ซัดกกต.ตัวปัญหา ‘ธนาธร’ปลุกปชช. สมัครสว.ให้มาก

วงเสวนาเลือก สว. นักวิชาการชี้การแนะนำตัวมีปัญหาทำผู้สมัครไม่รู้จักกัน เสนอ กกต.เปิดให้ประชาชนสังเกตการณ์ได้ ป้องกันการทุจริต "เสรี" เชื่อฮั้วกันได้หากคะแนนเท่ากันจะกลายเป็น สว.ชุดจับฉลาก "ธนาธร" ลุยภูเก็ตปลุก ปชช.ลงสมัครให้มาก ซัดระเบียบ กกต.เป็นอุปสรรคเหมือนทำให้เงียบๆ ทำให้มันมืด ลั่นจะทำให้สว่าง

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.กำแพงเพชร 2 จัดเสวนาเรื่อง “เลือก สว.กติกาใหม่ ใครได้ใครเสีย” โดยมีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,    นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา และนายรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล เจ้าหน้าที่ไอลอว์ ร่วมเสวนา

โดยนายปริญญากล่าวว่า เรื่องการแนะนำตัวผู้สมัครมีปัญหา และขั้นตอนการเลือก สว.มีความซับซ้อน ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ มีการโหวตทั้งหมด 6 ครั้ง ครั้งแรกคือเลือกในกลุ่มอาชีพตนเอง มีทั้งหมด 20 กลุ่ม คนที่มีคะแนนมากที่สุดใน 5 อันดับแรก ก็เข้าสู่การเลือกแบบไขว้กัน 20 กลุ่มจับฉลาก 4 สาย เมื่อมาถึงระดับจังหวัดและประเทศ ก็ทำลักษณะเดียวกันนี้ อย่างไรก็ตาม ช่วงเลือกไขว้กลุ่มอาชีพถามว่าผู้สมัครแต่ละคนจะรู้จักกันอย่างไร

 “ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ตามหมวด 5 มาตรา 64 ผู้สมัครสามารถยื่นคัดค้านการเลือกในระดับต่างๆ ได้ ซึ่งประเทศเรามีกว่า 900 อำเภอ ใน 77จังหวัด คาดว่ามีผู้สมัครเป็นแสนคน ถ้าคัดค้านกันมาก ผมถามว่าวันที่ 2 ก.ค. จะประกาศผลการเลือกตั้งได้หรือไม่” นายปริญญาระบุ

นายปริญญากล่าวอีกว่า สิ่งต่างๆ ที่ กกต.ยังทำได้ทันคือการเลือกระดับต่างๆ  ต้องบันทึกภาพและเสียงเป็นข้อมูลหลักฐาน สังคมต้องเข้าถึงได้ ประชาชนควรดูได้ ต้องเปิดเผย แล้วจะทำให้ความไม่ชอบมาพากลน้อย และทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น สามารถทำเป็นออนไลน์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ อนุญาตสื่อมวลชนให้ไปเฝ้าติดตาม และต้องแก้ไขอย่าจำกัดสิทธิผู้สมัครเกินไป และ กกต.ต้องมีวิธีการให้ผู้สมัคร สว. รู้จักกันข้ามจังหวัด ข้ามอำเภอ

ด้านนายรัชพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้มีเรื่องอยู่ในศาลปกครอง 2 เรื่อง คือคำร้องเกี่ยวกับระเบียบการแนะนำตัว ซึ่งศาลนัดไต่สวนในวันที่ 16 พ.ค. และยังพบปัญหาการเลือกไขว้ที่ผู้สมัครแต่ละคนต่างไม่รู้กันและกัน ทั้งนี้ ในส่วนของวันที่สมัคร ไม่ใช่วันที่ 13 พ.ค.เหมือนที่หลายคนเข้าใจ เพราะที่ ครม.กำหนดวันที่ 13 พ.ค.เป็นวันประกาศกำหนดวันสมัครเท่านั้น

"รู้สึกเห็นใจ กกต.ระดับปฏิบัติจากระบบที่ซับซ้อน ทั้งการเลือก 20 กลุ่มเลือกกันเองและการเลือกไขว้ โดยเชื่อว่าหากให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปร่วมจะเป็นเรื่องดี หากได้เข้าไปร่วมสังเกตทักท้วงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น ขอให้ กกต.มีความชัดเจนเรื่องนี้" นายรัชพงษ์กล่าว

ขณะที่นายเสรีกล่าวว่า กฎหมายกำหนดเลือก 20 สาขาอาชีพ เพื่อให้ต่างจากการเลือกตั้ง สส. ส่วนการแนะนำตัวแม้จะต่างจากยุคก่อน มีข้อห้ามเงื่อนไขมากมายก็เพื่อขีดเส้นให้เกิดความเท่าเทียมไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน โดยเชื่อว่า กกต.ก็เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และเกิดความไม่มั่นใจถึงระเบียบที่ออกมา

"สำหรับข้อสังเกตการฮั้วการเลือก สว. คาดว่ามีโอกาสเป็นไปได้ แต่ไม่ได้เกิดทั้งหมด อาจเกิดจากนักการเมืองบางกลุ่ม ฝ่ายการเมืองบางกลุ่ม ผู้สมัครบางกลุ่มที่รวมตัวกัน ส่วนการรณรงค์ให้ความรู้ หรือการรณรงค์ให้คนไปสมัคร แม้จะทำได้ แต่อาจถูกมองว่าทำให้เกิดความไม่สุจริตเที่ยงธรรม เป็นเหตุให้ประกาศผลไม่ได้ ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายภายหลัง ส่วนหากเกิดกรณีคะแนนเท่ากันจะเกิดการจับฉลากทำให้ สว.ชุดใหม่ถูกเรียกว่าเป็น สว.ชุดจับฉลากได้" นายเสรีกล่าว

ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อำเภอเมืองฯ   จังหวัดภูเก็ต iLaw จัดสัมมนา สว.67 "สว. ภูเก็ต หรอยแรง" โดยนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw, น.ส.ชลณัฏฐ์ โกยกุล พิธีกร ThaiPBS, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จัดสัมมนาให้ความรู้แก่ประชาชน ในประเด็นกระบวนการเลือกตั้ง สว., สว.มีไว้ทำไม, วิธีสมัคร,วิธีเลือก 3 ระดับ และรายได้ สว. โดยมี ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพเข้าร่วมกว่า 100 คน

นายธนาธรกล่าวว่า วันนี้อยู่ที่ภูเก็ต ทำกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการเลือก สว.ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ซึ่งมีจังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง ซึ่งตอนนี้อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต  รู้สึกตกใจมาก มีประชาชนให้ความสนใจจำนวนมากกว่า 100 คน จากการลงในหลายพื้นที่ พบว่าประชาชนทั่วไปเข้าใจการเลือก สว.น้อยมาก คนที่มีคุณสมบัติส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ว่าจะมีการเลือก สว. และมีกระบวนการอย่างไรบ้าง ที่สำคัญ ประชาชนยังไม่ค่อยเข้าใจว่า สว.มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการเมืองไทย และการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยเช่นกัน

"ขอเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจความสำคัญของการเลือก สว. ขอเชิญชวนพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่มีคุณสมบัติลงสมัคร สว.ได้ในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศไปลงสมัคร สว. โดยเห็นว่ากฎระเบียบของการเลือก สว.ครั้งนี้เป็นอุปสรรคอย่างมาก ไม่สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติตามแนวทางประชาธิปไตย และดูเหมือนว่าต้องการให้เลือก สว.เกิดขึ้น ดำรงไปอย่างเงียบๆ ทำให้มันมืด หน้าที่ของผมคือทำให้มันสว่าง ทำให้คนเห็นจำนวนมากที่สุด"

นายธนาธรกล่าวอีกว่า การลงสมัคร สว.นั้น ต้องใช้เงินค่าสมัครถึง 2,500 บาท ในภาวะที่ประชาชนมีหนี้มีสิน กิจการรายรับก็ตกลง ทุกคนก็ยากลำบาก การจะเรียกร้องให้คนไปลงสมัคร สว.แล้วจ่ายค่าสมัครด้วยตัวเอง 2,500 บาทต่อคน จึงเป็นเรื่องของการเรียกร้องที่สูงมากต่อประชาชน ดังนั้น ใครที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ มีคุณสมบัติ อาจจะต้องตระหนักไว้นิดหนึ่งว่าท่านมีความสำคัญมากต่อการมีส่วนร่วมในการเลือก สว.ครั้งนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จ่อผุด13อรหันต์นิรโทษ

กรมคุกร่อนแถลงการณ์ ยันทัณฑสถานราชทัณฑ์ช่วยชีวิต ‘บุ้ง ทะลุวัง‘ ตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเต็มกำลัง