เมียนมาเบรกแม้วอย่าจุ้น

"บิ๊กทิน" มั่นใจ "ทักษิณ" คนมีบารมี เชื่อเคลียร์มิน อ่อง หล่าย ก่อนเจรจาชนกลุ่มน้อยเมียนมา ชี้ต้องคุยตั้งแต่ระดับหัวถึงหางจนจบ ด้านทหาร-กลุ่มชาติพันธุ์เมียนมาส่อไม่ยอมรับ  “โฆษกสภาทหาร” ย้ำไม่ควรหนุนกลุ่มก่อการร้าย ขณะที่ “กลุ่มชาติพันธุ์” ชี้อดีตนายกฯ ไม่เข้าใจปัญหา ไปเชิญกลุ่มเล็กๆ  มาร่วมหารือ

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า นายสุทิน   คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกระทรวงกลาโหม ว่าถือเป็นการจัดองค์กรบริหารตามปกติ ในอดีตทุกรัฐบาลมีรองนายกฯ  ที่จะต้องแบ่งกลุ่มควบคุมดูแล กำกับงานในแต่ละกระทรวง กระทรวงกลาโหมก็ต้องอยู่ในหมวดของงานความมั่นคง ก็ต้องมีรองนายกฯ มากำกับดูแลเพื่อเสริมงาน ซึ่งส่วนตัวทำงานร่วมกับนายภูมิธรรมมาตลอดหลายมิติ ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งปัจจุบันงานด้านความมั่นคงยังต้องดำเนินการอีกมาก ในตัวองค์กรก็จะต้องมีการปรับโครงสร้างให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์

เมื่อถามถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เจรจากับชนกลุ่มน้อย เพื่อแก้ไขปัญหาในประเทศเมียนมา นายสุทินกล่าวว่า ตนไม่ทราบ ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ แต่หากจริงก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย  ถือเป็นเรื่องดี การแก้ไขปัญหาในอดีตหลายประเทศที่มีปัญหากันบางครั้งไม่ได้จบระดับไตรภาคีหรือทวิภาคี แต่จะจบด้วยเอกชนหรือคนนอกบางคนไปเป็นตัวกลาง คนที่มีบารมีก็อาจจะไปช่วยพูดคุย ก็อาจจะจบได้ ซึ่งหากเป็นเรื่องจริง ท่านทักษิณอาจจะคิดเช่นนั้น

เมื่อถามว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย รับทราบด้วยหรือไม่ เพราะตามมารยาทการช่วยเจรจาคู่กรณีต้องเห็นพ้อง นายสุทินระบุว่า "ผมไม่ทราบ แต่ถ้าท่านทำจริงผมเชื่อว่าต้องรู้ทุกระดับ  เพราะท่านเป็นคนมีบารมี ไม่ใช่คนที่ไม่มีบารมี เป็นอดีตนายกฯ หากคิดจะทำอย่างนั้นคงจะคุยตั้งแต่หัวถึงหางจนจบ" นายสุทินกล่าว

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าควรเป็นหน้าที่หลักที่รัฐบาลต้องดำเนินการ นายสุทินกล่าวว่า แน่นอนเราก็ทำอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่ทำ แต่หากจะมีใคร มาช่วยเสริมก็ไม่เสียหายอะไร

ที่รัฐสภา นายมานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ   สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าจากการติดตามผลกระทบที่เกิดจากความไม่สงบในเมียนมา โดยตั้งคำถามถึงการบริหารจัดการผู้หนีภัยในระดับพื้นที่ พร้อมเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงที่อยู่หน้าด่าน ยึดปฏิบัติตามแผนงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในกรณีเกิดสถานการณ์สู้รบในเมืองทวาย รัฐกะเหรี่ยง เมียนมา ที่อยู่ตรงข้ามกับจังหวัดกาญจนบุรีของประเทศไทย โดยขณะนี้มีความพยายามผลักดันผู้หนีภัยสู้รบกลับไป ทั้งๆ ที่สถานการณ์การสู้รบยังคงเกิดขึ้นอยู่ ซึ่งขัดกับคำแถลงและแผนงานของรัฐบาลที่ระบุว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์สู้รบเราจะดูแลผู้หนีภัยตามหลักมนุษยชน ว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ดำเนินการเหมือนในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน หรือ อ.แม่สอด จ.ตาก

นายมานพยังกล่าวถึงความพยายามในการหาทางเจรจาในรูปแบบต่างๆ ว่า  กมธ.มีข้อเสนอที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยจำเป็นจะต้องประกาศตัวอย่างชัดเจนที่จะเป็นตัวกลาง เพื่อทำให้เกิดการพูดคุยในพื้นที่ปลอดภัยกับทุกๆ กลุ่มที่เกี่ยวข้อง  เพราะตลอดแนวชายแดนประเทศไทย  เราเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวอ้างอิงจากสื่อเมียนมาว่า ทั้งสภาทหารเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาต่างออกมาสื่อสารว่าไม่ยอมรับความพยายามของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความพยายามที่จะเข้ามาแทรกแซงกิจการทหารเมียนมา โดย พล.ต.ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวว่า ประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ไม่ควรที่จะสนับสนุนกลุ่มที่ต่อต้านสภาทหารเมียนมา            

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา นายทักษิณและคณะได้เข้าเยี่ยมพบปะหารือกับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ ประกอบด้วย ตัวแทนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU), พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party-KNPP), องค์การแห่งชาติกะฉิ่น Kachin National Organization (KNO), รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือเอ็นยูจี (National Unity Government-NUG) โดยเป็นการพบกันที่ จ.เชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการมาจากทางฝ่าย NUG หรือว่าฝ่ายกองกำลังปฏิวัติเกี่ยวกับรายละเอียดการพบปะนี้

ขณะที่ทางด้านของ พล.ต.ซอ มิน ตุน กล่าวถึงข่าวนี้ว่า แม้ว่าตัวเขาจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีไทย แต่ว่านายทักษิณก็ไม่ควรจะสนับสนุนกลุ่มที่ต่อต้านเมียนมา

 “หลายประเทศสนใจกิจการเมียนมา สําหรับเรา เรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ความเห็นของเราคือประเทศเพื่อนบ้านก็กําลังทําลายผลประโยชน์ของเมียนมาเช่นกัน ผมคิดว่าเราไม่ควรสนับสนุนกลุ่มที่สนับสนุนผู้ก่อการร้ายที่กําลังต่อสู้กับเมียนมา” พล.ต.ซอ มิน ตุน กล่าว

ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์กล่าวถึงความพยายามของนายทักษิณที่เสนอตัวเป็นคนกลางในการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างกลุ่มต่างๆ ในเมียนมา โดยหนึ่งในผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ หรือ EAO ออกมากล่าวว่า มีความสงสัยกันว่านายทักษิณนั้นอาจจะไม่เข้าใจความซับซ้อนของความขัดแย้งในเมียนมา ยกตัวอย่างเช่นเมื่อนายทักษิณเชิญตัวแทนจากกลุ่ม EAO เขากลับเชิญตัวแทนจากกลุ่มองค์กรแห่งชาติกะฉิ่น หรือ KNO เข้าร่วมหารือ ซึ่งดูเหมือนกับว่าจะเป็นความเข้าใจผิดว่า KNO นั้นคือกลุ่มกองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) ที่ทรงอำนาจ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว KNO เป็นแค่กลุ่มเล็กๆ เท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จ่อผุด13อรหันต์นิรโทษ

กรมคุกร่อนแถลงการณ์ ยันทัณฑสถานราชทัณฑ์ช่วยชีวิต ‘บุ้ง ทะลุวัง‘ ตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเต็มกำลัง