เร่งสางหมูแพงโรคASFระบาด

ประกาศห้ามส่งออกหมูมีผลบังคับใช้แล้ว รัฐบาลวอนผู้ประกอบการยึดกฎหมายเคร่งครัด “บิ๊กตู่” จี้ให้เร่งสางสู่ภาวะปกติโดยเร็ว “กรมการค้า” ฮึ่ม หวดผู้ค้าซ้ำเติมประชาชน “ศูนย์วิจัยกสิกร” ชี้สาเหตุราคาพุ่ง มีความเสี่ยงโรคเอเอสเอฟระบาด

เมื่อวันที่ 7 มกราคม น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูแพงตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์เป็นประธาน โดยได้มีมาตรการ 3 ระยะ ได้แก่ มาตรการเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหานั้น ล่าสุดกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาราคาหมูแพงได้มีผลบังคับแล้ว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า กฎหมายสำคัญประกอบด้วย การห้ามส่งออกหมู และการกำหนดให้ผู้เลี้ยงต้องแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บและจัดทำบัญชีสินค้าและเนื้อหมูต่อสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งรัฐบาลขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูแพงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน โดยนายกฯ ให้ความสำคัญกับทุกปัญหาที่กระทบปากท้องประชาชน จึงได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมมีแนวทางแก้ไขที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ป้องกันกรณีเกิดปัญหาซ้ำ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.65 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 เรื่องห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักร มีสาระสำคัญห้ามมิให้บุคคลใดส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรทุกกรณี โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. ต่อเนื่องไปเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนฉบับที่ 2 เรื่อง การแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร มีสาระสำคัญเป็นการบังคับใช้ ให้ผู้เลี้ยง ผู้จำหน่าย ผู้ส่งออกซึ่งครอบครองสุกรมีชีวิตตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป ไม่ว่าจะครอบครองในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ์หรือครอบครองแทนผู้อื่นต้องแจ้งปริมาณการเลี้ยง การซื้อ การจำหน่าย การส่งออก ปริมาณคงเหลือราคาจำหน่าย สถานที่เก็บ และสถานที่เลี้ยง

สาระสำคัญของฉบับที่ 2 ยังได้กำหนดให้ผู้ครอบครองสุกรชำแหละผ่าซีก เนื้อสุกรชำแหละแยกชิ้นส่วน ซึ่งประกอบด้วยเนื้อไหล่ เนื้อสะโพก เนื้อสันคอ เนื้อสันนอก เนื้อสันใน และเนื้อหมูสามชั้น ที่มีปริมาณรวมกันตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป ไม่ว่าจะครอบครองในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ์หรือครอบครองแทนผู้อื่น แจ้งปริมาณการซื้อ การจำหน่าย การใช้ การส่งออก การรับฝาก ปริมาณคงเหลือราคาจำหน่าย และสถานที่เก็บ ทั้งนี้ ให้แจ้งภายในวันที่ 10 ม.ค.65 และให้แจ้งครั้งต่อไปเป็นประจำทุกสัปดาห์ในวันจันทร์ของสัปดาห์ถัดไป ทั้งนี้ ประกาศฉบับที่ 2 มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. ต่อเนื่องไปเป็นเวลา 1 ปี

นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค.64 - 4 ม.ค.65 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการรวมทั้งสิ้น 208 แห่ง ตรวจสอบเครื่องชั่งสปริงสำหรับชั่งจำหน่ายเนื้อหมู จำนวน 292 เครื่อง พบถูก 290 เครื่อง พบผิด 2 เครื่อง โดยเครื่องที่ผิดเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดดำเนินการยึดทั้งหมด และตรวจสอบเครื่องชั่งดิจิทัลสำหรับชั่งจำหน่ายเนื้อหมู จำนวน 349 เครื่อง พบถูก 346 เครื่อง พบผิด 3 เครื่อง โดยเครื่องที่ผิดเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดดำเนินการผูกบัตรห้ามใช้ทั้งหมด กรมการค้าภายในจะส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งอย่างต่อเนื่อง หากพบการใช้เครื่องชั่งที่มีการดัดแปลงเพื่อขายสินค้าให้กับประชาชน จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ.2542 ม.75/1 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 280,000 บาท

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส.คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค. โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ยางพาราแผ่นดิบชั้น ขณะที่สุกร ราคาอยู่ที่ 77.56-81.29 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.45-6.31

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าปัจจัยที่ทำให้ราคาเนื้อสุกรปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทำให้เกิด Pent-up demand ประกอบกับมีความต้องการบริโภคเนื้อสุกรในช่วงเทศกาลปลายปี ขณะที่ปริมาณเนื้อสุกรมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาโรคระบาดในสุกรที่กระจายเป็นวงกว้าง ทำให้จำเป็นต้องกำจัดสุกรที่มีความเสี่ยงจำนวนมากเพื่อควบคุมโรค ยิ่งกดดันให้ปริมาณสุกรขาดตลาดมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (เอเอสเอฟ) ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งโรคดังกล่าวยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาโรค.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง