ชงกกต.ชี้ขาด‘ทอน-ช่อ’จุ้นสว.

"สนธิญา" ร้อง กกต.สอบ "ธนาธร-พรรณิการ์"  ยุ่งเกี่ยวรณรงค์เลือก สว.ทำได้แค่ไหน เหตุทั้งคู่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปีและตลอดชีวิต โฆษก รทสช.เห็นด้วยคนการเมืองห้ามข้องเกี่ยว เพื่อได้บุคคลที่ปลอดจากการเมืองอย่างแท้จริง "ชูศักดิ์" เชื่อการเชิญชวนสมัคร สว.ทำได้ตาม รธน.เพราะไม่ได้ไปตั้งพรรค สว. "พริษฐ์" ฟันธงร้องเรียนอื้อ-ประกาศผลยืดเยื้อ ทำให้ สว.ชุดปัจจุบันลากยาว

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 29 เมษายน นายสนธิญา สวัสดี เข้ายื่นหนังสือต่อประธาน กกต. เรียกร้องให้ตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า ที่ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ประชาชนมาสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แต่นายธนาธรเป็นผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี และ น.ส.พรรณิการ์ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

 โดยนายสนธิญากล่าวว่า นายธนาธรถูกศาลรัฐธรรมนูญ​มีคำสั่งตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี และ น.ส.พรรณิการ์ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิตในคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรมไปแล้ว จึงอยากให้ กกต.วินิจฉัยถึงสิทธิเสรีภาพในการยุ่งเกี่ยวกับการรณรงค์เลือกตั้ง สว.ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ทั้งนี้หากกลุ่มคนเหล่านี้สามารถเสนอแนะ สนับสนุนหรือเป็นผู้รณรงค์ให้มีการสมัคร สว. แล้วหากคนที่มาจากกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการเลือกตั้ง อาจจะทำให้มีการร้องเรียนเข้ามามากมาย และทำให้การได้มาซึ่ง สว.มีความล่าช้าออกไป

"ดังนั้นจึงอยากให้ กกต.มีการวินิจฉัยให้ชัดเจน ก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้มีการเลือก สว. ว่าทั้งสองคนสามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือก สว.ได้มากแค่ไหนอย่างไร เพื่อให้ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปอย่างโปร่งใสและเที่ยงธรรม ไม่ขัดต่อกฎหมาย สามารถทำงานได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ของ สว.ชุดใหม่" นายสนธิญากล่าว

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความเคลื่อนไหวในการเลือก สว.ว่า อยากให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามประกาศของกกต. เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้การเมืองเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเลือก สว. ดังนั้นทุกฝ่าย ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  เพื่อให้ สว.เป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรค ได้กำชับ สส.และสมาชิกพรรคทั่วประเทศว่า ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ไม่สนับสนุนผู้ใดทั้งทางตรงและทางอ้อม

"ฝ่ายการเมืองและพรรคการเมืองไม่ควรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการเลือก สว.ในครั้งนี้ ไม่ว่ากรณีใดๆ เพื่อให้ได้ สว.ที่เป็นกลางปลอดจากการเมืองอย่างแท้จริง เพราะ สว.มีหน้าที่สำคัญเข้าไปคัดสรรเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จึงจำเป็นต้องได้บุคคลที่ปลอดจากการเมือง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายและกติกาที่ กกต.ได้ประกาศออกมา" นายอัครเดชกล่าว

นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  (พท.) กล่าวถึงการเลือก สว.ที่มีกลุ่มการเมืองออกมาเชิญชวนให้ประชาชนสมัคร สว.ว่า ไม่ผิดอะไร สามารถทำได้ตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย เพราะไม่ได้มีการชี้นำหรือไม่ได้มีการบังคับให้ไปสมัคร หรือไม่ได้เป็นการไปตั้งพรรค สว. ส่วนการปรามของ กกต.เป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ที่จะต้องระมัดระวัง แต่ไม่ถึงขั้นว่าการเชิญชวนจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย ย้ำว่าประชาชนคนไทยมีสิทธิ์ที่จะทำได้

"เขาจะสรรหา สว.แล้ว ใครที่มีความรู้ความสามารถไปสมัครกัน เป็นการส่งเสริมประชาธิปไตย แต่ไม่ได้หมายความว่าผมหรือคนนั้นหรือคณะไปตั้งพรรค สว. ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ" นายชูศักดิ์กล่าว

นายชูศักดิ์กล่าวอีกว่า การที่ประชาชนผู้สมัครจะรวมตัวกันเพื่อขอคะแนนกันเป็นเรื่องปกติธรรมดา และอย่าลืมว่าการเลือกรูปแบบนี้เกิดขึ้นครั้งแรก อาจทำให้มีความสับสนเรื่องของกระบวนการเลือก สว. ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจในกฎกติกา 100% แล้วหรือไม่ เพราะเป็นการออกแบบวิธีการเลือกที่วิจิตรพิสดาร เป็นธรรมดาที่จะเกิดความสับสนวุ่นวาย สิ่งที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นและจะต้องมีการทำความเข้าใจ คือกระบวนการการเลือกกันเอง เป็นปัญหายืดเยื้อ เพราะผู้คนต่างจับจ้องว่าท้ายที่สุด อะไรที่เกิดขึ้นและยังไม่เคยเกิด การสร้างกติกาใหม่ขึ้นมาอาจจะกลายเป็นปัญหา ทำให้การเมืองยืดเยื้อออกไป เช่น กระบวนการเลือกไม่จบทำให้ สว.ชุดปัจจุบันต้องรักษาการต่อ กลายเป็นปัญหาของการเมืองไทยต่อไป

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณี กกต.เตือนคณะก้าวหน้าที่เชิญชวนคนไปสมัคร สว. อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายว่า เข้าใจว่า กกต.ต้องทำงานภายใต้กรอบกติกาเช่นนี้ แต่สิ่งที่คาดหวังคือควรจะเปิดกว้างให้ประชาชนและผู้สมัครมากที่สุด แต่ระเบียบที่ออกมาทำให้แคบลง กลายเป็นว่าใครประสงค์ที่จะสมัคร สว.ไม่สามารถพูดถึงแนวคิดของตนเองได้ นอกเหนือจากเอกสารแนะนำตัวที่มีแค่ 5 บรรทัดที่พูดถึงประสบการณ์ของตนเอง การที่ผู้สมัคร สว.จะเผยแพร่เอกสารของตนเอง ก็ไม่สามารถเผยแพร่ออนไลน์สู่สาธารณะได้ ให้ส่งเฉพาะคนที่สมัคร สว.เท่านั้น กลายเป็นว่าภายใต้กติกาที่ไม่มีความชอบธรรม ในโครงสร้างตามอำนาจอธิปไตยจาก กกต.ยังออกระเบียบแคบลงอีก

"ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมายิ่งมีความเข้มงวดเท่าไหร่ ก็มีความสุ่มเสี่ยงว่าจะนำไปสู่ข้อร้องเรียนที่จะตามมา และการเลือก สว.ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาชัด แตกต่างจากการเลือกตั้ง สส.ที่ระบุชัดว่าต้องประกาศผลในกี่วัน ดังนั้นถ้าข้อร้องเรียนเกิดขึ้นเยอะและ กกต.ไม่สามารถยืนยัน  หรือไม่พร้อมจะยืนยันว่าการเลือกเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม จะทำให้กระบวนการประกาศผลเลือก สว.ยืดเยื้อ  และทำให้ สว.ชุดปัจจุบันจะปฏิบัติหน้าที่ต่อ และจะมีบทบาทสำคัญต่อในการกำหนดทิศทางประชาธิปไตยและทิศทางการเมืองไทยได้ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งมีความน่าเป็นห่วงและในการประชุมกรรมาธิการการเมือง ตนก็ขอความชัดเจนกับ กกต.ว่าจะให้คำยืนยันกรอบเวลาในการสรรหาเรื่อง สว.ได้หรือไม่" นายพริษฐ์กล่าว

ขณะที่นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว.ผ่านทาง อิเล็กทรอนิกส์ ในประเด็นดังนี้ 1.ขาดการมีส่วนร่วม อีกทั้งการไม่ให้เผยแพร่การแนะนำตัวต่อสาธารณะยังทำให้ "การเลือกกันเองของบุคคล" ที่มีลักษณะร่วมทั้ง 20 กลุ่มนั้นยังไม่ได้รับรู้อย่างทั่วถึง 2.ขาดความเป็นตัวแทน และไม่เอื้อให้เกิดความรับผิดชอบของผู้ดำรงตำแหน่ง 3.กระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของกลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม และกลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดง และบันเทิง นักกีฬา. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง