เปิดแผนรับมือ แรงงานเมียนมา ทะลักเข้าเมือง!

เบรก "เศรษฐา" ลงพื้นที่ชายแดนตามติดสงครามเมียนมา "หมอมิ้ง" เผยตั้ง คกก.วอร์รูมสถานการณ์  "ปานปรีย์" นั่ง ปธ.คุมหัวโต๊ะ รัฐบาลยันดูแลผู้ลี้ภัยตามหลักสากล ปักธงหนุนคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ขณะที่กองทัพเปิดแผนรับมือสั่งดูแล 24 ชม. ประเมินแรงงานผิดกฎหมายทะลักอื้อเข้าเมืองใหญ่

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 เมษายน นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาว่า ในวันที่ 23 เม.ย.จะมีการประชุมคณะกรรมการช่วงเวลา 10.00 น. และจะมีการแถลงข่าวเวลา 13.00 น.

เมื่อถามถึงการเตรียมแผนระยะยาว นายปานปรีย์ กล่าวว่า มีการเตรียมไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์เราก็พร้อมรับมือ ส่วนประชาชนที่ทะลักเข้ามาเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบสามารถรองรับได้หมด  แม้กระทั่งผู้บาดเจ็บก็ได้รับเข้ามาดูแล

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ในฐานะรัฐบาลเรากำหนดจุดยืนชัดเจนว่า 1.การสู้รบกันระหว่างทหารเมียนมาและกองกำลังติดอาวุธ จะไม่ให้มีการล้ำเข้ามาในดินแดนประเทศไทย 2.รัฐบาลประเทศไทยยังคงให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตามปฏิญญาที่ได้หารือร่วมกันตามหลักของสหประชาชาติ

"3.เนื่องจากสถานการณ์นี้มีความเกี่ยวข้องกันมากมาย ซึ่งเดิมนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง มีกำหนดเดินทางไปในพื้นที่ด้วยตัวเอง แต่ล่าสุด ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา โดยมีปานปรีย์  พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศเป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการจะประกอบไปด้วย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความมั่นคง โดยนายกฯ มอบหมายให้นายปานปรีย์เดินทางไปในพื้นที่แทน" นพ.พรหมินทร์ระบุ

นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า ตนได้หารือกับนายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ก็ทราบว่าจะร่วมลงพื้นที่ด้วย เพื่อไปช่วยดูแลเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศไทย รวมถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นอกจากนี้  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ก็จะลงพื้นที่เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม และมารับบริการในโรงพยาบาลของประเทศไทย เราก็จะดูแลอย่างดี

เมื่อถามว่า ต้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ในการดูแลผู้ลี้ภัยหรือไม่ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า เราพร้อมให้การช่วยเหลือตามมนุษยธรรมอยู่แล้ว แต่จะมีสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มาร่วมด้วย รวมถึงประเทศต่างๆ ที่พร้อมจะสนับสนุน แต่ในส่วนประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมก่อนหน้านี้แล้ว  โดยจะมีจุดรองรับผู้ลี้ภัยหลายจุด แต่ละจุดก็มีการปรับปรุง  ซึ่งรายละเอียดปฏิบัติการต่างๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ เรื่องนี้มีมาตรฐานในการปฏิบัติอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า มีโอกาสที่นายกฯ จะเป็นคนกลางเจรจากับทุกกลุ่มในเมียนมาหรือไม่ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า จุดยืนสำคัญคือการเป็นผู้ส่งเสริมสันติภาพ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราคือ ดำเนินทุกวิถีทางให้มีการยุติข้อขัดแย้ง  ซึ่งเป็นบทบาททางสากล ในฐานะที่เรามีชายแดนติดกับเมียนมา ทั้งนี้ประเทศต่างๆ ก็คาดหวังว่าเราจะมีบทบาทคลี่คลายความขัดแย้งต่างๆ อย่างสันติวิธี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ที่นายปานปรีย์เป็นประธานนั้น มีรายชื่อคณะกรรมการ ได้แก่ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการคนอื่น มีอาทิ ปลัดกระทรวงกลาโหม, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, อธิบดีกรมสารนิเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ รายงานข่าวจากกองทัพอากาศเปิดเผยว่า วันนี้ เวลา 09.00 น. ที่ฝูงบิน 302 (หน่วยอยู่ในพื้นที่ของกองบิน 4) ได้ส่ง UAV บินขึ้นจากกองบิน 4 อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร โดยบินจากกองบิน 4  จังหวัดนครสวรรค์ และถึงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง พร้อมปฏิบัติภารกิจบริเวณชายแดนฝั่งประเทศไทย ในการลาดตระเวนระยะเวลา 5 ชั่วโมง ก่อนบินกลับมายังกองบิน 4

สำหรับอากาศยานไร้คนขับพิสัยกลางแบบ  DominatorXP ซึ่งเป็นอากาศยานไร้คนขับแบบ  Medium Altitude Long Endurance หรือ MALE มีภารกิจการบินลาดตระเวนตามแนวชายแดนและภารกิจที่ไม่ใช่การรบ เช่น การค้นหาผู้ประสบภัย หรือการเฝ้าระวังไฟป่า

รายงานข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เปิดเผยแนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบด้านเมียนมา กรณีการปะทะระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย/กลุ่มต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง บริเวณบ้านเยปู่ จ.เมียวดี ในพื้นที่ตอนในฝั่งเมียนมา ห่างจากชายแดนไทยระยะทางประมาณ 2-3 กม. ใกล้พื้นที่ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ด้านตรงข้าม บ.วังตะเคียนใต้ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จนส่งผลให้ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ใน อ.แม่สอดต้องปิดทำการชั่วคราว

สำหรับการปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของกองทัพบก โดยศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก การดูแลด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ที่เดินทางเข้ามายังฝั่งไทยในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว จังหวัดตาก  จำนวน 6 พื้นที่ จำนวน 3,027 คน

การเพิ่มเติมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ปฏิบัติภารกิจตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาตลอด 24 ชั่วโมง ตามแผนเผชิญเหตุของกองกำลังป้องกันชายแดน โดยเฉพาะในพื้นที่หน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร ด้านจังหวัดตาก แนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบด้านเมียนมา

โดยสถานการณ์ปัจจุบันมีเพียงกระสุนปืนขนาดเล็ก (ปลย. เช่น AK-47) ตกมายังฝั่งไทย ทำให้ทรัพย์สินของราษฎรไทยได้รับความเสียหายเล็กน้อย เช่น บ้านเรือน และรถยนต์ แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยทางการไทยจะมีมาตรการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นตามความเหมาะสมต่อไป

กรณีที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาสามารถยึดครองพื้นที่ได้แบบเบ็ดเสร็จ ไทยอาจจะต้องปิดด่านพรมแดนหลายแห่ง เนื่องจากฝั่งเมียนมาไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายปฏิบัติงานประจำอยู่ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านต่างๆ ต่อไปได้

 “สำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับไทยในอนาคต อาจทำให้มีชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายลักลอบเข้ามายังฝั่งไทยเพิ่มมากขึ้น และอาจหลบหนีเข้าไปทำงานในพื้นที่ชั้นในของไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านสาธารณสุข เป็นต้น” กองทัพระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง