ก.ก.ชูปฏิรูปกองทัพอยู่ใต้พลเรือน

รอง ปธ.กมธ.ทหารถามกลับกองทัพมีอะไรแตะต้องไม่ได้ ชูร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหมของก้าวไกล ปฏิรูปกองทัพตัดทิ้ง "ซูเปอร์บอร์ด" แต่งตั้งโยกย้ายนายพลคืนอำนาจให้ รมต. "พริษฐ์" ยันเป็นเรื่องดีรัฐบาลแก้ กม.สกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้พลเรือน “สุทิน" นั่งหัวโต๊ะประชุม “ผู้ช่วย รมต."

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 22 เมษายน ร.ท.ธนเดช เพ็งสุข สส.กทม.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงแนวคิดการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมและกฎหมายศาลทหารว่า พรรคก้าวไกลได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภาฯ แล้ว ขณะนี้รอติดตามร่างกฎหมายของรัฐบาลที่จะเสนอว่ามีเนื้อหาอย่างไร มีความจริงใจในการแก้ปัญหาหรือไม่ ทั้งนี้มีเนื้อหาที่อยากเห็นคือ การตัดซูเปอร์บอร์ดในการแต่งตั้งโยกย้ายนายพล ทั้งนี้ มีกรณีข้อวิจารณ์จากนายทหารหลายคนต่อเนื้อหาในร่างกฎหมายที่เสนอคือ ไม่สนับสนุนให้การเมืองยุ่งเกี่ยวกับทหาร แต่ตนมองว่ากองทัพเป็นหน่วยงานราชการอยู่ภายใต้รัฐบาล เปรียบเหมือนข้าราชการกระทรวง ทำไมฝ่ายบริหารไม่สามารถเข้าไปบริหารได้

 “กองทัพมีอะไรที่แตะต้องไม่ได้ ต้องรวมกลุ่มกันแล้วสุดท้ายรัฐมนตรีจะมีอำนาจอะไร ถ้าไม่ตัดทิ้งซูเปอร์บอร์ดที่มีการแต่งตั้งโยกย้ายนายพล จะทำให้การสืบทอดอำนาจส่งต่อไม่สิ้นสุด ผมขอฝากไปยังนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ว่าเรื่องนี้จะเป็นจุดหลักที่จะคืนอำนาจให้แก่รัฐมนตรี ไม่เช่นนั้น รมว.กลาโหมก็ไม่ต่างกับตรายาง  ขณะเดียวกันในบทบาทของสภากลาโหมเป็นการให้คำปรึกษา ส่วนการตัดสินใจควรอยู่ที่รัฐมนตรี เชื่อว่าเป็นร่างของพรรคก้าวไกลในกรรมาธิการ นำไปสู่การปฏิรูปกองทัพได้” ร.ท.ธนเดชกล่าว

ร.ท.ธนเดชยังกล่าวถึงกระแสข่าวการปรับ ครม.ที่มีดีลแลกกับการนำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับไทยว่า ส่วนตัวให้กำลังใจนายสุทินเพราะทำงานได้ดี แต่จากกระแสข่าวที่ออกมาว่า พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหมจะเข้าดำรงตำแหน่งแทน หากไล่สายพบว่า พล.อ.ณัฐพลเติบโตมาจากสายหรือฝั่งใด หากได้เป็นรัฐมนตรีขอตั้งข้อสังเกตว่า มีข้อแลกเปลี่ยนอะไรหรือไม่ ทั้งนี้เคารพการตัดสินใจของรัฐบาล ให้คนที่ทำงานได้ ส่วนตัวเชื่อว่ากองทัพยังต้องการทำงานร่วมกับนายสุทินต่อ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  กล่าวว่า ความจริงร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เป็นกฎหมายฉบับแรกๆ ที่พรรคก้าวไกลยื่นให้มีการแก้ไขต่อสภาฯ และเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายที่มีความสำคัญ หรือมีความจำเป็นที่ต้องมีการแก้ไข เพื่อยืนยันหลักการว่ากองทัพควรอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ดังนั้นเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลเห็นความจำเป็นในการแก้ไขร่างดังกล่าว เพียงแต่อยากให้เนื้อหาแก้ไขที่แก่นสารโดยแท้จริง  ซึ่งตัวแปรสำคัญคือ จะปฏิรูปเรื่องอำนาจที่มาของสภากลาโหมอย่างไร

"หากเป็นร่างที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล จะเห็นว่าปรับในส่วนของอำนาจที่เปลี่ยนจากเดิม คือสภากลาโหมมีอำนาจเหนือกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือน มาทำให้บทบาทของสภากลาโหม เป็นเหมือนสภาที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ให้ข้อมูลกับตัวแทนของรัฐบาลพลเรือน ส่วนที่มาจะมีการปรับสัดส่วนให้มีตัวแทนที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลและพลเรือนมากขึ้น ไม่ได้เป็นเหมือนปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทหาร ฉะนั้นต้องรอดูว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาล จะแก้ไขเรื่องที่มาของอำนาจสภากลาโหมเช่นไร แต่เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลเห็นความจำเป็นของการแก้ไขร่างนี้" นายพริษฐ์กล่าว

วันเดียวกัน เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 6  อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ศรีสมาน) อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ได้ให้การต้อนรับคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2567 ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยมี พล.อ.อ.สุรพล พุทธมนต์ และนายจำนงค์ ไชยมงคล ผช.รมต.ประจำ กห.เป็นประธาน

การประชุมดังกล่าวกำหนดให้จัดขึ้นอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี เพื่อร่วมกันพิจารณา ประเมินผล  ตลอดจนเสนอแนะมาตรการอันเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ได้หยิบยกประเด็นที่สืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา อันประกอบด้วยเรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนดำเนินงานไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้นำประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงกลาโหมเข้าร่วมพิจารณา คือแนวทางความร่วมมือของแต่ละกระทรวงในการสนองนโยบายรัฐบาล ให้ประชาชนสมัครใจเป็นทหารกองประจำการโดยไม่ต้องตรวจเลือก  (ไม่ต้องเกณฑ์) ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนผลลัพธ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดประสิทธิภาพ มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

สำหรับผู้ช่วยรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ, นายชยุต ภุมมะกาญจนะ, นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ, นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์, นาย ศรัณวุฒิ ศรัณย์เกตุ, นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์, นายวัชรพล โตมรศักดิ์, นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ, นายศุภชัย  โพธิ์สุ, นางรังสิมา รอดรัศมี และ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง