ทร.บีบ‘สุทิน’สานฝันเรือดำน้ำ

ทร.มัดมือ "สุทิน" สานฝันเรือดำน้ำให้เป็นจริง  บอกรอมา 10 ปีเต็ม อยากได้กำลังทางเรือเพิ่มเพื่อทำหน้าที่ป้องกันประเทศ โอดตอนนี้เราฟันหลอ รั้วทางทะเลดูแลไม่พอ ขณะที่ “ผบ.เหล่าทัพ” เสริมเขี้ยวเล็บยกระดับความมั่นคง กางแผนพัฒนา UAS อากาศยานไร้คนขับ หนุนงานรัฐบาลรับมือภัยคุกคามที่มีแนวโน้มสูงขึ้น 

เมื่อวันจันทร์ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงแผนงานโครงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในงบประมาณปี 2568 ว่า กองทัพเรือได้เสนอไปเรียบร้อยแล้ว ขอความกรุณาท่านที่เกี่ยวข้องช่วยผลักดันให้กองทัพได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ต้องการด้วย และเห็นความสำคัญของการมีกำลังทางเรือไว้เพื่อรักษาอธิปไตย และรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยในปี 2568  กองทัพเรือได้เสนอโครงการจัดซื้อเครื่องบินลำเลียง 2  เครื่อง โดยเรือฟริเกตจะไปเสนอในงบฯ ปี 2569 แทน

เมื่อถามว่า ในแผนงบฯ ปี 2569 กองทัพเรือจะเสนอซื้อเรือฟริเกต 2 ลำใช่หรือไม่ พล.ร.อ.อะดุงกล่าวว่า ตอนนี้กำลังรบทางเรือเราน้อยมาก เราเดินหน้าเพื่อเรือดำน้ำมา 10 ปีเต็ม อยากได้กำลังทางเรือเพิ่มมากขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ที่สุด ปัญหาการสู้รบในประเทศต่างๆ คิดว่าคนไทยทุกคนคงเห็นภาพแล้วว่า ไม่ใช่สงครามจะไม่เกิดแล้ว และในประเทศเพื่อนบ้านเราก็ไม่ใช่จะสงบเรียบร้อย ก็ขอความกรุณาทุกท่านเข้าใจว่า การมีกำลังรบไว้ก็เพื่อทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

 “ขอยืมคำพูดบางคนที่กล่าวไว้ว่า ตอนนี้เราฟันหลอ รั้วเราทางทะเลไม่สามารถจะดูแลได้พอแล้ว จึงขอเรือกับเครื่องบินช่วยเติมความสามารถกองทัพเรือ ให้พร้อมที่จะทำหน้าที่เพื่อประชาชนคนไทยด้วย” พล.ร.อะดุงกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องเผื่อใจไว้เจ็บด้วยหรือไม่ ผบ.ทร.หัวเราะพร้อมกล่าวว่า “ไม่เป็นไรครับ”

เมื่อถามว่า จากการได้ร่วมคณะนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ไปคุยกับคณะทำงานจีนเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเรือดำน้ำมีความคืบหน้าอย่างไร พล.ร.อ.อะดุงกล่าวว่า ก็มีความคืบหน้า โดย รมว.กลาโหมรับรู้แล้วว่ามีคนหวังดีพยายามเจรจาให้ แต่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้นก็คงรายงานตรงถึงท่านรัฐมนตรีแล้ว เมื่อซักว่าใครเป็นคุยตรงให้ รมว.กลาโหม พล.ร.อ.อะดุงกล่าวว่า “ไม่รู้เหมือนกันครับ”

 “ตอนนี้ท่านสุทินอยู่เป็นรัฐมนตรีต่อ ผมก็ขอความกรุณาท่านให้สานต่อเรื่องเรือดำน้ำให้กองทัพเรือให้เสร็จเรียบร้อย” พล.ร.อ.อะดุงกล่าว

ผบ.ทร.กล่าวด้วยว่า ส่วนที่นายสุทินจะหารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยในวันที่ 30 เม.ย.นั้น ขอให้รอรัฐมนตรีกลาโหมได้ชี้แจง ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าจะต้องจบ  เมื่อถามย้ำว่าคาดหวังเรื่องเรือดำน้ำไว้อย่างไร ผบ.ทร. กล่าวว่า รัฐมนตรีได้สัญญากับพวกเราว่าจะทำให้เสร็จเร็วที่สุด ซึ่งขอรอนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีกลาโหมดำเนินการเรื่องนี้ให้เรียบร้อย

เมื่อถามต่อว่า แต่บริษัท CSOC ของจีนที่ต่อเรือดำน้ำ  S26T ให้กองทัพเรือไทยไม่ยินยอมหากต้องมีการยกเลิกสัญญา พล.ร.อ.อะดุงกล่าวว่า ตรงนี้ตนไม่ทราบ คงรายงานตรงถึงท่าน อย่างไรก็ตามขอความกรุณาช่วยผลักดันและเป็นกำลังใจให้กองทัพเรือ

พล.ร.อ.อะดุงยังกล่าวถึงการพูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ ต่อการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมว่า น่าจะเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน จริงๆ เป็นการทำงานของคณะกรรมการที่กระทรวงกลาโหมแต่งตั้ง อยู่ระหว่างการพิจารณา และนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสภากลาโหม เพื่อรับทราบเฉยๆ ว่ามีคณะกรรมการชุดนี้ ขอให้รอฟังผลการพิจารณา

วันเดียวกัน ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.อุกฤษฏ์  บุญตานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นตัวแทนผู้บัญชาการทหารบก ให้การต้อนรับคณะนักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรสำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) รุ่นที่ 1 และรับฟังการบรรยายสรุป ในหัวข้อภารกิจการจัดและบทบาทหน้าที่ของกองทัพบกในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มินิ วปอ.ยังมีกำหนดการเดินทางไปศึกษาภูมิประเทศ และการปฏิบัติงานของหน่วยในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 โดยวางแผนไว้ว่าอาจจะไปดูพื้นที่ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ จากการสู้รบของประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเนื่องจากติดภารกิจและได้แจ้งขอลาไว้แล้ว

ที่หอประชุมกองทัพเรือ กองบัญชาการกองทัพเรือ (บก.ทร.) ได้จัดการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม

ผูัสื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันนี้ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการพัฒนาศักยภาพของอากาศยานไร้คนขับ และระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ เพื่อใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

 สำหรับสาระสำคัญมีดังนี้ กองบัญชาการกองทัพไทย บูรณาการการใช้ระบบอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned  Aircraft System: UAS) และระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Counter-Unmanned Aircraft System: CUAS) ของกองทัพไทย ให้มีขีดความสามารถในการสนับสนุนงานด้านการทหารและด้านความมั่นคง สามารถรับมือภัยคุกคามซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมกำลัง อาทิ  การจัดทำหลักนิยม การฝึกอบรมกำลังพล การปรับปรุงโครงสร้างการจัดหน่วย และการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์

สำหรับการใช้กำลัง ในระยะสั้น กองบัญชาการกองทัพไทยได้มอบให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล รับผิดชอบภารกิจต่อต้าน UAS โดยมุ่งเน้นรองรับการก่อเหตุที่มาจาก UAS ที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงภายใน รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถการใช้ UAS เชิงรุก

ในระยะยาว มุ่งเน้นการบูรณาการการป้องกันภัยทางอากาศในภาพรวมของกองทัพไทย ให้มีขีดความสามารถในการต่อต้าน UAS ทางทหารที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงอาวุธยิงระยะไกล โดยจะประสานความร่วมมือกับเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง