีกระบวนการยุติธรรมเป็นของตนเอง ข้าราชการกระทรวงอื่นยังใช้กลไกศาลปกครองได้ ทำไมกระทรวงกลาโหมถึงใช้กลไกของสภากลาโหม

จี้ปรับสัดส่วนสภากลาโหม

นายวิโรจน์ยังกล่าวถึงสัดส่วนของสภากลาโหมด้วยว่า ใน 24 คน มีสัดส่วนข้าราชการทหารถึง 19 คน หากปรับลดให้เหลือเพียง 11 คน แล้วให้มีข้าราชการทหาร 5 คนหรือจำนวนไม่เกินกึ่งหนึ่ง และให้อำนาจข้าราชการ หรือคนที่รัฐบาลแต่งตั้งมา ซึ่งอาจเป็นนายทหารเดิมที่มีความเชี่ยวชาญสัก 6 คนก็กำลังดี เพราะหากมีข้าราชการทหาร 19 คน จาก 24 คน สัดส่วนที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นมาก็แทบจะไม่มีเลย

เมื่อถามถึงกรณีนายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์เฟซบุ๊กว่า การแก้กฎหมายกลาโหม ให้ฝ่ายการเมืองโยกย้ายทหารได้ โดยไม่ต้องมีพระบรมราชโองการเป็นเรื่องมากไปแล้ว นายวิโรจน์ย้ำว่า กลไกการแต่งตั้งทหารระดับนายพลต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเป็นปกติอยู่แล้ว การแต่งตั้งนายทหารระดับสูง หรือการแต่งตั้งอธิบดีระดับกระทรวงก็ควรอยู่ในระบบระเบียบเดียวกัน ทำไมกระทรวงกลาโหมต้องแยกไปเป็นระบบที่แตกต่าง ถ้าการแต่งตั้งของกระทรวงกลาโหม ต้องโยงกับพระบรมราชโองการ แล้วจะไม่เกิดคำถามกับการแต่งตั้งของข้าราชการกระทรวงอื่นๆ หรือ

“ระบบเดิมที่มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นเรื่องที่เหมาะสมอยู่แล้ว และทำอย่างนี้มาช้านาน ยืนยันว่าที่ผ่านมาพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งนายทหารระดับนายพลด้วยพระองค์เองเลย เพราะเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นการสื่อสารในลักษณะแบบนี้จะทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และเป็นการดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวพันกับการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูง เรื่องนี้ต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” นายวิโรจน์กล่าว และย้ำว่า การสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่า การแต่งตั้งข้าราชการทหารระดับสูง เป็นการใช้พระราชอำนาจตามพระราชอัธยาศัย ถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เพราะหากนายทหารระดับสูงคนนั้นไปกระทำเรื่องไม่ดี ไม่ถูกต้อง ไปรังแกเอาเปรียบกดขี่ประชาชน ย่อมระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทโดยไม่สมควร

ทั้งนี้ นายไพศาล นอกจากโพสต์เรื่องดังกล่าวแล้ว ยังได้โพสต์ในหัวข้อ “วอนหาเรื่องแบบนี้ กำเริบมากไปไหม” ระบุว่า การมองทหารเป็นภัยของฝ่ายการเมืองถึงขั้นแก้กฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารยึดอำนาจ เป็นการวอนหาเรื่อง ที่อาจเกิดเรื่องเมื่อใดก็ได้ การแก้ไขกฎหมายกลาโหม ให้เพิ่มกรรมการสภากลาโหมจากฝ่ายการเมือง 3 คนเป็น 5 คน หมายความว่า ฝ่ายการเมืองต้องการยึดอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายทหารโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ต้องฟังเสียงฝ่ายประจำกันอีกต่อไป เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายการเมืองสั่งปลดย้ายฝ่ายทหารได้ทันทีที่มีข้อสงสัยในการเคลื่อนย้ายกำลังทหาร หรือสงสัยว่าจะทำการยึดอำนาจ ซึ่งปัจจุบันนี้การโยกย้ายทหารจะทำได้โดยพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ เท่ากับยึดอำนาจพระมหากษัตริย์อีกทางหนึ่ง จึงเป็นเรื่องใหญ่หลวงยิ่งนัก จึงเท่ากับเป็นการเริ่มต้นด้วยความไม่ไว้วางใจกันเสียแล้ว

'พงศกร' แนะทำแบบมะกัน

ด้าน พล.ท.พงศกร รอดชมภู แกนนำคณะก้าวหน้า ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและทบทวนกฎหมายด้านความมั่นคง ในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในความเป็นจริง หากทหารจะยึดอำนาจ เขาไม่ให้ฝ่ายการเมืองรู้ นายกฯ  ที่ไหนจะไปรู้ว่าทหารจะมายึดอำนาจตัวเอง ไม่มีทางรู้ได้ เขาไม่มาบอกให้รู้ ที่สำคัญหากนายกฯ จะไปจัดการเขาแบบนั้น ตัวทหารก็อ้างได้ว่าไม่ได้ทำอะไรแล้วไปฟ้องศาลปกครองขึ้นมา ถ้าทำตามที่เสนอมามันก็มีความเสี่ยงอยู่ แม้กฎหมายที่ใช้ (การฟ้องศาลปกครอง)  จะแยกระหว่างทหารกับข้าราชการพลเรือน แต่ทหารก็ร้องเรียนช่องทางอื่นได้ แต่ก็ดีกว่าไม่มี เพียงแต่ในทางปฏิบัติดูแล้วเป็นไปได้ยาก แต่ก็ดีจะได้มีไว้ปรามๆ

“ผมเคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้ว่าให้ทำแบบกฎหมายของสหรัฐอเมริกาเลย คือ  ไม่ใช่ตัวนายกฯ ที่สามารถสั่งพักราชการนายทหารที่คิดทำรัฐประหารได้เท่านั้น แต่ให้นายทหารที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา หากเห็นว่าผู้บังคับบัญชาของตัวเองกำลังเตรียมการเข้ายึดอำนาจ นายทหารก็สามารถอ้างกฎหมายแล้วปลดผู้นำทหารที่เป็นผู้บังคับบัญชาตัวเองได้ แล้วนายทหารคนนั้นก็ขึ้นมารักษาการแทนชั่วคราว” พล.ท.พงศกรระบุ 

พล.ท.พงศกรกล่าวอีกว่า คณะอนุ กมธ.กำลังศึกษา และจะทำข้อเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายด้านความมั่นคงหลายฉบับ เช่น การออกกฎอัยการศึก   การเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น จะเสนอให้แก้กฎหมายไม่ให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพประกาศกฎอัยการศึก และให้ดีที่สุดก็คือปฏิรูปกองทัพ  โดยการแต่งตั้งทหารให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพตั้งผู้บังคับการกรมกับผู้พัน ไม่ได้ตั้งได้แค่แม่ทัพ เช่น ผบ.ทบ.ตั้งได้แค่สองระดับลงมาคือ พล.อ.กับ พล.ท. ที่ก็คือรอง ผบ.ทบ.กับแม่ทัพภาค แล้ว ผบ.พล. ก็ไปตั้งผู้บังคับการกรม (ผู้การ) แล้วผู้การก็ไปตั้งผู้พัน หากทำแบบนี้แม้จะยังมีการวิ่งเต้นกันได้อยู่ แต่ก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ

 “คาดว่าจะเสนอแนวทางการทบทวนและแก้ไขกฎหมายด้านความมั่นคงในนามของคณะ กมธ.ที่จะเสนอรายงานผลการศึกษาต่อที่ประชุมสภาได้ในการประชุมสมัยที่จะมีขึ้น เช่น จะเสนอให้แก้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก โดยจะแก้ให้ทำได้เฉพาะตอนช่วงประเทศมีสงครามแล้วพอผ่านไป 14 วัน หากไม่มีสงครามเกิดขึ้นก็ต้องยกเลิกกฎอัยการศึกทันที หรือการเสนอแก้ไข พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน” พล.ท.พงศกรกล่าว

พล.ท.พงศกรยังกล่าวอีกว่า เรื่องผลักดันให้ปฏิรูปกองทัพนั้น ส่วนตัวได้เข้าไปพูดคุยนำเสนอแนวคิดกับคณะทำงานของกองทัพบกที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องนี้ โดยเสนอแนวทางไป เช่น ให้กองทัพปลอดจากฝ่ายการเมือง ก็คาดว่าจะคุยกันอีก 2-3 รอบก็จะแล้วเสร็จ ซึ่งเนื้อหาการปฏิรูปกองทัพหลักๆ ที่คุยกัน ส่วนใหญ่จะอิงแนวทางการปฏิรูปที่พรรคอนาคตใหม่เคยนำเสนอก่อนหน้านี้ เช่น หลักการเรื่องพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ การจัดซื้อจัดจ้างให้มีการเปิดกว้างโดยให้ประชาชน-สื่อมวลชนเข้ามาร่วมเพื่อป้องกันการล็อกสเปก การปฏิรูประบบการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร การให้ใช้ระบบคณะเสนาธิการร่วม โดยให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็น รมว.กลาโหมในเวลาปกติ แต่หากในช่วงสงครามให้นายกฯ เป็น รมว.กลาโหม ซึ่งแนวนี้ประเทศตะวันตกก็ใช้อยู่

ส่วนนายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กถึงการแก้กฎหมายป้องกันปฏิวัติว่า นายสุทินกินยาอะไรมาผิดหรือเปล่า ทหารเขาอยู่ของเขาดีๆ  จัดการกันเอง ทุกอย่างทำท่าจะดีอยู่แล้ว พลเรือนเป็น รมว.กลาโหมได้ อย่าทำให้เรือสั่นคลอนด้วยความคิดอุตริ อยากแทรกแซงการโยกย้ายนายทหาร ทหารรู้จักกันดีตั้งแต่เรียนร่วมกันมา รู้กันดีว่าใครเก่งใครของจริงใครปลอม  อย่าไปจุ้นกับทหารดีกว่า อย่าให้วุ่นวายแบบตำรวจเลย

“รัฐสภาไม่ใช่ยาวิเศษ ประการสำคัญต้องไม่คดโกงทุจริต ไม่อยากถูกทหารปฏิวัติยึดอำนาจไปเตือนบรรดารัฐมนตรีนักการเมืองอย่าตะกรุมตะกราม มีบันยะบันยังบ้าง อย่าดูถูกประชาชน ทหารไม่ได้อยากยึดอำนาจหรอก มันเหนื่อย มันเสี่ยง แต่ไม่ทำไม่ได้ ประเทศชาติจะเสียหายเพราะฝีมือนักการเมืองโกงกินขายชาติและประชาชนเรียกร้อง หันกลับไปเตือนนักการเมืองเถอะ อย่าหน้ามืดตามัวน้ำลายฟูมปากกอบโกยไม่ดูตาม้าตาเรือ”

เตือนตัวเร่งทหารปฏิวัติ

ขณะที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ "เสธ.อ้าย" อดีตประธานมูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า “จะเป็นตัวเร่งที่ทำให้ทหารทำปฏิวัติได้เร็วขึ้น การกล่าวหา ต้องมีการสอบสวนสืบสวนให้ชัดเจน ไม่งั้นก็เป็นเผด็จการ ขนาดเผด็จการทางทหารเขายังไม่กล้าทำเลย หากเผด็จการพลเรือนกล้าทำ ก็เรียบร้อย ก็ไปเร็วละ  ไปเร็วกว่าที่เขาคิด”

เมื่อถามย้ำว่า การเสนอดังกล่าว ดูแล้วน่าจะมีข้อเสียมากกว่าข้อดีใช่หรือไม่ พล.อ.บุญเลิศกล่าวว่า “ถูก ถูก คุณจะรู้ได้ยังไงว่านายทหารเขาจะปฏิวัติหรือไม่ปฏิวัติ นายกฯ จะเอาอะไรมาตัดสินใจ ถ้าไม่มีการสืบสวนสอบสวนให้มันชัดเจน มันไม่ได้หรอก มันยิ่งกว่าอำนาจเผด็จการทางทหารเสียอีก”

เมื่อถามว่า หากฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทย จะเดินหน้าเรื่องนี้จริงจะเป็นอย่างไร  พล.อ.บุญเลิศกล่าวตอบว่า "เขาจะถูกปฏิวัติเร็วกว่าที่เขาคิดไว้ เขาจะถูกปฏิวัติเร็วกว่าที่คาดไว้ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ส่วนการที่ ผบ.เหล่าทัพรับทราบข้อเสนอดังกล่าว ผมไม่ทราบความคิดของ ผบ.เหล่าทัพ แต่ว่าที่มันเกิดขึ้น ที่เขาคิดกัน มันไม่ถูกต้อง มันเป็นเรื่องเผด็จการ ไม่ใช่ประชาธิปไตย  มันจะเกิดการกลั่นแกล้งกันง่ายขึ้น ถ้าเขาเห็นนายทหารคนไหนมีทีท่าว่าจะขึ้นมามีอำนาจก็แกล้งเอาลงเสีย แล้วมันจะอยู่กันได้อย่างไร มันจะทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกันง่ายขึ้น"

พล.อ.บุญเลิศกล่าวถึงกรณีจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องสมาชิกสภากลาโหม ที่ รมว.กลาโหม โดยความเห็นชอบของครม.มีอำนาจแต่งตั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 5 คน จากเดิมกำหนดไว้เพียง 3 คนว่า  เรื่องนี้เคยมีการแก้ไขมาแล้วในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จากเดิมที่ให้ รมว.กลาโหมทำบัญชีเสนอแต่งตั้งนายทหารระดับนายพลได้เลย ก็แก้ให้ต้องผ่านสภากลาโหม ที่เป็นการแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองมากลั่นแกล้งทหาร แล้วจะมาแก้กลับอีกหรือ ก็แก้กันไปแก้กันมา

ทั้งนี้ พล.อ.บุญเลิศ หรือเสธ.อ้าย  เคยเป็นอดีตประธานกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองกลุ่มแรกที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยชุมนุมกันที่สนามม้านางเลิ้ง ก่อนจะสลายตัว โดยบางคนในกลุ่ม เช่น นายนิติธร ล้ำเหลือ ได้แยกตัวออกมาเป็นกลุ่ม คปท. โดย พล.อ.บุญเลิศเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 1   ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นและสนิทกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี

ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตามหลักกฎหมาย ก็ต้องทำให้ผู้นำเหล่าทัพในอนาคตเกิดสำนึก และการเรียนรู้ว่ากระแสธาร การทำการเมืองให้เกิดความเข้มแข็ง กองทัพต้องเป็นส่วนหนึ่งในการจรรโลงและสร้างประชาธิปไตย ดังนั้นต่อให้ทำกฎหมายให้ดีแทบตายเพื่อยับยั้งการรัฐประหาร ถ้าเขาจะทำก็ยับยั้งไม่ได้ เพราะทุกครั้งที่ยึดอำนาจเสร็จ เขาก็จะประกาศกฎอัยการศึกและฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมทันที ในทางกฎหมายจึงทำไม่ได้ แต่ในทางสังคมที่ก้าวไปไกลเข้าสู่ภาวะพลเมืองตื่นรู้ ทำให้ผู้นำเหล่าทัพหรือคนที่มีความเชื่อว่าการจะทำให้บ้านเมืองสงบสุขในภาวะวิกฤตจะต้องเลือกใช้บริการอำนาจพิเศษ หรือรัฐประหารแบบเดิม จะถูกสังคมปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงในอนาคต

"ไม่มีโอกาสไหนอีกแล้วที่จะทำให้เกิด commitment หรือการยอมรับร่วมกัน อย่างน้อยเป็นสารตั้งต้น และอนาคตอาจจะออกแบบกติกา ให้ควบคุมภาพลักษณ์ทหารเป็นทหารอาชีพมากขึ้น และจะส่งเสริมให้คนที่มาเป็นผู้นำเหล่าทัพมีความสง่างามมากขึ้น" ผศ.ดร.วันวิชิตกล่าว

สำหรับกรณีที่พรรคฝ่ายค้านมองว่าเป็นแก้ปัญหาแค่บางองค์ประกอบ แต่ยังไปไม่ถึงแก่น ผศ.ดร.วันวิชิตกล่าวว่า  จะพูดอะไรก็วิจารณ์ได้ แต่รู้หรือไม่ว่า การจะขอความร่วมมือหรือโน้มน้าวให้กองทัพทำตามได้ มันยากมาก จะไปทุบโต๊ะชี้อะไรต่างๆ ไม่ง่าย อย่างน้อยเป็นสารตั้งต้น ค่อยเป็นค่อยไป ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ฝ่ายค้านที่มีความคิด มองไปข้างหน้า มองเรื่องระบบโครงสร้างก็ดีแล้ว แต่ต้องยอมรับในแง่ความจริงด้วยว่าทำได้หรือไม่ อย่างน้อยเริ่ม 1 หรือ 2 ก่อน ไม่ใช่ว่าเริ่มทำแล้วจะได้ 10 เลย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง