คลังเข็นมาตรการกระตุ้นศก.รอบใหม่

“คลัง” ตื่น! เตรียมดันมาตรการกระตุ้นล็อตใหม่ชง ครม.เศรษฐกิจพิจารณา หลังจีดีพีไตรมาส 1  โตต่ำเรี่ยดิน “จุลพันธ์” ลั่นไทม์ไลน์ดิจิทัลวอลเล็ตยังเหมือนเดิม สั่งจัดกลุ่มร้านค้า-ประชาชนทยอยลงทะเบียน บี้ส่วนงานเร่งพัฒนาระบบรองรับ ยืนยันกลุ่มไม่มีสมาร์ตโฟน-เดินทางไม่ได้รับสิทธิ์ได้แน่นอน

เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พ.ค.2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันที่ 27 พ.ค.2567 จะมีการพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรกเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และดูว่าภาคส่วนไหนบ้างที่จำเป็นต้องดูแล รวมถึงการแบ่งงานว่าหน่วยงานไหนจะรับผิดชอบในส่วนใด ในการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป  โดยก่อนหน้านี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.การคลัง ได้เรียกหารือถึงสถานการณ์เศรษฐกิจแล้ว 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะเรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจ

 “ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นไปหนักมาก แต่ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1/2567 ที่ออกมาขยายตัวเพียง 1.5% แม้จะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็ยังต่ำสุดในภูมิภาค” นายจุลพันธ์ระบุ

ส่วนนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ได้รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน เม.ย.2567พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 23,278.6 ล้านดอลลาร์ หรือ 834,018 ล้านบาท ขยายตัว 6.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวตามทิศทางที่คาดการณ์ไว้ แต่หากไม่รวมสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย จะขยายตัวอยู่ที่ 11.4% ส่วนภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2567 (เดือน ม.ค.-เม.ย.) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 94,273.9 ล้านดอลลาร์ หรือ 3,338,028 ล้านบาท ขยายตัว 1.4%

“รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังคงเดินหน้าผลักดันภาคการส่งออกของไทย โดยมีนโยบายสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออก ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกปี 2567 อยู่ที่ 1-2%” นายชัยกล่าว

วันเดียวกัน นายจุลพันธ์ยังกล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่ากรอบการดำเนินโครงการยังเป็นไปตามแผนงาน โดยจะเปิดให้ร้านค้าและประชาชนลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3/2567 และประชาชนจะได้รับเงินภายในไตรมาส 4/2567 โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้ส่วนงานเร่งพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปิดลงทะเบียน  ซึ่งได้กำชับเรื่องการบริหารจัดการการเข้าสู่ระบบการลงทะเบียน โดยอาจมีการจัดกลุ่มหรือแบ่งกลุ่ม เพื่อให้ทยอยกันเข้ามาลงทะเบียน ส่วนรายละเอียดยังอยู่ระหว่างการเร่งสรุป

“เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เวลาเปิดให้ลงทะเบียนทุกครั้งจะมีจำนวนเยอะมาก และถ้าทุกคนเข้ามาลงวันเดียวระบบจะรองรับลำบาก แม้ว่าขณะนี้การพัฒนาระบบจะทำได้แล้วระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องพัฒนาต่อไป เพื่อรองรับประชาชน ดังนั้นในเรื่องการบริหารจัดการการเข้าสู่ระบบ การลงทะเบียน ก็อาจจัดกลุ่มให้ทยอยกันเข้ามา ส่วนรายละเอียดยังต้องรอ” นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า ส่วนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนหรือกลุ่มที่ไม่สามารถเดินทางได้ ยืนยันว่ายังเข้าร่วมโครงการได้แน่นอน โดยต้องมีการจัดเตรียมกลไกขึ้นมารองรับ ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้ส่วนงานไปดูรายละเอียดทุกอย่างให้รัดกุม โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันการใช้ผิดประเภท เพราะต้องการยืนยันให้ได้ว่าเม็ดเงินของรัฐครั้งนี้จะไม่ถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ถูกใช้โดยคนอื่นที่ไม่มีสิทธิ์จริง จึงต้องมีการหากลไกมารองรับ

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้หารือกับสถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) ในการเชื่อมโยงระบบลักษณะ Open Loop พบว่า หน่วยงานให้การตอบรับและแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นอย่างดี โดยหลังจากนี้จะมีการทำงานเชิงลึกของฝ่ายปฏิบัติว่าจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกันอย่างไร

ส่วนนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวว่า การประชุมส่วนใหญ่เป็นการพูดคุยในเงื่อนไขหลักการที่เป็นรายละเอียดต่อเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เช่น ร้านค้าที่เจ้าของเสียชีวิตจะทำอย่างไร เงินดิจิทัลที่อยู่ในเจ้าของร้านค้าที่เสียชีวิตจะไปอยู่ที่ไหน จะต้องมีการเขียนผู้รับมรดกไว้ก่อนหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้ถูกโยนเป็นคำถาม และส่วนงานต้องไปเร่งหาข้อสรุป ขณะที่รายละเอียดเกี่ยวกับระบบต่างๆ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบ การเช็กคุณสมบัติของประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการว่าถูกต้องและตรงตามเงื่อนไขหรือไม่ อย่างไร แม้ว่าประชาชนจะมีการยืนยันตัวตนด้วยระบบ KYC เรียบร้อยแล้วก็ตาม เช่น ต้องเช็กว่ามีอายุ 16 ปีจริงหรือไม่ และการจะเช็กว่าอายุ 16 ปีจริงหรือไม่ จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลไปที่กรมการปกครอง การตรวจสอบว่ามีรายได้ 8.4 แสนบาทต่อปี จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลไปที่กรมสรรพากร และการตรวจสอบว่ามีเงินฝากรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลไปที่สถาบันการเงิน  ซึ่งต้องมาดูว่าจะเชื่อมโยงเมื่อไหร่ ด้วยเทคนิคอะไร

“ยอมรับว่าระบบหลังบ้านของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ง่ายเลย เพราะติดปัญหาพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ก็ต้องมาดูว่าจะแก้ไขหรือดำเนินการอย่างไร รวมทั้งยังหารือถึงรูปแบบในการยืนยันตัวตนที่ต้องเปิดเผยข้อมูลว่าจะเป็นอย่างไรเพื่อให้สามารถตรวจเช็กได้ว่าประชาชนรายดังกล่าวอยู่ในเงื่อนไขของโครงการอย่างถูกต้อง” นายเผ่าภูมิกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง